วันอังคารที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2554

หากคะแนน Vote NO. มากกว่าคะแนนผู้สมัคร ส.ส....ผลการเลือกตั้งที่ถูกต้องควรจะเป็นอย่างไร?

เมื่อคืนวานนี้ เพื่อนผมคนหนึ่งจากพระประแดง โทรศัพท์มาหา "บ่นเรื่องราวความเบื่อหน่ายกับบรรดานักการเมืองทั้งหลายอย่างหัวเสีย อยู่นานเป็นชั่วโมง"  แล้วก็เสนอความคิดว่า "หากคะแนน Vote NO. มากกว่าคะแนนผู้สมัคร ส.ส....ผลการเลือกตั้งที่ถูกต้องควรจะเป็นอย่างไร?" พอผมฟังแล้วก็รู้สึกมันเป็นความคิดที่น่าสนใจมาก เลยนำมาแลกเปลี่ยนแบ่งปันกันในบล็อกนี้  จะได้ช่วยกันคิด ช่วยกันวิเคราะห์ ช่วยกันแสดงความคิดเห็น  เพราะปัจจุบันเสียง Vote NO ของประชาชนเป็นเพียงแค่การส่งสัญญาณ แต่ไม่มีผลทางกฏหมายหรือความหมายใดๆ กับนักการเมืองเหล่านี้แต่อย่างใด...เพราะเขาไม่สนใจว่า คะแนน Vote No จะมีอยู่กี่คะแนน...

ผมลองยกตัวอย่างดูเพื่อจะได้เห็นภาพ เช่น ในเขตเลือกแห่งหนึ่ง มีพรรคการเมือง 3 พรรค ส่งผู้แทนพรรคลงสมัครเลือกตั้งเป็น ส.ส. คือ นาย ก., นาย ข. และ นาย ค.

สมมติว่ามีผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียง จำนวน 20 คน ก็คือ 20 คะแนน

ผลการเลือกตั้ง คะแนนออกมา ดังนี้
  • คะแนนไม่ประสงค์ลงคะแนน (Vote NO)  จำนวน 11 คะแนน
  • คะแนน นาย ก.  ได้  5 คะแนน
  • คะแนน นาย ข.  ได้  3 คะแนน
  • คะแนน นาย ค.  ได้  1 คะแนน
จากผลคะแนนที่ปรากฏเช่นนี้

คำถาม : นาย ก. ควรจะได้เป็น ส.ส. หรือไม่ ?
ตอบ : หากเป็นกฏหมายเลือกตั้งที่มีอยู่ตอนนี้ นาย ก. ต้องได้เป็น ส.ส.แน่นอน

แต่ในตรรกะแล้ว ประชาชนในเขตเลือกตั้งนี้ ถึง 11 คน (ซึ่งถือว่าเป็นเสียงส่วนใหญ่) เห็นว่าทั้ง นาย ก., นาย ข. และนาย ค. ม่มีใครเหมาะสมสักคนที่จะเป็นผู้แทนของเขา หากเกิดกรณีเช่นนี้ ผลการเลือกตั้งที่ถูกต้องและเป็นธรรม อาจตัดสินกันได้หลายหนทาง อาทิ
  • นาย ก. ไม่มีสิทธิ์เป็น ส.ส.ของเขตเลือกตั้งนี้ เพราะไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ของประชาชน เป็นเพียงผู้สมัคร ที่ได้คะแนนมากที่สุด ในบรรดาผู้สมัครด้วยกัน ดังนั้น นาย ก.จึงไม่ควรเป็น ส.ส.ของเขตนี้ 
  • จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ไม่ไว้วางใจ ทั้ง 3 คน มาเป็นผู้แทนของเขา
  • พรรคการเมืองทั้ง 3 พรรค จะต้องสรรหาผู้สมัครคนใหม่ลงมาเลือกตั้ง แทนนาย ก., นาย ข. และ นาย ค.
  • นาย ก., นาย ข. และ นาย ค. ไม่มีสิทธิ์ลงมาสมัครรับเลือกตั้งในรอบใหม่
  • ฯลฯ
หากมีกฏหมายเลือกตั้งบัญญัติเช่นนี้
คะแนน Vote NO. จึงจะมีความหมาย
คะแนนเสียงของประชาชนจึงจะมีพลังอำนาจที่แท้จริง

ในอนาคตข้างหน้าอาจจะมีการเสนอกกฏหมายการเลือกตั้งทำนองนี้เข้าสภาฯ
แต่ผมว่ามันคงไม่ผ่าน
เพราะนักเลือกตั้งทั้งหลายที่เข้าไปอยู่ในสภาแล้ว ..คงไม่ยอม!!!!














***************************************

ชาติชาย คเชนชล : 7 มิ.ย.2554

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

แล้วถ้า Vote NO, น้อยกว่า
หรือไม่มากกว่าคนที่ได้คะแนนสูงสุดล่ะ จะคิดอย่างไรต่อไป....ก็คงถือว่า Vote NO, เป็นเช่นเดียวกับผู้ที่สมัครแต่ไม่ได้รับการเลือกตั้งใช่หรือไม่