วันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ฤา..กีฬาราชบุรีถึงคราวจะถดถอย


เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 ส.ค.2552 ผมได้ไปดูการแข่งขันกรีฑานักเรียน นักศึกษา จ.ราชบุรี ประจำปี 2552 ที่สนามกีฬากลาง จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นสนามที่สวยงามมากอันเป็นผลพวงมาจากการจัดการแข่งขันกีฬาแห่งชาติครั้งที่ 34 ที่ผ่านมา แต่เหตุการณ์อย่างหนึ่งที่เห็นและรู้สึกไม่ค่อยสบายใจนัก คือ ในปีนี้ สถาบันพลศึกษาสุพรรณบุรี ยกทีมงานมาทำหน้าที่จัดการแข่งขันกรีฑา ให้แก่นักเรียน นักศึกษา ใน จ.ราชบุรี ของเรา ซึ่งแต่เดิม ชมรมกรีฑา จ.ราชบุรี เป็นผู้จัดการแข่งขันให้มาโดยตลอด โดยระดมบุคลากรจากแวดวงการศึกษา ครูบาอาจารย์ และคนกีฬาต่างๆ ของ จ.ราชบุรี มาร่วมด้วยช่วยกัน
เหตุการณ์อย่างนี้...ถือว่า...ราชบุรี หน้าแตก...มองโดยผิวเผินทั่วไปเหมือนกับว่า จ.ราชบุรี ไม่มีน้ำยาแม้แต่จะจัดกรีฑาให้นักเรียนนักศึกษาของตัวเอง ทั้งๆ ที่คนกีฬา ครูบาอาจารย์ ของราชบุรี ก็มีฝีมือเคยผ่านการจัดการแข่งขันระดับชาติมาจำนวนมากมาย.. มีทั้งคณะกรรมการผู้ตัดสินที่สังกัดสมาคมกีฬาต่างๆ อีกนับไม่ถ้วน...
สอบถามลึกๆ ไปถึงสาเหตุ...ก็ได้รับคำตอบเช่นเดิม...คือ งบประมาณที่ให้มาใช้ในการจัดการแข่งขันไม่เพียงพอ ..ในปีนี้ ชมรมกรีฑา จ.ราชบุรี จึงขอไม่จัดการแข่งขันให้ เนื่องจากต้องควักเงินจ่ายเพิ่มเติมเองมาหลายปีแล้ว เรื่องสาเหตุงบประมาณไม่เพียงพอนี้ ไม่ใช่แต่กรีฑาอย่างเดียว..กีฬาชนิดอื่นๆ ก็เป็นเช่นนี้เหมือนกัน....แต่หลายชนิดกีฬาก็ยังพอกระท่อนกระแท่นจัดกันไปได้
คำถามมีอยู่ว่า ชมรมกรีฑา จ.ราชบุรี บอกว่างบประมาณไม่พอจัด แต่ทำไม สถาบันพลศึกษาสุพรรณบุรี ถึงจัดได้ ทั้งๆ ที่มาตั้งไกล คำถามเช่นนี้...ไม่รู้ใครจะเป็นผู้ตอบ
หากพูดกันเรื่องที่มาของงบประมาณในการจัดการแข่งขันกีฬานักเรียนนักศึกษาของจังหวัดแล้ว น่าจะมาจาก 2 แหล่ง คือ จากงบประมาณประจำปีของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาที่จัดสรรผ่านมาทางสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาแต่ละจังหวัด (ศูนย์พลศึกษาเดิม) และงบประมาณประจำปีขององค์การส่วนบริหารจังหวัดที่จัดสรรไว้ให้ ซึ่งงบประมาณทั้งสองแหล่งนี้ ทุกคนก็รู้ว่าทุกๆ ปี มันไม่เพียงพออยู่แล้ว...
ในจังหวัดที่ให้ความสำคัญด้านกีฬา ไม่ว่าจะกีฬานักเรียนนักศึกษา กีฬาเยาวชนแห่งชาติ หรือกีฬาแห่งชาติ เขาไม่มัวรอแต่งบประมาณประจำปีที่จัดสรรให้ เขาพยายามระดมทรัพยากรจากทุกภาคส่วน มาช่วยกันสนับสนุนเสริมเติมในส่วนที่ขาด โดยมีผู้หลักผู้ใหญ่ของจังหวัดเป็นแกนนำชักจูง เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกสมาคมกีฬาจังหวัด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ของจังหวัด เป็นต้น แต่จังหวัดราชบุรี ในช่วง 10 กว่าปีหลังนี้ มีการจัดการแข่งขันกันแบบขอไปที จัดตามหน้าที่ ให้เสร็จๆ
หากบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารศึกษา เช่น ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาราชบุรี ทั้งเขต 1 และเขต 2 ผู้อำนวยการโรงเรียนทั้งของรัฐ เอกชน และท้องถิ่น ลองนั่งทบทวนกันดูให้ดี อย่าเที่ยวไปโยนบาปให้กับสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬา แต่เพียงฝ่ายเดียว ลองมองว่าเขาอุตส่าห์หาเงินมาจัดการแข่งขันให้กับนักเรียนนักศึกษาของเรา และ อบจ.ก็พยายามจัดสรรงบประมาณให้ แต่พวกเราก็ยังรู้สึกหงุดหงิด และไม่พอใจ อ้างเสมอว่างบประมาณไม่พอในการจัดการแข่งขัน ต้องควักเงินตัวเองมาจ่ายทุกครั้ง อย่างนี้ไม่จัดเสียดีกว่า ผมอยากทุกคนมองไปที่วัตถุประสงค์ของการจัดการแข่งขันมากกว่าเอางบประมาณมาเป็นตัวตั้ง ควรคิดถึง “งาน” ก่อน “เงิน” ถ้าคิดเรื่อง “เงิน” ก่อนก็ไม่ต้องทำอะไร ก็รู้ๆ อยู่แล้วว่าประเทศไทยไม่ได้ร่ำรวยพอที่จะจัดสรรงบประมาณทุกอย่างให้เพียงพอแก่ทุกคนตามที่ต้องการได้
หากพวกเราทุกคนและทุกภาคส่วน มีความจริงใจที่ต้องการให้นักเรียนนักศึกษาของจังหวัดเราได้มีทักษะและประสบการณ์ในการแข่งขันกีฬาจริงๆ แล้ว เราก็ต้องช่วยกันเสียสละบ้าง อย่าอ้างเรื่องงบประมาณน้อยแล้วไม่ทำงาน ดั่งพระบรมราโชวาทของในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ตอนหนึ่งว่า “อย่าหยิบยกเอาความขาดแคลน มาเป็นข้ออ้างในการทำงาน จงทำงานท่ามกลางความขาดแคลนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด” ลองมองจังหวัดอื่นที่เขาสามารถจัดการแข่งขันได้ดี เขาก็ได้รับงบประมาณเช่นเดียวกับเราหรือบางจังหวัดอาจได้น้อยกว่าเราเสียอีก สนามกีฬาที่ได้มาตรฐานก็ไม่มี บุคคลการด้านกีฬาก็สู้ของ จ.ราชบุรี เราไม่ได้ แต่เขาก็สามารถจัดการแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำไมเราไม่พยายามหาวิธีการบริหารจัดการที่เป็นไปได้มาใช้ในราชบุรีบ้าง อาทิ
การลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นด้วยจิตอาสา บุคลากรส่วนใหญ่ที่จัดการแข่งขันก็เป็นครูบาอาจารย์ในแวดวงทางการศึกษาและคนกีฬาด้วยกันทั้งนั้น ควรเสียสละเพื่อเด็กนักเรียนบ้าง ลดค่าตอบแทนผู้ตัดสิน ลดค่าตอบแทนคณะกรรรมการ งดตัดเสื้อกรรมการ โรงเรียนใดมีสนามและอุปกรณ์การแข่งขันที่ดีได้มาตรฐาน ก็รับอาสาจัดการแข่งขันให้ จัดบุคลากรให้ ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ช่วยกันจัดการแข่งขันแบบพอเพียงแต่มีคุณภาพ ลดการจัดการแข่งขันแบบแยกส่วนลักษณะเบี้ยหัวแตก อะไรที่ควรลดได้ด้วยจิตที่เสียสละก็ควรสละ ผู้อำนวยการทุกโรงเรียนควรมีนโยบายสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันอย่างจริงใจ เพราะเป็นเกมของลูกศิษย์ตัวเอง
นอกเหนือจากการลดรายจ่ายแล้ว การหาวิธีเพิ่มงบประมาณในการจัดการแข่งขันก็เป็นเรื่องสำคัญ ผู้บริหารระดับสูงของจังหวัดราชบุรีทุกคนที่เกี่ยวข้อง ควรเป็นแกนนำชักชวนให้ทุกภาคส่วนหันมาช่วยกันสร้างกีฬานักเรียนนักศึกษาของจังหวัดราชบุรีให้เป็นวาระของจังหวัด สร้างแรงบันดาลใจให้ทุกภาคส่วนหันมาให้การสนับสนุน แทนที่จะคุยโม้โอ้อวดอย่างเดียวว่า เข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษา แต่ไม่ช่วยพัฒนาอะไรเลย การแข่งขันกีฬานักเรียนนักศึกษาของ จ.ราชบุรี ทุกวันนี้ เป็นไปแบบแกนๆ มีแต่นักกีฬาและผู้ฝึกสอนดูกันเอง ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องในแวดวงการศึกษาไม่เคยมานั่งชมเลย แม้แต่การมอบเหรียญรางวัล บางชนิดกีฬายังหาผู้มอบเหรียญไม่ได้เลยก็มี ต้องมอบเหรียญรางวัลกันแบบขอไปที
จริงๆ แล้ว เจ้าของเกม หรือเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันกีฬานักเรียนนักศึกษา จ.ราชบุรี ที่แท้จริง ควรจะเป็น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาราชบุรีเขต 1 และเขต 2 สมาคมการศึกษาเอกชน จ.ราชบุรี เทศบาล และ อบต.ต่างๆ ที่มีการจัดการศึกษาท้องถิ่นเป็นของตนเอง เพราะประโยชน์ที่ได้รับในการจัดการแข่งขัน ก็คือ นักเรียนนักศึกษาในสังกัดของแต่ละสถานศึกษานั่นเอง
แต่ในวันนี้ หน่วยงานเหล่านี้แทบไม่ได้มีบทบาทหรือตระหนักในบริบทดังกล่าวเลย ควรพึงเข้าใจว่า สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดราชบุรี เป็นเพียงตัวกลางที่นำงบประมาณในการจัดการแข่งขันมาให้ ช่วยประสานงานไปยังชมรมกีฬาหรือโรงเรียนต่างๆ ให้ช่วยจัดการแข่งขันให้ ทำดีก็เสมอตัว ทำชั่วก็ถูกต่อต้าน
ถึงเวลาแล้วที่ทุกคน ทุกภาคส่วน จะต้องร่วมมือร่วมใจ หันมาตั้งต้นกันใหม่ คิดกันใหม่ ทบทวนบทบาทและหน้าที่กันใหม่ เพื่อวัตถุประสงค์เดียวกันก็คือ นักเรียนนักศึกษาของ จ.ราชบุรี ของพวกเราทุกคน...

ชาติชาย คเชนชล

วันอาทิตย์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2552

การจัดดอกไม้เทรนใหม่จากญี่ปุ่น

มีเพื่อนๆ ส่งรูปแบบการจัดดอกไม้เทรนใหม่ของญี่ปุ่นมาให้ เลยขออนุญาตนำมาลง Blog เผื่อว่าหลายๆ ท่านจะนำไปเลียนแบบ ดัดแปลงหรือพัฒนาปรับปรุง เป็นแบบไทยๆ ต่อไป



























วันพุธที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2552

พระราชดำรัส “สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ” 11 สิงหาคม 2552


พระราชดำรัส “สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ”

เมื่อเวลา 16.45 น. วันที่ 11 ส.ค.52 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปยังศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ และ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอาทิตยาทรกิติคุณ พระราชทานพระราชวโรกาสให้คณะบุคคลต่างๆ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา




นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กราบบังคมทูลถวายพระพรชัยมงคล ในนามผู้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท



“ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาท ปกเกล้าปกกระหม่อม เนื่องในอภิลักขิตมหามงคลสมัย คล้ายวันพระราชสมภพของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่งในวันที่ 12 สิงหาคม ศกนี้



ข้าพระพุทธเจ้า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในนามของคณะรัฐมนตรี คู่สมรส และพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า มีความชื่นชมโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง จึงใคร่ขอพระราชทานพระราชวโรกาส น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัยมงคล ด้วยความจงรักภักดี และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมหาที่สุดมิได้



นับแต่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททรงดำรงพระอิสริยยศ เป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถของชาติไทย ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการ ตามหลักราชธรรมโดยสมบูรณ์ อันนำมาซึ่งความร่มเย็นเป็นสุขแก่พสกนิกร ทรงเป็นคู่พระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นเวลานานกว่า 59 ปี ตลอดระยะเวลาอันยาวนานนี้ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้พระราชทานหลักธรรมต่างๆ เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจอาณาประชาราษฎรให้ตั้งมั่นอยู่ในสุจริตธรรม และสัมมาปฏิบัติธรรม ค้นคิดและพัฒนาโครงการต่างๆ เป็นเอนกประการ เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎร ตลอดจนพัฒนาผืนแผ่นดินไทย ให้คงความอุดมสมบูรณ์ อาทิ โครงการศิลปาชีพโครงการป่ารักน้ำ โครงการฟาร์มตัวอย่าง โครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ และอื่นๆ อีกมาก ล้วนก่อเกิดจากพระปรีชาสามารถ และสายพระเนตรอันกว้างไกล เกิดผลดีในด้านส่งเสริมอาชีพ และพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรให้ดีขึ้น พร้อมกับธำรงรักษาความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ แหล่งต้นนำลำธาร และทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่ออาณาประชาราษฎรทุกภูมิภาคของประเทศ

ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงสนพระราชหฤทัยในความทุกข์ยากเดือดร้อนของราษฎร ทั้งผู้ป่วยเจ็บ ทุพพลภาพ ยากไร้ ขาดที่พึ่ง ผู้พิการ ผู้เคราะห์ร้ายจากภัยสังคม ได้ทรงพระเมตตารับไว้ในพระราชานุเคราะห์ เพื่อให้พ้นจากความทุกข์ยากลำเค็ญ พระมหากรุณาธิคุณล้วนเป็นที่ประจักษ์แจ้ง และก่อให้เกิดความสำนึก ซาบซึ้ง ทั้งในหมู่ผู้ทุกข์ยาก และมวลพสกนิกรทั้งหลายโดยถ้วนหน้า

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททรงตรากตรำพระวรกาย เสด็จพระราชดำเนินไปยังท้องถิ่นทุรกันดารห่างไกล ด้วยพระวิริยะอุตสาหะ และด้วยน้ำพระราชหฤทัยเปี่ยมด้วยความรัก เอื้ออาทรต่อพสกนิกร โดยมิทรงย่อท้อต่อความยากลำบาก หรืออุปสรรคใดๆ ทรงอุทิศกำลังพระวรกาย กำลังพระปัญญา และกำลังพระราชทรัพย์ เพื่ออำนวยประโยชน์สุขแก่อาณาประชาราษฎร์ และเพื่อสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าแก่ประเทศชาติ ตลอดมา

อาณาประชาราษฎรต่างน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อม และล้วนมีความจงรักภักดีในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงเป็นที่เคารพรักเทิดทูนอย่างยิ่งของปวงชนชาวไทย และเป็นที่แซ่ซ้องสรรเสริญพระเกียรติคุณ ทั้งในมวลหมู่พสกนิกรชาวไทย และชาวต่างประเทศ

เนื่องในศุภมงคลวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 12 สิงหาคม พุทธศักราช 2552 นี้ ปวงข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขอพระราชทานพระราชวโรกาสน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัยมงคล ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย พระสยามเทวาธิราช และสรรพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลพิภพ และพระบรมเดชานุภาพแห่งสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า อีกทั้งพระราชกุศลผลบุญที่ได้ทรงบำเพ็ญอยู่เสมอมา โปรดอภิบาลประทานชัยมงคลแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ให้ทรงพระเจริญพระชนมายุยิ่งยืนนาน ทรงพระเกษมสำราญ พระเกียรติคุณแผ่ไพศาลทั่วทุกทิศานุทิศ มีพระราชประสงค์จำนงหมายสิ่งใด ขอจงสัมฤทธิ์ สถิตเป็นพระมิ่งขวัญร่มเกล้าของปวงข้าพระพุทธเจ้าและพสกนิกรชาวไทยตลอดจิรัฐิติกาล เทอญ ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ”

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชีนีนาถ ทรงมีพระราชดำรัสตอบว่า
“ข้าพเจ้าขอขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรี คณะรัฐบาล และท่านทั้งหลาย ซึ่งมีผู้แทนของข้าราชการ ทุกหมู่เหล่า ทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ พลเรือน ตำรวจ ทหาร รัฐวิสาหกิจ ผู้แทนขององค์กรทั้งหลายทั้งปวง เฝ้าทำหน้าที่ช่วยเหลือสังคมไทยให้กิจกรรมต่างๆ ไปได้ด้วยดี ผู้แทนสถาบันการศึกษา ประชาชนจากทุกจังหวัดทั่วประเทศจำนวน 160,000 คน ที่มาชุมนุมกันอยู่ ณ บริเวณศาลาดุสิดาลัยแห่งนี้ เพื่อร่วมอวยพรแก่ข้าพเจ้าเนื่องในโอกาสคล้ายวันเกิดปีที่ 77 โดยที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย กล่าวอวยพรด้วยใจความที่ทำให้ข้าพเจ้าอายุ 77 นี้เกิดกำลังวังชา เกิดกำลังใจที่จะทำงานช่วยเหลือประชาชนต่อไป หลายปีมานี้มีผู้มาอวยพรให้ข้าพเจ้ามากขึ้นเป็นลำดับ มีหลายคณะเหมือนกันที่นำอาหารมาช่วยข้าพเจ้า สำหรับเลี้ยงแขกข้าพเจ้าขอขอบใจทุกท่าน และขอให้กุศลในการเลี้ยงอาหารประชาชนในครั้งนี้ ส่งให้ผู้ที่เป็นเจ้าภาพอาหารและน้ำดื่มทุกราย มีกินมีใช้มีเหลือแจกผู้อื่นตลอดไป
ในโอกาสนี้ ข้าพเจ้าต้องขอบใจทุกท่านที่ลงทุนสาธารณกุศลและสาธารณประโยชน์เพื่อให้เป็นกุศลแก่ข้าพเจ้า ซึ่งคณะแพทย์ที่จัดทำโครงการผ่าตัดหัวใจที่ช่วยเหลือประชาชนจำนวน 500 ราย และโครงการผ่าตัดหัวใจเด็กที่ช่วยเหลือเด็กตามตะเข็บชายแดนจำนวน 800 ราย ซึ่งทั้งสองโครงการนี้ จะเป็นโครงการต่อเนื่องไปจนถึงเมื่อข้าพเจ้าอายุ 80 ปี ขอบใจสภาสังคมสงเคราะห์ฯ ดำเนินโครงการน้ำพระทัยพระราชทาน จัดกิจกรรมพิเศษต่างๆ เพื่อเป็นเกียรติแก่ข้าพเจ้า ขอบใจผู้ที่ส่งบัตรอวยพรวันเกิดแก่ข้าพเจ้า ซึ่งก็มีเด็กนักเรียนรวมอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก ตลอดจนผู้ที่อวยพรข้าพเจ้าผ่านทางสื่อมวลชนทุกแขนง บ้างก็ประพันธ์บทร้อยแก้วร้อยกรองอย่างไพเราะ บ้างก็รำอวยพร ข้าพเจ้าได้ชมแล้วรู้สึกทราบซึ่งในน้ำใจไมตรีของทุกคนเป็นอย่างยิ่ง
ขณะนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ และข้าพเจ้าได้พักอยู่ที่วังไกลกังวล หัวหิน ที่โน่นอากาศดี เหมาะสำหรับพระสุขภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านสบายดีขึ้น ทรงพยายามออกพระกำลัง ทรงพระดำเนินที่ชายเฉลียงทุกๆ วัน ทำให้ทรงแข็งแรงขึ้น เพราะปีนี้พระชนมายุจะ 82 แล้ว ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจได้โดยที่ประชาชนเห็นในข่าวโทรทัศน์ เช่น ทรงเสด็จออกรับแขกบ้านแขกเมือง หรือมีคณะบุคคลต่างๆ มาเฝ้าฯ บางครั้งก็เสด็จฯ ออกไปทอดพระเนตรโครงการอะไรใกล้ๆ หัวหินบ้าง จะให้ทรงตรากตรำทรงเดินทางไกล หรือตากแดดตากฝนทั้งวันเหมือนสมัยที่ทรงงานมาแล้วหลายสิบปีก่อนนั้นๆ คงไม่ไหว หลายสิบปีก่อนเคยเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมประชาชนทุกภาคของประเทศ ทรงขับรถเอง หนทางก็เรียกว่ากันดารมิใช่น้อย บางครั้งก็ทรงขับรถข้ามแม่น้ำ นั่นเป็นจังหวัดนราธิวาสทรงขับรถไปดูให้เห็นจริงจังของการอยู่กินของราษฎรตามเขตชายแดนต่างๆ แต่พระองค์ก็ทรงติดตามงานต่างๆ ตลอดเวลา โดยเฉพาะเรื่องฝน เรื่องปริมาณน้ำในเขื่อน ทรงห่วงประชาชนมาก เกรงว่าจะมีน้ำท่วมอีก ที่พอจะหาแนวทางอะไรช่วยป้องกันได้ ก็จะมีพระราชดำริให้เตรียมการกันไว้ก่อน
ประเทศไทยของเราเป็นประเทศเกษตรกรรม คนไทยส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์ การเพาะปลูกของชาวนาชาวไร่ ที่ไม่ได้อยู่ในเขตชลประทานต้องอาศัยฝนฟ้าจากธรรมชาติเป็นหลัก ปีใดฝนดีผลผลิตก็ดี ปีใดฝนแล้งพืชก็แห้งตาย ฝนมากไปน้ำก็ท่วม ปัญหาของแต่ละภาคไม่เหมือนกัน
ภาคเหนือมีดอยเขาสลับซับซ้อน มีชาวเขาหลายเผ่าอาศัยอยู่ บ้านเดิมเขาก็ปลูกฝิ่น เพราะว่าเขาบอกว่าเขาไม่รู้จะทำมาหากินอะไร หรือบางครั้งเขาก็ทำไร่เลื่อนลอย ทำให้เกิดปัญหายาเสพติด และป่าไม้ถูกทำลาย บางครั้งชาวเขาเค้าก็กราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเองว่า เมื่อพ่อบอกว่าปลูกฝิ่นไม่ดี เขาก็จะทำตาม เขาจะเลิกปลูกฝิ่น จะทำตาม เพราะส่วนใหญ่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวส่งผู้เชี่ยวชาญไปสอนเขา แต่เขาก็พูดว่าขออนุญาตพ่อได้ไหม ให้มีที่ปลูกฝิ่นสักนิดหนึ่ง มิใช่อะไรหรอก เขาบอกว่าเวลาปวดฟันปวดท้องมานานกว่าที่จะไปหาหมอที่ข้างล่าง ที่นี้ถ้าเขามีฝิ่นเวลาที่เขาปวดฟันนอนไม่หลับสูบฝิ่นหน่อยหนึ่งก็ค่อยยังชั่ว พระเจ้าอยู่หัวทรงบอกว่า อนุญาต อนุญาตให้ปลูกฝิ่นได้เล็กน้อยแก้เจ็บปวด
ส่วนภาคอีสานก็เป็นที่ราบสูง ปัญหาใหญ่คือการขาดแคลนน้ำที่จะใช้เพาะปลูก และดินเป็นดินทราย ภาคใต้มีฝนตกชุกแทบทั้งปี เนื่องจากภูมิประเทศมีลักษณะแคบยาว ด้านหนึ่งเป็นภูเขา ด้านหนึ่งเป็นทะเล ที่ราบตรงกลางบางส่วนเป็นพรุไปเสียหลายแสนไร่ ปลูกพืชเศรษฐกิจอะไรก็ไม่ค่อยได้ ใต้พรุมีน้ำเปรี้ยวขังอยู่ ถ้าฝนตกมากน้ำเปรี้ยวใต้พรุจะไหลออกมาทำให้ดินข้างนอกเปรี้ยวตาม ถ้าฝนน้อยไปน้ำเค็มจากทะเลจะซึมเข้ามากลายเป็นมีน้ำ 3 รสด้วยกัน คือ ทั้งจืด ทั้งเปรี้ยว ทั้งเค็ม
ส่วนภาคกลางของเราโชคดีที่มีภูมิประเทศเป็นที่ราบ น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นทางผ่านของน้ำภาคเหนือไหลลงสู่ทะเล เวลาฝนตกชุกมาก ภาคกลางก็จะมีน้ำท่วม ท่วมแล้วก็จะไม่ลดลงเร็วเหมือนภาคอื่น เพราะมีน้ำทะเลหนุนกลายเป็นน้ำท่วมขัง บางพื้นที่ก็จมน้ำอยู่หลายเดือน เช่น บ้านเดิมของข้าพเจ้าอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่เทเวศน์ก็เห็นเป็นประจำที่น้ำท่วมตลอด บางทีรุกเข้ามาท่วมถึงในบ้านด้วยซ้ำไป พื้นเสียหมดเลย น้ำขึ้นมีปลามีงูมาว่ายอยู่ในบ้าน ย่ำน้ำกันในบ้านเป็นของธรรมดา บัดนี้ก็สมัยใหม่ขึ้นก็ค่อยยังชั่ว ข้าพเจ้าเป็นพระราชินีมา 59 ปี ได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปในทุกภูมิภาคของประเทศไทย ทำให้ได้เห็นว่าทรงทำงานอย่างไรอะไรที่ไหนบ้าง และได้เห็นว่าทุกครั้งที่เสด็จฯ ไปเยี่ยมราษฎรจะทรงขับรถเอง และก็มีแผนที่อยู่ใกล้พระองค์เสมอ ทรงจะไปทุกหนทุกแห่ง พระองค์ชอบทำงานเกี่ยวกับเรื่องดินและเรื่องน้ำมาตลอดหลายสิบปี ทรงกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญแล้ว
ในปีพ.ศ.2512 ระหว่างประทับที่ชาวเขา ก็ทรงงานช่วยเหลือชาวเขาที่เขาปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอย ให้เปลี่ยนมาปลูกพืชผักผลไม้และไม้ดอกเมืองหนาวแทน ทรงดูแลเรื่องการตลาดให้ด้วย โดยมี ม.จ.ภีศเดช รัชนี รับทรงงานเป็นผู้ช่วยจนเกิดเป็นโครงการหลวงถึงทุกวันนี้ ม.จ.ภีศเดชทรงมีลูกเป็นนักเรียนอังกฤษเก่า เพราะฉะนั้นการปีนเขาขึ้นไปดูบนยอดเขาต่างๆ จึงเป็นเรื่องเล็ก และเป็นผู้ที่ทรหดอดทน ไปเยี่ยมชาวเขาเผ่าต่างๆ จนเขาไว้วางใจว่าท่านต้องช่วยเขาได้แน่นอน แล้วเขาก็เริ่มลดการปลูกฝิ่นมาปลูกผลไม้ ผัก ดอกไม้ ตามโครงการหลวงถึงทุกวันนี้
ท่านภีศเดช ท่านเสด็จไปตามดอยต่างๆ ไม่ทราบว่ากี่ร้อยครั้ง และเมื่อมาเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงตามเสด็จขึ้นไปบนดอยโดยรถพระที่นั่ง หรือเฮลิคอปเตอร์ และก็ทรงพระดำเนินต่อไปอีกหลายกิโลเมตร ตอนนั้นข้าพเจ้าก็อายุยังน้อยอยู่ ก็ยังเดินตามไปได้ ถึงจะเหนื่อยอย่างไร ก็พอทนไหว ถ้าเป็นตอนนี้ละก็ ไม่ไหวแล้ว ที่ภาคอีสานภูพานราชนิเวศน์ สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ.2519 ก็ทรงใช้เป็นศูนย์กลางในการเสด็จออกไปทอดพระเนตรว่าพื้นที่ตรงไหนเหมาะจะสร้างอ่างเก็บน้ำ หรือคลองส่งน้ำบาง ซึ่งส่วนใหญ่จะทรงศึกษาจากแผนที่มาก่อน
ที่เหนื่อยมากคือภาคใต้ ทักษิณราชนิเวศน์ สร้างเสร็จใน พ.ศ.2516 เมื่อแรกเสด็จฯ เสด็จฯโดยรถไฟผ่านสถานีต่างๆ มีประชาชนมาค่อยรับเต็มไปหมด ถึงแม้จะดึกดื่น ตี 2 ตี 3 ข้าพเจ้าแอบดูที่ในห้องที่ดูอยู่ เปิดม่านดูเห็นประชาชนมาแน่นขนัด แต่ไม่มีเสียงอะไรเลย เงียบกริบ ต่างคนต่างยืนระวัง ที่จะไม่ให้รบกวน ไม่ให้ปลุกพระบรรทม ก็ทราบซึ้งในความหวังดีของประชาชนเหลือเกิน แต่ก็อุตส่าห์มากันแน่น โดยที่ไม่ได้เห็นพระองค์ เพียงแต่ได้เห็นรถไฟที่ประทับหลับอยู่ในรถไฟ แต่ที่แท้ก็ไม่ได้ทรงหลับอะไรจริงๆ ซักเท่าไหร่ ทรงแอบมองเขาอยู่
ที่ภาคใต้ต้องใช้คำว่าทรงลุยงานมาโดยตลอด อย่างท่านทั้งหลายคงจะเคยเห็น ภาพที่พระองค์ท่านทรงประทับเรือไปในเขตพรุ น้ำในพรุนั้นใสเแจ๋ว มองด้วยตาก็จะนึกว่า น้ำสะอาดใสและมีน้ำมากดี แม้แต่วัวที่ชาวบ้านเลี้ยง ก็ยังหลงลงไปกินน้ำ แต่กินแล้วปากเปื่อย เป็นแผลนานเชอะ เพราะน้ำนั้นมีฤทธิ์เป็นกรดกำมะถัน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็จะเสด็จฯไปกับผู้เชี่ยวชาญของกรมชลประทาน และข้าราชการอีกหลายคน พยายามคร่ำเคร่งหาวิธีแก้ไขน้ำเปรี้ยวและดินเปรี้ยว ทรงหาวิธีระบายน้ำเปรี้ยวออกทะเลไป แรกๆ ก็ระบายลงคลองธรรมชาติ ก็เกิดปัญหาปลา ที่ชาวบ้านเลี้ยงในคลองตายไป ก็เลยมีคำว่าปลาร้องไห้ เพราะว่าเลี้ยงๆ ไว้ไม่เท่าไหร่ ปลาก็ตายหมด เพราะน้ำเปรี้ยวมันลงมา ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นทุกข์พระทัย และทรงสงสารหมู่ประชาชน ผู้มีอาชีพเลี้ยงปลา แต่เดี๋ยวนี้น้ำหายเปรี้ยวแล้ว
ทรงขับรถเองตลอด ไม่ว่าจะเสด็จฯไปเยี่ยมราษฎรที่ไหน พร้อมกับแผนที่ประจำพระหัตย์ตลอดเวลา ตอนหลังก็ขุดคลองระบายน้ำเปรี้ยว แถมมีประตูระบายน้ำ เอาไว้จัดการกับน้ำสามรส ข้าพเจ้าเองก็อ่านไปอย่างนั้น ก็ไม่เข้าใจเท่าไหร่ กักน้ำจืดไว้บ้าง กักน้ำเปรี้ยว น้ำเค็มไว้บ้าง เปิดปิดตามวิธีการของพระองค์ จนเดี๋ยวนี้น้ำเปรี้ยวในพรุลดลงไปมากแล้ว ดินเปรี้ยวจัด พระองค์ก็ทรงใช้วิธีของท่านที่เรียกว่า แกล้งดินมัน จนดินคลายความเปรี้ยวลง ที่ดินเปรี้ยวเพราะดินในแถบชายทะเลภาคใต้เป็นดินตะกอนน้ำทะเล มีสารประกอบกัมมะถันอยู่ในตัวตามธรรมชาติ ถ้าดินแห้งจะมีฤทธิ์เป็นกรดกัมมะถัน ถ้ามีน้ำแช่ขังอยู่ เช่น ได้ทดลองตามโครงการการแกล้งดิน ได้นำไปแก้ปัญหาดินเปรี้ยวในภาคใต้ได้ จนสามารถปรับปรุงที่นาที่ถูกทิ้งร้างมา 20-30 ปี ได้นำมาใช้ประโยชน์ได้มากกว่าแสนไร่ เช่น นราธิวาส ปรับไป 2 หมื่นกว่าไร่ นครศรีธรรมราช 2 หมื่นกว่าไร่ ปัตตานี 1 หมื่นกว่าไร่ เป็นต้น พื้นที่นอกเขตพรุ และในเขตพรุบางส่วน ชาวบ้านใช้ประโยชน์ได้มาก เมื่อก่อนปลูกข้าวได้ไร่ละ 4-5 ถัง เดี๋ยวนี้เพิ่มเป็นไร่ละ 50 ถังแล้ว ยังปลูกพืชผักผลไม้ เลี้ยงสัตว์อะไรต่อมิอะไรได้หลายชนิด
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นชาวบ้านมีความสุข ก็รับสั่งว่าชื่นใจ แต่กว่าชาวบ้านจะแจ่มใสอย่างนี้ ทรงเหนื่อยอยู่หลายปี มีผู้สนใจวิธีการของท่านก็ไปศึกษา ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง จ.นราธิวาส ซึ่งทรงตั้งขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ.2525
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดแผนที่มากที่สุด เวลาเสด็จฯ ไปเยี่ยมราษฎร ทรงขับรถเองแล้วก็มีแผนที่ติดพระองค์เสมอ ทรงใช้ประโยชน์จากแผนที่อย่างเต็มที่ อย่างเสด็จฯ ไปคุยกับราษฎรก็จะทรงรับสั่งถามว่า มาจากที่ไหน บ้านช่องอยู่ที่ไหน เขาก็จะบอกว่า เขาอยู่ที่นั้นที่นี่ เดี๋ยวนี้มีหมู่บ้านใหม่เพิ่มขึ้นแล้ว คนก็อยู่เย็นเป็นสุขขึ้น ก็จะทรงทำแผนที่เทียบกับแผนที่ปัจจุบัน และทำเครื่องหมายเวลาขับรถไปตามพื้นที่ไหน ทรงซักถามชาวบ้าน ชื่อหมู่บ้าน ชื่อถนน แม่น้ำ ลำคลอง ว่าถูกต้องตรงตามแผนที่หรือไม่ มีหมู่บ้านเพิ่มขึ้นมาใหม่ไหม แหล่งน้ำอยู่ตรงไหนบ้าง ไกลไหมจะทรงพระดำเนินไปทอดพระเนตร เวลาประทับลงเรือที่ภาคใต้ก็ทรงมีขวดน้ำไว้ พอประทับเรือวิ่งท่านก็เอาขวดน้ำช้อนน้ำขึ้นใส่ขวด เอาไปทดสอบความเปรี้ยวของแต่ละแห่งทุกครั้ง
ทุกโครงการพระราชดำรินั้น จะทรงสั่งการติดตามผลอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา อย่างโครงการมูโนะเนี้ย ทรงได้รับคำร้องจากประชาชนทั้ง ไทยอิสลาม ทั้งไทยพุทธ เป็นจำนวนไม่น้อยว่า เขาไม่มีที่ดินทำกิน ยากจนยังไง ลำบากยังไง ก็ทรงปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญที่ทรงรู้จักหลายคน ทรงตั้งขึ้นว่าเป็นโครงการมูโนะเป็นโครงการชลประทานบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในฤดูฝน ปัญหาน้ำเปรี้ยวจากพรุโต๊ะแดง และป้องกันน้ำเค็มไหลเข้าพื้นที่เพาะปลูก ครอบคลุมพื้นที่สุไหงโกลก และตากใบ เป็นพื้นที่ประมาณ 1 แสน 1 หมื่นไร่ เพื่อให้ประชาชนมีทางทำมาหากิน โครงการมูโนะเนี้ย ทรงทดลองจาก 9 หมู่บ้าน ปศุสัตว์ แล้วก็เกษตรมูโนะขึ้น เป็นหมู่บ้านตัวอย่างในการพัฒนาอาชีพ ชาวบ้านทั้งไทยพุทธ และมุสลิม ที่ไม่มีที่ทำกิน ได้มาขอความช่วยเหลือ ก็ทรงส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงโค เป็ด ไก่ ทำไร่ นา สวนประสม ข้าพเจ้าก็ให้ทำงานศิลปาชีพด้วย ขณะนี้มีสมาชิกโครงการอยู่ 36 ครอบครัว
สมัยเมื่อ 36 ปีที่ผ่านมา ที่จะเข้าไปในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ต้องลุยฝน ลุยโคลน และแม้แต่ลุยทากเป็นประจำ แต่พระองค์ท่านก็ทำอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดแก่เหนื่อย บางครั้งก็ทรงขับรถข้ามแม่น้ำ เพื่อจะไปอีกฝั่ง ไปเยี่ยมราษฎรอีกฝั่ง
ภาคกลางที่ทรงห่วงมาก ก็ปัญหาเรื่องน้ำท่วม ปัจจุบันนี้ประชาชนก็คงคุ้นเคยกับสัตว์ คำหนึ่งที่ทรงใช้เกี่ยวกับการกักเก็บน้ำแล้วก็คือ คำว่าแก้มลิง โครงการแก้มลิงนี้มีอยู่ทั่วไปในภาคกลาง โดยเฉพาะในพื้นที่ใกล้ๆ ทะเล ได้ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วม ในฤดูน้ำหลาก และบางที่ก็ช่วยให้มีน้ำใช้ในฤดูแล้งด้วย ผลงานสำคัญตามพระราชดำริเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งในภาคกลาง ก็เช่นเขื่อนป่าศักดิ์ชลสิทธิ์ และเขื่อนขุนด่านปราการชล เป็นต้น
ข้าพเจ้าเองได้ยินมาว่า ตั้งแต่สร้างเขื่อนป่าศักดิ์ชลสิทธิ์ เสร็จฯ มากรุงเทพฯยังไม่เคยมีน้ำท่วมใหญ่เลย และนับว่าประหยัดเงินของชาติ ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯไปได้มาก ซึ่งนับรวมๆ หลายปีก็น่าจะคุ้มค่า ก่อสร้างเขื่อนแล้ว จากนี้ไปก็เป็นกำไรของประเทศชาติเท่านั้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีโครงการพระราชดำริมากกว่า 3,000 โครงการทั่วประเทศ ทรงมุ่งให้ราษฎรให้กินดีอยู่ดีขึ้นทุกภาค งานที่ทรงทำ ทำโดยไม่มีวันหยุดมาเกือบ 60 ปีแล้ว ทรงทำโดยไม่เบื่อหน่าย เพราะเป็นงานที่ทรงทำด้วยความรัก ที่มีต่อประชาชน ในห้องทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะมีแต่แผนที่ประเทศไทยทุกภาคเต็มไปหมด เพราะว่าโปรดเรื่องแผนที่มาก โดยที่ทรงสนพระทัยแผนที่ ก็ทรงสามารถติดต่อกับประชาชนที่มาเฝ้าฯ กันเป็นหมื่นๆ คนได้ จะทรงถามว่าเขาอยู่ที่ไหน หมู่บ้านชื่ออะไร เป็นหมู่บ้านกี่หลังคาเรือน แล้วเวลานี้มีหมู่บ้านที่ติดกัน เพิ่มขึ้นใหม่หรือไม่ ทรงได้ข้อมูลใหม่แล้วก็ทรงดูแลความเจ็บป่วยของประชาชน พวกที่ลูกมากยากจน ขาดการศึกษา อันนี้ข้าพเจ้าก็เลยโชคดี พวกที่ลูกมากแล้วก็ยากจนนี้ ข้าพเจ้าก็ชวนเขามาที่ภาคกลาง มาอยู่ที่ในวังหลวง แล้วก็มาฝึกศิลปาชีพ การฝีมือต่างๆ การทำโลหะ อะไรต่างๆ ซึ่งได้ผลดีมาก แล้วก็ขณะนี้แสดงอยู่ที่พระที่นั่งอนันตสมาคมก็มี ข้าพเจ้าปลื้มใจมาก ก็มีเพื่อนต่างชาติไปดู แล้วเขาก็ชม ข้าพเจ้าก็คิดว่าเขาคงชมด้วยใจจริง เห็นฝีมือของชาวบ้านที่ทำศิลปาชีพเนี้ย สวยงามมาก เขาบอกว่าเนี้ยเป็นฝีมือของมือหนึ่งของโลก จากเดิมที่ยากจน พ่อแม่มีลูก 8-9 คน ข้าพเจ้าก็จะเอามาครอบครัวละ 2 คน แล้วก็มาอยู่ที่ในวังหลวง
พอเช้าขึ้นมาก็เอารถมารับมาที่โรงงานที่สวนจิตรลดา ฝึกงานต่างๆ สอนเขา และก็ให้เงินเขาทุกวันที่เขามาทำงาน ฝึกงานกับเรา แล้วเขาก็เก็บเงินส่งไปให้พ่อแม่ ก็มีความสุขมาก แล้วเดี๋ยวนี้พวกที่ยากจนที่สุดจบประถม 3 บางทีไม่จบประถม 4 บางคนก็ไม่ได้เรียนเลย กลายเป็นคนที่เรียกว่า ชาวต่างชาติมาดูแล้วบอกว่า นี่มือหนึ่งของโลก อันนี้ทำให้ข้าพเจ้าปลื้มใจที่สุด แล้วก็ภาคภูมิใจในมูลนิธิส่งเสริมศูนย์ศิลปาชีพที่ข้าพเจ้าตั้งมา ถ้าเผื่อข้าพเจ้าไม่ได้ตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ จะไม่มีวันได้รู้ว่าคนไทยของเรา หรือผู้ที่อยู่ในประเทศไทยของเรา เป็นคนที่เก่งเช่นไร ถ้าได้โอกาสในชีวิตแล้ว เขาจะพุ่งไปไกล ทำอะไรก็ทำได้ทั้งนั้น ไม่มีที่เรียกว่าไม่รู้จะทำอะไร ทำไม่ได้ อะไรเช่นนี้ คนไทยนี้เก่งจริงๆ ไม่ว่าจะอยู่ที่ภาคเหนือ ภาคใต้ ตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง เก่งทั้งนั้น เป็นคนที่คนไทยทุกคนควรภาคภูมิใจว่า มีเพื่อนร่วมชาติที่เก่ง ขอโอกาสสักนิดเดียวเท่านั้น เขาไปลิ่วทีเดียว กลายเป็นมือหนึ่งของโลก
ข้าพเจ้าได้รับเชิญจากเพื่อนขอให้ไปสหรัฐอเมริกาอีก ข้าพเจ้าก็คิดอยากจะไปเพราะว่าไปทีไรทางสหรัฐอเมริกาได้ให้ความเอาใจใส่ดูแลอย่างดีเลิศดีมากเลย มิหนำซ้ำในรัฐสภาเขาก็จะพูดถึงว่าประเทศไทย คนไทยเนี้ยเก่งมาก เป็นคนที่เก่งและพระเจ้าแผ่นดินก็เป็นคนที่มีความสามารถ และพระราชินีของท่านกำลังจะมา เขาก็พูดกันในสภาว่า next a welcome her น่ารักมากคนอเมริกัน น่ารักจริงๆ ข้าพเจ้ายังปลื้มมากคือ ไม่เคยคิด
ถ้าท่านยังสงสัยอยู่ก็ให้ท่านไปที่พระที่นั่งอนันตสมาคมไปดูผลงานที่คนไทยที่จบแค่ป.3 หรือไม่ได้เรียนเลยที่เขาสามารถประดิษฐ์ อย่างแกะสลักได้สวยงามเหลือเกิน ชิ้นเบอเร่อ สวยงามมาก แกะสลักเป็น 3 ยุคด้วยกัน เอ๊ะ อยู่ไหนก็ไม่รู้จรุงจิตต์จ๋า 3 ยุค 3 ยุคด้วยกัน แหม ชื่อยาก 4 ยุคหรือ แค่3 ก็แย่แล้ว อันนี้ เป็นข้าพเจ้าไม่ได้รู้เอง พรรคพวกข้าพเจ้าไปอ่านมาว่าข้อมูลจากหนังสือไตรภูมิ เทพฤาษีเงื้อคนธรรพ์เฝ้าพระอิศวรอยากทราบว่าแก้ว 9 ประการ เกิดขึ้นได้อย่างไร พระอิศวรก็บอกให้ไปถามพระฤาษีชื่ออังคต เพราะเป็นฤาษีอายุยืนที่สุดตั้งแต่สร้างโลกมา ฤาษีอังคตเกิดในยุคกฤติยุค ยุคนี้ข้าพเจ้าก็เพิ่งเคยทราบและเพิ่งเคยได้ยินว่า กฤติยุคเนี่ย เป็นยุคที่บริบูรณ์ไปด้วยคุณงามความดี ที่ข้าพเจ้าต้องทราบเพราะว่าชาวศิลปาชีพของข้าพเจ้าเองเด็กที่เอามาตั้งแต่เล็กๆ เนี่ย เป็นผู้แกะสลักใช้เวลานานมากเลย แกะสลักยุคต่างๆ บนไม้สัก
ยุคที่ 2 ชื่อว่าไตรดายุค เป็นยุคที่มีความดี 3 ส่วน ความไม่ดี 1 ส่วน
ยุคที่ 3 ชื่อทราวรยุค เป็นยุคที่ความดีและความไม่ดีเสมอกัน ครึ่งต่อครึ่ง
พอมาถึงยุคนี้เป็นยุคที่ข้าพเจ้าอยู่ ข้าพเจ้าล่ะใจหายใจคว่ำ ชื่อว่ากลียุค แหมไม่ค่อยดีเลยนะ กลียุคเป็นยุคที่มีความดีส่วนเดียวค่ะ ความไม่ดี 3 ส่วน แล้วเขาก็บรรยายต่อไปว่า กลียุคคือยุคปัจจุบันที่พวกเราที่ข้าพเจ้ากับพวกท่านทั้งหลายอยู่เนี่ยคือกลียุค ต่อจากกลียุค เขาก็บอกว่าจะเกิดไฟบรรลัยกัลล้างโลก มีลมหอบ แผ่นดินไหว แผ่นดินแยก ข้าพเจ้าก็ไม่อยากรู้แล้วต่อไป เขาเขียนว่าใครอยากรู้มากกว่านี้ให้อ่านในหนังสือไตรภูมิพระร่วง แต่หวังว่าคงจะไม่เกิดผลงานศิลปาชีพถึงจะอยู่กลียุคก็ยังมีผลงานของศิลปาชีพ เป็นนักศิลปาชีพฝีมือที่ชาวต่างประเทศบอกระดับหนึ่งของโลก ก็ยังภูมิใจถึงจะอยู่ในกลียุคก็ตาม ดั่งที่ข้าพเจ้าได้นำภาพส่วนหนึ่งมาให้ท่านดูให้ท่านทั้งหลายชมและยังมีจัดแสดงอยู่ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ท่านที่ประสงค์จะชมของจริงก็ยังไปชมได้
ทุกครั้งที่ข้าพเจ้ามีโอกาสที่ได้ออกนอกประเทศ ข้าพเจ้าก็จะให้จับฉลากกัน ให้พวกคณะศิลปาชีพ เด็กหนุ่มสาวของข้าพเจ้าจับฉลากกันและให้ตามเสด็จฯ ให้ส่วนหนึ่งตามเสด็จฯ ได้ ตอนที่ข้าพเจ้าได้รับเชิญจากประธานาธิบดีของฝรั่งเศสให้ไปแสดงผลงานศิลปาชีพบนหอไอเฟล ข้าพเจ้ารู้สึกซาบซึ้งในประธานาธิบดีและมาดามที่ให้โอกาสศิลปาชีพได้มาแสดงผลงานที่งดงามที่หอไอเฟลมียอดผู้เข้าชมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติครั้งนั้นประมาณ 1 แสน 5 หมื่นคน แหมจากข้างบนสวย และปลื้มใจ และก็ภรรยาประธานาธิบดีก็ไปจับมือกับเด็กศิลปาชีพที่ไปกับข้าพเจ้า จับมือทุกคน หลังจากได้ดูฝีมือการทำงานของเขา แล้วก็ไปจับมือทุกคนบนหอไอเฟลนั้น ทำให้ปลาบปลื้มมาก
โรงฝึกศิลปาชีพที่สวนจิตรลดาในขณะนี้ มีนักเรียนที่ยากจนแต่ไม่ได้ยากจนสติปัญญาเลย ยากจน 700 คน มีครู 50 คน และก็จำหน่ายผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพต่างๆ ที่สวนอัมพร ระหว่างวันที่ 18 กรกฎาคม ถึง 2 สิงหาคม นี้ และน่าปลื้มใจที่คนไทยทั้งหลายก็ช่วยกันไปสนับสนุน ไปดู ไปซื้อของเท่าที่จะซื้อได้ และก็ที่ฮิตมากคือที่พัทลุง เขาคิดทำเอาผักต่างๆ มาทำเป็นข้าวเกรียบ พอทอดข้าวเกรียบผัก คนมาเข้าคิวยาวเชียว ว่า อร่อยมาก อันนี้ ข้าพเจ้าปลื้มทอดข้าวเกรียบขายนี่ก็ตั้งแต่เช้าจรดเย็น จนคนทอดเหนื่อย และตะโกนบอกคนที่เข้าคิว วันนี้อย่ามาซื้อเลย ไม่อร่อยหรอกข้าวเกรียบ ไล่คนไปเสียอีก ข้าพเจ้าบอกทำไมอย่างนั้น ไม่พยายามฝืนใจ เหนื่อยก็เหนื่อย ก็สู้ เขาบอกสู้มาจนเช้าแล้ว จนใกล้ค่ำแล้ว เลยบอกว่าอย่าเข้าคิวเลย ไม่อร่อยหรอกวันนี้ ไม่อร่อย แต่ประชาชนก็มาช่วยเหลือ เพราะเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพนี่เป็นฝีมือของชาวบ้าน ชาวไร่ ชาวนา ที่ยากจนเหมือนกับว่าคนไทยมาช่วยคนไทยด้วยกัน เงินทองก็จะได้หมุนเวียนกลับไปสู่คนไทยมากขึ้น อีกทั้งเป็นการหมุนเวียนไปสู่ประชาชนอย่างทั่วถึง ทั่วประเทศ หลายแสนครัวเรือน
ข้าพเจ้าปลื้มมากที่ท่านทั้งหลาย ประชาชนทั้งหลาย ได้ไปชมงานศิลปาชีพที่สวนอัมพรแสดงให้เห็นว่าเป็นผู้ที่ชื่นชมศิลปาชีพจริงๆ อย่างเขาไปนี่เขาแต่งกายด้วยผ้าของศิลปาชีพที่เขาซื้อเมื่อปีที่แล้ว หรือถือกระเป๋าของศิลปาชีพ หรือตะกร้าศิลปาชีพ เมื่อพบกันก็ชื่นชมซึ่งกันและกัน ชวนกันอุดหนุนผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่ๆ เจ้าหน้าที่ศิลปาชีพเห็นแล้วก็ชื่นใจ เพราะจำได้ จำได้แต่ละคนว่าคุ้นหน้า มาอุดหนุนเสมอ จนกระทั่งคุ้นหน้ากัน
ผลิตผลจากเกษตรก็เหมือนกัน ข้าพเจ้าก็ได้สร้างฟาร์มตัวอย่างในหลายจังหวัด เพราะบางทีบางจังหวัดไม่ปลอดภัยที่จะไปซื้อข้าวของที่ตลาดเช่น ขี่มอเตอร์ไซค์ไป ไปจ่ายของที่ในตลาด ก็มักจะเสียชีวิตเสมอ ก็เลยช่วยกันคิดว่าอย่าเลย เราสร้างเป็นคล้ายๆ ตลาดของศิลปาชีพที่ในหมู่บ้านต่างๆ ก็แล้วกัน จะได้ใช้จ่ายกันได้ดี และไม่ต้องเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วย อย่างพัทลุงนี่ ทำข้าวยำผักใต้อร่อยที่สุด ข้าพเจ้ายังไปชิมที่พัทลุง
ที่โครงการศิลปาชีพที่พัทลุงเก่งมาก และเดี๋ยวนี้เป็ดอี้เหลียงซึ่งทางเมืองจีนให้ข้าพเจ้า ตอนที่ข้าพเจ้าไปแทนพระองค์ที่เมืองจีน เป็ดอี้เหลียง เดี๋ยวนี้ก็มาทำลาบเป็ด ทำเท่าไรก็หมดเท่านั้น ดอกไม้ทอดจากพัทลุง หมูจินหัวแดดเดียว ข้าวสารหลายชนิดข้าพเจ้าก็เที่ยวไปดูตามที่เขาเอาออกมาแสดงจังหวัดต่างๆ ข้าวสังข์หยด และข้าวเกรียบรสต่างๆ ที่ชาวบ้านทำจากผักต่างๆ เราก็เอามาทำรับประทานกัน
ทีนี้ขอคุยอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องโขน เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ก็ได้มีการจัดแสดงโขนชุดพรหมมาศ เรื่องโขนสมเด็จเจ้าฟ้า ลูกสาวข้าพเจ้า สมเด็จพระเทพฯ เป็นห่วงเหลือเกินว่า โขนไม่ค่อยแสดง เพราะเสื้อผ้าก็ทรุดโทรมเก่าไม่ได้แสดงแล้ว ทั้งๆ ที่มีคนที่ฝีมือดีที่จะแสดงโขนได้ แต่ก็แสดงไม่ได้เนื่องจากเงินจำกัด แล้วเสื้อผ้าก็เก่า ก็พระราชทานสร้างชุดโขนขึ้นใหม่อีก แล้วก็มีการซ้อม พวกครูโขนที่เก่งต่างๆ ก็ซ้อมลูกศิษย์ แล้วก็แสดงให้ประชาชนดูเมื่อเร็วๆ นี้เอง
สมเด็จพระเทพฯ เล่าเป็นห่วงมากว่าโขนเป็นของที่วิเศษ อย่างที่อินโดนีเซียเขายังรักษาของเขาไว้ แต่ของเรานับวันเสื้อผ้ามันแพง นับวันจะไม่ได้แสดงก็กลัวว่าจะหายไปจากความนิยมของคนไทย ข้าพเจ้าก็ปรึกษากับ อาจารย์สมิทธิ ศิริภัทร แล้วอาจารย์สมิทธิ ก็ไปรวบรวมผู้รู้หลายคน ศึกษาค้นคว้า จัดสร้างเครื่องแต่งกายของโขนหัวโขน เครื่องประดับต่างๆ คราวนี้งดงามมาก เครื่องแต่งกายโขนเมื่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้วสวยงามเหลือเกิน นับว่าเป็นการคุ้มค่าในการรอคอยจริงๆ แสดงโขนเมื่อเร็วๆ นี้ ท่านทั้งหลายบางคนคงได้ชมแล้ว เห็นว่าประชาชนมาชมกันแน่นขนัด จนเพิ่มรอบการแสดงแล้วก็ยังไม่เพียงพอ ยังมีผู้ขอร้องให้จัดแสดงอีก น่ารักที่ลูกพาคนแก่ พ่อ แม่ หรือปู่ ย่า ตา ยาย ที่แก่ๆ จูงมือกันไปดูโขนที่ทำขึ้นใหม่ สำเร็จใหม่นี้ เห็นว่าสวยงามมากเลย อุปกรณ์การแสดงก็เรียบร้อย เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายชื่นใจ หายเหนื่อยเพราะได้รับคำชมจากประชาชนมากเลย เขามีรูปเสื้อผ้าโขนที่สร้างขึ้นใหม่
การแสดงโขนครั้งนี้ไม่ใช่จะประสบความสำเร็จเพียงแค่ได้เผยแพร่ศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทยเราเท่านั้น แต่ยังเกิดสิ่งที่มีคุณค่าเพิ่มขึ้นมาอีก คือพวกเราได้สร้างช่างฝีมือรุ่นใหม่เอี่ยมขึ้นมา รุ่นใหม่ที่เข้าใจถ่องแท้ถึงศิลปะการสร้างเครื่องแต่งกายโขน และได้เห็นความผูกพันอย่างใกล้ชิดแบบสังคมไทยสมัยโบราณ ลูกหลานจูงพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย คนแก่ในบ้าน ไปดูโขนครั้งนี้ ได้เห็นการแสดงความรัก เอื้ออาทรต่อกันในครอบครัว ก็เป็นภาพที่สร้างความสุขใจแก่ผู้พบเห็นทุกคน และเสียงที่เรียกร้องว่าให้จัดการแสดงโขนขึ้นอีกนั้น ข้าพเจ้าก็รับฟัง และกำลังตรึกตรองว่าจะเลือกตอนไหนมาจัดแสดงใหม่ แต่ก็ต้องฝึกซ้อมนานหน่อย ขอให้ นี่เขาสั่งให้ข้าพเจ้าพูดว่า ขอให้แฟนๆ โขนคอยติดตามข่าวต่อไป เขาสั่งมา อย่าลืมรับสั่งตรงนี้ให้ได้ โฆษณาไปในตัวรับรองว่า ต่อไปต้องมีให้ชมแน่นอน ในโอกาสนี้ข้าพเจ้าต้องขอขอบคุณกรุงเทพมหานคร และสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ร่วมกันจัดนิทรรศการโขนชุดพรหมมาศ ที่หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร ซึ่งประชาชนได้ชมความงดงามของเครื่องแต่งกายโขนทุกชนิด หัวโขน เครื่องประดับต่างๆ พร้อมทั้งอุปกรณ์การแสดงที่สำคัญ มีช้างเอราวัณ เป็นต้น ที่นี้ใครเป็นผู้เชี่ยวชาญการโขนก็ช่วยแนะนำข้าพเจ้าว่าคราวหน้าจะเอาตอนไหนมาแสดงดี ให้ช่วยกัน
ต่อไปจะขอเล่าเรื่องแนวประการังเทียมที่ อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี ชาวประมงบ้านละเวง อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี มาหาข้าพเจ้าแล้วขอร้องให้ช่วยเหลือ เพราะเขามีอาชีพอยู่อย่างเดียวคือออกเรือไป เป็นเรื่องเล็กๆ เพราะเป็นคนจนมาก ออกเรือก็ไปตกปลา จับปลาได้ก็มาขายได้เงินเลี้ยงชีพ และปลาที่เหลือก็รับประทาน ที่นี่เรื่องปลาในเขตน้ำตื้นร่อยหรอจนแทบไม่มีเหลือแล้ว ข้าพเจ้าเองก็จนปัญญาก็ปรึกษากันกับผู้เชียวชาญต่างๆ ก็ได้รับคำแนะนำว่าให้ลองทดลองสร้างแนวประการังเทียมขึ้น อันนี้เป็นความคิดที่เรียกว่าข้าพเจ้าไม่เคยรู้มาก่อนเลย ก็ได้อาศัยราษฎรเนี่ย ได้รับความรู้ต่างๆ ขึ้นมา ให้สร้างประการังเทียมขึ้นเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ
ข้าพเจ้าก็ได้เปิดโครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลขึ้นใน พ.ศ.2544 ที่จ.นราธิวาส มีหน่วยงานหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือสนับสนุนโครงการนี้ เป็นโครงการที่น่าชุ่มชื่นใจ เพราะว่าเป็นการยกระดับชีวิตของคนที่ยากจน ไม่แทบว่าจะไม่มีหวัง ยากจนยากจน ผู้ที่สนับสนุนโครงการนี้ เช่น กรมประมง กองทัพเรือ การรถไฟแห่งประเทศไทย กรมทางหลวง อย่างการรถไฟแห่งประเทศไทยบริจาคตู้รถไฟที่ชำรุด ข้าพเจ้าเห็นก็งงว่า เอะไอ้ตู้รถไฟมันจะมาทำช่วยให้ปลาชื่นชมได้ยังไง ก็งง ตอนนั้นไม่มีความรู้อะไรทั้งสิ้น การรถไฟบริจาคตู้รถไฟที่ชำรุด กรมทางหลวงก็บริจาคท่อคอนกรีต เป็นต้น
ต่อมากรุงเทพมหานคร ก็ยังช่วยบริจาครถขนขยะที่ชำรุดอีกด้วย นี่ข้าพเจ้าได้เรียนเป็นพระราชินีไม่รู้เรื่องอะไรเลย ได้เรียนจากความต้องการของประชาชนและได้เรียนที่ท่านทั้งหลายช่วยกันแก้ไขปัญหาเหล่านี้ และก็ทิ้งลงไปในทะเล ที่เขากะแล้วว่าที่ตรงนี้ทิ้งได้ประการังเทียม แล้วทางกองทัพเรื่องก็ไปถ่ายหนังมาให้ข้าพเจ้าดู โอ้โหตกใจพอเราทิ้งอะไรต่ออะไรต่างๆ ลงไป ปลามันก็ขนโขยงมากันใหญ่ มันนึกว่าแหมนี่มีบ้านที่ดีของเราแล้ว มันมากันเป็นแถวเชียว ถ้าเขาไม่ไปถ่ายหนังให้ดูก็ไม่รู้ แหมมามากมายก่ายกอง ซึ่งประชาชนมาบอกข้าพเจ้าว่าจับปลาได้สบาย จับปลาได้ดีเลยตอนนี้ มันมากันเป็นแถว ปลาต่างๆ ที่หายากก็เข้ามา ถ้าทิ้งลึกลงไปปลาใหญ่ๆ เมื่อไม่นานนี้ข้าพเจ้าได้รับรายงานว่าเขาได้ถ่ายหนังภาพของฝูงปลานานาชนิดเข้ามาอาศัยอยู่ในแนวประการังเทียม แม้แต่ปลาที่หายากที่สุด กรมประมงบอกว่าหายากแทบไม่ได้เห็นเนี่ย คือปลาหมอทะเลตัวใหญ่เบ้อเร้อเชียวขนาด 2-3 เมตร ก็เข้ามาหาที่อยู่ที่นี่ ข้าพเจ้าได้ยินก็มหัศจรรย์ใจ ไม่เคย เป็นความรู้ใหม่ทั้งนั้นเลย ปลาจารเม็ดสีเทาซึ่งแต่ก่อนก็ไม่มีแล้ว ปลาช่อนทะเล ปลากุเลาก็เข้ามาได้
ชาวประมงพื้นบ้านก็เข้ามาหา ข้าพเจ้าบอก แหมดีท่าน เดี๋ยวนี้พวกเราไม่ต้องออกไปไกลก็จับปลาได้มากขึ้น จากแทบว่าไม่มีรายได้ กลับมามีรายได้เพิ่มขึ้น ถึงเดือนละ 1 หมื่นกว่าบาทแน่ะ ชาวบ้านยากจนเหลือเกิน แปลว่าคนที่มีความรู้ของเรา ของประเทศไทยเรามีมากและก็พร้อมเสมอที่จะช่วยชาติบ้านเมือง ปีนี้กรมประมงพื้นบ้านตั้งแต่ปัตตานีจนถึงนราธิวาสหลายร้อยคน เขียนจดหมายถึงข้าพเจ้าแล้วก็เซ็นชื่อเป็นบัญชีหางว่าวเลย ขอให้ข้าพเจ้าช่วยจัดทำประการังเทียมเพิ่มเติมขึ้นอีก แล้วตอนนี้ใครจะช่วยข้าพเจ้าหล่ะ ตอนนี้จะเอาอะไรไปทิ้งให้ปลามันอยู่
ข้าพเจ้าจึงนำมาเล่าให้ท่านทั้งหลายฟังว่าประการังเทียมนั้น ใช้ได้ผลจริงๆ น่าภูมิใจแทนหน่วยงานทั้งหลายที่ช่วยเหลือประชาชนประสบผลสำเร็จ และข้าพเจ้าก็เลยขอถือโอกาสนี้ ส่งข่าวถึงกลุ่มประมงพื้นบ้าน ที่เขาเขียนจดหมายมาถึงข้าพเจ้า ขอปะการังเทียมเพิ่มด้วยว่า ข้าพเจ้าจะพยายามขอร้อง ขอให้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และทุกแห่ง ช่วยกันประสานงาน เชื่อว่าอีกไม่นานเกินรอก็คงจะเริ่มจัดสร้างพื้นที่บริเวณปะการังเทียมได้อีก เพื่อประชาชนจะได้ไปตกปลา ไปทำมาหากินได้เพิ่มนะคะ ท่านนายกฯ
คราวนี้สบายหน่อย แหมเขาเขียนให้เป็นฉากๆ และคราวนี้ พระราชทานพันธุ์ข้าว ฤดูเพาะปลูกปีนี้ นายกสมาคมเครือข่ายสถาบันเกษตรกร จ.มหาสารคาม ก็แจ้งความเดือดร้อนมาว่า นาของเกษตรกร 1,500 ราย ในภาคอีสาน 19 จังหวัด ประสบอุทกภัยและโรคแมลง ทำให้ไม่มีข้าวพันธุ์ดีที่จะปลูกต่อไป ราษฎรจึงมีจดหมายมาขอข้าวพันธุ์ดีจากข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้ส่งเรื่องไปที่กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องพันธุ์ข้าวโดยตรง เขาจะได้เป็นธุระจัดหาพันธุ์ข้าวให้ กรมการข้าวก็ได้รีบจัดพันธุ์ข้าวปลูกอย่างดี เป็นข้าวเจ้า พันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ และข้าวเหนียวพันธุ์ กข.6 อย่างละครึ่ง รวม 75 ตัน มอบให้เกษตรกร เมื่อเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา
ข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทยมาแต่โบราณ ข้าพเจ้าเองก็ไม่เคยทราบว่า ข้าวมีประโยชน์อย่างเหลือหลาย ก็พอโตขึ้นมาจะเป็นสาวเข้าหน่อยเขาก็สอนกันว่า ถ้ากินข้าวมากจะพุงป่อง จะไม่ดีจะพุงป่อง จะอ้วน แต่มาตอนนี้ข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือนิวส์วีค และไทม์แมกกาซีน เขาพูดถึงข้าวว่าข้าวเป็นอาหารที่ยอดเยี่ยมที่สุดของมนุษย์ เป็นแป้ง คาร์โบไฮเดรตที่อ้วนน้อยที่สุด เทียบกับขนมปัง เทียบกับสปาเก็ตตี้ เทียบกับเส้นอะไรต่างๆ ข้าวอ้วนน้อยที่สุด มีประโยชน์เหลือหลาย ส่วนที่มีประโยชน์จริงๆ อยู่ที่ผิวที่หุ้มเมล็ด ส่วนที่เมื่อกระเทาะเปลือกแข็งออกไปแล้วก็จะเห็นเป็นสีน้ำตาลกับจมูกข้าว ข้าพเจ้าเองก็เลยขอร้องพวกประชาชนที่เป็นสมาชิกศิลปาชีพ ให้ตำข้าวจากนาของเขามาถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับข้าพเจ้า เขาก็จะตำและส่งมาให้ตลอด เพราะว่าฝรั่งเขียนว่า ข้าวนี่เป็นอาหารที่ยอดเยี่ยมที่สุด เพราะว่ามีวิตามินที่จะไปทำให้ร่างกายของเรานี่ ข้าพเจ้าอ่านว่า 25 เซลล์ที่สมองก็เริ่ม เริ่มจะเสียแล้ว เริ่มต้นแล้ว อายุ 25 แล้วก็เซลล์ต่างๆ จะเริ่มเสียไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นหมอที่อเมริกาจากทุกหนแห่ง เขาพูดว่า เราเนี่ยควรจะรับประทานวิตามินรวม เพื่อให้เซลล์ในร่างกายของเราเนี่ยเสื่อมช้าลง
และเขาก็พูดถึงข้าวว่า ข้าวเนี่ยถ้าไปเข้าโรงสีมากมายก่ายกอง ก็เป็นแค่แป้งเท่านั้นเอง แต่ถ้าเผื่อเรามากระเทาะ ตำเอง เอากระเทาะเปลือกข้างนอกออกนิดเดียว โหมีคุณค่าเหลือที่จะพรรณาเชียว จะไปช่วยซ่อมแซมเซลล์ต่างๆ ที่กำลังจะชำรุดทรุดโทรม ไอ้เราก็คิดว่า ข้าวเนี่ยมันอ้วน อ้วนนะ ก็ไม่รับประทาน แต่ขอให้ทุกคนทราบเถอะว่า นิวส์วีค เป็นหนังสือพิมพ์ของทั่วโลก และก็ไทม์ เขาบอกข้าวนี่ยอดเยี่ยมที่สุด มีวิตามิน บี 1 บี 2 มีธาตุเหล็ก มีแคลเซียม แล้วก็ที่น่าสนใจสำหรับผู้สูงวัยเช่นข้าพเจ้าเป็นต้น คือ มีสารที่ช่วยชะลอความเสื่อมของร่างกายด้วย ทุกคนกลับไปรับประทานข้าวเลยนะ เอาจริงๆ ไอ้ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่อะไรมันอ้วนอยู่ดีเหมือนกัน แต่ว่ามันมีประโยชน์น้อยกว่าข้าว นี่เป็นที่ฝรั่งเขาพูดนะ
และอีกเรื่องที่ข้าพเจ้าชื่นชมเหลือเกินที่ทราบข่าวดีมาว่า เยาวชนของเราที่เก่งของเราอย่าง น.ส.นพวรรณ เลิศชีวกานต์ อายุ 17 จากเชียงใหม่ ก็ได้รับรางวัลชนะเลิศ ในการแข่งขันเทนนิสวิมเบิลดัน 2009 ที่ประเทศอังกฤษ และก็ทราบว่า เยาวชนจากโรงเรียนมัธยมหลายแห่ง ได้รับรางวัลเหรียญทอง เหรียญเงิน ในการแข่งขันโอลิมปิควิชาการ เกี่ยวกับฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ และชีววิทยา และนอกจากนี้ยังมีทีมจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับรางวัลชนะเลิศ หุ่นยนต์กู้ภัยโลก และโรงเรียนสุรนารีวิทยา โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย โรงเรียนเรยีนาเชลี ก็ได้รับรางวัลวงโยธวาทิตระดับโลก มันแสดงให้ข้าพเจ้ามั่นใจ และปลื้มใจมาก และคิดว่าคนไทยทั้งประเทศก็คงปลื้มใจว่า คนไทยของเรานี่เก่ง เก่งจริงๆ ขอให้มีโอกาสในชีวิตเท่านั้น บางคนที่เก่งอย่างข้าพเจ้าได้เห็นตัวอย่างตัวเองแล้ว สมาชิกส่งเสริมศิลปาชีพที่จบแค่ ป.3 แล้วไม่ได้เรียนเลย ซึ่งบัดนี้ชาวต่างประเทศไปดูฝีมือที่พระที่นั่งอนันตสมาคมบอกว่า เป็นฝีมือ 1 ของโลกแห่งนี้ คนที่พูดเป็นคนที่มีชื่อเสียงระดับโลกด้วย นี่มันฝีมือ 1 ของโลก ข้าพเจ้าก็คิดว่าเมื่อไหร่ที่ได้โอกาสไปที่สหรัฐอเมริกาก็จะพาพวกเขาไป แล้วจะเอาฝีมือที่เขาทำไปแสดงให้คนไทยที่อเมริกาได้เห็นด้วยว่า นี่คือคนไทยของเรา
เรื่องพระบวรพุทธศาสนา ข้าพเจ้าเอง คนทั้งหลายเป็นห่วง แต่ข้าพเจ้าเองเชื่อว่า ทุกวันนี้เด็กรุ่นใหม่ที่ว่าไม่ค่อยสนใจในพระพุทธศาสนา ก็คงจะไม่จริง ข้าพเจ้าทราบว่าเด็กไทยสนใจในพุทธศาสนามากขึ้น ไปนั่งปฏิบัติธรรม ไปเข้าค่ายธรรมะกันเป็นแถว ข้าพเจ้าเองพออายุ 70 ก็นึกอยากฟังพระเทศน์ วันพระใหญ่ก็จะไป ชักชวนพวกพ้องไปกันแน่นเชียว ไปที่วัดหนึ่งวัดใดขอให้ท่านช่วยเทศน์ให้ฟัง เปลี่ยนวัดไปเรื่อยๆ ไปฟังเทศน์ แล้วไปแล้วก็ตกใจ เห็นประชาชนมานั่งมารอเป็นแถว คอยที่จะฟังเทศน์ ข้าพเจ้าก็เลยจัดแจงให้มีลำโพงออกมา ให้ประชาชนที่มานั่งได้ฟังคำพระเทศน์ด้วย ซึ่งเขาก็คงจะภูมิใจ ถ้าใครว่าง ก็ชวนไปฟังเทศน์กับข้าพเจ้าได้ คราวที่แล้วฟังที่หัวหิน ที่วัดที่หัวหิน
รู้สึกจวนจะจบแล้ว ขอบพระคุณในน้ำใจของทุกคนที่มาฟัง และก็คงช่วยกันให้เด็กไทยของเราได้รับโอกาส อย่างที่ข้าพเจ้าได้มีโอกาสช่วยเด็กศิลปาชีพ และได้เห็นฝีมือของเขา เพราะว่าข้าพเจ้าเอาเด็กศิลปาชีพมา เขาอายุ 13, 14, 15 มาสอนให้เขียนลายถมทอง และก็ตัวการอยู่นี่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ หัวร่อข้าพเจ้า บอกแม่จะเอาเด็กชาวบ้านมาให้ทำถมทองยังไง และเดี๋ยวนี้ เด็กชาวบ้านต่างๆ ทำยิ่งกว่าถมทองอีก ฝีมือสวยเหลือเกิน ที่ชาวต่างชาติมาดูและบอกว่า ฝีมือระดับโลกเลย ถ้าเผื่อข้าพเจ้ามีโอกาส มีโชคดี ความจริงเขาก็เชิญมาแล้ว ให้ไปสหรัฐอเมริกาตอนที่เรียกว่าเศรษฐกิจอะไรต่ออะไรของโลกค่อยดีขึ้นแล้ว ข้าพเจ้าจะเอาเด็กเหล่านี้ไปให้ได้เห็นสหรัฐอเมริกา แล้วเอาฝีมือที่เขาทำไปประกวดด้วย
ในที่สุดนี้ ข้าพเจ้าขอขอบพระคุณทุกท่าน ซาบซึ้งในน้ำใจของทุกท่าน เป็นกำลังใจเหลือเกินที่ 77 ปี จะได้กำลังใจอย่างนี้ แล้วก็จะไปฉิวได้อีก แหมตัวเลขฟังเสียงแล้วน่ากลัว 77 ปี ขอขอบคุณนะคะ”

วันอาทิตย์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2552

บทบรรยาย การแสดง แสง สี เสียง เรื่อง “ตำนานสะพานจุฬาลงกรณ์”


บทบรรยายการแสดงแสงสีเสียง เรื่อง ตำนานสะพานจุฬาลงกรณ์ อ.เมือง จ.ราชบุรี นี้ ผมได้จัดทำไว้เมื่อกลางปี พ.ศ.2548 เนื่องจาก จังหวัดราชบุรี ดำริจะจัดให้มีการแสดงในช่วงเทศกาลลอยกระทง จนแล้วจนรอด ก็ไม่ได้แสดง..เพราะถึงเวลา ไม่มีใครเป็นเจ้าภาพจริง...ได้แต่พูดกันไป..เพื่อป้องกันการสูญหาย จึงได้นำมาไว้ใน Blog แห่งนี้ เพื่อว่าจะมีใครนำไปประยุกต์ใช้ในอนาคต เนื้อความที่เขียนยังไม่ได้มีการประชุมเพื่อปรับแต่ง อาจจะฟังยังไม่รื่นหูมากนัก



ฉากที่ 1 แม่กลอง…..สายน้ำแห่งชีวิต

กว่าหนึ่งพันปี ที่ลำน้ำสายใหญ่เบื้องหน้าทุกท่านในขณะนี้ ได้ทำหน้าที่หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตผู้คนบนแผ่นดินสองฟากฝั่งให้อุดมไปด้วยพืชพันธุ์ ผลาหาร การค้า พาณิชย์ เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่สำคัญของแผ่นดินนี้มาแต่อดีต จวบจนปัจจุบัน แม่น้ำสายนี้ยังคงเป็นเส้นเลือดแห่งวิถีชีวิตของชาวราชบุรี แม้กาลเวลาจะหมุนเวียนเปลี่ยนไป แต่แม่น้ำแม่กลองก็ยังคงคุณค่าไม่เคยเปลี่ยนแปลง


เมืองราชบุรี เป็นเมืองเก่าแก่ ถูกบันทึกอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์มาแต่ครั้งสมัยทวารวดี เรื่อยมาจนกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี จวบจนกระทั่วถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในกาลปัจจุบัน ราชบุรีเป็นเมืองที่สุขสงบ วิถีชีวิตของผู้คนเรียบง่าย เอื้ออารี ผืนแผ่นดินอุดมไปด้วยทรัพย์ในดิน สินในน้ำ มีธรรมชาติที่สวยงาม จึงเป็นจุดหมายของผู้แสวงหาแผ่นดินที่อยู่อาศัย เพื่อความสงบสุขร่มเย็น จนกลายเป็นบ้านของกลุ่มชนถึง ๘ เผ่า จากต่างเชื้อชาติต่างวัฒนธรรม แต่ก็ผสมผสานกันได้อย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็นคนไทยภาคกลางพื้นถิ่น ชาวไทยจีน ชาวไทยญวน ชาวไทยมอญ ไทยกะเหรี่ยง ไทยลาวโซ่ง ไทยลาวตี้และไทยเขมร ที่คงอยู่อาศัยร่วมกันอย่างร่มเย็นเป็นสุขมาจนทุกวันนี้


แต่ใครจะรู้บ้างว่า สายน้ำที่ไหลเรื่อย สวยงาม และใสเย็นแห่งนี้ เคยผ่านความโชคร้ายทั้งจากธรรมชาติ และการกระทำของมนุษย์มามากมายเพียงไร หากแม่น้ำแม่กลองเอื้อนเอ่ยวาจาได้ คงอยากที่จะบอกเล่าเรื่องราวหลากหลายที่เกิดขึ้น ให้คนรุ่นหลังได้ร่วมรับรู้


ห้วงเวลานับจากนี้…………เราจะขอทำหน้าที่เป็นตัวแทนของลำน้ำแม่กลอง บอกเล่าหนึ่งในเรื่องราวที่หลากหลาย ความทุกข์ยาก และความสูญเสียจากสงคราม ซึ่งมนุษย์เป็นผู้ก่อขึ้น แม้ว่าประเทศไทยจะมิใช่คู่สงคราม แต่เราก็ถูกดึงเข้าไปร่วมอยู่ในเหตุการณ์โดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ แม้ว่ารัฐบาลไทยในขณะนั้น จะได้พยายามอย่างดีที่สุด เพื่อรักษาเอกราช และอธิปไตยของชาติไว้ แต่ก็ต้องแลกด้วยความหายนะ และความสูญเสียของคนไทยในหลายๆ พื้นที่ ที่กองทหารญี่ปุ่นเข้าไปตั้งอยู่ ซึ่งจังหวัดราชบุรีก็เป็นหนึ่งในจำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบเหล่านั้น
ฉากที่ 2 สงครามมหาเอเชียบูรพา
เช้าตรู่ของวันจันทร์ที่ 8 ธันวาคม พุทธศักราช 2484 กองทัพแห่งพระเจ้าจักรพรรดิ์ บุกเข้า โจมตีฐานทัพเรือของสหรัฐที่อ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์ หมู่เกาะฮาวาย……นั่นหมายถึงสัญญาณการเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2


สงครามแห่งความหายนะของมวลมนุษยชาติได้เปิดฉากขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ พร้อมๆ กับสงครามมหาเอเชียบูรพาที่เริ่มอุบัติขึ้น ด้วยการที่กองทหารญี่ปุ่นจำนวนมาก บุกเข้าสู่หลายประเทศในเอเซีย รวมถึงประเทศไทยของเราก็ตกเป็นเป้าหมาย กองทัพญี่ปุ่นเคลื่อนทัพเข้าสู่ประเทศไทย 2 เส้นทาง โดยทางบกผ่านทางจังหวัดพระตะบอง และจังหวัดพิบูลสงครามของกัมพูชา และทางทะเล กองทหารญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกทางฝั่งทะเลตะวันออกตั้งแต่จังหวัดสมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี พร้อมๆ กัน ในคืนเดียว แม้ว่าประเทศฯไทย่จะผนึกกำลังต่อสู้อย่างเต็มความสามารถ จนเปิดเป็นวีรกรรมเล่าขานของยุวชนทหารผู้กล้า แต่ก็หาทัดทานกำลังของทหารญี่ปุ่นได้ไม่……สงครามแผ่ขยายไปเกือบทุกพื้นที่ทั่วโลก


กองทัพญี่ปุ่นยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลไทย ขอส่งทหารผ่านดินแดนไทยไปประเทศพม่า เพื่อเข้าสู่ประเทศอินเดีย ได้มีการเจรจาต่อรองกันหลายครั้ง จนในที่สุด เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พุทธศักราช 2484 รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีตกลงยอมรับข้อเสนอและเงื่อนไขของกองทัพญี่ปุ่น ยินยอมให้ใช้ประเทศไทยเป็นเส้นทางเดินทัพผ่านไปประเทศมลายู และพม่า เพื่อเข้าสู่ประเทศอินเดีย ด้วยเหตุผลที่ประชาชนชาวไทยในขณะนั้นไม่สามารถแข็งขืนได้ นั่นก็คือ เพื่อรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติให้คงไว้


ในสงครามครั้งนั้น จังหวัดราชบุรี ถูกกำหนดให้เป็นศูนย์กลางการเดินทัพของญี่ปุ่น เพื่อใช้ในการลำเลียงเสบียงอาหารและอาวุธยุทโธปกรณ์
ฉากที่ 3 ทางรถไฟสายยุทธศาสตร์

กองทัพญี่ปุ่นเริ่มดำเนินการก่อสร้างทางรถไฟสายไทย – พม่า ในวันที่ 8 ธันวาคม พุทธศักราช 2485 โดยใช้เชลยศึกของฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นแรงงาน เริ่มต้นจากสถานีรถไฟบ้านหนองปลาดุก อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี มุ่งสู่ทิศตะวันตก เลียบลำน้ำแม่กลอง ตัดผ่านแม่น้ำแควน้อย จังหวัดกาญจนบุรี ผ่านเขตแดนไทยที่ด่านเจดีย์สามองค์ สุดทางที่สถานีธันบีอูซายิต ซึ่งอยู่ระหว่างเมืองมะละแหม่งกับเมืองตองยี ประเทศพม่า ระยะทาง 415 กิโลเมตร


ทางรถไฟสายนี้จะเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญสำหรับใช้ในการลำเลียงพลอาวุธยุทโธปกรณ์ สัมภาระและเสบียงอาหารของกองทัพญี่ปุ่น จากภาคใต้ของประเทศไทยมุ่งเข้าโจมตีต่อประเทศพม่า และประเทศอินเดีย

ฉากที่ 4 วิถีชีวิตชาวราชบุรีในช่วงสงครามเมื่อชาวราชบุรีต้องเผชิญกับสภาวะของสงครามที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ในเมืองที่เต็มไปด้วยทหารญี่ปุ่น ที่สถานีรถไฟราชบุรี ผู้คนมักจะได้พบเห็นภาพของการขนย้ายเชลยศึกจำนวนมากมายใส่ตู้รถไฟ มาจากทางภาคใต้ เพื่อนำไปเป็นแรงงานก่อสร้างทางรถไฟสายไทย – พม่า เนื่องจากรถไฟทุกขบวนจะต้องแวะเติมน้ำ เติมฟืนที่สถานีแห่งนี้ก่อนที่จะเดินทางต่อไป จนเกิดเป็นอาชีพของคนราชบุรีในครั้งนั้น คือการนำผลไม้ อาหารการกินไปแลกกับของใช้ที่เชลยศึกนำติดตัวมา เช่น สร้อย แหวน นาฬิกา และชาวราชบุรีบางคนก็ถูกจ้างให้เข้าไปทำงานให้กับค่ายทหารญี่ปุ่น บางส่วนก็อพยพหลบหนีไปอยู่ที่อื่น


ในภาวะสงคราม ความอดอยากยากแค้น ความขาดแคลนเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า ทำให้เกิดการลักขโมย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขโมยของจากค่ายทหารญี่ปุ่น อาทิเช่น น้ำมัน และยุทธปัจจัยต่างๆ เมื่อถูกจับได้ ญี่ปุ่นก็จะใช้วิธีการลงโทษอย่างรุนแรง เช่น ผู้ที่ขโมยน้ำมัน ก็จะให้กินน้ำมันด้วยการกรอกปาก ทุกฝ่ายต่างต้องอยู่ร่วมกัน ท่ามกลางกลิ่นไอสงคราม


จนในที่สุด ลางแห่งความพ่ายแพ้ของฝ่ายอักษะก็เริ่มขึ้น สงครามดำเนินไปจนถึงปลายปีพุทธศักราช 2487 กองทัพแห่งพระเจ้าจักรพรรติ เริ่มปราชัยในประเทศพม่า จำต้องถอยร่น กลับเข้าทางประเทศไทย กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรได้วางแผนในการทิ้งระเบิดตามเส้นทางคมนาคมและสะพานที่สำคัญๆ ในเขตประเทศไทย เพื่อสร้างความระส่ำระสาย และปิดเส้นทางการถอยทัพหนีของกองทัพญี่ปุ่น ดังนั้นสะพานจุฬาลงกรณ์ จึงเป็นเป้าหมายสำคัญแห่งหนึ่งที่กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรต้องทำลาย
ฉากที่ 5 อวสานสะพานจุฬาลงกรณ์เมื่อ 104 ปีล่วงแล้ว คือ พุทธศักราช 2444 สะพานจุฬาลงกรณ์ที่โดดเด่น สวยงาม ปรากฏต่อสายตาทุกท่านในขณะนี้ ได้ถือกำเนิดขึ้น จากพระมหากรุณาธิคุณ และพระปรีชาญาณรของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างสะพานเชื่อมสองฝั่งลำน้ำแม่กลองเข้าหากัน เพื่อให้พสกนิกรของพระองค์ได้มีเส้นทางคมนาคมที่ทันสมัย เทียบเทียมนานาอารยประเทศ พร้อมกับพระราชทานพระนามของพระองค์ท่านเป็นชื่อสะพานแห่งนี้ด้วย สะพานจุฬาลงกรณ์นอกจากจะเป็นหัวใจของการคมนาคมของจังหวัดราชบุรีแล้ว ยังเป็นเส้นทางหลักของทางรถไฟสายใต้ของไทยอีกด้วย จึงตกเป็นเป้าการโจมตีของฝ่ายสัมพันธมิตร


จากบันทึกและคำบอกเล่าของผู้ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้นเมื่อ 60 ปีที่แล้ว เล่าว่า ชาวราชบุรีต้องอกสั่นขวัญผวาและอพยพหนีภัยกันทุกครั้ง เมื่อได้ยินเสียงสัญญาณเตือนภัย เสียงเครื่องบินที่ดังกระหึ่มอยู่เหนือน่านฟ้าเมืองราชบุรี และเสียงระเบิดที่ดังกึกก้องในเขตเมืองราชบุรี


มีการทิ้งระเบิดเพื่อทำลายสะพานจุฬาลงกรณ์หลายครั้ง แต่พลาดเป้าไปทุกครั้ง จนในที่สุดฝ่ายสัมพันธมิตรต้องเปลี่ยนวิธีการใหม่ ด้วยการผูกลูกระเบิดด้วยโซ่ให้เป็นพวง เพื่อทิ้งให้ลงไปคล้องบริเวณสะพานไว้และตั้งเวลาให้ระเบิดในเวลาต่อมา


ในการทิ้งระเบิดโจมตีแต่ละครั้ง ความรู้สึกของชาวราชบุรีที่ต้องเผชิญ และไม่ลืมไปจากความทรงจำ นี่คือ............เริ่มต้นจากการได้ยินเสียงเครื่องบินแหวกอากาศมาจากทางด้านทิศตะวันตก แล้วก็ผ่านหายไป ต่อมาก็จะได้ยินเสียงสัญญาณเตือนภัยดังขึ้น ทุกคนก็จะพากันอพยพหลบหนีออกจากบ้านเรือนไปหลบอยู่ตามทุ่งนานอกเมือง จากนั้นไม่นานเสียงกระหึ่มของเครื่องบิน บี 24 กลับมาอีกครั้ง พร้อมๆ กับการปล่อยพลุไฟร่มชูชีพ ส่องสว่างเต็มท้องฟ้า ทำให้เมืองราชบุรีสว่างไสวราวกับเป็นเวลากลางวัน ต่อมาฝูงเครื่องบิน บี 24 จำนวน 5 ถึง 6 เครื่อง บินพุ่งเฉียดทิวไม้ กราดกระสุนปืนกลใส่ค่ายทหารญี่ปุ่นและปล่อยลูกระเบิดออกจากใต้ท้องเครื่องบินลงมาเป็นสายไม่ขาดระยะ เป็นเวลาเกือบหนึ่งชั่วโมงกว่าการโจมตีจะสิ้นสุดลง สัญญาณปลอดภัยดังขึ้น ความสงบกลับมาอีกครั้ง


การทิ้งระเบิดครั้งสุดท้าย ในคืนวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2488 เป็นการทิ้งระเบิดโดยการร้อยโซ่เป็นพวง และเป็นระเบิดชนิดกำหนดเวลา นับเป็นความสำเร็จของฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อเสียงระเบิดดังกึกก้องขึ้นในตอนเช้าตรู่ของวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2488 เวลาประมาณ 6 นาฬิกา 30 นาที พร้อมๆ กับอวสานของสะพานจุฬาลงกรณ์
ฉากที่ 6 ตำนานหัวรถจักรไอน้ำเมื่อเส้นทางคมนาคมที่สำคัญถูกตัดขาด กองทัพญี่ปุ่นยังคงใช้ความพยายามในการสร้างสะพานไม้เป็นสะพานเบี่ยง เพื่อให้สามารถลำเลียงพลและสัมภาระข้ามแม่น้ำแม่กลองให้จงได้ แต่เนื่องจากไม้ที่ใช้ในการสร้างสะพานนั้นเป็นไม้เนื้ออ่อน จึงไม่สามารถรองรับน้ำหนักของยวดยานต่างๆ ได้ ในที่สุดสะพานไม้นั้นก็หักลง จนทำให้หัวรถจักรไอน้ำตกลงไปนอนสงบนิ่งอยู่ใต้ท้องน้ำอันเยือกเย็นแห่งนี้ มาจนกระทั่งถึงบัดนี้
ฉากที่ 7 อวสานสงครามโลกครั้งที่ 2ในที่สุดฉากสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็มาถึง เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส มีชัยชนะเหนือฝ่ายอักษะ คือ เยอรมันนี ญี่ปุ่น อิตาลี มหันตภัยสงครามครั้งสุดท้าย คือการที่กองทัพสหรัฐ ตัดสินใจทิ้งระเบิดปรมาณู ถล่มเมืองฮิโรชิมา และเมืองนางาซากิ ของญี่ปุ่น สร้างความสูญเสียอย่างมหาศาล สมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นจึงประกาศยอมแพ้ต่อกองทัพสัมพันธมิตร เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พุทธศักราช 2488 นับเป็นการสิ้นสุดของสงครามโลก ครั้งที่ 2 และสงครามมหาเอเชียบูรพา ที่ยาวนานมาถึง 4 ปี


วิถีชีวิตของชาวราชบุรี กลับสู่ความสงบสุขดังเดิมอีกครั้ง พร้อมๆ กับการฟื้นฟูสภาพความเสียหายของอาคารสถานที่ สิ่งปลูกสร้างต่างๆ


น้ำตาแห่งความระทมทุกข์และสูญเสียต่างๆ ค่อยๆ เหือดแห้งไป คงเหลือไว้แต่เพียงความทรงจำ เพื่อเป็นบทเรียนให้อนุชนคนรุ่นหลังได้รับรู้ถึงความโหดร้ายของสงคราม เพื่อช่วยกันหยุดยั้งไม่ให้เกิดขึ้นอีก


ในวันที่ 20 ตุลาคม พุทธศักราช 2488 สะพานจุฬาลงกรณ์ได้ถูกซ่อมแซมบูรณะขึ้นใหม่ โดยกองทหารจากประเทศอินเดีย ใช้แรงงานของทหารญี่ปุ่น ผู้พ่ายแพ้สงคราม เป็นกรรมการทำการซ่อมสร้างกันทั้งกลางวันและกลางคืน ใช้เวลาเกือบ 2 เดือน จึงเปิดใช้การได้อีกครั้งในวันที่ 5 ธันวาคม ปีพุทธศักราช 2488
ฉากที่ 8 บทสรุปท่านผู้มีเกียรติที่เคารพ การแสดงแสง สี เสียง “ตำนานสะพานจุฬาลงกรณ์” ที่ผ่านสายตาทุกท่านไปแล้วนั้น เป็นการเปิดหน้าประวัติศาสตร์ของเมืองราชบุรี เพื่อเตือนใจให้ชาวราชบุรีและอนุชนรุ่นหลังได้รับรู้ว่า ใต้ท้องน้ำเบื้องหน้าของทุกท่าน ณ ที่นี้ มีซากประวัติศาสตร์ครั้งสงครามโลก ครั้งที่ 2 นอนสงบนิ่งอยู่ สิ่งต่างๆ เหล่านั้น ถูกกำหนดจุดแสดงตำแหน่งที่อยู่ไว้ด้วยทุ่นสัญญาณลูกยาวสีแสดที่ลอยอยู่เหนือผิวน้ำ ซึ่งประกอบด้วย หัวรถจักรไอน้ำ ลูกระเบิดที่ยังคงสภาพสมบูรณ์อยู่ จำนวน 3 ลูก เศษวงล้อ กระจังหน้า และรางรถไฟ
เพื่อให้ทุกคนตระหนักในความเลวร้ายของสงคราม “ ประวัติศาสตร์ราชบุรีจะคงคุณค่า.....เมื่อชาวราชบุรีเห็นคุณค่าของประวัติศาสตร์ ”

บทบรรยายเรื่อง "เฉลิมพระชนม์ 80 พรรษาพระภูมี ฉลองราชบุรีศรีราชบัลลัง"



บทบรรยายเรื่อง "เฉลิมพระชนม์ 80 พรรษาพระภูมี ฉลองราชบุรีศรีราชบัลลัง"
ประกอบการแสดงแสง เสียง และสื่อผสม เมื่อวันที่ 6-7 เม.ย.2550 เวลา 19.00-21.00 น.
ณ สวนสาธารณจักรีอนุสรณ์สถาน เชิงเขาแก่นจันทร์ อ.เมือง จ.ราชบุรี
องค์ที่ ๑ “สืบสายธาร อารยะ ชยราชปุรี”วงแหวนแห่งกาลเวลา เคลื่อนผ่านตามสายกระแสแห่งแม่น้ำราชบุรี หรือแม่น้ำแม่กลองซึ่งเป็นสายน้ำแห่งชีวิต จิตและวิญญาณ ของผู้คนในชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งแอบอิงกับสองฟากฝั่งความอุดม และสั่งสมอารยธรรมมานานนับพันปี โดยมีหลักฐานทางโบราณคดี และโบราณสถานที่สำคัญ นั่นคือ เมืองโบราณคูบัว อันเปรียบเหมือนศูนย์กลางของชุมชนโบราณของแผ่นดินนี้ในยุควัฒนธรรมทวารวดี และสันนิษฐานว่าเป็นท่าจอดเรือสมัยโบราณ รวมทั้งหลักฐานโบราณสถานวัดโขลงสุวรรณคีรี และแหล่งโบราณคดีบนเทือกเขางู อันแสดงถึงอารยะของแผ่นดินถิ่นนี้ ที่ปรากฏภาพพระพุทธรูปแกะสลักในถ้ำต่างๆ
สืบยุคสู่วัฒนธรรมเขมรโบราณในพุทธศตวรรษที่ ๑๖,๑๘ จึงเกิดเมือง “ชยราชบุรี” ที่สันนิษฐานว่าเป็นเมืองราชบุรีที่มีวัดมหาธาตุเป็นศูนย์กลาง อีกทั้งยังมีเมืองโบราณโกสินารายณ์ โบราณสถาน จอมปราสาท และพระโพธิสัตย์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี และอีกนานับความเรืองค่า ที่แสดงถึงความเรืองงามของบรรพชนคนราชบุรี ซึ่งสืบทอดสร้างสรรค์ชุมชนบนผืนแผ่นดินนี้ จากรุ่นสู่รุ่น จากยุคสู่ยุค อันจารึกไว้คู่วันเวลา
วันเวลาแห่งสายน้ำแม่กลอง จึงสะท้อนสู่คืนวันแห่งแผ่นดินที่ปวงบรรพชนคนราชบุรีทั้งสิ้น ได้สืบสานสั่งสมกันมาด้วยอารยะแห่งจิตวิญญาณ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง อันประกอบด้วย จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี และสมุทรสงคราม เป็นต้นกำเนิดของวัฒนธรรมสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นชุมชนสมัยประวัติศาสตร์แรกเริ่มของไทย โดยใช้สองฝั่งของแม่น้ำแม่กลองเป็นแกนหลัก จะมีเรื่องราวของสุวรรณภูมิโดยเฉพาะตั้งแต่เขตอำเภอบ้านโป่งลงมาตลอดลำน้ำแม่กลองไปถึงอัมพวา ซึ่งเป็นดินแดนแห่งราชนิกูลของกรุงรัตนโกสินทร์ โดยใช้ชื่อโครงการว่า “ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง : นิเวศวัฒนธรรมสุวรรณภูมิ” ซึ่งจะมีเส้นทางที่เกี่ยวข้อง กับวัฒนธรรมสุวรรณภูมิ
องก์ที่ ๒“คุณความดี รังสฤษฎ์ สถิตหล้า”เสียงเพลงพิษฐานบอกกล่าววันชื่นคืนสุขแห่งวิถีชีวิตของคนราชบุรี ที่พร้อมปกป้องรักษาผืนแผ่นดิน จนล่วงผ่านสู่คืนวันแห่งแผ่นดินแตก กรุงศรีอยุธยาถูกกองทัพพม่าข้าศึกโจมตีจนเสียกรุงครั้งที่ ๒

ราชบุรีครานั้น มีนายทองด้วง เป็นหลวงยกบัตร และมีภรรยาชื่อ นาก ซึ่งทั้งคู่พยายามรวบรวมผู้คนไม่ให้หลบหนีเข้าป่า และป้องกันการข่มเหงจากกองทัพพม่า อีกทั้งยังให้น้องชายชื่อ บุญมา ไปร่วมกับกองทัพพระเจ้าตากสินในการกู้ชาติประกาศอิสรภาพได้สำเร็จในปี พ.ศ. ๒๓๑๐
คนราชบุรีมีความยินดี ปิติยิ่งนัก เมื่อรู้ว่านายทองด้วงและนายบุญมาได้กลายเป็นทหารเอกของพระเจ้าตากสิน

ในปี พ.ศ.๒๓๑๗ ได้เกิดศึกสำคัญอันประจักษ์คู่เมืองราชบุรี นั่นคือ การสู่รบที่สมรภูมิ “บ้านนางแก้ว” อำเภอโพธาราม นายทองด้วงและนายบุญมาในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ ซึ่งได้ทำการร่วมรบเคียงคู่กันจนสามารถได้ชัยชนะเหนือกองทัพพม่า ยังความปลาบปลื้มปิติปรีดาแก่ชาวราชบุรี

จนกระทั่งได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ก็ทรงได้เป็นจอมทัพบัญชาการร่วมกับสมเด็จพระอนุชาธิราชรบกับกองทัพพม่าของพระเจ้าปดุงใน “สมครามเก้าทัพ” ที่สมรภูมิทุ่งเขางู อำเภอเมืองราชบุรี จนกองทัพพม่าแตกพ่าย และยังความสุขสงบร่มเย็นแก่ผืนแผ่นดินราชบุรีสืบมา
องก์ที่ ๓“คุณค่าคน คุณค่ารัก จำหลักฟ้า”อาทิตย์ ทองทอทาบอาบขอบฟ้า วันเวลาของ “คนราชบุรี” ล่วงผ่านสู่ยุคต้นรัตนโกสินทร์อันเป็นช่วงแห่งกาลประจักษ์ถึงคุณค่าของผู้คนที่ไหลรินเข้ามาร่วมชีวิตกันเป็นหนึ่งเดียว ณ ผืนแผ่นดินแห่งนี้ ซึ่งประกอบด้วยชาวไทยพื้นถิ่น, ชาวไทยกะเหรี่ยง และชาวไทยทรงดำ

สายแสงแห่งความสุข ทอทอดกลุ่ม ๘ ชาติพันธ์ ส่องทอให้เห็นประวัติความเป็นมาของแต่ละชาติพันธุ์, วัฒนธรรมประเพณี, การแต่งกาย, ภาษา, การละเล่นพื้นบ้าน และการร่วมอยู่อาศัยกันในผืนแผ่นดินแห่งนี้อย่างมีความสุขของทุกชาติพันธุ์
ความสุขในทุกรอยยิ้มแต่งแต้มสีสันของทุกกลุ่มชาติพันธุ์ ประดุจสายรุ้งที่ทอประกายเหนือโค้งคุ้งฟ้าราชบุรี และไม่มีวันเลือนลับไปจากแผ่นดินนี้
“ผืนแผ่นดินแห่งความรัก และความเป็นหนึ่งวิถีแห่งห้วงหัวใจคนราชบุรี”
องก์ที่ ๔“คุณค่าเมือง เรืองสง่า พระบารมี”จันทร์ทอแสงสืบสายคุณค่าสู่คน “คุณค่าเมือง” เสมือนความเรืองรองของพระอาทิตย์ที่สืบสายสู่พระจันทร์ “คุณค่าเมือง” จึงเรืองอนันต์นับแต่คืนวันแห่งการวางศิลาฤกษ์ฝังหลักเมืองในช่วงรัชกาลที่ ๒ การสร้างเขาวังในช่วงรัชกาลที่ ๔ และที่สำคัญในช่วงรัชกาลที่ ๔ คือปี พ.ศ. ๒๔๐๙ ได้ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ขุดคลองดำเนินสะดวก ซึ่งได้กลายเป็นชุมชนใหญ่ และเป็นหนึ่งในคุณค่าสำคัญประจำเมือง
ในช่วงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ราชบุรีได้รับการยกขึ้นเป็น “มณฑลราชบุรี” และพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเมืองราชบุรีถึง ๑๐ ครั้ง และหนึ่งในนั้นคือ การเสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงเปิดสะพานรถไฟ “จุฬาลงกรณ์” ข้ามแม่น้ำแม่กลองในปี พ.ศ. ๒๔๔๔ และเคยเสด็จพระทับที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัด อีกทั้งยังทรงจัดตั้งกรมทหารต่างๆ เป็นแบบอย่างชาวยุโรปและหนึ่งในนั้น อันก่อเกิดและสถิตอยู่คู่เมืองราชบุรี คือ กรมการทหารช่าง และจังหวัดทหารบกราชบุรี “ค่ายภาณุรังษี” ตามพระนาม จอมพลสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธ์วงศ์วรเดช
สืบรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงสืบทอดการสร้างสรรค์พัฒนา และเสด็จพระราชดำเนินมายังเมืองราชบุรีหลายครั้ง เพื่อกิจการซ้อมรบเสือป่า และได้ทรงเปิดโรงเรียนเบญจมราชูทิศ เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๔๕๖ พร้อมทั้งทรงรับไว้เป็นโรงเรียนหลวง ในยุคนี้ได้มีสโสรเสือป่า, อาคารศาลากลางจังหวัด, อาคารศาลแขวงอันเป็นสถาปัตยกรรมคู่เมือง และที่สำคัญอันสถิตอยู่คือเมืองคือ การพระราชทานตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดซึ่งเดิมใช้สัญลักษณ์ “เขางู” ก็ได้เปลี่ยนมาเป็นตราสัญลักษณ์รูปเครื่องราชกกุธภัณฑ์ คือ พระแสงขรรค์ชัยศรี และฉลองพระบาทคู่ประดิษฐานบนพานทองอันแสดงถึงความหมายแห่งชื่อเมืองราชบุรีว่า “เมืองแห่งพระราชา”
องก์ที่ ๕“ยุคสงคราม งามน้ำใจ ไม่รู้สิ้น”เสียงหวูดรถไฟ เป็นหนึ่งในเสียงแห่งลมหายใจของชาวจังหวัดราชบุรี เพราะเป็นเส้นทางรถไฟสู่สายใต้

สงครามโลกครั้งที่ ๒ เกิดขึ้น และนำไปสู่สิถีชีวิตซึ่งบอบช้ำจากผลของสงคราม แต่ก็นำไปสู่คุณค่า “ความมีน้ำใจ” ของคนราชบุรี เมื่อฝ่ายไทยยอมให้ญี่ปุ่นเข้ามาตั้งฐานทัพ และวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๘๕ หน้าประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่าเป็นวันที่หน่วยทหารซากาโมโตแห่งกองพลทหารรถไฟที่ ๙ ของกองทัพญี่ปุ่น ได้ลงมือปักหลักหินบอกเลขกิโลเมตรที่ ๐ ของทางรถไฟสายไทย – พม่า หรือที่รู้จักกันดีในนาม “ทางรถไฟสายมรณะ” ลง ณ สถานีหนองปลาดุก ในเขตอำเภอบ้านโป่ง แต่ก่อนหน้านั้นในราวสองเดือนชาวหนองปลาดุกต่างมีโอกาสต้อนรับอาคันตุกะร่างเตี้ยที่เข้ามาตัดฟันต้นไม้ต้นไร่ในสวนของตน เพื่อเตรียมพื้นที่สร้างค่ายทหาร ซึ่งนอกจากจะมีค่ายพักและค่ายกักกันแล้วยังมีโรงเรือนขนาดใหญ่เพื่อใช้เป็นโรงซ่อมบำรุงหัวรถจักรที่ขนมาเตรียมไว้ใช้ เป็นพาหนะลำเลียงเหล่าทหารและยุทธภัณฑ์ไปยังพม่า
เหตุการณ์ครั้งนั้นได้ประจักษ์ถึงความรักแผ่นดินของชาวราชบุรี ในการร่วมกับขบวนการเสรีไทยเข้าต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น รวมทั้งการมีน้ำใจต่อเชลยศึกที่มาก่อสร้างทางรถไฟสายมรณะ ทั้งที่สถานีรถไฟหนองปลาดุก และวัดนักบุญยอเซฟ บ้านโป่ง ซึ่งทำให้เชลยศึกชาวต่างชาติซาบซึ้งในน้ำใจชาวราชบุรีที่ดูแล รักษาไข้ ให้อาหารและนำเสื้อผ้าไปแจก แม้จนกระทั่งถึงวันที่สิ้นสุดสงคราม ทหารญี่ปุ่นตกเป็นเชลยฝ่ายสัมพันธมิตร ชาวราชบุรีก็ไม่ได้คิดแก้แค้นกลับสงสารและเห็นใจเชลยศึกญี่ปุ่นที่แออัดยัดเยียดอยู่ ณ สถานีรถไฟหนองปลาดุก จึงได้แสดงน้ำใจดูแลจนทหารญี่ปุ่นซาบซึ้งใจ

ความรักความผูกพันในสายใยแห่งน้ำใจ จึงทำให้คนราชบุรีได้รับการยกย่องว่ามีจิตใจงดงามและมีความรักที่บริสุทธิ์ ที่พร้อมจะมอบให้คนทั้งโลกที่ได้มาเยือน “ถิ่นคนงาม นามราชบุรี”
องก์ที่ ๖ “แสงแผ่นดิน แสกเวลา ฟ้าเปลี่ยนสี”สายลมแห่งความรัก พัดพาสู่คืนวันภายใต้ร่มฟ้าพระมหาบารมีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช และได้เกิดเหตุการณ์สำคัญอันนำมาซึ่งความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่พร้อมจะดับทุกข์ให้กับชาวราชบุรี
วันที่ ๙ กันยายน ๒๔๙๗ ได้เกิดอัคคีภัยครั้งใหญ่ขึ้นที่ตลาดบ้านโป่ง อำเภอบ้านโป่ง ไฟได้ลุกลามเผาไหม้อาคารบ้านเรือนของราษฎรอย่างรวดเร็วเป็นเวลาหลายชั่วโมง อาคารบ้านเรือนถูกไฟไหม้เสียหายเกือบทั้งตลาด ราษฎรจำนวนหลายร้อยหลังคาเรือนไม่มีที่อยู่อาศัย เกิดความเดือนร้อนอย่างมหันต์แก่ผู้ประสบภัยครั้งนี้ ความได้ทรงทราบฝ่าละอองธุรีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรผู้ประสบภัยเป็นการส่วนพระองค์ โดยทรงขับรถยนต์พระที่นั่งด้วยพระองค์เองเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ.๒๕๙๗ และได้ทอดพระเนตรสถานที่เกิดเหตุ ณ ว่าที่การอำเภอบ้านโป่ง พร้อมได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสิ่งของเครื่องนุ่งห่มแก่ผู้ประสบอัคคีภัยยังความปลาบปลื้มปิติในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น
สายแห่งพระมหากรุณาธิคุณยังส่องทอความห่วงใย ทั้งในเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ราชบุรีและวิกฤตการณ์น้ำเสียในลำน้ำแม่กลอง ในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาวิกฤตให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมจังหวัดราชบุรี อันนำไปสู่การพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ และก้าวไปสู่การเป็นสหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด ในพระบรมราชูถัมภ์ อันนำมาซึ่งความสถาพร และยั่งยืนของความเป็นดินแดนแห่งโคนมในปัจจุบัน รวมถึงโครงการอนุรักษ์ป่า ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อการอนุรักษ์ไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติให้ยั่งยืน นอกจากนั้นได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อเมืองราชบุรีอเนกอนันต์ และเสด็จราชดำเนินเมืองราชบุรีหลายครั้ง ทั้งที่อำเภอจอมบึง เยี่ยมราษฎรอันเนื่องจากอุทกภัย ถวายพระกฐินต้น ณ วัดโชติทายการาม อำเภอดำเนินสะดวก พระราชทานพระพุทธรูปสี่มุมเมืองและอื่นๆ อันจารึกไว้คู่แผ่นดินราชบุรี ทำให้คืนวันของราชบุรีก้าวเข้าสู่ความเรืองรองผ่องอำไพ อันสนิทแนบแน่นในดวงใจแห่งการถวายความจงรักภักดีของชาวราชบุรีนิรันดร์กาล
องก์ที่ ๗“เอกลักษณ์ ประจักษ์ค่า โรจน์รวี”ดาวทองแสงระยิบระยับประดับฟ้า ส่องทอคุณค่าแห่งมรดกเมืองเรืองอำไพ
ทั้งคุณค่าของมรดกแห่งวิถีชีวิต ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ทั้งมรดกทางอารยธรรมล้ำค่า ทั้งทางทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งสืบทอดตกสู่ผู้คนชาวราชบุรีในปัจจุบัน สมดั่งคำขวัญจังหวัดที่ว่า

“คนสวยโพธาราม คนงามบ้านโป่ง เมืองโอ่งมังกร วัดขนอนหนังใหญ่ ตื่นใจถ้ำงาม ตลาดน้ำดำเนิน เพลินค้างคาวร้อยล้าน ย่านยี่สกปลาดี ”

นอกจากนี้มรดกทางวัฒนธรรม ปูชนียวัตถุสำคัญคู่บ้านคู่เมือง ทั้งพระพุทธรูปสี่มุมเมืองหลวงพ่อแก่นจันทร์, ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง, พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และปูชนียสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมือง แหล่งท่องเที่ยว แหล่งเกษตรกรรม แหล่งภูมิปัญญาพื้นบ้านและอื่นๆ อีกมากมาย

ด้วยความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม ในอนาคตจังหวัดราชบุรีได้วางแนวทางโครงการ“เวนิสเอเชีย” โครงการเปิดจุดผ่อนปรน เส้นทางอันดามันโทลเวย์ เพื่อการฟื้นฟูชีวิตชนบท วัฒนธรรมไทยริมน้ำ และการสัญจรทางน้ำ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวิถีชุมชน
คุณค่ามรดกอันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดราชบุรี จึงเรืองงามคู่วัน คู่เวลาและก้าวสู่ความเรืองรองรุ่งฟ้าตามแผนพัฒนา และวิสัยทัศน์ของจังหวัดราชบุรี ภายใต้การบริหารงานอย่างมุ่งมั่นของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี พร้อมทั้งคณะทำงานของจังหวัด ของเอกชน ของประชาชนทุกคน เพื่อให้บ้านเมืองนี้ดำรงรากเหง้าแห่งวิถีชนที่งดงามและพร้อมที่จะก้าวสู่กระแสโลกาภิวัฒน์อย่างมีเอกลักษณ์
องก์ที่ ๘“เฉลิมพระชนม์ ๘๐ พรรษาพระภูมี ฉลองราชบุรีศรีราชบัลลังก์”
วงแหวนแห่งกาลเวลา เคลื่อนผ่านสู่ปัจจุบัน ในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ของพระราชาผู้ทรงธรรม จังหวัดราชบุรีในฐานะเมืองแห่งพระราชาซึ่งผ่านวันเวลาคู่ราชบัลลังก์มาแต่อดีตสืบปัจจุบัน จึงล้อมรักผนึกใจชาวราชบุรีทั้งมวล ร่วมเฉลิมพระเกียรติสืบทอดคุณค่าแห่งใต้ฟ้าบารมีและร่วมถวายความจงรักภักดี เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ พร้อมทั้งตั้งจิตปณิธานในการสืบสานธำรงรักษา คุณค่าคน คุณค่าเมือง และคุณค่าของจิตใจ ให้เรืองรองรุ่งฟ้าเปล่งปรากฏเป็นความภาคภูมิใจอันยิ่งใหญ่ของชาวจังหวัดราชบุรีทั้งมวล ในการที่ได้เกิดมาในเมืองแห่งพระราชา นามว่า “จังหวัดราชบุรี”

หัวใจ 9 ดวงของโลก

มีลูกศิษย์ดำน้ำ ส่งต่ออีเมล์มาให้ เกี่ยวกับภาพสวยๆ บนโลก ที่เป็นรูปหัวใจ ไม่รู้ว่าใครเป็นคนสรรหามา ดูแล้วสวยดี จึงขออนุญาตนำมาสะสม ไว้ใน Blog นี้ หากใครต้องการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม ก็ลองเปิดเว็บไซต์ที่เขียนติดรูปภาพไว้ก็ได้

1. ป่ารูปหัวใจ ที่ประเทศสเปน


2. เกาะรูปหัวใจ กลางทะเลสาบกูเตียเรซ ที่ราบสูงปาตาโกเนีย อาร์เจนตินา

3. พื้นที่ชุ่มน้ำ ณ สวนสาธารณะแห่งชาติใจกลางกรุงไทเป ประเทศไชนีส ไทเป (ไต้หวัน)


4. เกาะตาวารัว ประเทศฟิจิ ที่เต็มไปด้วยพืดปะการังสีขาว ชายหาดงดงามเกินคำบรรยาย และยังเป็นที่ตั้งของรีสอร์ตสุดแสนจะโรแมนติคอีกด้วย



5. เกาะกาเลสแจ็ค ประเทศโครเอเชีย ซึ่งมีพื้นที่แค่ 0.5 ตารางกิโลเมตร และต้องพายเรือเข้าไปเท่านั้น



6. เกาะส่วนตัว ในหุบเขาโคลัมเบีย มลรัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา



7. สวนสวยบนเกาะนิวคาลิโดเนีย ดินแดนอาณานิคมในมหาสมุทรแปซิฟิกของฝรั่งเศส



8. เซมบร้า อินเดีย เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิต เดินเท้าเพียงแค่ 3 กิโลเมตร ก็จะถึงยอดเขา



9. เกาะปะการังเกาะหนึ่งในแนวปะการังยักษ์เกรตแบริเออร์รีฟ ประเทศออสเตรเลีย