หากเป็นไปตามแผน ในปี พ.ศ.2563 จะมีกฏหมายที่ผู้ประกอบกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำในประเทศไทย จะต้องจัดให้มีผู้ควบคุมการดำน้ำ และผู้ช่วยผู้ควบคุมการดำน้ำ ที่มีคุณสมบัติและผ่านการอบรมตามที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกำหนด และต้องมีบัตรประจำตัว (บัตรไกด์) แสดงไว้เป็นหลักฐานให้ตรวจสอบได้ทุกคน
สถานภาพแนวปะการังในประเทศไทย
จากรายงานการสำรวจและประเมินสถานภาพและศักยภาพทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง : ปะการังและหญ้าทะเล ปี 2558 ของสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน พบว่า สถานภาพแนวปะการังในประเทศไทยทั้งทางฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย ซึ่งมีพื้นที่รวมประมาณ 148,955 ไร่ โดยภาพรวมยังถือว่าอยู่ในระดับเสียหายถึงเสียหายมากประมาณ 80% อยู่ในสภาพสมบูรณ์ปานกลาง 15% และ อยู่ในระดับสมบูรณ์ดีจนถึงดีมาก 5% สาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมอย่างทันทีเป็นบริเวณกว้างทั่วประเทศคือการเกิดปะการังฟอกขาวเนื่องจากอุณหภูมิน้ำทะเลสูงผิดปกติในปี 2553
ปัญหาที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อแนวปะการังในท้องทะเลไทย
ปัญหาที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อแนวปะการังในท้องทะเลไทย อาจแยกได้เป็น 2 ปัญหาคือ 1) ปัญหาที่เกิดจากมนุษย์ และ 2) ปัญหาที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ดังนี้
ปัญหาที่เกิดจากมนุษย์ เช่น การพัฒนาชายฝั่ง การปล่อยน้ำเสียลงทะเล การขุดแร่ในทะเล การทิ้งขยะลงทะเล การระเบิดปลาในแนวปะการัง การใช้ยาเบื่อปลาในแนวปะการัง การลักลอบเก็บปะการัง การลักลอบขุดลอกรื้อแนวปะการัง การท่องเที่ยวในแนวปะการัง การเดินเหยียบย่ำ พลิกปะการัง การรั่วไหลของน้ำมันลงทะเล เป็นต้น
ปัญหาที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เช่น การเกิดปลาดาวหนามระบาด การถูกพายุทำลาย การเกิดคลื่นสึนามิ การเกิดปะการังฟอกขาว อิทธิพลทางสมุทรศาสตร์ การเกิดโรคในปะการัง เป็นต้น
ผลกระทบจากการท่องเที่ยวในแนวปะการัง ส่วนใหญ่จะเป็นกิจกรรมการดำน้ำในรูปแบบต่างๆ เช่น ประเภทที่ดำผิวน้ำ (Skin Diving) มักจะยืนหรือเดินเหยียบย่ำบนแนวปะการังจนแตกหักเสียหาย นักท่องเที่ยวประเภทดำน้ำลึก (Scuba Diving) ที่อาจไม่ระมัดระวัง จนตีนกบกระแทกปะการังแตกหักเสียหาย นอกจากนั้น ในปัจจุบันมีการพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวในแนวปะการังอย่างหลากหลายมากยิ่งขึ้น เช่น การเดินใต้ทะเล (Sea walk) และการทดลองดำน้ำเป็นต้น (Try dive) นอกจากนั้น ยังมีการทิ้งสมอเรือในแนวปะการัง โดยไม่ได้เกี่ยวทุ่นลอยตามที่จัดเตรียมไว้ให้ เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้ล้วนมีแนวโน้มที่จะสร้างความเสียหายในแนวปะการังมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ
ประกาศ เรื่อง มาตรการคุ้มครองทรัพยากรปะการัง
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลรักษาแนวปะการังในทะเลไทยโดยตรง พยายามที่จะหาแนวทางหรือวิธีการที่จะควบคุมผลกระทบจากการท่องเที่ยวดำน้ำในแนวประการัง เพราะเล็งเห็นว่า แนวประการังอาจถูกทำลายหรือได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงเข้าขั้นวิกฤตได้ จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 22 และ มาตรา 23 ใน พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 ยกร่าง "ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง มาตรการคุ้มครองทรัพยากรปะการัง จากกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ พ.ศ.........." ขึ้น โดยมีสาระสำคัญ สรุปได้ดังนี้
"ผู้ประกอบกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำในประเทศไทย (รวมนอมินีชาวต่างชาติด้วย) ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมดำน้ำตื้น ดำน้ำลึก การทดลองการเรียนดำน้ำ และการเรียนดำน้ำ ต้องจัดให้มีผู้ควบคุมการดำน้ำ และผู้ช่วยผู้ควบคุมการดำน้ำ (ไม่จำกัดสัญชาติ ชาวต่างชาติก็เป็นได้) ที่มีคุณสมบัติและผ่านหลักสูตรการฝึกอบรมตามที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกำหนด และมีบัตรประจำตัว (บัตรไกด์) แสดงไว้เป็นหลักฐานให้สามารถตรวจสอบได้ หากผู้ประกอบกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำไม่ดำเนินการจะไม่สามารถจัดทำกิจกรรมดำน้ำนั้นๆ ได้"
ผู้ควบคุมการดำน้ำ และผู้ช่วยผู้ควบคุมการดำน้ำ ในแต่ละกิจกรรมดำน้ำจะมีคุณสมบัติและความสามารถที่แตกต่างกันออกไป หน้าที่สำคัญของผู้ควบคุมและผู้ช่วยผู้ควบคุมการดำน้ำ ก็คือ ดูแลนักท่องเที่ยวดำน้ำให้มีความปลอดภัย ให้ความรู้เรื่องปะการังและกฏหมายข้อห้ามต่างๆ ของประเทศไทย ที่สำคัญที่สุด คือ ควบคุมนักท่องเที่ยวดำน้ำของตนเอง ไม่ให้จับต้องสัมผัส เหยียบยืน หรือกระทำพฤติกรรมใดๆ ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบหรือเกิดการทำลายปะการัง
หมายเหตุ ประกาศฉบับนี้ ใช้บังคับเฉพาะการดำน้ำท่องเที่ยวในแนวปะการัง เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการดำน้ำในพื้นที่อื่นๆ หรือการดำน้ำเพื่อการพักผ่อนเป็นการส่วนตัว
หลักสูตรผู้ควบคุมการท่องเที่ยวดำน้ำในบริเวณแนวปะการัง
เมื่อวันที่ 15-16 ต.ค.2562 ผมได้มีโอกาสเข้ารับการอบรม "หลักสูตรผู้ควบคุมการท่องเที่ยวดำน้ำในบริเวณแนวปะการัง" ณ อาคารนวมินทราธิราช สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในฐานะครูสอนดำน้ำลึกของสถาบัน PADI ซึ่งถือว่าต่อไปจะต้องทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมการดำน้ำ ตามประกาศกระทรวงฯ ที่จะประกาศใช้ในปี พ.ศ.2563 จัดการฝึกอบรมโดย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และหลังจากประกาศฯ มีผลบังคับใช้แล้ว ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมฯ จะต้องไปสอบข้อเขียนเพื่อขอรับบัตรประจำตัวผู้ควบคุมการดำน้ำ ในลำดับต่อไป หากสอบข้อเขียนไม่ผ่าน ก็ไม่ได้บัตร
การอบรมครั้งนี้ ใช้งบประมาณของสถาบันดำน้ำสากล Professional Association of Diving Instructors (PADI) ไม่ได้ใช้งบประมาณของทางราชการแต่อย่างใด เนื่องจากทางสถาบัน PADI มุ่งเพื่อให้ครูสอนดำน้ำของสถาบันที่สอนอยู่ในประเทศไทย ทั้งที่เป็นชาวไทยและชาวต่างชาติ ได้มีการเตรียมตัวให้พร้อมที่จะปฏิบัติตามกฏหมายของประเทศไทย ในโอกาสต่อไป
ใครที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ หากต้องการผ่านการฝึกอบรมและมีบัตรประจำตัว (อาจเรียกได้ว่าบัตรไกด์) เป็นผู้ควบคุมการดำน้ำ หรือผู้ช่วยผู้ควบคุมการดำน้ำ คงต้องรองบประมาณราชการปี 2563 ซึ่งทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีแผนจะฝึกอบรมอีกหลายรุ่น ก่อนที่ประกาศฯ เรื่อง มาตรการคุ้มครองทรัพยากรปะการัง จะมีผลบังคับใช้ในปี 2563 คงต้องติดตามข้อมูลข่าวสารกันต่อไป
"ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง มาตรการคุ้มครองทรัพยากรปะการัง จากกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ พ.ศ.........." ฉบับนี้ ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของความพยายามปกป้อง "ปะการัง" ของไทย
*********************************
จุฑาคเชน : 17 ต.ค.2562
"ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง มาตรการคุ้มครองทรัพยากรปะการัง จากกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ พ.ศ.........." ฉบับนี้ ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของความพยายามปกป้อง "ปะการัง" ของไทย
*********************************
จุฑาคเชน : 17 ต.ค.2562