วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ใช่เสียงส่วนใหญ่หรือปล่าว?

การเลือกตั้ง ส.ส.ราชบุรี เมื่อ 3 ก.ค.2554 (ดูผลการเลือกตั้ง)
  • จำนวนผู้มีสิทธิ์ 627,318 คน มาใช้สิทธิ์ 518,257 คน (คิดเป็นร้อยละ 82.61)
  • ไม่มาใช้สิทธิ์ 109,061 คน
  • บัตรดี 463,036 ใบ
  • บัตรเสีย 28,871 ใบ
  • บัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน 21,350 ใบ
การเลือกตั้ง นายก.อบจ.ราชบุรี เมื่อ 17 ก.ค.2554  (ดูผลการเลือกตั้ง)
  • จำนวนผู้มีสิทธิ์ 614,031 คน มาใช้สิทธิ์ 261,652 คน (คิดเป็นร้อยละ 42.61)
  • ไม่มาใช้สิทธิ์  352,379 คน
  • บัตรดี 227,028 ใบ
  • บัตรเสีย 11,568 ใบ
  • บัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน 23,056 ใบ

คน 243,318 คน หายไปไหน
การเลือกตั้งทั่วไป ส.ส.ราชบุรี เมื่อ 3 ก.ค.54 ถือว่าเป็นการเลือกตั้งที่คนราชบุรีออกมาใช้สิทธิ์มากเป็นประวัติการณ์ถึงร้อยละ 82.61 และคิดเป็นคนที่ไม่สามารถมาใช้สิทธิ์ 109,061 คน

ส่วนการเลือกตั้ง นายก.อบจ.ราชบุรี ก็เป็นประวัติการณ์เช่นกัน คือมีคนมาใช้สิทธิ์เพียง ร้อยละ 42.61 และคิดเป็นคนที่ไม่สามารถมาใช้สิทธิ์ ถึง 352,379 คน

หากเราตั้งสมมติฐานว่า คนราชบุรีที่ไม่มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ส.ส.ราชบุรี จำนวน 109,061 คน  เป็นคนที่ติดธุระจำเป็น หรือไม่สนใจประชาธิปไตย หรือเป็นคนที่เบื่อหน่ายการเลือกตั้งจริงๆ  แต่ทำไม การเลือกตั้ง นายก.อบจ.ราชบุรี  กลับมีคนที่ไม่มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งสูงถึง 352,379 คน แสดงว่าช่วงเวลาเพียงสองสัปดาห์ มีคนราชบุรีที่ติดธุระ หรือไม่สนใจประชาธิปไตย หรือเบื่อหน่ายการเลือกตั้ง เพิ่มขึ้นถึง 243,318 คน (352,379-109,061)

หากเป็นนักแก้ตัว ก็จะอ้างว่า "เหตุผลที่คนมาเลือกตั้งน้อย เพราะเป็นวันหยุดยาว 4 วัน คนจึงไปเที่ยวต่างจังหวัดกันหมด" ...หากท่านรู้อยู่แล้ว ทำไมจึงต้องจัดการเลือกตั้งขึ้นในวันนี้  ผู้เขียนได้พยายามสนทนากับผู้คนที่รู้จักกว่า 50 คนใกล้ตัว ถึงแม้ว่ามันจะไม่ใช่โพลสำรวจ แต่ผู้เขียนกลับพบว่าคนส่วนใหญ่กว่า 30 คน มีทั้งที่ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง และไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง แต่กาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน  ให้เหตุผลว่า

"เหตุที่ทำเช่นนี้เพราะ การเลือกตั้ง นายก อบจ.ราชบุรี ในครั้งนี้ ไม่มีความโปร่งใส ไม่ยุติธรรม เป็นฉากการเลือกตั้งที่จัดขึ้นเพื่อสนองตอบต่อความเห็นแก่ตัวของนักการเมืองคนหนึ่ง ที่ไม่เปิดโอกาสให้คนอื่นเข้ามาต่อสู้ อาศัยช่องว่างของกฏหมายเอาเปรียบทางการเมือง"

ใช่เสียงส่วนใหญ่หรือปล่าว
หากหลักการการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมีอยู่ว่า  "ต้องเป็นความเห็นของเสียงส่วนใหญ่" ดังนั้น การเลือกตั้ง นายก อบจ.ราชบุรี ในครั้งนี้ จึงน่าจะเป็นการเลือกตั้งที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตย เพราะคนมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งเพียงร้อยละ 42.61 แสดงว่าคนอีกร้อยละ 57.39 ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่กว่า ไม่มาใช้สิทธิ์  ดังนั้นผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ จึงเป็นเสียงของคนส่วนน้อยเท่านั้น

ยกตัวอย่าง :  ถ้าหมู่บ้านแห่งหนึ่งมีชาวบ้านอยู่ 100 คน กำหนดให้มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านโดยใช้เสียงส่วนใหญ่  ปรากฏว่ามีชาวบ้านมาเลือกตั้งเพียง 42 คน แต่อีก 58 คนไม่มาเลือกตั้ง  ดังนั้น ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาเช่นใด ใครจะได้คะแนนเสียงมากน้อยอย่างไร ก็ถือเป็นการเลือกตั้งของชาวบ้านเสียงข้างน้อยอยู่ดี

แต่กฏหมายการเลือกตั้งของบ้านเรา ไม่เคยกำหนดว่า "การเลือกตั้งในแต่ละครั้ง จะต้องมีผู้มาใช้สิทธิ์เกินร้อยละ 50 ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง จึงจะให้การรับรอง"  ดังนั้นผู้มาใช้สิทธิ์จะมากน้อยเท่าใดจึงไม่มีผลต่อการเลือกตั้ง แต่อย่างใดทั้งสิ้น  (มีผลแค่เป็นตัวเลขใช้อ้างเพื่อขอความดีความชอบของบุคคลบางพวก บางกลุ่มเท่านั้น)  นี่คืออีกหนึ่งช่องว่าง ที่ทำให้นักการเมืองผู้ที่เอารัดเอาเปรียบฉกฉวยโอกาส และไม่เคยให้ความสำคัญของเสียงแห่งประชาชนโดยแท้จริง

การเลือกตั้ง จึงเป็นเพียงแค่พิธีกรรมในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น

การเลือกตั้ง นายก อบจ.ราชบุรี ในครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นการเลือกตั้งที่น่าอัปยศอดสูอีกครั้งหนึ่งของจังหวัดราชบุรี เพราะมีผู้มาใช้สิทธิ์ลงคะแนนเพียง ร้อยละ 42.61 ไม่ถึงครึ่ง 
  • หากผมเป็นผู้จัดการการเลือกตั้ง ผมจะออกมาขอโทษคนราชบุรี ที่บังอาจคิดว่า "คนราชบุรีโง่"
  • หากผมเป็นผู้ที่ได้รับเลือกตั้ง ผมจะประกาศลาออก เพราะมีคนมาเลือกตั้งไม่ถึง 50% และในจำนวนไม่ถึง 50% นี้ก็เลือกผมเพียง 66.84% (นายวันชัย ธีระสัตยกุล ได้คะแนน 151,746 จากคะแนนบัตรดี 227,028) 
และสุดท้าย
ขอขอบคุณคนราชบุรี ที่สั่งสอนบทเรียนครั้งนี้ให้แก่นักการเมือง

**************************************************
จุฑาคเชน : 19 ก.ค.2554

อ่านเพิ่มเติมบทความที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีความคิดเห็น: