วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

ไอน์สไตน์คิดอย่างไรกับศาสนาพุทธ

ผมได้อ่านพบเรื่องราวนี้ ในหนังสือสวดมนต์ชื่อ "เสบียงทิพย์" ที่ได้รับมอบจากผู้ใจดีท่านหนึ่ง ในบทความที่ชื่อว่า "ศาสนาพุทธ หนทางแห่งความสุข"  โดยเรื่องไอน์สไตน์คิดอย่างไรกับศาสนาพุทธนี้ ได้อ้างอิงมาจากหนังสือ "ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น" ซึ่งเขียนโดย ทันตแพทย์สม สุจีรา

หนังสือ
"ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น"
ที่มาของภาพ
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เรื่องราวเริ่มต้นมาจาก กาลามสูตร หรือหลักในการพิจารณา 10 อย่าง ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ เป็นสิ่งที่สร้างความประหลาดใจให้กับชาวตะวันตกมากที่สุด   ได้แก่
  1. อย่าเพิ่งเชื่อด้วยการได้ยินได้ฟังตามกันมา
  2. อย่าเพิ่งเชื่อด้วยการถือตามถ้อยคำสืบๆ กันมา
  3. อย่าเพิ่งเชื่อด้วยการตื่นข่าวลือ
  4. อย่าเพิ่งเชื่อถือด้วยอ้างตำรา
  5. อย่าเพิ่งเชื่อถือตรรก หรือเหตุผล
  6. อย่าเพิ่งเชื่อถือด้วยการคาดคะเน
  7. อย่าเพิ่งเชื่อถือด้วยการคิดตรองอาการที่ปรากฏ
  8. อย่าเพิ่งเชื่อถือเพราะเข้ากับความเห็นของตน
  9. อย่าเพิ่งเชื่อถือเพราะผู้พูดมีรูปลักษณะน่าเชื่อถือ
  10. อย่าเพิ่งเชื่อถือเพราะเห็นว่าสมณะนี้หรือผู้นี้เป็นครูของเรา
พระพุทธเจ้า ท่านไม่ต้องการให้มีความเชื่อใดๆ โดยไม่ใช่ปัญญา ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งความมีเหตุผล ไม่เน้นความเชื่อ ไม่เน้นศรัทธา ไอน์สไตน์ ได้มาศึกษาพุทธศาสนา แล้วได้อ่านกาลามสูตร นี้ ก็เกิดแปลกใจว่า มีศาสนาที่สอนไม่ให้เชื่ออะไรง่ายๆ แบบนี้อยู่ด้วยหรือ ไอน์สไตน์เกิดความประทับใจ และเขียนบทความเผยแพร่แก่ชาวโลกว่า 

"ศาสนาแห่งอนาคต เป็นศาสนาแห่งจักรวาล ศาสนาซึ่งตั้งอยู่บนประสบการณ์ ซึ่งปฏิเสธความเชื่อที่ไร้ข้อพิสูจน์ หากมีศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ซึ่งพอจะรับมือกับความต้องการทางวิทยาศาสตร์ได้ละก็ ศาสนานั้น คือ ศาสนาพุทธ"

ไอน์สไตน์ยังกล่าวต่อว่า
"ศาสนาพุทธมีคุณลักษณะที่เราคาดหวังว่า จะเป็นศาสนาแห่งจักรวาล ศาสนาพุทธไม่ยึดติดกับพระเจ้า ไม่ส่งเสริมความเชื่อที่งมงาย ไม่เกี่ยวข้องกับเทวะนิยม ศาสนาพุทธเกี่ยวพันกับธรรมชาติ และจิตวิญญาณ โดยถือว่าเป็นองค์รวมเดียวกันอย่างมีความหมาย ศาสนาที่แท้จริงต้องไม่วางอยู่บนความกลัวชีวิต ความกลัวตาย และศรัทธาอย่างไม่ลืมหูลืมตา แต่เชื่อด้วยความพากเพียรตามความรู้ที่มีเหตุผล"

ฯลฯ

นี่เป็นเพียงบางส่วนที่ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ได้กล่าวถึงศาสนาพุทธเท่านั้น หากท่านใดต้องการอ่านอย่างละเอียดสามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้ในหนังสือ "ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น" ดังรูปหนังสือตัวอย่างที่แนบมาด้านบนนี้ครับ

ขนาดไอน์สไตน์ ท่านยังเห็นว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่เป็นวิทยาศาสตร์มีเหตุมีผล  แต่ปัจจุบันคนในสังคมไทย ซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ  กลับไร้เหตุไร้ผลลงเรื่อยๆ  ยึดติดอัตตา ตัวกู ของกู พวกกู  ขาดความเกรงกลัวและละอายใจต่อการทำบาป  ปล่อยให้ความโลภ โกรธ หลง เข้ามาครอบงำ ผ่านทาง ลาภสักการะ ยศ สรรเสริญ และอำนาจ 


*****************************
ที่มา :
ธรรมพุทธบริษัท. (______). ศาสนาพุทธหนทางแห่งความสุข. เสบียงทิพย์.กรุงเทพฯ : กิตติชัยการพิมพ์.

ไม่มีความคิดเห็น: