ศ.ดร.สุชาติ ธาดาดำรงเวช รมว.ศธ.ท่านใหม่ มีนโยบายจะถ่ายโอนโรงเรียนขนาดเล็กสังกัด สพฐ.จำนวน 10,000 โรง ไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.). และบางโรงเรียนก็อาจยุบไปเลย เด็กนักเรียนในโรงเรียนที่ถูกยุบหากต้องไปเรียนโรงเรียนที่ไกลบ้านขึ้น ก็จะจัดให้มีรถรับ-ส่งนักเรียน........ฯลฯ ผมฟังแล้วดูง่ายดีกับวิธีการแก้ปัญหาของท่าน ก็คือ โยนปัญหาไปให้กระทวงมหาดไทย ทั้งๆ ที่ภารกิจการจัดการศึกษาของชาติเป็นภารกิจหลักของกระทรวงศึกษาธิการโดยตรง
โรงเรียนในสมัยก่อนมีรากฐานมาจากวัด ซึ่งเป็นศูนย์กลาง ศูนย์รวมจิตใจ สถานที่ทำกิจกรรมของชาวบ้านในหมู่บ้านและตำบลนั้นๆ โดยมีเจ้าอาวาสเป็นผู้ดูแลการศึกษาเล่าเรียนของเด็กและเยาวชนที่อยู่รอบๆวัด ต่อมาจึงค่อยพัฒนาแยกออกมาจัดตั้งโรงเรียนอย่างเป็นระบบตามที่เห็นในปัจจุบัน โรงเรียนของ สพฐ. จึงมักจะมีชื่อโรงเรียนขึ้นต้นด้วยคำว่า "วัด" อยู่เป็นจำนวนมาก
หากเรามองในมิติทางเศรษฐศาสตร์ ตามท่าน รมว.ศธ.กล่าว เราก็เห็นว่าโรงเรียนเล็กๆ ก็ควรถูกยุบไปเพราะไม่คุ้มกับงบประมาณ แล้วรวมเด็กมาให้อยู่ในโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอน เด็กๆ ก็จะมีโอกาสมากขึ้น แต่หากเรามองมิติทางสังคมแล้ว ในหลายโรงเรียนหลายพื้นที่อาจต้องคิดหนัก เพราะโรงเรียนและวัดยังคงมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านแถบนั้นอยู่อย่างแนบแน่น และหากเรามองมิติด้านการบริหารจัดการ ก็ยังมีโรงเรียนขนาดเล็กอีกหลายโรงเรียนที่สามารถบริหารจัดการได้ดีไม่น้อยหน้าไปกว่าโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่
การยุบโรงเรียนหรือการโอนโรงเรียนไปสังกัด อปท. ผมว่ามันไม่ใช่การแก้ปัญหา เพราะปัญหาก็ยังคงอยู่ แต่เปลี่ยนที่อยู่เท่านั้นเอง ผู้อำนวยการโรงเรียนจำนวน 10,000 คน ครูอีกกว่า 30,000 คน จะเอาพวกเขาไปไว้ที่ไหน หรือให้เขาย้ายไปสังกัดกระทรวงมหาดไทย ที่มีนักการเมืองท้องถิ่นผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาเป็นเจ้านาย เขาจะยอมหรือ? แล้ว อปท.จะมีปัญญาจัดการศึกษาให้เด็กมีคุณภาพมากกว่ากระทรวงศึกษาธิการเชียวหรือ?
ผมยังเชื่อว่า "การสอนคนจำนวนน้อย มีประสิทธิภาพมากกว่าการสอนคนจำนวนมาก" แต่ทำไมโรงเรียนที่มีเด็ก 20 คน กลับพัฒนาสู้เด็กในโรงเรียนที่มี 4,000 คนไม่ได้ ผมมีความเห็นว่าปัญหาประการหนึ่ง อาจเป็นเพราะวิธีจัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนตามรายหัวเด็ก น่าจะเป็นปัญหาสำคัญ โรงเรียนเล็กๆ ก็จะเล็กลงเรื่อยๆ เพราะมีเงินน้อยที่จะปรับปรุงพัฒนา ผู้ปกครองก็เลยขาดความเชื่อมั่น โรงเรียนใหญ่ๆ ก็จะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีเงินมากที่จะปรับปรุงพัฒนาจนกลายเป็นโรงเรียนยอดนิยม ผู้ปกครองต่างก็พาลูกหลานแห่กันมาแย่งกันเข้าเรียน
ห้องเรียนห้องหนึ่งเปิดไฟ 2 ดวง จะสอนนักเรียน 10 คน หรือ 30 คน ก็เปลืองค่าไฟเท่ากัน
และไม่ว่านักเรียนในห้องนั้นจะมีสักกี่คน ชอล์คก็ยังเปลืองเท่ากัน
ดังนั้นการจัดสรรงบประมาณตามรายหัวเด็กในบางเรื่องบางประการ ผมจึงคิดว่าไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรม
ผอ.และครูในโรงเรียนยอดนิยม กับ ผอ.และครูในโรงเรียนบ้านนอก ผมว่า..ความรู้ความสามารถไม่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือโอกาสที่จะพัฒนา สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้โรงเรียนบ้านนอกมีเด็กน้อยลง คือ ปัญหาการบริหารจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการนั่นเอง ที่ไม่ต่อเนื่องและไม่ค่อยคงเส้นคงวา มีแผนแต่ไม่เคยทำตามแผน ไม่เคยเอาแผนออกมาใช้ รัฐบาลมาใหม่ รัฐมนตรีมาใหม่ ก็เปลี่ยนนโยบายกันใหม่ อะไรที่ดีดีอยู่ก็ไม่สานต่อ งานใหม่ที่ก่อขึ้นก็ไม่ได้เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาที่แล้วมาก็บอกว่าไม่สำเร็จ ตอนนี้ก็กำลังปฏิรูปรอบใหม่กันอีกแล้ว ผมว่าการศึกษาของไทยเรา คงจะต้องปฏิรูปกันเรื่อยไปตลอดกาลนาน
หากเราคิดอะไรแบบซ้ำๆ เดิมๆ
แล้วหวังว่าจะได้อะไรใหม่ๆ นั่นเป็นความคิดที่วิกลจริต
แล้วหวังว่าจะได้อะไรใหม่ๆ นั่นเป็นความคิดที่วิกลจริต
****************************
ชาติชาย คเชนชล : 29 ม.ค.2555
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น