วันพุธที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การพัฒนาความเข้มแข็งทางด้านจิตใจ

ปัญหาเด็กและเยาวชนของไทย ถือเป็นปัญหาสำคัญของชาติ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความแตกแยกทางครอบครัว ปัญหาการทะเลาะวิวาทชอบความรุนแรง ปัญหาการฆ่าตัวตาย ปัญหาเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันสมควร ปัญหาเหล้า บุหรี่ ยาเสพติด ปัญหาเรื่องสื่อโทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ ติดเกมส์ เสพสื่อลามกผ่านทางเว็บไซต์ ปัญหาไม่ชอบเรียนหนังสือ หนีเรียน ปัญหาวัตถุนิยม และบริโภคนิยม ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ ล้วนกำลังเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนของเรา

การพัฒนาความเข้มแข็งทางด้านจิตใจให้กับเด็กและเยาวชน จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นที่ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ หน่วยงานทางสังคมที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันพัฒนาและส่งเสริม  เพราะหากเด็กและเยาวชนมีความเข้มแข็งทางจิตใจแล้วจะช่วยให้เด็กสามารถเผชิญสถานการณ์ที่กดดันทางสังคมได้ดีขึ้น และเลือกที่จะตัดสินใจดำเนินชีวิตไปในทางที่ดีสู่ความสำเร็จได้ตามที่มุ่งหวัง

ผมได้ไปอ่านพบตัวอย่างพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน ที่พ่อแม่ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ ควรสังเกตุและพยายามส่งเสริมให้แก่เขา ในหนังสือ "คู่มือเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม" ซึ่งจัดพิมพ์โดยกระทรวงวัฒนธรรม เมื่อปี พ.ศ.2553 ในหนังสือได้กล่าวถึง  ความเข้มแข็งทางจิตใจประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ ได้แก่
  • ความรู้สึกดีต่อตนเอง
  • ความสามารถในการจัดการและแก้ปัญหาชีวิต
  • มีสายสัมพันธ์เกื้อหนุน
  • มีจุดมุ่งหมายในชีวิต


ความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง
หมายถึง เด็กที่มีประสบการณ์ทีดีในวัยเด็ก ได้รับความรักความเข้าใจ สามารถพัฒนาตนเองตามความถนัด มีความสำเร็จและภาคภูมิใจในตนเอง พฤติกรรมที่ควรพัฒนาและส่งเสริม
  • จะรู้ว่าตนเองมีความถนัดอะไร
  • รู้ความต้องการของตนเอง
  • ชื่นชมตนเองได้ เมื่อมีความสำเร็จ
  • ยอมรับข้อจำกัดของตนเอง
  • มีความคาดหวังในทางบวกกับตนเอง
  • มองโลกในแง่ดี
  • เชื่อมั่นว่าตนเองสามารถประสบความสำเร็จในชีวิต
  • เมื่อเกิดความผิดพลาด ลงมือแก้ไขปัญหา
  • พร้อมรับฟังความคิดเห็นผู้อื่น
  • ไม่กังวลมากเกินไป
  • กล้าตัดสินใจในระดับที่เหมาะสม
  • มองหาต้นแบบที่ดีเป็นแบบอย่าง


ความสามารถในการจัดการและแก้ปัญหาชีวิต
หมายถึง ความสามารถในการเผชิญกับสถานการณ์ สามารถดูแลตนเอง จัดการกับสิ่งที่ตนเองชอบและไม่ชอบได้ ซึ่งเกิดจากการฝึกทักษะการจัดการกับอารมณ์และทักษะในการแก้ปัญหา เด็กที่มีความสามารถในการจัดการชีวิตจะมีความเชื่อมั่น เลือกทางเดินที่ดีให้กับตนเอง พฤติกรรมที่ควรพัฒนาและส่งเสริม
  • หมั่นดูแลจิตใจและร่างกายให้แข็งแรงสดชื่น
  • รู้เท่าทันอารมณ์ของตนเองทั้งทางบวกและทางลบ
  • แยกแยะความคิดของตนเองได้ว่า ความคิดแบบไหนทำให้รู้สึกดี ความรู็สึกแบบไหนทำให้รู้สึกแย่
  • สามารถให้กำลังใจตนเองได้
  • สามารถตั้งเป้าหมายให้ตนเองได้
  • สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เป็นจริง มีความยืดหยุ่น
  • มีทักษะและวิธีคิดที่ดีในการแก้ปัญหา
  • มีความเชื่อมั่นในการแก้ปัญหา และแก้ไขปัญหาอารมณ์ของตนเอง
  • มุ่งมั่นจะลงมือทำงานให้สำเร็จ
  • มีความสุขความพอใจในตนเอง
  • จัดการกับความเครียดได้ดี
  • เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด สามารถรับมือและหาทางออกได้
  • มั่นใจว่าสามารถควบคุมการดำเนินชีวิตของตนเองได้ มีทางเลือก
  • แม้อยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ จะสามารถเลือกเดินทางได้ดี


มีสายสัมพันธ์เกื้อหนุน
เป็นพลังทางใจที่เกิดจากสายสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง  ทำให้เกิดกำลังใจในการฝ่าฟันปัญหา และมีความไว้วางใจผูกพันธ์กับคนในครอบครัว พฤติกรรมที่ควรพัฒนาและส่งเสริม
  • มีทักษะการสื่อสารที่ดี
  • มีทักษะการจัดการความขัดแย้งที่ดี
  • เข้าใจธรรมชาติและยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล
  • มีทัศนคติที่ดีและเห็นคุณค่าของผู้อื่น
  • มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง
  • รู้จักรักตนเองและผู้อื่น
  • เป็นผู้ให้และผู้รับที่ดี
  • มีความไว้วางใจต่อผู้คนรอบข้าง
  • มีความพึงพอใจในความสัมพันธ์กับคนอื่น
  • มีความเชื่อมั่นในธรรมชาติด้านดีของมนุษย์
  • ตระหนักในผลการกระทำของตนเองที่มีต่อผู้อื่น
  • ไม่พูดถึงปมด้อยของผู้อื่น


มีจุดหมายในชีวิต
การมีจุดมุ่งหมายของตนเอง ทำให้เด็กใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่ามากขึ้น พยายามประคับประคองตนเองไปสู่เป้าหมาย พฤติกรรมที่ควรพัฒนาและส่งเสริม
  • รู้จุดมุ่งหมายในระยะยาวของชีวิต และสร้างเป้าหมายระยะสั้นที่เป็นรูปธรรม
  • รู้ความต้องการของตนเอง
  • รู้ว่าอะไรเป็นสิ่งสำคัญในชีวิต
  • ตั้งเป้าหมายได้เหมาะสมกับสถานการณ์
  • ใช้เวลาสอดคล้องกับสิ่งที่สำคัญในชีวิต
  • สามารถประเมินตนเองและปรับปรุงตนเอง
  • มีแรงจูงใจและมุ่งมั่นไปสู่เป้าหมาย


การพัฒนาความเข้มแข็งทางด้านจิตใจให้แก่นักเรียน
การพัฒนาความเข้มแข็งด้านจิตใจ นอกจากจะเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ผู้ปกครองโดยตรงแล้ว ผมคิดว่ากระบวนการที่เป็นส่วนสำคัญที่สุด ที่น่าจะทำหน้าที่นี้ก็คือ  "ระบบการศึกษาของไทย"  มีการกล่าวถึงคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนที่จบการศึกษาในแต่ละระดับไว้อย่างหลากหลาย  แต่สุดท้ายผู้ที่จบการศึกษาออกมาหลายคน ไม่สามารถดำรงชีวิตและอยู่ร่วมในสังคมได้  มีความรู้ แต่ไม่มีความคิด แก้ปัญหาไม่เป็น  โดยเฉพาะที่สำคัญคือ "การขาดความเข้มแข็งทางด้านจิตใจ" นี้เอง ที่ทำให้คนไทยเราด้อยคุณภาพลง ขาดความรับผิดชอบต่อหน้าที่ และต่อสังคมส่วนรวม

นักพัฒนาหลักสูตร นักวัดและประเมินผล ควรที่จะให้ความสำคัญในการสร้างหลักสูตรที่จะสามารถพัฒนาความเข้มแข็งทางด้านจิตใจให้แก่ผู้เรียนได้ในทุกระดับครอบคลุม ทั้ง 4 ด้าน โดยสามารถดำเนินการจัดการเรียนการสอนควบคู่กันไปได้ และควรสามารถวัดมันได้อย่างเป็นรูปธรรม มากกว่าที่จะวัดจากผลคะแนนสอบทางด้านวิชาการ แต่เพียงอย่างเดียว


*************************************
ข้อมูลอ้างอิง
  • ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. (2553). คู่มือเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมสำหรับเด็กและเยาวชน.กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด. 

ไม่มีความคิดเห็น: