ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เป็นใบอนุญาตให้สามารถประกอบวิชาชีพนั้น ๆ ตามสาขาที่เรียนมา โดยผู้ที่จะได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจะต้องมีคุณสมบัติตามที่องค์กรออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ กำหนดไว้ ผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจะไม่สามารถประกอบวิชาชีพนั้น ๆ ได้ ถ้าฝ่าฝืนจะมีโทษตามที่องค์กรวิชาชีพแต่ล่ะองค์กรกำหนดไว้
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีวิชาชีพที่ต้องมีใบอนุญาตเพื่อประกอบวิชาชีพ ได้แก่- ใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ ออกโดย แพทยสภา
- ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม ออกโดย แพทยสภา
- ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทันตกรรม ออกโดย ทันตแพทยสภา
- ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ ออกโดย สัตวแพทยสภา
- ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ออกโดย สภาเภสัชกรรม
- ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ออกโดย สภาการพยาบาล
- ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ ออกโดย สภาเทคนิคการแพทย์
- ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัด ออกโดย สภากายภาพบำบัด
- ใบอนุญาตให้เป็นทนายความ ออกโดย สภาทนายความ
- ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ออกโดย สภาวิศวกร
- ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม ออกโดย สภาสถาปนิก
- ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ออกโดย คุรุสภา
- ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม ออกโดย สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ค่าตอบแทนใบประกอบวิชาชีพ
ค่าตอบแทนใบประกอบวิชาชีพแต่ละสาขา มีอัตราที่แตกต่างกัน และในแต่ละสาขายังแบ่งค่าตอบแทนอีกเป็นหลายระดับ เช่น ในทางราชการ กำหนดให้ แพทย์ ได้รับตั้งแต่ 5,000 ไปจนถึง 15,000 บาทต่อเดือน เภสัชกร ตั้งแต่ 1,500 ไปจนถึง 3,000 บาทต่อเดือน เป็นต้น สำหรับภาคเอกชนบางแห่ง อาจจ่ายค่าตอบแทนใบประกอบวิชาชีพแต่ละสาขาสูงกว่าทางราชการหลายเท่านัก เช่น อาชีพวิศวกร เป็นต้น
ค่าตอบแทนใบประกอบวิชาชีพแต่ละสาขา มีอัตราที่แตกต่างกัน และในแต่ละสาขายังแบ่งค่าตอบแทนอีกเป็นหลายระดับ เช่น ในทางราชการ กำหนดให้ แพทย์ ได้รับตั้งแต่ 5,000 ไปจนถึง 15,000 บาทต่อเดือน เภสัชกร ตั้งแต่ 1,500 ไปจนถึง 3,000 บาทต่อเดือน เป็นต้น สำหรับภาคเอกชนบางแห่ง อาจจ่ายค่าตอบแทนใบประกอบวิชาชีพแต่ละสาขาสูงกว่าทางราชการหลายเท่านัก เช่น อาชีพวิศวกร เป็นต้น
การต่ออายุใบประกอบวิชาชีพของแต่ละสาขาอาชีพ จะมีระยะเวลาที่กำหนดไม่เท่ากัน รวมถึงวิธีการวัด ประเมินผล และกระบวนการที่แตกต่างกันไป เพื่อที่จะใช้วัดความสามารถของผู้ที่จะขอต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพนั้นๆ ตามเทคนิคของตนเอง
ค่าตอบแทนใบประกอบวิชาชีพครู
ค่าตอบแทนใบประกอบวิชาชีพครู ไม่มีกฏหมายใดๆ รองรับว่าจะได้เท่าไหร่ต่อเดือน แต่ที่พอมองเห็นอยู่ในปัจจุบัน ในทางราชการเขาใช้คำว่า "ค่าวิทยฐานะ" ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่ง ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พศ.2547 ซึ่งระบุตอนหนึ่งไว้ว่า
วิทยฐานะข้าราชการครูที่มีใบประกอบวิชาชีพครู
- ครูเชี่ยวชาญพิเศษ คศ.5 เงินวิทยฐานะ 15,600 บาท/เดือน
- ครูเชียวชาญ คศ.4 เงินวิทยฐานะ 9,900 บาท/เดือน
- ครูชำนาญการพิเศษ คศ.3 เงินวิทยฐานะ 5,600 บาท/เดือน
- ครูเชียวชาญพิเศษ คศ.2 เงินวิทยฐานะ 3,500 บาท/เดือน
วิทยฐานะศึกษานิเทศน์มีใบประกอบวิชาชีพ
- ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญพิเศษ เงินวิทยฐานะ 15,600 บาท/เดือน
- ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ เงินวิทยฐานะ 9,900 บาท/เดือน
- ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ เงินวิทยฐานะ 5,600 บาท/เดือน
- ศึกษานิเทศก์ชำนาญการ เงินวิทยฐานะ 3,500 บาท/เดือน
วิทยฐานะผู้บริหารสถานศึกษามีใบประกอบวิชาชีพ
- ผู้อำนวยการเชี่ยวชาญพิเศษ เงินวิทยฐานะ 15,600 บาท/เดือน
- ผู้อำนวยการเชี่ยวชาญ เงินวิทยฐานะ 9,900 บาท/เดือน
- ผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ เงินวิทยฐานะ 5,600 บาท/เดือน
- ผู้อำนวยการชำนาญการ เงินวิทยฐานะ 3,500 บาท/เดือน
- รองผู้อำนวยการเชี่ยวชาญ เงินวิทยฐานะ 9,900 บาท/เดือน
- รองผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ เงินวิทยฐานะ 5,600 บาท/เดือน
- รองผู้อำนวยการชำนาญการ เงินวิทยฐานะ 3,500 บาท/เดือน
ค่าวิทยฐานะนี้ไม่เกี่ยวกับเงินเดือนของครูแยกออกจากกัน ซึ่งก็เปรียบเสมือนค่าตอบแทนใบประกอบวิชาชีพครูนั้นเอง แต่รัฐจำกัดให้เฉพาะ "ผู้ที่เป็นข้าราชการครูหรือผู้ที่เป็นบุคลากรทางการศึกษาของรัฐ" เท่านั้น
ด้วยเงินค่าวิทยะฐานะต่อเดือนจำนวนมากนี้เอง ปัจจุบันจึงทำให้ครูของรัฐต้องวุ่นวายอยู่กับการเลื่อนวิทยฐานะมากกว่าการสอนเด็ก รัฐต้องนั่งคิดหาหลักเกณฑ์ต่างๆ กันใหม่อยู่เรื่อยจนครูรัฐบาลสับสนไปหมด
ทำไม? ครูคนอื่นจึงไม่มีค่าตอบแทนใบประกอบวิชาชีพ
เงินภาษีทั้งหลายที่รัฐเก็บได้ จัดสรรส่วนหนึ่งนำไปจ่ายค่าวิทยฐานะให้ครูและบุลคลากรทางการศึกษาเฉพาะที่เป็นข้าราชการของรัฐจำนวนมาก โดยไม่ได้คำนึงถึงครูเอกชนหรือครูประเภทอื่นๆ ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่และมีใบประกอบวิชาชีพครูเหมือนกัน อีกทั้งงบประมาณสำหรับการอบรมและพัฒนาครู ก็จำกัดเฉพาะครูของรัฐอีกต่างหาก ใช้เงินงบประมาณมากมายขนาดนี้แล้ว ครูของรัฐยังถูกกล่าวหาว่า "ไม่มีคุณภาพเสียอีก" จึงมีคำถามว่า มันเกิดอะไรขึ้น?
ผมไม่ได้หมายความว่า รัฐจะต้องรับภาระมาจ่ายค่าตอบแทนใบประกอบวิชาชีพให้กับครูเอกชน หรือครูสังกัดอื่นๆ เพราะมันอาจเป็นภาระมากเกินไป แต่รัฐก็ควรหามาตรการหรือแนวทางการส่งเสริม
ทำอย่างไร? ผู้ที่มีใบประกอบวิชาชีพครูทั่วทั้งประเทศ ควรที่จะได้รับค่าตอบแทนใบประกอบวิชาชีพเหมือนกับสาขาวิชาชีพอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นครูของรัฐ ครูเอกชน หรือครูที่อยู่ในสังกัดอื่นใดก็ตาม อย่างเช่น
- ออกกฏหมายหรือระเบียบว่าด้วย "การกำหนดอัตราการจ่ายค่าตอบแทนใบประกอบวิชาชีพครูในประเทศไทย" ไม่ว่าจะเป็นครูของรัฐ ครูเอกชน หรือครูในสังกัดอื่นๆ
- เปลี่ยน ค่าวิทยฐานะเดิมของข้าราชการครู ให้เป็น ค่าตอบแทน
- เพื่อไม่ให้เป็นภาระด้านงบประมาณของรัฐมากเกินไป รูัฐอาจกำหนดให้เงินอุดหนุนเป็นค่าตอบแทนใบประกอบวิชาชีพแก่ครูในโรงเรียนเอกชนหรือในสังกัดอื่นๆ ในสัดส่วนใดสัดส่วนหนึ่ง เช่น รัฐ ร้อยละ 50 และโรงเรียนเอกชนออกเองร้อยละ 50 เป็นต้น ส่วนค่าตอบแทนครูที่เป็นข้าราชการ รัฐคงต้องจ่ายเอง
- หากทำเช่นนี้ได้ ผมว่าจะมีเด็กเก่งๆ หันมาเรียนเพื่อเป็นครูกันมากขึ้น เพราะหลังจากจบมีใบประกอบวิชาชีพครูแล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็นข้าราชการครูของรัฐก็ได้ สามารถไปสอนอยู่ในโรงเรียนเอกชน หรือโรงเรียนในสังกัดอื่นใดก็ได้ ดังเช่น อาชีพแพทย์ เภสัช วิศวกร เป็นต้น
- ใบประกอบวิชาชีพครูจะมีคุณค่าสำหรับครูทุกคน และครูเหล่านั้นจะต้องพึงรักษาความเป็นมืออาชีพอยู่เสมอด้วยเกณฑ์การวัดและประเมินผลอย่างเข้มข้นในกระบวนการขอต่อใบอนุญาตของคุรุสภา (เหมือนกับองค์กรวิชาชีพอื่นๆ ที่เขาทำ)
- ที่สำคัญที่สุด เราจะได้ครูที่มีคุณภาพทั่วทั้งประเทศ เพราะเขาต้องพัฒนาความเป็นมืออาชีพของเขาอยู่เสมอเพื่อแลกกับค่าตอบแทนใบประกอบวิชาชีพที่ได้รับ
ที่นำเสนอมานี้ เป็นเพียงแค่แนวคิดเบื้องต้น ถ้าคิดว่ามีความเป็นไปได้ คงต้องมีการศึกษากันอย่างละเอียด จากเจ้าของกระทรวง ทบวงกรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อให้มีความรอบคอบ มีการจัดวางกฏเกณฑ์อีกหลายขั้นตอน แต่ก็ดีกว่าไม่คิดอะไรเลย...
หากเราคิดเหมือนเดิมๆ แล้วอยากจะได้สิ่งใหม่
ผมว่ามันเป็นไปไม่ได้หรอกครับ
*******************************
ชาตชยา ศึกษิต : 22 ก.ค.2560
ที่มาข้อมูล
- วิกีพีเดีย. ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ. (https://th.wikipedia.org/wiki/ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ) สืบค้นเมื่อ 22 ก.ค.2560
- พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่ง ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พศ.2547