วันจันทร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2552

การศึกษาที่ผ่านมา เราวัดคุณภาพนักเรียนจากอะไร?


ในข้อเสนอ การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.2552-2561) (สำนักงานเลขาธิการสภากาศึกษา.2552 : 5-9) ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เมื่อคราวประชุมวันที่ 18 ส.ค.2552 ได้สรุปผลการปฏิรูปการศึกษาใน 9 ปีที่ผ่านมาในด้านการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน/สถานศึกษา พบว่า
1.สถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ประเมินของ สมศ. รอบแรก ถึงร้อยละ 65 (จากสถานศึกษาสามหมื่นแห่งทั่วประเทศ) และต่อมาในการประเมินรอบสองก็ยังมีสถานศึกษาที่ต้องได้รับการพัฒนาอีก ร้อยละ 20.3
2. สัมฤทธิผลการเรียนของนักเรียนในวิชาหลัก มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าร้อยละ 50
3. ผู้สำเร็จอาชีวศึกษาและอุดมศึกษามีความสามารถและสมรรถนะไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ และขาดทักษะความรู้พื้นฐานที่จำเป็น

จากข้อค้นพบที่ว่า สัมฤทธิผลของนักเรียนในวิชาหลัก มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าร้อยละ 50 หมายความถึงนักเรียนไม่มีคุณภาพ นั้น ผมมีความคิดเห็นส่วนตัวว่า หากเราใช้ทฤษฎีระบบง่ายง่าย คือ Input -> Process -> Output ก็คงจะพอมองเห็นได้ว่า ไม่ว่า Process จะดีมีมาตรฐานขนาดไหน หาก Input มีความแตกต่างกัน Output ก็ย่อมแตกต่างกันไปด้วย

ยกเว้นว่า หากเราไม่สนใจว่า Input จะแตกต่างกันอย่างไร แต่เราสนใจเพียงต้องการให้ คุณภาพของ Output ได้มาตรฐานและคุณภาพใกล้เคียงกัน ดังนั้น เราจึงต้องหา Process ที่มีความเป็นอัจฉริยะสามารถจัดการ Input ได้หลากหลายรูปแบบ ถึงจะทำให้ Output เป็นไปตามที่เราต้องการ
Input ก็คือ นักเรียน นักเรียน ก็คือมนุษย์ ดังนั้น มนุษย์จึงมีความแตกต่างกัน เมื่อ Input มีความแตกต่างกัน -> Process (กระบวนการจัดการเรียนการสอน) ก็ต้องย่อมแตกต่างกันไปด้วย -> ถึงจะได้ Output ตามที่ต้องการ นี่คือตรรกะง่ายๆ ที่ไม่ต้องคิดมาก

คำถามมีอยู่ว่า เราจะใช้เครื่องมืออะไรวัดว่า Output (ผู้เรียน) มีคุณภาพ หรือสถานศึกษามีคุณภาพ?

ลองทบทวนเครื่องมือที่ใช้วัดในปัจจุบัน น่าเชื่อถือหรือไม่ มีความเที่ยงตรงแค่ไหน และผลที่วัดได้มีความเชื่อมั่นระดับใด....หากเราใช้เครื่องมือวัดผิด ทุกอย่างก็ผิดหมด
เช่น บอกว่าวัดจากผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ ระดับเขตพื้นที่การศึกษา ระดับท้องถิ่น และผลการประเมินจาก สมศ. เป็นต้น เมื่อผลออกมาต่ำกว่าเกณฑ์ แล้วสรุปว่าผู้เรียนและสถานศึกษาไม่มีคุณภาพ อย่างนี้ ผมคิดว่าไม่น่าถูกต้อง
ทำไมเราไม่เลือกวัดจากคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนที่กำหนดไว้ในมาตรฐาน มากกว่าคะแนนสอบ ยกตัวอย่าง
เช่น ในอนาคต เราจะวัดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ของผู้เรียน ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 8 คุณลักษณะ คือ 1.ความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ 2.ความซื่อสัตย์สุจริต 3.ความมีวินัย 4.ความใฝ่เรียนรู้ 5.ความเป็นอยู่อย่างพอเพียง 6.ความมุ่งมั่นในการทำงาน 7.รักความเป็นไทย 8.ความมีจิตสาธารณะ ทั้ง 8 ข้อนี้ จะวัดได้อย่างไร
นักวิชาการด้านการวัดและประเมินผล ต้องคิดหนักว่า จะใช้เครื่องมืออะไร ที่จะวัดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน ทั้ง 8 ข้อ ให้ได้ผลอย่างเที่ยงตรง เชื่อถือได้ มากกว่าที่จะวัดความสำเร็จจากคะแนนสอบ O-NET หรือ LT แล้วที่สำคัญจะวัดตอนไหน เพราะการจัดการเรียนการสอนของเราเป็นลักษณะของสายพาน ที่ครูทุกระดับชั้นมีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตนักเรียนทั้งสิ้น ตั้งแต่
อนุบาล -> ประถมต้น -> ประถมปลาย -> มัธยมต้น -> มัธยมปลาย -> อุดมศึกษาหรืออาชีวศึกษา -> จบออกมาทำงานตามความต้องการของสังคม (หรือของผู้เรียนเอง)
มีเสียงบ่นมากมาย ที่พวกเราได้ยินเสมอในแวดวงการศึกษาปัจจุบัน เช่น เด็กเดี๋ยวนี้ ขึ้นชั้น ม.1 แล้วยังอ่านหนังสือไม่ออกเลย เด็กเดี๋ยวนี้มันขี้เกียจเรียน เอาแต่เล่นเกม ขี่มอเตอร์ไซด์ ซิ่งไปวันๆ เด็กเดี๋ยวนี้ จบปริญญาตรีมันยังทำอะไรไม่เป็นเลย ถามว่า แล้วพวกเราจะโทษใคร? ดี ที่เด็กๆ เป็นอย่างนี้
เราจะโทษครูอนุบาลดีไหม? ที่ไม่เตรียมความพร้อมของเด็กให้ดี
เราจะโทษครูประถมดีไหม? ที่ไม่ยอมสอนให้เด็กอ่านหนังสือได้
เราจะโทษครูมัธยมดีไหม? ที่ไม่สามารถสอนเด็ก ให้เก่งกว่าเดิมได้
เราควรจะโทษอาจารย์ในมหาวิทยาลัยหรือในอาชีวศึกษาดีกว่า ที่ไม่สามารถสอนให้เด็กมีความสามารถและพฤติกรรมตามที่สังคมต้องการได้
หรือเราจะโทษพ่อแม่ผู้ปกครองดี? ที่ไม่เอาใจใส่ดูแลลูกตัวเอง

ผมคิดว่า เราไม่ควรจะโทษใครเลย...เพียงแต่เราต้องเข้าใจอยู่เสมอว่า เรากำลังทำอะไรอยู่ หากเปรียบการศึกษาเหมือนกับการสร้างบ้าน เราควรจะคิดใหม่ อย่างนี้
ครูอนุบาล กำลังขุดหลุม ตอกเสาเข็ม
ครูประถม กำลังตั้งเสา เทพื้น
ครูมัธยม กำลังก่อผนัง ตั้งโครงหลังคา
ครูอาชีวศึกษาหรืออุดมศึกษา กำลังมุงหลังคาและตกแต่ง

หากคิดได้อย่างนี้แล้ว พวกเราจะไม่เห็นว่า ใครต้องดีกว่าใคร และใครต้องเก่งกว่าใคร เพราะทุกคนมีส่วนร่วมในสายพานการผลิตทั้งหมด

ในการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองนี้ ข้อเสนอในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน/สถานศึกษา พวกเราจึงควรนิยามปัญหาให้ชัดเจน และยืนยันว่านั้นคือปัญหาจริงๆ นำข้อมูลที่มีอยู่ทั้งหมด มาทำการวิเคราะห์ค้นหาสาเหตุที่แท้จริง แล้วคิดหาทางเลือกที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหา ต่อจากนั้นควบคุมการแก้ปัญหาให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด โดยต้องมีวิธีวัดที่เหมาะสมในปัญหานั้นๆ ด้วย
ยกตัวอย่างเช่น เราบอกว่า “ผลการสอบ O-NET ของนักเรียน ป.6 ม.3 และ ม.6 ในวิชาหลัก ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศต่ำกว่าร้อยละ 50” หมายถึง นักเรียนไม่มีคุณภาพ อย่างนี้ ผมคิดว่าอาจไม่ถูกต้องนัก เพราะเหตุปัจจัยหนึ่งที่นักเรียนสอบคะแนน O-NET ได้ต่ำ อาจเป็นเพราะ
1. การสอบ O-NET ไม่มีผลใดๆ กับตัวเองในการจบการศึกษา ดังนั้น นักเรียนจึงขาดความตั้งใจในการสอบ คะแนนสอบ O-NET เป็นเพียงเครื่องมือชนิดหนึ่งที่ผู้บริหารการศึกษาทุกระดับ ใช้วัดผลงานในการจัดการเรียนการสอนและการบริหารการศึกษาของตนเองเท่านั้น บางโรงเรียน ถึงขั้นไม่สอนตามปกติ เอาข้อสอบ O-NET มาติวเข้มกันเลย เพราะหากนักเรียนสอบได้คะแนน O-NET สูงๆ ก็จะทำให้โรงเรียนตัวเอง ดี เด่น ดัง มีผู้ปกครองไว้วางใจส่งเด็กเข้ามาเรียนมากขึ้น ลาภยศสรรเสริญก็จะตามมา
2. ข้อสอบที่นำมาใช้ เป็นข้อสอบที่มีความเที่ยงตรง น่าเชื่อถือได้หรือไม่ มีความยากง่ายแค่ไหน แน่นอน! หากเราถามนักวิชาการที่จัดสร้างขึ้น ก็ต้องบอกว่า “เป็นข้อสอบที่มีคุณภาพ ผ่านกระบวนการสร้างอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ” แต่สิ่งสำคัญที่ผมคิดว่าควรตั้งเป็นสมมติฐาน คือ ภายใต้ Input ที่แตกต่าง Process ที่หลากหลาย Output คือ ผลคะแนนสอบที่ออกมา ควรระบุไว้ก่อนว่า นักเรียนไทยควรได้คะแนนสอบอยู่ในระดับใด มีเกณฑ์ที่เชื่อถือได้โดยมาจากขั้นตอนและกระบวนการที่มีเหตุมีผล เมื่อผ่านเกณฑ์นั้นจึงจะเรียกว่า ได้คุณภาพ เช่น หากบอกว่า ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศนักเรียนไทยต้องสอบ O-NET ได้ไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 50 ทุกวิชา หาดคิดอย่างนี้แล้ว นักเรียนไทยปัจจุบันก็ไม่มีคุณภาพ แต่หากบอกว่า ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศนักเรียนไทยต้องสอบ O-NET ได้ไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 30 ทุกวิชา หากคิดอย่างนี้แล้ว ก็ถือว่า ปัจจุบันนักเรียนไทยมีคุณภาพ แล้ว
3. ค่าเฉลี่ยที่แตกต่าง เพราะ Input ที่ไม่เหมือนกัน วัตถุดิบที่มีคุณภาพได้รับการคัดสรรแล้ว กับ วัตถุดิบที่ยังไม่ได้รับการคัดสรร เมื่อเข้าสู่กระบวนการเดียวกัน Output ย่อมไม่เหมือนกัน หากเราแบ่ง Input คือ นักเรียนในระดับ IQ ที่แตกต่างกัน เป็น เกรด A,B,C และ D แน่นอน โรงเรียนที่มีนักเรียน เกรด A ย่อมได้คะแนนเฉลี่ย O-NET สูง ตรงกันข้าม โรงเรียนที่มีนักเรียน เกรด D ย่อมมีคะแนนเฉลี่ย O-NET ที่ต่ำแล้วอย่างนี้ ค่าคะแนนเฉลี่ย O-NET จะใช้วัดสิ่งใดในตัวคุณภาพของนักเรียน และมันสามารถวัดผลงานของครูผู้สอนหรือผู้บริหาร ได้จริงหรือไม่
4. ค่าเฉลี่ยในการสอบ O-NET แต่ละปีไม่ใช่กลุ่มตัวอย่างเดียวกัน หากเราพูดว่าค่าคะแนนเฉลี่ย O-NET ของนักเรียน ป.6 ปีนี้ เฉลี่ยแล้วต่ำลง แต่ในเรื่องความเป็นจริงแล้ว นักเรียน ป.6 ที่สอบปีที่แล้ว กับนักเรียน ป.6 ที่สอบปีนี้ เป็นคนละคนกัน ดังนั้นการแปลความหมายค่าเฉลี่ยดังกล่าว จึงไม่ได้มุ่งไปที่ตัวผู้เรียนจริงๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องการวัดคุณภาพ แต่กลับมุ่งไปที่ผลของการสอบจากข้อสอบในแต่ละปี

สรุปได้ว่า การวัดคุณภาพของผู้เรียน เราต้องหาเครื่องมือวัดที่เหมาะสม และต้องตอบให้ได้ว่า เราจะวัดเรื่องอะไร ถึงจะเรียกว่า ผู้เรียนมีคุณภาพ เพราะผู้เรียนเป็นมนุษย์ที่มีความแตกต่างกัน ผู้เรียนไม่ใช่สินค้าที่ได้จากกระบวนการผลิตแบบโรงงาน ที่เมื่อผลิตแล้วต้องมีคุณสมบัติ ขนาด น้ำหนัก รูปร่างเหมือนกับที่ออกแบบไว้


ชาติชาย คเขนชล : 28 ก.ย.2552

อ้างอิง :
สำนักเลขาธิการสภาการศึกษา.(2552). ข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษามนทศวรรษที่สอง
(พ.ศ.2552-2561). กรุงเทพฯ : สกศ.

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เป็นความจริงทุกประการ ลูก 2 คนที่พ่อแม่สอนเหมือนกันยังมีพฤติกรรมแตกต่าง

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ผมได้งานทำมีเงินเดือน xx,xxx บาท ซึ่งงานที่ทำเป็นวิชาที่ผมเรียนรู้ในรั้วมหาลัย แต่ถึงกระนั้น ผมก็ยังไม่ผ่านวิชาวิจัย และยังไม่ได้รับปริญญา

"ร้อยกว่าหน่วยกิตที่เรียนมา ชี้ชะตาที่เล่มวิจัย"
"วิจัยเล่มเดียววัดได้กับคุณภาพของคนหรือไม่"

"และเงินใต้โต๊ะของทำให้คนจบได้จริงๆ"