ผมเห็นสถานศึกษาหลายแห่งกำลังวุ่นวายกับคำว่า "อัตลักษณ์ของสถานศึกษา" เพื่อจะรองรับการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม (พ.ศ.2554-2558) จาก สมศ. ซึ่งได้แบ่งตัวบ่งชี้ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มตัวบ่งชี้พื้นฐาน กลุ่มตัวบ่งชี้อัตลักษณ์ และกลุ่มตัวบ่งชี้มาตรการส่งเสริม
ตัวบ่งชี้อัตลักษณ์ หมายถึงอะไร
- ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน หมายถึง ตัวบ่งชี้ที่ประเมินผลผลิต ตามปรัชญา ปณิธาน พันธกิจ และวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสถานศึกษา รวมถึงความสำเร็จตามจุดเน้น และจุดเด่นที่ส่งผลสะท้อนเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละสถานศึกษา โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาและหน่วยงานต้นสังกัด มี 2 ตัวบ่งชี้ คือ
- ตัวบ่งชี้ที่ 9 ผลการพัฒนาให้บรรลุตามปรัชญา ปณิธาน พันธกิจ และวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสถานศึกษา
- ตัวบ่งชีที่ 10 ผลการพัฒนาตามจุดเน้นและจุดเด่น ที่ส่งผลสะท้อนเป็นเอกลักษณ์ของสถานศึกษา
- ระดับอุดมศึกษา หมายถึง ตัวบ่งชี้ที่ประเมินผลผลิต ตามปรัชญา ปณิธาน พันธกิจ และวัตถุประสงค์ของสถานศึกษา รวมถึงความสำเร็จตามจุดเน้น และจุดเด่นที่ส่งผลสะท้อนเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละสถานศึกษา โดยได้รับความเห็นชอบจากสภาสถาบัน
- ตัวบัง่ชี้ที่ 16 ผลการพัฒนาตามอัตลักษณ์ของสถาบัน ประกอบด้วย ผลการบริหารสถาบันให้เกิดอัตลักษณ์ และผลการพัฒนาบัณฑิตตามอัตลักษณ์
- ตัวบ่งชี้ที่ 17 ผลการพัฒนาตามจุดเน้นและจุดเด่น ที่ส่งผลสะท้อนเป็นเอกลักษณ์ของสถาบัน
จากความหมายของตัวบ่งชี้อัตลักษณ์นี้เอง เป็นเหตุให้ บรรดาผู้บริหารสถานศึกษา ครูอาจารย์ เริ่มพากันมึนงง สับสน พยายามที่จะค้นหาอัตลักษณ์ในสถานศึกษาของตนเอง เพราะหากค้นหามันไม่เจอมีหวังจบเห่ ประเมินรอบสามไม่ผ่านแน่...แล้วไหนจะต้องมีคำว่า ปรัชญา ปณิธาน วิสัยทัศน์ พันธกิจ เอกลักษณ์ จุดเน้น จุดเด่น มาเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอีก ยิ่งไปกันใหญ่
ไม่รู้ว่า เมื่อคิดคำเหล่านี้ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว
"เด็กนักเรียนในโรงเรียนคงจะอ่านออก เขียนได้ มากขึ้นกว่าเดิม"
ความหมายของอัตลักษณ์
ราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายไว้ดังนี้
- อัต (อัด-ตะ) หมายถึง ตน หรือ ตัวเอง
- ลักษณ์ ซึ่งหมายถึง สมบัติเฉพาะตัว
- คำว่า อัตลักษณ์ ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า identity หมายถึง ผลรวมของลักษณะเฉพาะของสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งทำให้สิ่งนั้นเป็นที่รู้จักหรือจำได้ เช่น นักร้องกลุ่มนี้มี อัตลักษณ์ทางด้านเสียงที่เด่นมาก ใครได้ยินก็จำได้ทันที, สังคมแต่ละสังคมมี อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนเอง โลกาภิวัตน์ทำให้อัตลักษณ์ของสังคมไทยเปลี่ยนไป
ราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายไว้ดังนี้
- เอก (อ่านว่า เอ-กะ) ซึ่งหมายถึง หนึ่ง
- ลักษณ์ ซึ่งหมายถึง สมบัติเฉพาะตัว
- คำว่า เอกลักษณ์ ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า uniqueness (อ่านว่า ยู-นี้ก-เนส) หมายถึง ความเป็นหนึ่งเดียว หรือสภาวะที่ไม่มีผู้ใดเหมือน เช่น กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนเมืองหลวงใด ๆ ในโลก, การทำทองรูปพรรณของช่างทองเมืองเพชรถือเป็นงานหัตถกรรมที่มีเอกลักษณ์ไทย,นักท่องเที่ยวทั่วโลกประทับใจในเอกลักษณ์ความมีน้ำใจของคนไทย
หากแปลความหมายคำทั้งสองคำแล้ว บางครั้งจะเห็นว่า เอกลักษณ์ อาจจะรวมกันเป็นในอัตลักษณ์ และบางครั้งอัตลักษณ์ อาจจะรวมกันเป็นเอกลักษณ์ บางครั้งมันก็รวมกันเป็นตัวของมันเอง เช่น
- คนไทยมีเอกลักษณ์ในการไหว้ + เอกลักษณ์ในการยิ้ม + เอกลักษณ์ในความมีน้ำใจ = อัตลักษณ์ของคนไทย
- อัตลักษณ์ร้องเพลงเพื่อชีวิต (อาจมีหลายคนที่ร้องเพลงเพื่อชีวิต) + อัตลักษณ์เล่นกีต้าไปด้วยร้องไปด้วย (อาจมีหลายคนที่ทำเช่นนี้) + อัตลักษณ์ใส่เสื้อแขนกุดชอบโพกผ้าที่ศรีษะ (อาจมีหลายคนที่ชอบแต่งตัวอย่างนี้) + เสียงร้องที่สูงและทรงพลัง (อาจมีหลายคนที่ร้องเพลงอย่างนี้) = เอกลักษณ์ของแอ๊ด คาราบาว (นั่นหมายถึง หากมีอัตลักษณ์ครบทั้ง 4 ตามนี้ก็คือ แอ๊ด คาราบาว)
- อัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง = อัตลักษณ์ของคณะวิชาต่างๆ ในมหาวิทยาลัยรวมกัน
- อัตลักษณ์ของคณะวิชาหนึ่งๆ ในมหาวิทยาลัย = อัตลักษณ์ของภาควิชาต่างๆ รวมกัน
- อัตลักษณ์ของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย = เอกลักษณ์ของนิสิตจุฬาฯ คณะต่างๆ มารวมกัน
- อัตลักษณ์ของนักเรียนโรงเรียนวัดบ้านนอก = ตัวดำ หน้าดำ ผมออกสีแดง หัวอาจเต็มไปด้วยเหา เสื้อผ้าสีมอๆ กระดำกระด่าง ไม่ใส่รองเท้า หิ้วกระเป๋าเป้ถูกๆ ที่ซื้อมาจากตลาดนัด
- อัตลักษณ์ของนักเรียนโรงเรียนไฮโซยอดนิยมในเมือง = หน้าขาวๆ ทรงผมตัดซอยตามแฟชั่น เสื้อผ้าขาวรีดเรียบ หิ้วกระเป๋าแบรนด์เนม มือถือ IPad
- ฯลฯ
ซึ่งผมก็ยอมรับว่า ผมก็รู้สึกงงและสับสนเช่นกัน
แล้วใครจะเป็นคนฟันธงได้ว่า อัตลักษณ์ของสถานศึกษา ที่ท่านระดมสมองคิดกันมานั้น ความหมายมันถูกหรือผิด มันใช่หรือไม่ใช่ ลองอ่านตัวอย่างอัตลักษณ์ของสถานศึกษาที่นักวิชาการเขาลองคิดกันดู แล้วท่านลองตีความในใจว่า มันใช่หรือไม่ใช่ หรือมันน่าจะเป็นเพียงแค่คำขวัญ ปณิธาน ปรัชญา วิสัยทัศน์ ฯลฯ ลองอ่านดูนะครับ
แล้วใครจะเป็นคนฟันธงได้ว่า อัตลักษณ์ของสถานศึกษา ที่ท่านระดมสมองคิดกันมานั้น ความหมายมันถูกหรือผิด มันใช่หรือไม่ใช่ ลองอ่านตัวอย่างอัตลักษณ์ของสถานศึกษาที่นักวิชาการเขาลองคิดกันดู แล้วท่านลองตีความในใจว่า มันใช่หรือไม่ใช่ หรือมันน่าจะเป็นเพียงแค่คำขวัญ ปณิธาน ปรัชญา วิสัยทัศน์ ฯลฯ ลองอ่านดูนะครับ
- อัตลักษณ์ของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย อาจเป็น "มีภาวะผู้นำและสุภาพบุรุษ"
- อัตลักษณ์ของโรงเรียนสตรีวิทยา อาจเป็น "ยอดนารี สตรีวิทยา"
- อัตลักษณ์ของโรงเรียนพิบูลย์อุปถัมภ์ กรุงเทพ คือ "โรงเรียนของชุมชน ต้นแบบการให้บริการด้านการจัดการศึกษา พัฒนาสู่ความเป็นสากล" (กำหนดแล้ว)
- โรงเรียนในลำปาง อาจเป็น "มีจิตสำนึกรักลำปาง รักษ์สิ่งแวดล้อม"
- โรงเรียนในเครือเบญจมะฯ อาจเป็น "ประชาธิไตย เคารพในสิทธิความเป็นมนุษย์"
- โรงเรียนในเครือจุฬาภรณราชวิทยาลัย อาจเป็น "บุคลิกนักวิทยาศาสตร์"
- โรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์บูรณวิทยา อาจเป็น "มีจิตวิญญาณไทย ใจเป็นสากล เปี่ยมล้นเทคโนโลยี ชีวีพอเพียง"
- โรงเรียนบุญวาทย์ อาจเป็น "รักการทำดี วิชาการมาตรฐานสากล สร้างคนป็นผู้นำ"
- บัณฑิตมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็น "มีความคิดสร้างสรรค์ มีจิตวิญญาณผู้ประกอบการ มีความเป็นสากล"
- บัณฑิตมหาวิทยาลัยมหิดล อาจเป็น "มุ่งผลเพื่อผู้อื่น (ALTRUISM)"
- มหาวิทยาลัยมหิดล อาจเป็น "Health Science and Social Well-Being (ความผาสุข)"
- ฯลฯ
หากคิดอัตลักษณ์ไม่ออก ก็ไปไม่เป็น
ในระดับมหาวิทยาลัยชั้นนำหรือโรงเรียนในระดับขั้นการศึกษาพื้นฐานที่มีศักยภาพ อาจจะคิดอัตลักษณ์ของสถานศึกษาตนเองออก แต่ผมว่ายังมีอีกหลายโรงเรียนและเป็นส่วนใหญ่ ที่ยังไปไม่ถึงไหน หากสถานศึกษาไม่มีอัตลักษณ์แล้ว ก็ไม่รู้จะใช้กลยุทธ์อะไรในการพัฒนาให้ไปสู่อัตลักษณ์ ตามที่ สมศ.จะทำการประเมินในรอบสาม แค่วิสัยทัศน์ ปรัชญา ปณิธาน คำขวัญ จุดเน้น จุดเด่น พันธกิจ เอกลักษณ์ ก็ยังเอาตัวไม่รอดเลย นี่ยังจะมี อัตลักษณ์ เข้ามาอีก
ผมว่า หากคิดไม่ออกก็อย่าไปเสียเวลากับมันเลยครับ
เอาแค่เด็กจบ ป.6 ออกมาแล้ว "อ่านออก เขียนได้ คิดพอเป็น ทอนสตางค์ถูก"
ผมก็ว่าดีถมเถแล้วละครับ
****************************************
จุฑาคเชน : 23 ส.ค.2554
1 ความคิดเห็น:
จริงด้วยไม่รู้ทำไมระบบการศึกษาของไทยถึงชอบเน้นเอกสารมากกว่าคุณภาพของนักเรียน
แสดงความคิดเห็น