วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2554

ไม่มีเรียนฟรี 15 ปี ไม่มี กยศ. ไม่มี กรอ. "คนไทยเรียนฟรีถึงอายุ 22 ปี"

เรื่องราวของ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กับกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ที่ขณะนี้ รัฐบาลโดย นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเปิดเผยว่า จะยุติกองทุน กยศ. โดยประกาศพักหนี้ กยศ. และให้ชะลอการดำเนินคดีฟ้องร้องกับลูกหนี้ไปก่อนหลังจากนั้น จะปล่อยให้กู้เงินยืมเพื่อการศึกษาผ่าน กรอ.แทน โดยจะจัดให้มีวงเงินเพียงพออย่างแท้จริงสำหรับผู้เรียนทุกคน

ในทัศนะของผู้เขียนแล้วมองเห็นว่าการเรียนฟรี 15 ปี, กองทุน กยศ.และ กอร. นี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ดีต่อการศึกษาของคนไทยทั้งสิ้น เพราะมันสามารถช่วยให้โอกาสทางการศึกษาแก่เด็กและแบ่งเบาภาระแก่ประชาชนที่มีรายได้น้อยได้ 

กยศ.ที่ตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2539 นั้น ขณะนี้กำลังจะเหมือนงูกินหาง จมไม่ลง ทั้งหนี้สูญ และหนี้ที่มีความเสี่ยง กองทุนฯ นี้ เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนของเรา สามารถเป็นหนี้ได้ตั้งแต่เริ่มเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จนกระทั่งจบปริญญาตรี และหลังจากจบแล้ว แทนที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่ในวัยทำงานที่สดใส  กลับกลายต้องมีภาระหาเงินมาชำระหนี้แก่กองทุนฯ ตามสัญญา และหากพวกเขาเกิดตกงาน ไม่สามารถหางานทำได้ ด้วยปัจจัยทางด้านสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ (ซึ่งเขาไม่สามารถควบคุมมันได้ ) แล้วพวกเขาจะทำอย่างไร   

ข้อเสนอ "คนไทยเรียนฟรีถึงอายุ 22 ปี"
ปัจจุบันนโยบายการเรียนฟรี 15 ปีของรัฐบาล คือ รัฐบาลจะจ่ายเงินอุดหนุนเฉพาะผู้ที่เรียนตั้งแต่ชั้น อนุบาล 1 ถึง ม.3 และ ,ม.4-6 และ ระดับ ปวช. การคิดเช่นนี้ ก็คือ การตั้งสมมติฐานแค่เพียงว่า  "นี่คือการศึกษาขั้นพื้นฐานที่คนไทยควรจบ" แต่หากรัฐบาลตั้งสมมติฐานใหม่ว่า  "การศึกษาขั้นพื้นฐานที่คนไทยควรจบคือ ระดับปริญญาตรี"  นั่นหมายถึง รัฐบาล ต้องส่งเสริมให้ประชาชนเรียนฟรี ถึง 19 ปี ซึ่งหลายๆ พรรคการเมืองก็พยายามคิดนโยบายนี้มาแล้ว แต่ยังไม่สำเร็จ

เปลี่ยนจากเรียนฟรีเป็น "ปี" เป็นเรียนฟรีตาม "อายุ"
ปัจจุบันหน่วยงานที่จัดการศึกษาของประเทศไทยมีหลากหลายรูปแบบ เด็กและเยาวชนของเราสามารถเลือกเรียนได้ตามความชอบ ความถนัด และความจำเป็นของครอบครัวได้ ไม่ว่าทั้งสายสามัญ สายอุดมศึกษา สายอาชีวะ  การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย รวมถึงการศึกษาเฉพาะทางของกระทรวงทบวงกรมต่างๆ (ที่ไม่ใช่ ศธ.เป็นผู้จัด)  เช่น ของสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานฯ เป็นต้น แต่ปัจจุบันการเรียนฟรี 15 ปี ส่วนใหญ่จะจำกัดอยู่ในสถานศึกษาที่รัฐบาลบังคับ คือในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) บางส่วน 

หากเด็กนักเรียน เรียนจบ ม.3 แล้ว ไม่ประสงค์เรียนต่อ ม.4  และไม่อยากเรียนสายอาชีววะ  เขาสนใจที่จะไปเรียนด้านวิชาชีพอื่นๆ ที่้รัฐไม่ได้จัดให้ จากสถาบันการศึกษาเอกชนอื่นๆ  นักเรียนคนนี้ ก็จะต้องหาเงินไปเรียนเอง ดังนั้น "เขาก็จะเสียสิทธิ์การเรียนฟรีที่จะต้องได้รับจากรัฐบาลไป 3 ปี" เพราะไม่ได้อยู่ในชั้นเรียน หรือสถานศึกษาที่รัฐบาลกำหนด

ตัวอย่างจริง :
มีนักเรียนหญิงคนหนึ่ง จบ ม.3 อายุ 15 ปี เธอหวังที่จะเป็นช่างเสริมสวยและฝันที่จะเปิดร้านเสริมสวยของตนเอง และเธอคิดว่า "การไปเรียนต่อ ม.4 หรือ สายอาชีวศึกษานั้น คงอีกหลายปีกว่าจะจบ ซึ่งจะเป็นการแบกภาระค่าใช้จ่ายแก่พ่อและแม่ของเธอเป็นอย่างมาก"  เธอจึงตัดสินใจไม่เรียนหนังสือต่อ  ไปสมัครเรียนเสริมสวยจากร้านเสริมสวยแห่งหนึ่ง ซึ่งร้านนี้ ได้รับการเชื่อถือว่าผู้ที่เรียนจบแล้ว จะเป็นช่างเสริมสวยที่เก่ง สามารถไปสมัครเป็นพนักงานหรือเปิดร้านเสริมสวยทำเป็นอาชีพของตนเองได้ 

ร้านเสริมสวยร้านนี้ คิดค่าเล่าเรียนจากเธอ
นั่นหมายถึงเธอไม่ได้รับสิทธิ์ในการเรียนฟรีจากรัฐบาลแล้ว
เพราะเธอไม่ได้เรียนในชั้นเรียน หรือสถานศึกษาที่รัฐบาลเป็นผู้กำหนด

การเรียนฟรี 15 ปีของรัฐบาล ถ้าเทียบเป็นอายุก็คือ เรียนฟรีถึงอายุ 18 ปี  
ลองคิดดูว่า หากสิทธิ์ในเรียนฟรีติดอยู่กับตัวเธอ
เธอคงสามารถนำใบเสร็จค่าเล่าเรียนจากเสริมสวยนั้นมาเบิกกับรัฐบาลได้ 
เพราะเธอเพึ่งอายุ 15 ปี

นักการศึกษาฯ หลายท่าน คงทราบดีอยู่แล้วว่า มีหลายประเทศที่เขาให้เด็กและเยาวชนของเขาเรียนฟรี โดยใช้อายุเป็นเกณฑ์ ไม่ได้ใช้จำนวนปี ชั้นเรียน หรือสถานศึกษาเป็นเกณฑ์  เพราะเขาเชื่อว่าเด็กอยากจะเรียนอะไรก็ได้ ตามที่เขาต้องการ เพราะเด็กแต่ละคนมีความชอบ ความถนัด และมีศักยภาพที่แตกต่างกันไป

เปรียบเทียบผลลัพท์ที่ได้จากการเรียนฟรีตามจำนวนปี กับตามเกณฑ์อายุ
เรียนตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี + เงินกู้ กยศ.
  • เรียนฟรี 15 ปี เราจะได้
    • เด็กที่จบ ม.6/ปวช. เท่านั้น
  • เรียนฟรี 15 ปี + เงินกู้ กยศ. เราจะได้
    • เด็กที่ จบ.ม 6/ปวช. + หนี้เงินกู้ กยศ. หรือ
    • เด็กที่ จบอนุปริญา/ปวส./ปวท.+ หนี้เงินกู้ กยศ. หรือ
    • เด็กที่ จบ.ปริญญาตรี +หนี้เงินกู้ กยศ.
หากเรียนตามนโบายเรียนฟรีถึงอายุ 18 ปี
(นโยบายเดิมแต่เปลี่ยนจาก 15 ปี เป็นเรียนฟรีถึง อายุ 18 ปี)
  • เด็กที่จบ ม.6/ปวช. หรือ
  • ด็กที่จบ ม.3 + วิชาที่เขาชอบ = หาเลี้ยงชีพได้
และหากเราตั้งสมมติฐานใหม่ว่า
"คนที่เรียนตามเกณฑ์ปกติแล้ว จะจบปริญญาตรี เมื่ออายุ 22 ปี" 
นโยบายการเรียนฟรีใหม่คือ เรียนฟรีถึงอายุ 22 ปี ซึ่งเราอาจจะได้
    • เด็กที่ จบ.ม 3 + วิชาที่เขาชอบ+ วิชาที่เพิ่มทักษะด้านอาชีพ = หาเลี้ยงชีพได้ 
    • เด็กที่ จบ.ม 6 /ปวช. + วิชาที่เขาชอบ +วิชาที่เพิ่มทักษะด้านอาชีพ = หาเลี้ยงชีพได้
    • เด็กที่ จบอนุปริญา/ปวส./ปวท.+ วิชาที่เขาชอบ + วิชาที่เพิ่มทักษะด้านอาชีพ = หาเลี้ยงชีพได้
    • เด็กที่ จบ.ปริญญาตรี 

หลักการเรียนฟรีตามอายุที่สำคัญก็คือ
คนไทยตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ 22 ปี หากต้องการจะเรียนอะไร รัฐจะออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด 
"หลังจากที่เขาจบการศึกษาภาคบังคับแล้ว เขาจะเรียนอะไร ที่ไหนก็ได้ ตามที่เขาชอบเพื่อให้สามารถนำมาประกอบสัมมาอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ ซึ่งเขาควรจะได้รับสิทธิ์เรียนฟรี จนถึงอายุ 22 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาขั้นต่ำสุดที่ผู้เรียนพึงจะเรียนจบปริญญาตรีได้"

รัฐบาลจะเอาเงินมาจากไหน
ในเบื้องต้น ผู้เขียนเห็นว่า อาจแปลงเงินกองทุน กยส. ซึ่งขณะนี้มีความเสี่ยงสูงในการสูญหนี้  มาเป็นเงินงบประมาณในการสนับสนุนการเรียนฟรี  หลังจากที่เขามีอายุมากกว่า 18 ปี (จบ ม.6/ปวช.) จนถึงอายุ 22 ปี  ซึ่งหากมีการศึกษาวิจัยเรื่องนี้กันอย่างจริงจังแล้ว อาจสามารถที่จะสร้างนโยบายนี้ ให้เป็นจริงได้ เพราะจากสถิติแล้วก็มีเด็กนักเรียนหลายคนหลุดออกจากแวดวงของการศึกษาในระบบไป และอาจคุ้มค่ากว่าความเสี่ยงของการนำเงินงบประมาณมาลงทุนเพิ่มเติมในกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)  ก็เป็นได้ 


เรื่อง "คนไทยเรียนฟรีถึงอายุ 22 ปี" นี้ เป็นสิ่งที่ผู้เขียนคิดมานานแล้ว ตั้งใจนำเสนอเพื่อให้เกิดวิธีคิดและมุมมองใหม่ของการให้ศึกษาของไทย  หากผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านในเมืองคิดว่ามันพอจะเป็นไปได้ ก็คงต้องตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายทำการศึกษาวิจัยในรายละเอียดเรื่องนี้ต่อไป

หรือไม่แน่ ความคิดของผู้เขียนนี้
อาจจะถูก Delete ทิ้งตั้งแต่เริ่มต้นอ่านแล้วก็ได้ครับ


**********************************************************    

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ไม่มี "สุชาต จันทรวงศ์" รร.บูรณฯ เจริญได้ยิ่งกว่านี้ เพราะสุชาต หอบเงินธนาคารโรงเรียนกลับบ้านทุกวัน