สหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี
ซื้อ-ขาย ล็อตเตอรี่ : 686 ล้านบาท เงินสมาชิกต้องไม่สูญ
ณ วันนี้คงเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า สหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี ไม่ได้เงินจำนวน 686 ล้านบาท คืนจาก บริษัท เทวาสิทธิพิฆเนศ จำกัด และคณะกรรมการดำเนินการ ทั้ง 15 คน รวมทั้ง ผู้จัดการก็ไม่แสดงความรับผิดชอบทำตามสัญญาที่ได้ให้ไว้เมื่อวันประชุมใหญ่วิสามัญ (3 ก.ย.2554) ว่าจะลาออกทั้งคณะทันทีที่ไม่ได้เงินคืน
พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 มาตรา 51 บัญญัติเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของคณะกรรมการ ดำเนินการสหกรณ์ไว้ 2 ประการสำคัญ คือ
- ประการแรก ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินกิจการของสหกรณ์
- ประการที่สอง ทำหน้าที่เป็นผู้แทนสหกรณ์ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก
ซึ่งการทำหน้าที่ทั้งสองประการนี้ ต้องดำเนินการภายใต้หลักการวิธีการสหกรณ์ เพื่อประโยชน์ของบรรดาสมาชิกเป็นสำคัญ
การบริหารจัดการสหกรณ์โดยคณะกรรมการดำเนินการ อันประกอบด้วยบุคคลหลายคนต้องดำเนินการตามเสียงข้างมาก ดังบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยนิติบุคคล ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 41 เช่น กรณีสหกรณ์จะกู้เงินธนาคารจำนวน 100 ล้านบาท สำหรับเป็นเงินลงทุนหมุนเวียนให้สมาชิกกู้ยืม ถ้ามีกรรมการลงมติเกินกึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดที่เป็นองค์ประชุมให้กู้ จึงจะสามารถไปทำสัญญากู้ยืมจากธนาคารในนามสหกรณ์ได้
การทำหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ เป็นหลักกฎหมายว่าด้วยนิติบุคคล มาตรา 70 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ว่า นิติบุคคลต้องมีผู้แทนคนหนึ่งหรือหลายคนตามที่กฎหมาย ข้อบังคับกำหนดไว้ เพราะสหกรณ์เป็นนิติบุคคลไม่มีชีวิตจิตใจอย่างเช่นบุคคลธรรมดา จึงไม่สามารถแสดงเจตนาหรือความต้องการ หรือไม่ต้องการใด ๆ ออกมาได้ด้วยตนเอง จำเป็นต้องมีบุคคลธรรมดาคณะหนึ่งก็คือ คณะกรรมการดำเนินการ มีหน้าที่รับผิดชอบแสดงออกซึ่งเจตนาของสหกรณ์ หรือนัยหนึ่งคือ ผู้ตัดสินใจในนามของสหกรณ์
ส่วนในเรื่องความรับผิดชอบของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ อาจมีได้ 3 กรณี
- กรณีสหกรณ์ใช้สิทธิไล่เบี้ยกรรมการ หรือคณะกรรมการ เป็นกรณีตามมาตรา 76 วรรคแรก ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่า “ถ้าการกระทำตามหน้าที่ของผู้แทนนิติบุคคล หรือผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคล เป็นเหุตให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น แต่ไม่สูญเสียสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้ก่อความเสียหาย” หมายถึง กรรมการหรือคณะกรรมการ ปฏิบัติการใดไปตามอำนาจหน้าที่ แต่การปฏิบัติเกิดผลเสียหายแก่บุคคลอื่น สหกรณ์ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้ และใช้สิทธิไล่เบี้ยคืนจากกรรมการหรือคณะกรรมการ แล้วแต่กรณี เช่น คณะกรรมการอนุมัติให้สมาชิกสหกรณ์กู้เงินสหกรณ์ไปโดยไม่พิจารณาให้รอบคอบ หรือโดยประมาท สมาชิกผู้นั้นไม่ส่งชำระเงินกู้ ทำให้สหกรณ์ไม่ได้รับเงินกู้คืน สหกรณ์ย่อมใช้สิทธิไล่เบี้ยเงินที่เสียหายไปจากคณะกรรมการได้
- กรณีความรับผิดความเสียหายเกิดจากการกระทำนอกขอบวัตถุประสงค์ หรืออำนาจหน้าที่ของสหกรณ์ เป็นกรณีตามมาตรา 76 วรรคสอง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ถ้ากรรมการหรือคณะกรรมการกระทำการนอกขอบวัตถุประสงค์ หรือนอกเหนืออำนาจกระทำการของสหกรณ์ที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์หรือข้อบังคับสหกรณ์ อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น ความเสียหายนั้นกรรมการหรือคณะกรรมการต้องรับผิดค่าเสียหายแก่บุคคลนั้นโดยตรง เช่น กรณีที่สหกรณ์นำเงินไปซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลมาจำหน่าย ซึ่งไม่ใช่กิจการร่วมกันตามประเภทของสหกรณ์ตามความมาตรา 33 (1) แห่ง พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 และไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสหกรณ์ และเมื่อเกิดความเสียหายขึ้น คณะกรรมการก็ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว
- กรณีความเสียหายของสหกรณ์ที่เกิดจากการกระทำละเมิดของกรรมการหรือคณะกรรมการ กรณีนี้คือ กรรมการ หรือคณะกรรมการ จงใจหรือประมาทเลินเล่อ กระทำหรือละเว้นกระทำต่อสหกรณ์โดยผิดกฎหมาย ข้อบังคับสหกรณ์ ให้สหกรณ์มีความเสียหายแก่ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายนั้น เช่น คณะกรรมการมีมติให้ขายสินค้าที่สหกรณ์มีอยู่ ซึ่งคณะกรรมการรู้หรือควรรู้ว่าสินค้านั้น มีคุณภาพไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการควบคุมมาตรฐานของสินค้าตัวนั้น ต่อมาสหกรณ์ถูกดำเนินคดีฐานจำหน่ายและมีไว้จำหน่ายสินค้าโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย สหกรณ์ถูกปรับเป็นเงินหนึ่งแสนบาท คณะกรรมการต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนเงินหนึ่งแสนบาทนี้ให้สหกรณ์ เพราะคณะกรรมการทำละเมิดต่อสหกรณ์ นอกจากจะรับผิดทางละเมิด อาจมีความผิดที่เกี่ยวโยงไปในทางอาญาด้วย เช่น ความผิดฐานยักยอก หรือฉ้อโกงเงินของสหกรณ์ เป็นต้น
ใครมีหน้าที่ดำเนินการ
ส่วนกรณีใครจะมีหน้าที่ดำเนินการเพื่อให้คณะกรรมการรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 16 ได้ระบุให้นายทะเบียนสหกรณ์ ซึ่งก็คือ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือข้าราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีตําแหน่งไม่ต่ำกว่า ผู้อํานวยการกองหรือเทียบเท่าเป็นรองนายทะเบียนสหกรณ์
ในทางปฏิบัติก็จะคือ สหกรณ์จังหวัดของจังหวัดนั้นๆ ที่มีอำนาจหน้าที่ ตามมาตรา16(5) สั่งให้ระงับการดำเนินงานทั้งหมดหรือบางส่วนของสหกรณ์ หรือให้เลิกสหกรณ์ ถ้าเห็นว่าสหกรณ์กระทำการหรืองดเว้นกระทำการอันอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่สหกรณ์หรือสมาชิก และมาตรา 21 ยังบัญญัติไว้อีกว่า ในกรณีที่กรรมการ ผู้จัดการ หรือเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ทําให้สหกรณ์เสียหาย ถ้าสหกรณ์ไม่ร้องทุกข์หรือฟ้องคดีให้นายทะเบียนสหกรณ์หรือรองนายทะเบียนสหกรณ์ร้องทุกข์หรือฟ้องคดีแทนสหกรณ์ได้และให้พนักงานอัยการรับว่า ต่างให้สหกรณ์โดยให้สหกรณ์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการร้องทุกข์ ฟ้องคดีหรือการว่าต่างแก่นายทะเบียนสหกรณ์ รองนายทะเบียนสหกรณ์ หรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณี
ส่วนกรณีใครจะมีหน้าที่ดำเนินการเพื่อให้คณะกรรมการรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 16 ได้ระบุให้นายทะเบียนสหกรณ์ ซึ่งก็คือ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือข้าราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีตําแหน่งไม่ต่ำกว่า ผู้อํานวยการกองหรือเทียบเท่าเป็นรองนายทะเบียนสหกรณ์
ในทางปฏิบัติก็จะคือ สหกรณ์จังหวัดของจังหวัดนั้นๆ ที่มีอำนาจหน้าที่ ตามมาตรา16(5) สั่งให้ระงับการดำเนินงานทั้งหมดหรือบางส่วนของสหกรณ์ หรือให้เลิกสหกรณ์ ถ้าเห็นว่าสหกรณ์กระทำการหรืองดเว้นกระทำการอันอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่สหกรณ์หรือสมาชิก และมาตรา 21 ยังบัญญัติไว้อีกว่า ในกรณีที่กรรมการ ผู้จัดการ หรือเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ทําให้สหกรณ์เสียหาย ถ้าสหกรณ์ไม่ร้องทุกข์หรือฟ้องคดีให้นายทะเบียนสหกรณ์หรือรองนายทะเบียนสหกรณ์ร้องทุกข์หรือฟ้องคดีแทนสหกรณ์ได้และให้พนักงานอัยการรับว่า ต่างให้สหกรณ์โดยให้สหกรณ์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการร้องทุกข์ ฟ้องคดีหรือการว่าต่างแก่นายทะเบียนสหกรณ์ รองนายทะเบียนสหกรณ์ หรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณี
นอกจากนี้ มาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน ระบุว่าในกรณีที่คณะกรรมการดําเนินการสหกรณ์กระทําการหรืองดเว้นกระทําการในการปฏิบัติหน้าที่ของตน จนทําให้เสื่อมเสียผลประโยชน์ของสหกรณ์หรือสมาชิก หรือสหกรณ์มีข้อบกพร่องเกี่ยวกับการเงิน การบัญชี หรือกิจการ หรือฐานะการเงิน ตามรายงานการสอบบัญชีหรือตามรายงานการตรวจสอบ ให้นายทะเบียนสหกรณ์มีอํานาจออกคําสั่งเป็นหนังสือให้ปฏิบัติการ ให้คณะกรรมการดําเนินการสหกรณ์หยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องนั้นให้แล้วเสร็จตามวิธีการ และภายในระยะเวลาที่นายทะเบียนสหกรณ์กําหนดหรือให้คณะกรรมการดําเนินการสหกรณ์พ้นจากตําแหน่งทั้งคณะ
ฉะนั้น สำหรับกรณีของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี จำกัด ที่น่าจะเป็นที่แน่ชัดว่าขณะนี้ได้เกิดความเสียหายขึ้นแล้ว เนื่องจาก
- หนึ่ง สหกรณ์ฯไม่สามารถเปิดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2555 ได้
- สอง สหกรณ์ฯ ไม่สามารถนำเช็คค้ำประกันของบริษัท เทวาสิทธิ์พิฆเนศ จำกัด จำนวน 686 ล้านบาท ไปขึ้นเงินคืนมาได้
- สาม สหกรณ์ฯ เกิดปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน สมาชิกต้องเข้าคิวรอหากมีความประสงค์ถอนเงินฝากของตน
- และสี่ สหกรณ์ฯงดการให้กู้ทุกประเภทแก่สมาชิก
ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี จำกัด เป็นไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม และที่สำคัญผลประโยชน์ของสมาชิกที่พึงมีพึงได้ ควรต้องอยู่ครบตามวัตถุประสงค์ที่ร่วมก่อตั้งสหกรณ์ฯกันมา ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องควรที่จะต้องออกมาดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ของท่าน ตามที่กฎหมายกำหนด มิฉะนั้น ท่านอาจจะเป็นผู้กระทำผิดเสียเอง
ธีรวุธ ชมใจ
สมาชิก 16171
หน่วยสังกัดอาชีวศึกษาและราชภัฏฯ
****************************************
3 ความคิดเห็น:
ข้อมูล ความเห็น ยอดเยี่ยม
เห็นด้วยอย่างยิ่ง
ขอบคุุณมากค่ะที่ให้ความรู้ทางกฎหมายสหกรณ์แก่สมาชิก
แล้วสหกรณ์โรงเรียน เห็นควรจะรับผิดชอบอย่างไร ? ท่าน ceo.
แสดงความคิดเห็น