วันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2559

รวมพลคนดนตรีไทยราชบุรี..บรรเลงเพลงถวายอาลัย

บ้านผมอยู่ติดกับบ้าน "ครูรวม พรหมบุรี"  ครูดนตรีไทยฉายา "ระนาดน้ำผึ้งแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง" (ดูรายละเอียด)  ผมจำได้ว่า ตอนเด็กๆ ผมได้ยินเสียงฝึกซ้อมดนตรีไทยจากบ้านครูรวมฯ ดังไปทั่วบริเวณบ้านท่าเสา ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี ตั้งแต่เช้ามืดจรดหัวค่ำ มีทั้งเด็กที่รุ่นราวคราวเดียวกับผม และที่โตกว่าผม  มากินนอนฝึกซ้อมดนตรีไทยอยู่บ้านครูรวมฯ มากมายหลายรุ่น จนรู้จักและคุ้นเคยกันดี

มาวันนี้   ผมไม่ได้ยินเสียงดนตรีไทยจากบ้านครูรวมฯ เหมือนเดิมอีกแล้ว  นานๆ จะมีเสียงฝึกซ้อมระนาดเอก ดังเล็ดลอดออกมาสักครั้ง  ซึ่งมีไม่บ่อยนัก



ดนตรีไทยในราชบุรี กำลังจะสูญหาย
ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับ ทายาทผู้สืบทอดของครูรวม พรหมบุรี  ท่านเล่าให้ฟังว่า เดี๋ยวนี้วิถีสังคมและวัฒนธรรมเปลี่ยนไป อาชีพคนทำปี่พาทย์มอญไปไม่รอด ที่มีอยู่ก็เป็นคนรุ่นเก่า หากคนรุ่นนี้ตายไปก็คงจบกัน คนรุ่นใหม่ไม่มีใครสนใจอย่างจริงจัง  วงปี่พาทย์มอญในราชบุรี กำลังจะสูญหายไปตามกาลเวลา หลายวงต้องล้มหายตายจากไป เหลือแต่เพียงเครื่องดนตรีเก็บรักษาไว้  แต่ไม่มีคนเล่น วันนี้ใน จ.ราชบุรี เหลือวงปี่พาทย์มอญอย่างมากไม่เกิน 10 วง จากเดิมซึ่งมีมากกว่า 30 วง



แล้วจะทำอย่างไร?
ผมถามต่อว่า แล้วจะทำอย่างไรให้วงดนตรีไทย ใน จ.ราชบุรี ยังคงอยู่ได้ต่อไป  ท่านบอกว่า ปัจจัยสำคัญที่วงปี่พาทย์มอญใน จ.ราชบุรี จะอยู่ได้ก็ คือ  
  1. ภาคราชการต้องให้การสนับสนุน อย่างเช่น หากมีการจัดพิธีหรือกิจกรรมใดๆ ของภาครัฐ ซึ่งตามธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติแต่เดิม ต้องมีดนตรีไทยไปเล่นหรือไปบรรเลงประกอบ ควรให้การสนับสนุนในทันที  แต่ทุกวันนี้ ที่ จ.ราชบุรี แทบไม่มีหน่วยงานไหนให้ความสนใจ           
  2. ภาคศาสนาต้องช่วยรณรงค์  พิธีกรรมทางศาสนาพุทธ หลายพิธีซึ่งแต่เดิมเคยมีดนตรีไทยเล่นประกอบ ทั้งเทศน์มหาชาติ ทั้งเวียนเทียน ทั้งงานบุญ งานศพ กฐิน ผ้าป่าฯลฯ  แต่ปัจจุบัน วัดวาอารามต่างๆ กลับเห็นว่าเป็นเรื่องไม่จำเป็น สิ้นเปลืองโดยปล่าวประโยชน์  ตัวอย่างเช่น พระสงฆ์บางรูปบางวัดในราชบุรี  แนะนำเจ้าภาพงานศพว่า ไม่ต้องมีปี่พาทย์มอญ  สิ้นเปลืองปล่าวๆ นำเงินมาทำบุญอย่างอื่นดีกว่า 
  3. ภาคการศึกษาต้องให้ความสำคัญ  สถาบันการศึกษาต้องให้ความสำคัญต่อการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับดนตรีไทยอย่างจริงใจ (เน้นอย่างจริงใจ) ชุมนุมหรือชมรมดนตรีไทยในโรงเรียน ในวิทยาลัย ในมหาวิทยาลัยหลายแห่งของราชบุรี ล้วนกำลังล้มหายตายจากเช่นกัน เพราะขาดการสนับสนุนจากผู้บริหาร การจัดกิจกรรมเกี่ยวกับดนตรีไทยที่ทำขึ้นเป็นไปแบบแกนๆ ล้วนไม่ได้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็กแต่อย่างใดเลย 
  4. ภาคประชาชนต้องช่วยกัน ดนตรีไทย คือ มรดกทางศิลปะและวัฒนธรรมซึ่งบรรพบุรุษได้มอบเอาไว้ให้พวกเรา ดังนั้นคนไทยทุกคนจึงควรตระหนัก หากมีงานใดๆ ที่ต้องใช้ดนตรีไทย และพอที่จะมีเงินอยู่บ้าง อย่าได้มัวลังเลใจ อย่างน้อยก็ช่วยสืบสานต่อลมหายใจให้ดนตรีไทยไม่สูญหายกลายเป็นแค่ตำนาน
หากปัจจัยทั้ง 4 ข้อนี้ ช่วยกัน อาชีพดนตรีไทยของ จ.ราชบุรี คงยังมีลมหายใจต่อชีวิตไปได้อีกสักพัก ดังเช่นที่ จ.สมุทรสงคราม จ.สมุทรสาคร และ จ.เพชรบุรี เขาทำมาแล้ว

ในทัศนะส่วนตัวแล้วผมเห็นว่า คนที่มีอาชีพเป็นนักดนตรีไทยนี้  ไม่เคยมีใครรวยเลยครับ พวกเขาแค่พอมีกินมีใช้และพอมีเงินที่จะจ่ายเป็นค่าดูแลรักษาเครื่องดนตรีบ้าง พวกเขาก็พอใจแล้วครับ แต่สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขายังประกอบอาชีพนี้อยู่ในปัจจุบัน ก็คือ "ความรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ช่วยสืบสานไม่ให้ดนตรีไทยนี้ ต้องสูญหายไปต่างหาก"  

รวมพลคนดนตรีไทยราชบุรี..บรรเลงเพลงถวายอาลัย
ทายาทครูรวมฯ เล่าต่อให้ฟังว่าอยากจะจัดงาน "รวมพลคนดนตรีไทยราชบุรี น้อมบรรเลงเพลงถวายอาลัย"  เพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณและถวายอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ (รัชกาลที่ 9) ซึ่งหลายๆ จังหวัดได้ทำแล้ว ตัวอย่างที่ใกล้บ้านเราก็คือ จ.สมุทรสาคร (ดูรายละเอียด)  โดยงานนี้ ตั้งใจจะเชิญคนดนตรีไทยของราชบุรีทุกคน ทุกวง พร้อมทั้งครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา นักดนตรีอิสระ และประชาชนทั่วไป ที่รักและศรัทธาในดนตรีไทย มาร่วมกันบรรเลง โดยขั้นต้นกำหนดเอาไว้ในวันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม 2560 ส่วนสถานที่ยังไม่ทราบว่าจะจัดที่ไหน ในขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับอาจารย์ท่านหนึ่งของมหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง 


พสกนิกกร ชาวดนตรีไทย จังหวัดสมุทรสาคร
รวมพลังบรรเลงดนตรีไทยและขับร้อง"เพลงสรรเสริญพระบารมี"
เมื่อ 30 ต.ค.2559

ท่านกล่าวว่า "ไม่รู้จะทำได้แค่ไหน  แต่ก็จะพยายามทำให้เต็มที่ งานนี้อยากให้คนดนตรีไทยของราชบุรี และผู้ที่ศรัทธาในดนตรีไทย มาร่วมด้วยช่วยกัน สร้างให้เป็นประวัติศาสตร์ตอนหนึ่งของราชบุรี" 

ผมถามต่อ ตอนนี้มีหน่วยงานใดสนับสนุนกิจกรรมนี้บ้าง
ท่านตอบว่า "ตอนนี้ มีแต่ความคิด แต่มันคงต้องใช้เงินเพื่อจัดเตรียมงาน ก็ยังไม่รู้ว่าจะหามาจากไหน ลำพังคนดนตรีไทยอย่างพวกเราแล้ว ไม่ห่วงครับ ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทุกคนยินดีไปร่วมบรรเลง" 


พสกนิกกร ชาวดนตรีไทย จังหวัดสมุทรสาคร
รวมพลังบรรเลงดนตรีไทยและขับร้อง"เพลงสรรเสริญพระบารมี"
เมื่อ 30 ต.ค.2559



ช่วยกันนะครับ ช่วยกันจัดงานนี้ ให้เกิดขึ้น ผมเองก็จะช่วยเต็มกำลังความสามารถที่ผมพอจะมีอยู่ เพื่อให้ผลักดันให้เกิดกิจกรรมนี้ขึ้นมา ผมว่าถ้าจัดกัน "ริมเขื่อนรัฐประชาพัฒนา" สนามหญ้าในเมืองราชบุรีก็ดีครับ วางเครื่องดนตรีเรียงรายยาวตลอดแนวเขื่อนที่กำลังสร้างใหม่ อย่างน้อยก็เป็นการบรรเลงดนตรีไทยริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง แหล่งกำเนิดนักดนตรีไทยชั้นนำของประเทศไทย



******************************
จุฑาคเชน : 9 ธันวาคม 2559
    

วันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2559

รู้ว่า..วันนี้ต้องมาถึง



ผมเคยคิดในใจเงียบๆ เสมอมาว่า วันนี้ ต้องมาถึง...
ผมเตรียมทำใจให้ยอมรับไว้เสมอ แล้วมันก็มาถึงจริงๆ ...
แม้จะเตรียมทำใจไว้แล้วก็ตาม  ความรู้สึกหดหู่ สูญเสีย และอ้างว้าง  มันก็ยังคงปกคลุมจิตใจของผมอยู่ดี แม้ว่าภายนอกผมจะดูเข้มแข็ง แต่ในใจกลับแตกต่างโดยสิ้นเชิง ยิ่งกว่าตอนที่ผมสูญเสียพ่อของผมเองเสียอีก

หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตั้งแต่ พ.ศ.2475 เป็นต้นมา แผ่นดินไทยไม่เคยสงบอย่างจีรัง ข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ และนักการเมือง ผลัดเปลี่ยนแย่งชิงอำนาจการปกครองกันมาโดยตลอด จนกระทั่งปี พ.ศ.2489 พี่ชายซึ่งเป็นที่รักยิ่งของพระองค์ท่าน ก็ต้องจากพระองค์ท่านไปอย่างไม่มีวันกลับ ด้วยพิษสงของอำนาจดังกล่าว 

"ภาระความเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทย จึงตกอยู่ที่พระองค์ท่านตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ท่ามกลางมนต์ดำแห่งความกระหายอำนาจของบุคคลหลายกลุ่มในประเทศไทย"




เหตุการณ์ร้ายในสมัยพระองค์
เหตุการณ์ร้ายๆ ที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ท่าน  จากความหลงในมนต์ดำของอำนาจและความอยากเป็นผู้ปกครองของบรรดาคนไทยด้วยกันเอง พอที่จะสรุปเรียบเรียงได้ ดังนี้ 
  • พระชนมายุ 19 พรรษา 9 มิ.ย.2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 สวรรคต (ดูรายละเอียด) และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงขึ้นครองราชย์ เป็นรัชกาลที่ 9
  • พระชนมายุ 20 พรรษา 8 พ.ย.2490 การรัฐประหาร นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (ดูรายละเอียด)
  • พระชนมายุ 21 พรรษา  6 เม.ย.2491 คณะนายทหารกลุ่มที่ทำการรัฐประหาร 8 พ.ย.2490 จี้บังคับให้ นายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมอบตำแหน่งต่อให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
  • พระชนมายุ 21 พรรษา 1 พ.ย.2491 กบฎแบ่งแยกดินแดน (ดูรายละเอียด)
  • พระชนมายุ 22 พรรษา 26 ก.พ.2492 กบฏวังหลวง (ดูรายละเอียด)
  • พระชนมายุ 24 พรรษา 29 มิ.ย.2494 กบฏแมนฮัตตัน (ดูรายละเอียด)
  • พระชนมายุ 24 พรรษา 29 พ.ย.2494 การรัฐประหาร นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง (ดูรายละเอียด)
  • พระชนมายุ 25 พรรษา 10 พ.ย.2495 กบฏสันติภาพ (ดูรายละเอียด)
  • พระชนมายุ 30 พรรษา 16 ก.ย.2500 การรัฐประหาร นำโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม
  • พระชนมายุ 31 พรรษา 20 ต.ค.2501 การรัฐประหารเงียบ นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร (ดูรายละอียด)
  • พระชนมายุ 38 พรรษา 7 ส.ค.2508 วันเสียงปืนแตก พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยใช้อาวุธโจมตีกองกำลังของรัฐบาลไทยเป็นครั้งแรก (ดูรายละเอียด) เหตุการณ์พรรคคอมมิวนิสต์สงบลงในปี พ.ศ.2525
  • พระชนมายุ 44 พรรษา 17 พ.ย.2514 การรัฐประหาร  โดย จอมพลถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง (ดูรายละเอียด)
  • พระชนมายุ 46 พรรษา 14 ต.ค.2516 วันมหาวิปโยค เรียกร้องรัฐธรรมนูญ ขับไล่ จอมพลถนอม กิตติขจร  จอมพลประพาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร   (ดูรายละเอียด)
  • พระชนมายุ 49 พรรษา 6 ต.ค.2519 การต่อต้านการเดินทางกลับประเทศไทยของ จอมพลถนอม กิตติขจร การรัฐประหาร นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช (ดูรายละเอียด)
  • พระชนมายุ 50 พรรษา 26 มี.ค.2520 กบฎพลเอกฉลาด (ดูรายละเอียด)
  • พระชนมายุ 50 พรรษา 20 ต.ค.2520 การรัฐประหาร นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร 
  • พระชนมายุ 64 พรรษา 23 ก.พ.2534 การรัฐประหาร นำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (ดูรายละเอียด)
  • พระชนมายุ 65 พรรษา พ.ศ.2535 เกิดเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ (ดูรายละเอียด)
  • พระชนมายุ 78 พรรษา พ.ศ.2548 เกิดปรากฏการณ์พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประชาชนแบ่งแยกออกเป็น "เสื้อเหลือง" และ "เสื้อแดง" (ดูรายละเอียด)
  • พระชนมายุ 79 พรรษา 19 ก.ย.2549 ปฏิวัติ นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ดูรายละเอียด)
  • พระชนมายุ 86 พรรษา พ.ศ.2556 เกิดปรากฏการณ์ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)(ดูรายละเอียด)
  • พระชนมายุ 87 พรรษา 22 พ.ค.2557 การรัฐประหาร นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล (ดูรายละเอียด)
ที่นำมาเรียบเรียงก็เพื่อให้เห็นว่า ตลอดพระชนมายุของพระองค์ท่านที่ทรงครองสิริราชสมบัติ มีเรื่องราวที่ก่อให้เกิดความยากลำบากต่อพระราชหฤทัยของพระองค์ท่านหลายครั้งหลายครา  พระองค์ไม่ได้มีความสุขอย่างที่พวกเราคิด  พระองค์ท่านได้ทรงประคับประคองราชอาณาจักรไทยจนกระทั่งสามารถผ่านร้อน ผ่านหนาวมาได้หลายครั้งหลายครา จากการแย่งชิงอำนาจของบรรดากลุ่มคนไทยด้วยกันเอง และจากปากเยี่ยวปากกาของชาวต่างชาติทั้งหลายที่ต้องการจะยึดครองราชอาณาจักรไทย 



แต่ในขณะเดียวกัน พระองค์ท่านก็ไม่วายที่จะทรงตรากตรำพระวรกายเสด็จไปเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ทั่วประเทศไม่เว้นแม้แต่ในถิ่นทุรกันดาร  เพื่อหาทางช่วยเหลือและแก้ปัญหาให้ราษฎรของพระองค์ท่าน มีความกินอยู่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี จนเกิดโครงการตามแนวพระราชดำริจำนวนมากมายหลายโครงการ ดังเช่นปัจจุบัน

นักต่อจากนี้ ลูกๆ ของพ่อน่าจะหยุดทะเลาะกันได้แล้ว
ดวงพระวิญญาณของ "พ่อ" คงไม่อยากเห็น "ลูกๆ" ทะเลาะเบาะแว้งกันอีก 

เศรษฐกิจพอเพียง ที่ยังไม่สำเร็จ
ตั้งแต่ พ.ศ.2517 เป็นต้นมา พระองค์ท่านทรงเล็งเห็นว่ากระแสเศรษฐกิจทุนนิยมและบริโภคนิยมกำลังแพร่กระจายไปทั่วทุกมุมโลก พระองค์ท่านจึงได้เริ่มเผยแพร่ "แนวคิดปรัชญาเศรษกิจพอเพียง" ให้แก่ประเทศไทย 

“...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐานคือ ความพอมี พอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัดแต่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เมื่อได้พื้นฐานความมั่นคงพร้อมพอสมควร และปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญ และฐานะทางเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป...” (18 กรกฎาคม 2517) (ดูรายละเอียด)




หลายปีผ่านมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ ในทัศนะส่วนตัวแล้ว ผมยังเห็นว่าแนวทางการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิตของคนไทย ยังถือว่าไม่ประสบผลสำเร็จ  พวกเราทำได้แต่เปลือกนอก ยังไม่ถึงแก่นที่แท้จริง สังเกตได้จากพฤติกรรมการบริโภคนิยมและวัตถุนิยมของลูกหลานชาว Generation Z ของเราส่วนใหญ่ที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน โครงการต่างๆ ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงที่หน่วยงานภาคราชการพยายามสร้างและพัฒนาขึ้น ล้วนไม่มีความมั่นคงและยั่งยืน ประเทศไทยยังตกอยู่ภายใต้เศรษฐกิจของทุนนิยม 

ดังนั้น...หากพวกเรารักพระองค์ท่านจริง จงพยายามยึดมั่นแนวทางการดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ท่านไว้เป็นสำคัญ และช่วยสร้างให้มันเป็นจริงอย่างยั่งยืน 

สิ่งที่ผมทำได้
ผมเป็นเพียงข้าราชการเล็กๆ คนหนึ่ง ซึ่งไม่ได้มีอำนาจบารมีอะไรมากนัก แต่สิ่งที่ผมคิดว่า ผมจะทำให้ดีที่สุดตอนนี้ ก็คือ คำสัตย์ปฎิญาณที่ผมเคยให้ไว้ต่อพระองค์ท่าน ที่กล่าวว่า

"ข้าพระพุทธเจ้า จะประพฤติตนเป็นข้าราชการที่ดี มีความซื่อสัตย์สุจริต เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท มุ่งมั่นแน่วแน่ แก้ไขปัญหาของประเทศชาติและประชาชน สร้างสรรค์คุณประโยชน์แก่แผ่นดิน และดำเนินชีวิตโดยยึดมั่น ในหลักธรรมคำสอนแห่งศาสนา และตามแนวทางในพระบรมราโชวาท ตลอดไป"

แผ่นดินไทยจะเจริญหรือเสื่อมสลาย ก็เพราะข้าราชการอย่างพวกเรานี้แหละ ที่จะต้องเป็นเสาหลักสำคัญของแผ่นดิน หากเป็นเช่นนี้แล้ว ดวงพระวิญญาณพระองค์ท่านจะได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินสู่สวรรคาลัย ด้วยความสุขพระราชหฤทัยสืบไป

***********************
ชาติชยา ศึกษิต

จำขึ้นใจ ข้าราชการที่ดี (https://www.youtube.com/watch?v=sDfO0CQnc8k)

วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2559

เปิดใจฟัง : โรงเรียนคือฆาตกร

เช้าวันนี้ (29 ก.ย.2559) ผมเปิดดูเฟสบุ๊คของผมตามปกติ ได้พบกับคลิบวิดีโอเรื่องการศึกษาที่น่าสนใจมาก ซึ่งสร้างขึ้นโดย "Prince EA" (ดูรายละเอียด)  นักความคิดสร้างสรรค์และสร้างแรงบันดาลใจระดับโลก คลิบวิดีโอนี้เป็นสถานการณ์จำลองเกี่ยวกับการฟ้องร้องระบบโรงเรียนที่เกิดขึ้นในศาล โดยมีรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านการศึกษาเป็นจำเลย มีชื่อเรื่องว่า "THE PEOPLE VS. THE SCHOOL SYSTEM" (ดูต้นฉบับ) ซึ่งคลิบวิดีโอนี้ถูกแปลภาษาไทยและจัดทำซับไตเติ้ลโดย Life  University แชร์ผ่านทางเฟสบุ๊ค : Life Uni  มาให้ชมตามคลิบวิดีโอด้านล้างนี้  (ดูที่มา)



สอนให้ปลาปีนต้นไม้
คุณ Prince EA เริ่มเปิดคดี "ฟ้องร้องระบบโรงเรียน" ด้วยคำกล่าวสำคัญของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่ว่า "ทุกคนเป็นอัจฉริยะ...แต่ถ้าคุณตัดสินปลา ด้วยความสามารถในการปีนต้นไม้ มันจะใช้ทั้งชีวิตของมันโดยเชื่อว่า มันช่างโง่เขลา.."

ความหมายก็คือเด็กๆ มีความถนัดกันคนละทาง แต่โรงเรียนกำลังสร้างเด็กๆ นับล้านคนให้เป็นหุ่นยนต์ ให้เป็นปลาที่ต้องปีนต้นไม้ ระบบการศึกษาปัจจุบันสร้างให้เด็กๆ เรียนอย่างหนัก แต่ไม่พบพรสวรค์ของตัวเอง จนเด็กๆ ได้แต่คิดว่าตัวเองโง่ และเป็นคนไร้ค่า  เหตุเพียงแค่ไม่สามารถปีนต้นไม้ได้ตามที่ระบบต้องการ 


โรงเรียนคือฆาตกร
Prince กล่าวฟ้องว่า "โรงเรียนเป็นฆาตกรฆ่าความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก  ทำลายเอกลักษณ์และเหยียดหยามทางความคิด"  เขายกตัวอย่างนวัตกรรมที่มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลง เช่น โทรศัพท์ รถยนต์ แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยคือห้องเรียน เขาถามจำเลยว่าจะเตรียมความพร้อมนักเรียนในอนาคตหรือในอดีต ระบบการศึกษาในปัจจุบันถูกสร้างขึ้นเพื่อฝึกคนให้ไปทำงานในโรงงาน บังคับให้นักเรียนนั่งเป็นแถวให้เรียบร้อย นั่งเฉยๆ อยากพูดค่อยยกมือ ใช้เวลา 8 ชั่วโมงต่อวันเพื่อบอกนักเรียนว่า "เธอต้องคิดอะไร" เสร็จแล้วให้เขาแข่งขันกันด้วยเกรดด้วยคะแนน  หากได้คะแนนดี เกรด A คือสินค้าคุณภาพ 

ในโลกยุคปัจจุบัน เราต้องการคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีความริ่เริ่ม เอาจริงเอาจัง พึ่งพาตนเองได้ มีความสามารถในการเชื่อมโยง เราไม่ต้องการหุ่นยนต์ผีดิบอีกแล้ว





ไม่มีสมองคู่ไหนเหมือนกัน
Prince บอกว่า ไม่มีสมองคู่ไหนที่เหมือนกัน ซึ่งพ่อแม่ที่มีลูกสองคน น่าจะช่วยยืนยันและอธิบายได้ แล้วทำไมการศึกษาถึงต้องกำกับนักเรียนเหมือนแม่พิมพ์ขนม หรือหมวกแก๊ปที่ปรับขนาดได้ สอนสิ่งห่วยๆ ให้เด็กทุกคนในแบบเดียวกัน (คำว่าห่วยๆ นี้ ศาลเตือนให้ระวังคำพูดหน่อย) 

ครูที่ควรได้รับการยกย่องแต่กลับถูกใส่ร้าย
Prince กล่าวถึงครูว่า ครู 1 คนสอนเด็ก 20 คน ทั้งๆ ที่เด็กแต่ละคนมีจุดแข็ง ความต้องการ พรสวรรค์ และความฝันที่แตกต่างกัน แต่ครูกลับสอนในสิ่งที่เหมือนๆ กัน ซึ่งครูเองก็รู้ แต่เมื่อการศึกษาล้มเหลว ครูจึงมักจะถูกใส่ร้ายเสมอ  แต่พวกครูไม่ใช่ปัญหา ที่เป็นปัญหาจริงๆ ก็คือระบบการศึกษาและหลักสูตรที่ถูกออกแบบมาจากจำเลย (คนในกระทรวง) คนที่ไม่เคยสอนใครเลยในชีวิต เอาแต่หมกหมุ่นกับการวัดผล

ครูควรได้เงินมากเท่าหมอ
อาชีพ "ครู" มีหน้าที่สำคัญที่สุดบนโลกนี้ แต่กลับมีรายได้ "แค่พอกิน" จึงไม่แปลกใจที่ครูไม่ให้ความเต็มที่กับเด็ก ครูควรได้เงินเดือนมากเหมือนหมอ ถึงแม้จะมีนักเรียนเพียง 20% ของประชากร แต่พวกเขาก็คือ 100% ของอนาคต

หากคุณหมอสามารถผ่าตัดหัวใจช่วยชีวิตเด็กได้
ครูที่ดีก็สามารถเข้าถึงหัวใจของเด็กและชี้แนะเด็กให้ใช้ชีวิตที่แท้จริงได้ เช่นกัน

การวัดผล
Prince กล่าวฟ้องต่อว่า แนวคิดว่าการกาข้อสอบของเด็ก จะเป็นตัววัดความสำเร็จ ซึ่งมันไม่เกี่ยวข้องกันเลย ความจริงคือ การสอบแบบนี้มันใช้ไม่ได้ ตามที่ J.Kelly ซึ่งเป็นคนค้นคิดมาตรฐานการสอบบอกว่า "การสอบแบบนี้ มันยากเกินกว่าจะเอาไปใช้" และต้องถูกแบน จริงอยู่ วิชาคณิตศาสตร์อาจสำคัญแต่ไม่ได้สำคัญไปกว่าวิชาศิลปะ หรือการเต้น ควรให้ทุกๆ พรสวรรค์มีโอกาสเท่าเทียมกัน

การศึกษาต้องสามารถดึงจิตวิญญาณจากเด็ก
การศึกษาต้องสามารถปรับแต่งได้ เพื่อการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง การศึกษาจะต้องสามารถดึงจิตวิญญาณจากเด็กนักเรียนแต่ละคนออกมาได้ ต้องเข้าถึงหัวใจของเด็กๆ ทุกคน  

Prince กล่าวต่อว่า มันอาจจะดูเหมือนเรื่องเพ้อฝัน แต่มันกำลังเกิดขึ้นในประเทศฟินแลนด์ พวกเขามีชั่วโมงเรียนน้อยลง ครูมีรายได้ที่มากพอ เด็กไม่มีการบ้าน พวกเขาเน้นความร่วมมือ แทนที่จะแข่งขัน การศึกษาของพวกเขาทิ้งประเทศอื่นแบบไม่เห็นฝุ่น ประเทศอย่างสิงคโปร์ก็พัฒนาการศึกษาอย่างรวดเร็ว 

การศึกษาไม่ได้มีทางออกแค่ทางเดียว
"โลกของปลา ที่ไม่ต้องต้องถูกบังคับให้ปีนต้นไม้อีกต่อไป"

สุดท้าย Prince EA ขอบคุณทุกท่านที่ชมวิดีโอนี้ และเขาอยากให้ทุกคนช่วยแสดงความคิดเห็นว่า จะสามารถสร้างอนาคตด้านการศึกษาที่ดีได้อย่างไร ทาง https://www.neste.com/preorderthefuture/



6 นาที อาจเปลี่ยนความคิดคุณได้ 
คลิบวิดีโอนี้ มีความความยาวเพียง 6 นาที แต่เป็น 6 นาทีที่อาจเปลี่ยนความคิดเรื่องระบบการศึกษาของคุณได้ ที่ผมสรุปมาเป็นเพียงบางช่วงบางตอน หากท่านผู้อ่านสนใจสามารถคลิกชมได้ตามลิงค์ที่ให้ไว้ด้านล่างนี้  

****************************
รวมรวมโดย 
ชาติชยา ศึกษิต : 29 ก.ย.2559

ที่มาข้อมูล

วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2559

ถนนที่ไม่ได้เลือก (The Road not taken)

ผมได้เห็นนโยบายใหม่ที่จะมีการเสนอให้เริ่มต้นใช้ในปีการศึกษา 2560 คือ ส่งเสริมให้เด็กไทยทุกคนเล่นดนตรีไทยให้เป็นคนละ 1 ชนิด ภายใน 5 ปี โดยคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) เป็นผู้เสนอให้กระทรวงวัฒนธรรมเตรียมหารือกับกระทรวงศึกษาธิการ นโยบายนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีไทยให้คงอยู่ และเป็นการฝึกสมาธิ ให้เด็กรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์


วิธีคิดดังกล่าวข้างต้น ผมว่าก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอันใด เพียงแต่สงสารเด็กนักเรียนไทยที่ต้องถูกบังคับให้ทำ โดยความคิดของผู้หลักผู้ใหญ่ที่อาจไม่ค่อยเข้าใจเรื่องการจัดการศึกษาที่แท้จริง  ปัจจุบันนโยบาย "โลกสวยทางการศึกษา" หลายเรื่องที่ถูกกำหนดมาให้เด็กและครูต้องปฏิบัติ เช่น STEM ศึกษา การลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ การเรียนภาษาอังกฤษวันละ 1 ชม. การเรียนรู้แนวประชารัฐ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการสร้างภาระอันหนักอึ้งให้แก่เด็กๆ ของเรา รวมทั้งครูที่ทำหน้าที่เป็นผู้สอนอีกด้วย 

นโยบายดี แต่ควรเปลี่ยนวิธีทำ
ตามทฤษฎีพหุปัญญาแล้ว มนุษย์มีความสามารถทางปัญญาอยู่ 8 ด้าน ซึ่งแต่ละคนจะมีความชอบและความสามารถในการเรียนรู้ที่แตกต่างกันออกไป เด็กหลายคนอาจชอบภาษา หลายคนอาจชอบคณิตศาสตร์ หลายคนอาจชอบดนตรี และหลายคนอาจชอบด้านอื่นๆ 

ปัญหาระบบการศึกษาของเรา คือ สนใจความอัจฉริยภาพของเด็กเพียงไม่กี่ด้าน  ออกแบบมาเพื่อสอนเด็กบางคนเท่านั้น ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อสอนเด็กทุกคน

ดูแต่การสอบ O-net ที่รัฐจัดให้มีการสอบทุกปี มันแค่เป็นตัวชี้วัดพหุปัญญาหรืออัจฉริยภาพของเด็กบางคนและบางด้านเท่านั้น มันไม่สามารถวัดอัจฉริภาพของเด็กในแต่ละด้านได้ทุกคน  การสอบวัดมาตรฐานที่รัฐจัดให้มีขึ้นกลับทำให้เด็กๆ ของเราต้องเครียด  ผู้ปกครองก็เครียด ผู้บริหารโรงเรียนก็เครียด โรงเรียนหลายแห่งพยายาม "สอนให้เด็กสอบ" มากกว่าจะสอน "ให้เด็กค้นหาตัวเองให้พบและเรียนรู้ตามที่ตัวเองถนัด" 


ที่มาของภาพ http://www.mindecodetd.com/multi-th/index.php




นโยบายส่งเสริมให้เด็กไทยทุกคนเล่นดนตรีไทยให้เป็นคนละ 1 ชนิด ภายใน 5 ปี นั้น
ดีเชิงนโยบาย แต่ก็ไม่ควรที่จะบังคับให้เด็กทุกคนต้องทำ   
การเล่นดนตรีไทย  จึงควรจะเป็นทางเลือกมากกว่า  

ถนนที่ไม่ได้เลือก (The Road not taken)
ปัจจุบันการจัดการศึกษาของไทยมีลักษณะของถนนที่เด็กไม่ได้เลือกเอง ผู้กุมนโยบายด้านการศึกษามักชอบยัดเหยียดให้แก่เด็กๆ ว่าพวกเขาจะต้องทำอย่างโน้น ทำอย่างนี้ นู้น..นี่..นั่น ทำให้การเรียนเป็นเรื่องน่าเบื่อ อันที่จริงพวกเขาควรมีเสรีภาพในการเลือกมากกว่านี้ การศึกษาต้องพยายามดึงเอาความเป็นอัจฉริยะของเด็กแต่ละคนออกมาให้ได้ และต่อยอด หาทางส่งเสริมเขาในด้านนั้นๆ 

เมื่อ 15 ปีที่แล้วผมอ่านหนังสือเรื่อง "พ่อรวยสอนลูก" ที่เขียนโดยโรเบิร์ต คิโยซากิ มีคำพูดน่าคิดเกี่ยวกับการศึกษาของผู้มีชื่อเสียง ดังนี้

วินสตัน เชอร์ชิล 
"ผมพร้อมที่จะเรียนเสมอ แต่ผมไม่ชอบถูกสอน"

จอห์น อัพไดค์
"เมื่อพ่อแม่ทั้งหลายพบว่าเด็กเป็นภาระอันหนักอึ้ง เขาจึงส่งเด็กไปอยู่ในคุกที่เรียกว่าโรงเรียน และใช้การศึกษาเป็นเครื่องทรมาน"   

นอร์มัน ดักลาส
"การศึกษา คือ โรงงานผลิตเสียงสะท้อนที่ควบคุมโดยรัฐ"

เอช. แอล. แม็คเค็น
"ชีวิตในโรงเรียน เป็นชีวิตที่ไม่มีความสุขที่สุด"

กาลิเลโอ
"ไม่มีใครสอนใครได้ อย่างมากที่ทำได้คือ ช่วยให้เขาค้นพบการเรียนรู้ด้วยตนเอง"

มาร์ค ทเวน
"ฉันไม่เคยให้โรงเรียนเข้ามายุ่งกับการศึกษาของฉัน"

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์
"การศึกษามีมากเกินไป โดยเฉพาะในโรงเรียนอเมริกัน"

นอกจากนั้น โรเบิร์ตฯ ยังกล่าวถึงทัศนะของระบบการศึกษาในอเมริกาสมัยนั้นไว้ว่า เป็นระบบการศึกษาที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้รองรับความเปลี่ยนแปลง มันถูกออกแบบให้คงอยู่อย่างถาวร นักจัดการศึกษามักบอกว่า "ลูกคุณมีปัญหาในการเรียนรู้" มากกว่าจะบอกว่า "ระบบของเรามีปัญหาในการสอน" สอดคล้องกับคำกล่าวของท่านผู้หนึ่งจากเว็บไซต์ www.livebox.me/ajwiriyah ที่กล่าวถึงระบบการศึกษาไทย ไว้อย่างน่าคิดว่า 

"เราไม่มีทางพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้ ถ้ายังคิดว่าเด็กเราโง่ และไม่รับผิดชอบ 
ที่โง่นะ คือ ระบบการศึกษา และที่ไม่รับผิดชอบ คือ ผู้มีอำนาจ"

เพราะถนนที่เด็กๆ ไม่ได้เลือกเอง (The Road not taken) ปัจจุบันจึงเป็นปัญหาของผู้จบการศึกษาของไทย เด็กๆ หลายคนต้องตกหล่นระหว่างการเรียน และหลายคนก็สามารถตะเกียกตะกายเรียนได้ถึงปริญญาตรี ปริญญาโท แต่กลับตกงาน หรือทำงานไม่ตรงตามที่เรียน และอีกหลายคนก็ยังค้นหาตัวเองไม่เจอ ถึงเวลาที่นักจัดการศึกษาทั้งหลายของไทยต้องหันกลับมานั่งคิดกันอย่างจริงจังเสียที เพราะโลกของการศึกษาในที่ทำงาน ในห้องประชุม จากแบบวัด แบบประเมิน จากผลการสอบ และสถิติทั้งหลายที่พวกท่านรวบรวมไว้ มันแตกต่างจากสภาพความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง

โลกการศึกษาไม่ได้สวยงามอย่างที่ท่านคิด 
อย่าคิดอะไรได้แว๊บๆ แล้วจะกลายเป็นนโยบายไปเสียทั้งหมด
การปฏิรูปการศึกษาไม่สำเร็จ ก็เพราะ
มันเป็นไฟไหม้ฟาง มันมอดเร็ว หุ้งข้าวไม่สุกเสียที   


***********************************
ที่มาข้อมูล
  • รักครู. (2559). เตรียมดีเดย์ใหเด็กไทยทุกคนเล่นดนตรีไทยเป็น 1 ชนิดเริ่มปีการศึกษา 60. [Online]. Available :http://www.xn--12cg5gc1e7b.com/6343. [2559 กันยายน 1 ]
  • คิโยซากิ, โรเบิร์ต ที. (2544). พ่อรวยสอนลูก # 3 : สอนลูกให้รวย. กรุงเทพฯ : ซีเอ็ดยูเคชั่น.
  • คิโยซากิ, โรเบิร์ต ที. (2544). พ่อรวยสอนลูก # 2 : เงินสี่ด้าน. กรุงเทพฯ : ซีเอ็ดยูเคชั่น.
  • คิโยซากิ, โรเบิร์ต ที. (2544). พ่อรวยสอนลูก. กรุงเทพฯ : ซีเอ็ดยูเคชั่น.

วันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ผมตัดสินใจ "ไม่เห็นชอบ" ร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง

ปัจจุบันการสร้างสถานการณ์และข้อมูลข่าวสารต่างๆ ของรัฐบาลเพื่อโน้มน้าวให้ประชาชนรับรู้และตัดสินใจเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงนั้น มีปรากฏให้เห็นอยู่จำนวนมาก ส่วนความเห็นต่างกลับถูกปิดกั้น ไม่ค่อยปรากฏให้เห็น หน่วยงานภาคราชการและกองทัพล้วนถูกใช้เป็นเครื่องมือที่สำคัญของรัฐบาลในการปฏิบัติการครั้งนี้

วันนี้ (5 ส.ค.2559) เหลืออีก 2 วันจะถึงวันออกเสียงประชามติ คือในวันที่ 7 ส.ค.2559 ผมได้พยายามติดตามข่าวสารทั้งฝ่ายเห็นชอบและที่ไม่เห็นชอบ ว่าแต่ละฝ่ายมีเหตุผลใด หลังจากนั่งคิดไตร่ตรองด้วยความรู้อันน้อยนิดที่มี ผมตัดสินใจจะไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง เหตุผลประการสำคัญที่สนับสนุนการตัดสินใจของผมในครั้งนี้ คือ เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ปี พ.ศ.2535 ที่เรียกว่า "พฤษภาทมิฬ"  


บางครั้ง การค้นหาอดีต อาจช่วยให้เราแก้ปัญหาในปัจจุบันได้

พฤษภาทมิฬ 2535
สาเหตุสำคัญที่เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในครั้งนั้น มาจากการที่ผู้ยึดอำนาจไม่รักษาสัจจะวาจา และไม่มีความจริงใจที่จะคืนอำนาจให้แก่ประชาชน ผ่านรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง  

"ที่พูดกันว่า สภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) จะสืบทอดอำนาจโดยการใช้รัฐธรรมนูญนั้น เราขอยืนยันว่าจะไม่มีการสืบทอดอำนาจโดยการใช้รัฐธรรมนูญ โดยสมาชิก สภา รสช. จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการจัดตั้งรัฐบาล หลังจากการเลือกตั้งแล้ว สภา รสช. ก็หมดไปเองโดยอัตโนมัติ  ผู้บัญชาการเหล่าทัพก็จะกลับไปทำหน้าที่ในกองทัพอย่างเดียว"

" และที่พูดกันว่า พลเอกสุจินดาฯ จะเป็นนายกรัฐมนตรี พลอากาศเอกเกษตรฯ จะเป็นนายกรัฐมนตรี  ขอยืนยันในที่นี้ว่า    ทั้งพลเอกสุจินดาฯ และพลอากาศเอกเกษตรฯ จะไม่เป็นนายกรัฐมนตรี "  

ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2534
สภา รสช. ประกาศใช้ "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2534"  เมื่อ 9 ธ.ค.2534  สาระสำคัญในรัฐธรรมนูญ ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตย เช่น การให้ประธานวุฒิสภาเป็นประธานรัฐสภา การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีเป็นหน้าที่ของประธานสภา รสช. นายกรัฐมนตรีมาจากคนนอกได้ ไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. การให้อำนาจที่มากเกินไปแก่สมาชิกวุฒิสภา และอีกหลายประเด็น 

5 พรรคการเมืองร่วมกับ รสช. สืบทอดอำนาจ
พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย พรรคชาติไทย พรรคราษฎร และพรรคสามัคคีธรรม รวมกลุ่มกันก่อนการเลือกตั้ง โดยหัวหน้าพรรคแต่ละพรรคประกาศว่าตนเองพร้อมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี 
  • 22 มี.ค.2535 เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และในวันเดียวกันนี้  สภา รสช.ก็ประกาศแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 270 คน และช่วงกลางคืนมีการประชุมระหว่าง 5 พรรคการเมืองร่วมกับ สภา รสช. เตรียมเสนอ ชื่อนายณรงค์ วงศ์วรรณ  ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
  • 7 เม.ย.2535  สภา รสช. ร่วมกับพรรคการเมือง 5 พรรค กลับเสนอชื่อ พลเอกสุจินดา คราประยูร   ขี้นทูลเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี แทนนายณรงค์ วงศ์วรรณ พลเอกสุจินดาฯ แถลงว่ามีความจำเป็นต้อง "เสียสัตย์เพื่อชาติ"
  • เดือน พ.ค.2535 จึงเกิดเหตุการณ์นองเลือดที่เรียกว่า พฤษภาทมิฬ  ดังที่ทุกคนได้ทราบ

ไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก
อาจเป็นความวิตกจริตหรือความคิดฟุ้งซ่านของผมเอง ผมเชื่อว่าหากประชาชนเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2559 และคำถามพ่วง ในครั้งนี้แล้ว เหตุการณ์ดังเช่น พฤษภาทมิฬ 2535 อาจจะหวนกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้งในประเทศไทย เพราะสถานการณ์ทุกอย่างมีความคล้ายคลึงกัน เช่น การแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา 250 คน และมีวาระถึง 5 ปี การร่วมกันเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีที่มาจากคนนอกได้ เกิดการรวมกลุ่มผลประโยชน์ระหว่างพรรคการเมืองขนาดเล็ก กับกลุ่ม คสช. (ผ่านทางสมาชิกวุฒิสภา) ประเทศไทยจะถูกกลุ่มคณะผู้ยึดอำนาจ (คสช.) สืบทอดอำนาจการบริหารประเทศไปอีก 8 ปีข้างหน้า ซึ่งไม่ใช่อำนาจที่ได้มาจากประชาชนอย่างแท้จริง  เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนเป็นชนวนเหตุจูงใจให้ประชาชนผู้รักชาติและรักประชาธิปไตยลุกฮือขึ้นต่อต้านอีกครั้ง  
   
ดังนั้น เพื่อป้องกันเหตุการณ์นองเลือดที่อาจเกิดขึ้นอีก ผมจึงเลือกที่จะไม่เห็นชอบ  เพื่อมุ่งหวังให้รัฐบาลและ คสช. จัดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับใหม่ขึ้นมา โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการร่างรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวาง การจัดร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับใหม่นี้ ไม่ควรเป็นคณะบุคคลที่ คสช. แต่งตั้งขึ้น เพื่อจัดทำร่างฯ เหมือนแต่เดิมอีก  หากจำเป็นต้องเกิดสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) อีกครั้งก็ต้องทำ   



ผมไม่อยากให้เกิดการนองเลือดขึ้นอีกครั้งในประเทศไทย 
ผมจึงเลือก "ไม่เห็นชอบ" กับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงในครั้งนี้
   
*****************************
ชาติชยา ศึกษิต : 5 ส.ค.2559

(ที่มาข้อมูล  พฤษภาทมิฬ )

วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2559

มาเริ่มต้นเป็นนักเขียนกันเถอะ (ตอนที่ 2 ลงมือเขียน)

ต่อจาก มาเริ่มต้นเป็นนักเขียนกันเถอะ (ตอนที่ 1 เริ่มฝึกหัด) 


หลังจากตอนที่ 1 ได้รับทราบถึงคุณลักษณะของนักประพันธ์ และลองเริ่มฝึกหัดเพื่อเป็นนักเขียนเบื้องต้นตามขั้นตอนของหลวงวิจิตวาทการกันไปบ้างแล้ว ตอนนี้จึงอยากเชิญชวนให้ลองเขียนดูจริงๆ ในการฝึกเขียนครั้งแรก แนะนำให้ลองเขียนบทความดูก่อน       

บทความไม่ใช่เรียงความธรรมดาและไม่ใช่ข่าว หากเป็นความเรียงที่มีเรื่องราวอันเป็นมูลฐานมาจากข้อเท็จจริง ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน หรือเรื่องที่แต่งตามจินตนาการของผู้เขียน ลักษณะเฉพาะของบทความมีดังนี้
  1. เป็นเรื่องที่ผู้อ่านส่วนมากสนใจอยู่ในขณะนั้น
  2. มีสาระ แก่นสาร ให้ความรู้ มิใช่เรื่องเลื่อนลอยเหลวไหล
  3. มีทัศนะข้อคิดเห็น ข้อวินิจฉัยของผู้เขียนแทรกอยู่ด้วย
  4. เนื้อหาสาระเหมาะกับผู้อ่านระดับมีการศึกษา
  5. มีวิธีเขียนชวนอ่าน ชวนให้คิด ทำให้เกิดความเพลิดเพลิน
หลักการเขียนบทความ
การเขียนบทความมีหลักเช่นเดียวกับการเขียนเรียงความ แบ่งโครงเรื่องออกเป็น 3 ตอน คือ นำเรื่อง (ความนำ) เนื้อเรื่อง (ดำเนินเรื่อง) และจบเรื่อง (ลงท้าย สรุปความ) โดยการเขียนบทความควรคำนึงถึงหลักต่างๆ ดังนี้
  1. การเลือกเรื่อง ควรเป็นเรื่องที่คนกำลังสนใจ หรือกำลังเป็นกระแสนิยม 
  2. การรวบรวมเนื้อหา ผู้เขียนควรสืบหาข้อมูลให้ชัดเจน  อาจสืบค้นไปถึงแหล่งต้นกำเนิด การสัมภาษณ์ การอ่านเอกสาร ทดลอง ปฏิบัติ จนคิดว่าเป็นหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ ควรระบุที่มาข้อมูลหรือเอกสารอ้างอิงเอาไว้ด้วย
  3. การกำหนดจุดมุ่งหมายเฉพาะการเขียน เลือกสำนวนการเขียนให้ตรงกับเรื่องว่า ต้องการให้ผู้อ่านได้รับอะไร ทำอะไร คิดอย่างไร เป็นต้น
  4. การวางโครงเรื่อง ควรวางโครงเรื่องให้ตรงจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ กำหนดวิธีการเขียนและการดำเนินเรื่องให้สอดคล้องต้องกัน 
  5. การตั้งใจเขียนให้ได้เนื้อหาสาระ อ่านเพลิน ใช้ภาษาแจ่มแจ้ง เร้าใจ ชวนให้ติดตาม ใช้เหตุผลที่น่าเชื่อถือเสนอทัศนะ
  6. ทบทวนดูสาระของเรื่องว่าตรงกับชื่อเรื่องที่ตั้งไว้หรือไม่ ครอบคลุมหมดหรือยัง ถ้าไม่ตรงไม่ครอบคลุมก็ควรแก้ไข 
  7. เมื่อเขียนเสร็จแล้วควรเก็บไว้สักสองสามวัน แล้วนำมาอ่านตรวจทานอีกครั้งเพื่อหาทางปรับปรุงให้ดีขึ้น หรืออาจให้ผู้รู้อ่านบทความของเราแล้ววิจารณ์ก็ยิ่งดี 
ที่มาของภาพ http://news-internetit.blogspot.com/2014/11/blog-post_11.html

ลงมือเขียน Just Do it
ถึงตอนนี้แล้ว ลองเริ่มลงมือเขียนเลยครับ เริ่มต้นจากการเขียนบทความสั้นๆ ในโซเชียลมีเดียที่ตัวเองใช้อยู่ก่อนก็ได้ เช่น ในเฟสบุ๊ค ในไลน์ ฝึกเขียนเรื่องราวที่อยู่รอบๆ ตัวเรา ร้านอาหารที่เราไปกิน สถานที่ที่เราไปเที่ยว ทัศนะส่วนตัวในเรื่องที่เราสนใจ เป็นต้น อย่ากลัวว่าจะไม่มีคนอ่านให้คำนึงว่า  "นี่คือการฝึก" การหมั่นเขียนบทความเรื่อยๆ บ่อยๆ ผมเชื่อว่าวิธีเขียนของแต่ละคนก็จะพัฒนาขึ้นไปเอง ทั้งสำนวน โวหาร และแง่คิดต่างๆ 

นอกจากเขียนในโซเชียลมีเดียแล้ว หากผู้เขียนต้องการรวบรวมบทความให้เป็นเรื่องเป็นราว  แนะนำให้ลองใช้บริการ "เว็บบล็อก" ดู เว็บบล็อกเขียนบันทึกได้ง่าย ไม่ซับซ้อน ไม่ต้องมีความรู้ทางคอมพิวเตอร์อะไรมากมายนัก  สามารถเขียนบันทึกได้ไม่จำกัดเรื่อง  มีทั้งบริการฟรี และเสียเงิน เว็บบล็อกที่ผมใช้เขียนอยู่นี้ คือ Blogger ของ Google  ไม่เสียค่าใช้จ่าย  ลองสมัครใช้ได้ที่ www.blogger.com      

ที่เชิญชวนให้ทุกคนมาเป็นนักเขียนนั้น ใช่ว่าผมจะเป็นนักเขียนชื่อดังอะไร ตอนนี้ก็ยังอยู่ในขั้นฝึกหัดอยู่ แต่หากทุกคนได้ลองเขียนแล้วจะรู้สึกว่าตัวเองมีสาระและคุณค่ามากขึ้น เรื่องราวหลากหลายที่แต่ละคนได้พบประสบในทุกวัน หากมีการเขียนหรือการบันทึกไว้ ทุกเรื่องล้วนมีประโยชน์ในตัวของมันเอง อย่างน้อยก็ตัวผู้เขียนเอง ต่อมาก็อาจเป็นครอบครัว เพื่อนฝูง คนใกล้ชิด หรือผู้ที่สนใจในเรื่องที่เราบันทึกนั้นๆ 

ลองดูครับ  เริ่มเลย  

อ่านต่อ มาเริ่มต้นเป็นนักเขียนกันเถอะ (ตอนที่ 3 แรงบันดาลใจ)            

*******************************
จุฑาคเชน : 1 ส.ค.2559

ที่มาข้อมูล
สมบัติ จำปาเงิน และสำเนียง มณีกาญจน์. (2539). หลักนักเขียน. กรุงเทพฯ  : ต้นอ้อ แกรมมี่ 


วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

มาเริ่มต้นเป็นนักเขียนกันเถอะ (ตอนที่ 1 เริ่มฝึกหัด)

สมัยเด็กๆ ตอนเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ผมรู้สึกขอบคุณและชื่นชมผู้ที่ได้จดบันทึกเรื่องราวต่างๆ ไว้ให้พวกเราได้เรียนกัน  ตำราที่เรียนส่วนใหญ่มักจะเป็นบันทึกของชาวต่างชาติ  ไม่เว้นแม้แต่ประวัติศาสตร์ของชาติไทยเราเองก็ตาม 

หนังสือบันทึกเรื่องราวและเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ของประเทศไทยที่มีให้อ่าน ส่วนใหญ่เป็นภาพกว้างๆ ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยที่เกิดขึ้นในแต่ละซอก แต่ละมุม มักไม่ค่อยมีการบันทึก หลายคนที่อยู่ในเหตุการณ์สำคัญมักเก็บไว้ในความทรงจำ อย่างดีก็แค่เล่าให้ลูกหลานฟังต่อๆ กันมา พอตนเองเสียชีวิตไป ความจริงเรื่องนั้นก็ตายตามไปด้วย  แต่หากคนผู้นั้นฝึกหัดเป็นนักเขียน นักบันทึก ความจริงเรื่องนั้นก็ยังคงอยู่ตลอดไป

หนังสือเรื่อง "หลักนักเขียน" ทำให้ผมรู้สึกอยากเป็นนักเขียนขึ้นมาทันที เรียบเรียงโดย สมบัติ จำปาเงิน และสำเนียง มณีกาญจน์ จัดพิมพ์ครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2539 หรือเมื่อ 20 ปีที่แล้ว โดย บจก.ต้นอ้อ แกรมมี่  ผมขอนำบางส่วน บางตอนมาสรุปให้ฟัง เผื่อว่าหลายท่านที่กำลังอยากจะเป็นนักเขียน จะได้ใช้ลับสติปัญญาให้เฉียบคมมากขึ้น

โรงเรียนการประพันธ์
เมื่อ ปี พ.ศ.2490 อาจารย์เปลื้อง ณ นคร เจ้าของนามปากกา นายตำรา ณ เมืองใต้ ได้จัดตั้ง "โรงเรียนการประพันธ์ทางไปรษณีย์" ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีสำนักงานอยู่ที่ รร.บัณฑิตวิทยาลัย ถ.ศิริอำมาตย์ หรือที่ สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช ใกล้หัวลำโพง พระนคร โดยมีจุดประสงค์เพื่อ ช่วยผู้ที่สนใจในการประพันธ์ เสริมระดับการประพันธ์ให้สูงขึ้น ให้วิชาอันเป็นรายได้พิเศษ และส่งเสริมการประพันธ์ในเมืองไทย ใช้เวลาเรียนตามหลักสูตร 10 เดือน ค่าสมัครรวมค่าเรียนเดือนแรก 30 บาท ค่าตำรา 32 บาท ค่าเรียนเดือนต่อๆ ไปเดือนละ 10 บาทอีก 9 เดือน  

โรงเรียนการประพันธ์ มีผู้สนใจเรียนจำนวนมาก ทั้งทหาร นักกฏหมาย ตำรวจ นักปกครอง และจากผู้ที่ต้องการเป็นนักประพันธ์โดยตรง โรงเรียนดำเนินการอยู่ได้ 3 ปี ต้องปิดตัวลง 

"....โรงเรียนตั้งขึ้นได้สามปี ก็จำต้องหยุดกิจการ ไม่ใช่เพราะไม่มีผู้เรียน แต่เพราะผู้เรียนมากเกินความคาดหมาย ประกอบกับระยะนั้นข้าพเจ้ามีงานจำเป็นอื่นๆ หลายอย่างจะตรวจแก้ แนะนำให้แก่ผู้ศึกษาไม่ได้ละเอียดลออเหมือนก่อน จะให้คนอื่นช่วยก็ไม่ได้ ก็จำเป็นต้องหยุดกิจการ..."

โรงเรียนการประพันธ์นี้  ถือเป็นแนวคิดที่พยายามเชิญชวนให้คนไทยทั่วไปได้ฝึกหัดเป็น นักเขียน นักประพันธ์ และกวี  อาจคล้ายคลึงหรือเทียบเคียงได้กับคณะเรียนต่างๆ ในมหาวิทยาลัยปัจจุบัน คือ คณะอักษรศาสตร์ และคณะวารสารศาสตร์ เป็นต้น

นักเขียน, นักประพันธ์ และกวี
นักเขียน คือ ผู้ที่แสดงความคิดออกมาด้วยการเขียนเป็นหนังสือหรือลายลักษณ์อักษร
นักประพันธ์ คือ นักเขียนที่มีผลงานมากและมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของมหาชน
กวี คือ ผู้เชี่ยวชาญในศิลปะการประพันธ์บทกลอน อาจจำแนกออกเป็น 4 ประเภท คือ
  1. จินตกวี (แต่งโดยความคิด)
  2. สุตกวี (แต่งโดยได้ฟังมา)
  3. อรรถกวี (แต่งตามความจริง)
  4. ปฏิภาณกวี (แต่งกลอนสด) 

คุณลักษณะของนักเขียน นักประพันธ์
คุณลักษณะของนักเขียน นักประพันธ์ที่กล่าวไว้ในหนังสือฯ พอสรุปได้ดังนี้
  1. นักประพันธ์ต้องเป็นคนช่างฝัน หากผู้ใดไม่มีนิสัยช่างฝันแล้ว มีวิธีที่จะปลูกนิสัยช่างฝันได้ดังนี้
    1. สนใจเรื่องของคนอื่นให้มาก
    2. อ่านหนังสือให้มาก
    3. มองให้เห็นความงามของธรรมชาติและชีวิต
    4. หัดเขียนจดหมายยาวๆ ยิ่งเป็นจดหมายรักยิ่งดี
    5. หัดเขียนบันทึกประจำวัน
  2. มีพรสวรรค์และการเรียนรู้ หากผู้ใดคิดว่าตัวเองไม่มีพรสวรรค์ จงเปลี่ยนความคิดใหม่ ขอให้เชื่อว่า "พรสวรรค์สามารถสร้างได้" ด้วยการฝึกฝนอยู่เป็นประจำ นอกจากนั้นนักเขียนจะต้องขวนขวายหาความรู้อันจำเป็นที่จะนำมาเขียนเรื่องราวของตนเองตลอดเวลา ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อความถูกต้อง หรือใกล้เคียงความจริงมากที่สุด
  3. พยายามเขียนตามที่ตนถนัด ผู้เขียนลองสำรวจตัวเองว่าถนัดในแนวไหน เช่น สารคดี บทความ เรื่องสั้น นวนิยาย ละคร ฯลฯ หลังจากจับทางได้แล้วให้พยายามศึกษาหาความรู้ด้านนั้นๆ ให้กว้างขวางและลึกซึ้งขึ้น
  4. รู้จักอยู่ในโลกแห่งจินตนาการ หากเขียนแล้วมีคนอ่านก็ดัง หากเขียนแล้วไม่มีคนอ่านก็ดับ อย่างไรก็ดี นักเขียนหน้าใหม่ก็ไม่ควรท้อใจง่ายๆ นักประพันธ์ชื่อดังหลายคนก็เคยผ่านจุดดับมาแล้ว แต่เขาอาศัยความมานะพยายาม ไม่ท้อถอย จึงผ่านจุดนั้นมาได้
  5. เขียนให้ผู้อ่านร้องไห้ หัวเราะ และรอคอย การเขียนให้ผู้อ่านมีอารมณ์ร่วมถือว่าประสบความสำเร็จ ยิ่งผู้อ่านกระหายที่อยากจะรู้เรื่องต่อๆ ไป นั้นยิ่งเป็นความสำเร็จที่แท้จริง

เริ่มฝึกหัดเป็นนักเขียน
หลวงวิจิตรวาทการ กล่าวว่า ขั้นต้นของผู้ที่หัดเป็นนักประพันธ์ ก็คือ หัดเขียนพรรณาเสียก่อน โดยมีวิธีการอยู่ ดังนี้
  1. ฝึกเขียนพรรณาภูมิประเทศจากรูปภาพสู่ภูมิประเทศจริง   นำภาพภูมิประเทศมา 1 ภาพ ลองดูภาพ แล้วเขียนพรรณาสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในภาพอย่างละเอียด หลังจากนั้นปิดรูปภาพลง แล้วเอาข้อความที่เราเขียนนั้นมาลองวัดความรู้สึกดูว่า ในเวลาที่เราอ่านข้อความที่เราเขียนนั้น เรามีความรู้สึกเหมือนกันกับเวลาดูภาพนั้นหรือไม่  ถ้ายังไม่เหมือนก็แสดงว่ายังใช้ไม่ได้ ต้องเขียนใหม่จนกระทั่งแน่ใจว่า หากคนอื่นมาอ่านข้อความที่เราเขียน จะต้องมีความรู้สึกว่าได้เห็นภาพนั้นจริงๆ  เมื่อฝึกหัดจากรูปภาพดีแล้ว ก็ลองฝึกหัดจากภูมิประเทศจริงดู 
  2. ฝึกเขียนพรรณาในเรื่องคนจากภาพถ่ายสู่คนจริง เรื่องคนนับว่ายากกว่าภูมิประเทศ โดยขั้นแรกควรใช้ภาพคนก่อน ต่อไปจึงค่อยลองเขียนจากตัวคนจริงๆ ในขั้นแรกหัดพรรณาแต่รูปร่างหน้าตา ต่อมาภายหลังจึงค่อยพรรณาถึงกิริยาท่าทางถ้อยคำ และการพูดของคนนั้นๆ 
  3. ฝึกเขียนความรู้สึกในใจของตนเอง ขั้นนี้ค่อนข้างยาก มีวิธีฝึกได้หลายทาง เช่น   เดินเข้าไปในห้องๆ หนึ่ง ยืนอยู่สักประเดี๋ยวหนึ่ง และพิเคราะห์ดูว่าเรามีความรู้สึกอย่างไร เมื่อเราเข้าไปในห้องนั้น จำความรู้สึกอันนั้นไว้แล้วกลับมาเขียนความรู้สึกนั้นให้ถี่ถ้วน สถานที่ๆ จะฝึกหัดเช่นนี้ได้มีหลายแห่ง เช่น ในโรงมหรสพ ในที่ชุมนุมชน เวลากลัว เวลาหิว เวลาตกใจ เวลาโกรธ ใช้ฝึกได้ทั้งนั้น

ที่มาของภาพ http://www.marketingoops.com/
exclusive/how-to/5-simple-steps-to-better-writing/

การฝึกหัดที่หลวงวิจิตรวาทการกล่าวมานั้น ท่านบอกว่าเป็นการฝึกหัดเบื้องต้น นักเขียนต้องเข้าใจว่า สิ่งสำคัญที่สุดของนักเขียนนั้นคือ ความซื่อตรง เขียนไปตามความจริง และให้คนเข้าใจได้เท่ากับที่เป็นจริงๆ ต้องหัดแสดงความจริงเสียก่อน ส่วนความคิดประดิษฐ์โลดโผนนั้นจะมีภายหลัง ถ้าไม่หัดพรรณาอะไรให้ตรงตามความจริงเสียก่อน พอเริ่มต้นก็ประดิษฐ์โลดโผนแล้ว จะเป็นนักเขียนที่ดีไม่ได้เลย

อ่านต่อ มาเริ่มต้นเป็นนักเขียนกันเถอะ (ตอนที่ 2 ลงมือเขียน)  

*******************************
จุฑาคเชน : 30 ก.ค.2559

ที่มาข้อมูล
สมบัติ จำปาเงิน และสำเนียง มณีกาญจน์. (2539). หลักนักเขียน. กรุงเทพฯ  : ต้นอ้อ แกรมมี่