วันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2555

นักดำน้ำสากลของ สปภ.กรุงเทพมหานคร

ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 เดือน (30 เม.ย.-24 มิ.ย.2555)  ที่ผมและครูฝึก (Engineer Divers Team) ได้รับมอบหมายจากกรมการทหารช่าง ให้ฝึกเจ้าหน้าที่สถานีดับเพลิงและกู้ภัยของกรุงเทพมหานคร จำนวน 4 รุ่น  เพื่อให้สามารถดำน้ำกู้ภัยและค้นหาทางน้ำได้  ตาม "โครงการฝึกอบรมการช่วยเหลือ บรรเทา กู้ภัย และค้นหาทางน้ำ"  ของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กรุงเทพมหานคร  วันนี้เสร็จสิ้นภารกิจแล้ว หลังจากที่ชีพจรลงเท้า ตะลอนเดินทางขึ้นล่องระหว่างราชบุรี ชลบุรี และกาญจนบุรี มาตลอดสองเดือน

นักดำน้ำสากลของ สปภ.กรุงเทพมหานคร 
ผมดีใจที่มี "ผู้ใหญ่ใจดีของกรุงเทพมหานคร"  ริเริ่มโครงการนี้ขึ้น  ทำให้ ณ วันนี้ สปภ.กทม. มีเจ้าหน้าที่ที่เป็นนักดำน้ำสากลระดับ Open Water Diver ของสถาบัน PADI (Professional Association of Diving Instructors) จำนวนมาก ถึง 65 คน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นหน่วยงานราชการของไทยที่มีนักดำน้ำสากลมากที่สุด นักดำน้ำเหล่านี้กระจัดกระจายกันอยู่ตามสถานีดับเพลิงและกู้ภัยต่างๆ  ในกรุงเทพมหานคร ดังนี้
ดูรายละเอียด
  • สถานีดับเพลิงและกู้ภัยดุสิต จำนวน 6 คน
  • สถานีดับเพลิงและกู้ภัยคลองเตย จำนวน 5 คน
  • กองวิชาการและแผนงาน จำนวน 5 คน
  • สถานีดับเพลิงและกู้ภัยบางโพ จำนวน 4 คน
  • สถานีดับเพลิงและกู้ภัยลาดพร้าว จำนวน 4 คน
  • สถานีดับเพลิงและกู้ภัยดาวคะนอง จำนวน 4 คน
  • สถานีดับเพลิงและกู้ภัยบางกะปิ จำนวน 3 คน
  • สถานีดับเพลิงและกู้ภัยพญาไท จำนวน 3 คน
  • สถานีดับเพลิงและกู้ภัยปากคลองสาน จำนวน 3 คน
  • สถานีดับเพลิงและกู้ภัยลาดกระบัง จำนวน 3 คน
  • สถานีดับเพลิงและกู้ภัยบางขุนนนท์ จำนวน 2 คน
  • สถานีดับเพลิงและกู้ภัยยานนาวา จำนวน 2 คน
  • สถานีดับเพลิงและกู้ภัยสามเสน จำนวน 2 คน
  • สถานีดับเพลิงและกู้ภัยบวรมงคล จำนวน 2 คน
  • สถานีดับเพลิงและกู้ภัยถนนจันทร์ จำนวน 2 คน
  • สถานีดับเพลิงและกู้ภัยทุ่งมหาเมฆ จำนวน 2 คน
  • สถานีดับเพลิงและกู้ภัยพระโขนง จำนวน 2 คน
  • สถานีดับเพลิงและกู้ภัยห้วยขวาง จำนวน  2 คน
  • สถานีดับเพลิงและกู้ภัยหัวหมาก จำนวน 2 คน
  • สถานีดับเพลิงและกู้ภัยตลิ่งชัน จำนวน 1 คน
  • สถานีดับเพลิงและกู้ภัยบ่อนไก่ จำนวน 1 คน
  • สถานีดับเพลิงและกู้ภัยบางรัก จำนวน 1 คน
  • สถานีดับเพลิงและกู้ภัยลาดยาว จำนวน 1 คน
  • สถานีดับเพลิงและกู้ภัยบรรทัดทอง จำนวน 1 คน
  • สถานีดับเพลิงและกู้ภัยบางขุนเทียน จำนวน 1 คน
  • สถานีดับเพลิงและกู้ภัยตลาดพลู จำนวน 1 คน 

เติมเกือบเต็ม
ระยะเวลาการฝึกของแต่ละรุ่น ทาง สปภ.กทม.กำหนดไว้จำนวน 10 วัน ซึ่งผมได้แบ่งออกเป็นภาคทฤษฎีและปฏิบัติในสระ 4 วัน (ราชบุรี) ภาคทะเล 3 วัน (จ.ชลบุรี) และภาคน้ำจืดอีก 3 วัน (จ.กาญจนบุรี)  เจ้าหน้าที่เหล่านี้ นอกจากจะจบหลักสูตรดำน้ำสากลระดับ Open Water Diver แล้ว ผมได้เติม Adventure Dive บางส่วนของระดับ "Advanced Open Water Diver"  ให้ไปด้วยได้แก่  Deep Dive, UW Navigation Dive และ Search and Recovery  Dive  และในภาคน้ำจืด ได้สอนการนำผู้หมดสติใต้น้ำขึ้นสู่ผิวน้ำ การช่วยหายใจบนผิวน้ำระหว่างพากลับเข้าฝั่ง ซึ่งเป็นบางส่วนของการเรียนดำน้ำระดับ   "Rescue Diver" นอกจากนั้นยังสอนรูปแบบการค้นหาใต้น้ำ (Search Pattern) แบบต่างๆ ในน้ำที่มีกระแสและจำกัดการมองเห็น  และทุกคนล้วนได้ดำน้ำสัมผัสกับกระแสน้ำอันเชี่ยวกรากของแม่น้ำแควใหญ่จนอ่อนเปลี้ยเพลียแรงกันทุกคน 


ความรู้ที่ผมเพิ่มเติมให้ไปนั้น มุ่งหวังให้เจ้าหน้าที่เหล่านี้  สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานกู้ภัยทางน้ำได้จริง  อันจะเป็นการช่วยบรรเทาความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครต่อไป 


น่าเสียดายที่เวลามีเพียงเท่านั้น หากมีเวลาและงบประมาณให้อีกสัก 2-3  วัน เจ้าหน้าที่เหล่านี้ จะสามารถยกระดับขึ้นเป็นนักดำน้ำสากลระดับ Advanced Open Water Diver ได้เลยทีเดียว


แต่แค่นี้ก็นับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีแล้ว เพราะในกรุงเทพมหานคร มีแม่น้ำเจ้าพระยา และคลองต่างๆ จำนวนมาก อุบัติภัยทางน้ำมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง  วันนี้ กรุงเทพมหานคร จึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการยกระดับการกู้ภัยทางน้ำให้เป็นสากล โดยเริ่มแรกคือ "การพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรให้เป็นระดับสากลเสียก่อน" 


สปภ.กทม. นี้อาจจะเป็นตัวอย่างให้กับเทศบาล หรือ อบต.ที่มีพื้นที่ติดทะเล หรือติดแม่น้ำ ในการพัฒนาบุคลากรของตนเองในการกู้ภัยทางน้ำก็เป็นได้


อย่าทิ้งการดำน้ำ
ผมเคยบอกลูกศิษย์เสมอว่า "เมื่อเราดำน้ำเป็นแล้ว อย่าทิ้งการดำน้ำ" แต่หลายคนก็ทิ้งมันไป อาจเป็นเพราะปัจจัยเรื่องเงิน เวลา และภาระงาน ดังนั้นนักดำน้ำสากลของ สปภ.กทม.จำนวน 65 คนนี้ ผมไม่แน่ใจว่าเขาจะรักการดำน้ำต่อไปหรือไม่  เขาจะหมั่นหาเวลาไปดำน้ำในที่ต่างๆ เพื่อเพิ่มประสบการณ์ให้ตัวเองหรือไม่  หรือเขาจะเรียนดำน้ำต่อในระดับที่สูงขึ้นหรือไม่ 


คนอื่นๆ  อาจใช้เงินของตัวเองเพื่อเรียนดำน้ำ แต่  เจ้าหน้าที่ สปภ.กทม. รัฐเป็นคนออกค่าใช้จ่ายและลงทุนให้  ผมเสียดายงบประมาณเหล่านั้น หากคนทั้ง 65 คนนี้ทิ้งการดำน้ำไปกันจนหมด  ดังนั้น "ผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องของ กทม." คงจะต้องหาวิธีการใดๆ ก็ตามที่จะกระตุ้นให้คนเหล่านี้ ได้พัฒนาทักษะการดำน้ำของตนเองอยู่เสมอ  และส่งเสริมให้เขาได้เรียนดำน้ำต่อในระดับที่สูงขึ้น จนถึง  "Rescue Diver" ซึ่งจะถือว่าเป็นนักดำน้ำที่สามารถช่วยเหลือและกู้ภัยได้อย่างมืออาชีพจริงๆ 


*************************************
ชาติชาย คเชนชล : 24 มิ.ย.2555


2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

สงสัยจะยากเพราะยากเอาแต่ใบเซอร์ประดับบารมีพอมีเหตุการก็ไม่เห็นสักคนฝากหน่อยนะะครับเสียดายภาษีของพวกเราชาวไทยครับเอาไปให้มันเกิดประโยชน์เถอะจะำไรไม่ว่าขอให้คนที่ไปเอาใจไปด้วยกับงานที่มีเถอะนะถึงจะดี

Unknown กล่าวว่า...

ขอขอบคุณครูผู้พันและคณะมากครับ ตลอดเวลาของการเรียนการสอนท่านเต็มที่มาก และท่านให้มิติในเรื่องของการกู้ภัยให้กับเรา ขอขอบคุณความเห็นข้างต้น งานของเราดับเพลิง กทม.มีหลากหลายด้าน ท่านมองจากจุดทีึ่ท่านยืน ท่านอาจไม่เข้าใจไม่เป็นไร สำหรับเราก่อนไปฝึกพวกเราหลายคนมีประสบการด้านการดำน้ำเก็บกู้มาก่อน เราเตรียมความพร้อมทางร่างกายก่อนไปฝึก เราเตรียมใจไปรับความรู้เเละมุมมองใหม่ในเรื่องของมิติแห่งการกู้ภัย เราอาจเก็บกู้ไม่ปล่อยอย่างพี่อาสาสมัคร แต่ถ้าเรารับภาระกิจมาเราทำได้ ขอบคุณความเห็นที่ดูถูก ดูถูกแล้ว