ในอดีต "วัด" เป็นศูนย์กลางของสังคม นอกเหนือจากจะเป็นที่พำนักของพระภิกษุสงฆ์และทำกิจกรรมทางศาสนาแล้ว ยังเป็นสถานที่ทำกิจกรรมทางสังคมในรูปแบบต่างๆ อีกมากมาย เช่น เป็นศูนย์กลางทางด้านการศึกษา เป็นที่พึ่งทางใจ เป็นที่ประชุมของชาวบ้าน เป็นสถานที่จัดงานบันเทิง เป็นที่สอนวิชาชีพ เป็นที่พักคนเดินทาง และฌาปนสถาน เป็นต้น
ที่มาของภาพ http://www.pixpros.net/forums/showthread.php?t=48844 |
แต่ในสมัยนี้ เด็กวัดมีหลากหลายประเภท เช่น เด็กเร่ร่อน ถูกทอดทิ้ง ไม่มีบิดามารดา เด็กที่ผู้ปกครองฐานะยากจน เด็กที่พ่อแม่มีลูกหลายคนและเลี้ยงไม่ไหว เด็กที่พ่อแม่เสียชีวิตไปแล้ว หรือไปทำงานต่างถิ่น เด็กที่มาจากครอบครัวแตกแยก รวมถึงชาวเขาเผ่าต่างๆจากชายแดนที่ฐานะยากจน เป็นต้น
เมื่อเด็กเข้ามาอยู่ในวัด เจ้าอาวาสก็จะมอบหมายให้อยู่ในความดูแลของพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งในวัด และพระภิกษุรูปนั้นจะเป็นผู้ดูแลความเป็นอยู่ ตลอดจนให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตนของลูกศิษย์ ทั้งในด้านระเบียบ วินัย ความประพฤติ กิริยามารยาท และการศึกษาเล่าเรียน กิจกรรมของศิษย์วัด ส่วนใหญ่จะประกอบด้วย การติดตามพระภิกษุไปบิณฑบาต การจัดสำรับถวายพระ การดูแลความสะอาดในบริเวณกุฏิและภายในวัด การอำนวยความสะดวกแก่พระภิกษุ รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ เช่น การสวดมนต์ไหว้พระและเข้าร่วมประชุมศิษย์วัด การช่วยเหลือเมื่อวัดมีงานสำคัญ การฝึกตอบกระทู้ธรรม การติดตามพระภิกษุไปในกิจนิมนต์ในงานพิธีการต่างๆ เป็นต้น
จากการที่วัดเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม ที่มีความสงบร่มเย็น ทำให้ศิษย์วัดมีสมาธิในศึกษาทบทวนบทเรียนเพิ่มขึ้น อีกทั้งวัดยังมีพระภิกษุซึ่งเป็นผู้นำทางจิตใจและสติปัญญาช่วยกล่อมเกลาจิตใจ อบรมศีลธรรมจรรยา และช่วยชี้นำความประพฤติ ทำให้ศิษย์วัดมีความรับผิดชอบต่อตนเอง มีระเบียบวินัย ตรงต่อเวลา และมีมานะพยายาม การที่ศิษย์วัดได้พบปะผู้คนมากมายที่มีพื้นฐานแตกต่างกันที่มาวัด ทำให้ได้เรียนรู้การปรับตัวเข้าหาผู้อื่น มีความอดทน รู้จักการมนุษยสัมพันธ์ที่ดี และเป็นปัจจัยสำคัญในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคม
ศิษย์วัดในอดีต มีหลายคนที่ประสบความสำเร็จในการศึกษา มีอาชีพมั่นคง บางคนรับราชการในตำแหน่งสำคัญๆ เป็นนักการเมือง นักธุรกิจ ที่มีชื่อเสียง ก็ล้วนเป็นผลมาจากการที่บุคคลเหล่านี้เข้ามาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ได้พบและสัมผัสแต่สิ่งดีๆ ทำให้เกิดความรู้สึกอยากปฏิบัติแต่สิ่งที่ดีงามตามแบบอย่างที่ได้พบเห็น อันนำมาซึ่งการประสบความสำเร็จในชีวิตดังกล่าว
ค่ายอบรมเด็กและเยาวชนด้วยวิถี "เด็กวัด"
ปัจจุบันในหน่วยงาน สถานศึกษา สถาบัน และองค์กรหลายแห่งมีโครงการอบรมเด็กและเยาวชนฯ จำนวนหลากหลายรูปแบบ หากมีใครลองนำร่องคิดโครงการ "ค่ายอบรมเด็กและเยาวชนด้วยวิถีเด็กวัด" ขึ้นโดยอาจใช้เวลาสัก 3-7 วัน ออกแบบกิจกรรมให้ครอบคลุม ผมคิดว่าโครงการนี้อาจจะเป็นโครงการหนึ่งที่จะสามารถช่วยให้เด็กและเยาวชนของเรา ได้สัมผัสและใกล้ชิดพระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น ใช้วิถีแห่งธรรมช่วยกล่อมเกลาจิตใจ ปลูกฝังศีลธรรม จริยธรรม และคุณธรรมให้แก่เด็กและเยาวชนของเรา เพื่อเติบโตขึ้นเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาตินในอนาคตต่อไป
หากเราทำอะไรซ้ำๆ แบบเดิมๆ แล้วหวังว่าจะได้ผลลัพธ์แบบใหม่ คงเป็นไปไม่ได้
ดังนั้น เราจึงต้องลองคิด ลองหาวิธีการใหม่ๆ ดู เราอาจจะได้ผลลัพธ์แบบใหม่ๆ ตามที่ต้องการ
****************************
ชาติชาย คเชนชล : 11 ม.ค.2555
ที่มาข้อมูล
****************************
ชาติชาย คเชนชล : 11 ม.ค.2555
ที่มาข้อมูล
- งานวิจัยเรื่อง “ วัดกับเยาวชน : บทบาทของวัดในการส่งเสริมให้ศิษย์วัดประสบความสำเร็จในชีวิต ” ของ ประภาพร ชุลีลัง
- กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม.(2553). ด็กวัด. [Online]. Available :http://www.m-culture.go.th/detail_page.php?sub_id=1703. [2555 มกราคม 10 ].
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น