วันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ประวัติศาสตร์ชาติไทยในสมัยที่เรามีชีวิตอยู่

เหตุบ้านการเมืองของประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้  ล้วนแล้วแต่มีเหตุการณ์ที่น่าศึกษาเรียนรู้ทั้งสิ้น ตั้งแต่การปฏิวัติยึดอำนาจจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลนอมินี นายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์  ของกลุ่มพันธมิตรเสื้อเหลือง การก่อเหตุการณ์ร้ายเผาบ้านเผาเมืองต่อต้านอำมาตย์ของกลุ่มคนเสื้อแดง  การนำเขาพระวิหารไปขึ้นทะเบียนมรดกโลกของเขมร และความขัดแย้งเรื่องแนวชายแดน จนกระทั่งเป็นเหตุให้คนไทย 7 คนถูกจับไปขึ้นศาลเขมร การสุ่มเสี่ยงที่จะเสียดินแดนของประเทศไทยอีกครั้งให้แก่เขมร 

เหตุการณ์ที่ผ่านมาเราสามารถเรียกมันได้ว่าเป็น "ประวัติศาสตร์ชาติไทยในสมัยที่เรามีชีวิตอยู่"  มีหนังสือเขียนบันทึกเรื่องราวเหล่านี้ออกมาวางจำหน่ายเป็นจำนวนมากมาย...   แต่ท่านเชื่อไหมว่า "เด็กในโรงเรียนของเรา แทบจะไม่รู้เรื่องราวเหล่านี้เลย"

เหตุที่ผมกล้ากล่าวเช่่นนี้ เพราะผมได้ลองสุ่มตัวอย่างถามนักเรียนทั้งในระดับมัธยมศึกษา และระดับอุดมศึกษา จำนวนกว่า 10 คน ปรากฏว่ามีเพียง 3 คนที่ติดตามเหตุการณ์และพยายามศึกษาหาความรู้ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ นอกนั้นที่เหลือ แค่รู้ข่าว แต่ไม่ได้สนใจรายละเอียดมากนัก

ผมเคยพูดคุยกับครูอาจารย์ที่สอนวิชาประวัติศาสตร์ ว่า ทำไม?ไม่เอาเหตุการณ์เหล่านี้มาสอนเด็กๆ ก็มักจะได้คำตอบที่หลากหลายต่างมุมมองต่างทัศนะกัน เช่น
  • มันเป็นเรื่องของความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ควรนำมาสอนให้กับเด็กๆ ได้รับรู้
  • มันยังไม่ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ เพราะยังไม่มีหนังสือเล่มใดที่เขียนไว้และได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการให้นำมาสอนได้ 
  • มันยังไม่รู้ว่า ใครผิด ใครถูก ใครเป็นคนก่อเหตุ แล้วจะเอามาสอนเด็กๆ ได้อย่างไร
  • สอนไม่ได้หรอก เพราะเจ้านายเป็นพวกเสื้อแดง
  • สอนไม่ได้หรอก เพราะเจ้านายเป็นพวกเสื้อเหลือง
  • สอนไม่ได้หรอก เพราะเจ้านายเขาห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมือง 
  • สอนไม่ได้หรอก เพราะฉันเองก็เป็นพวกเสื้อแดง (หรือเสื้อเหลืองก็ตาม)
  • ฯลฯ
จริงๆ แล้วคำตอบของท่านครูอาจารย์เหล่านี้ก็ล้วนแล้วแต่มีเหตุผล...แต่ในส่วนตัวแล้วผมคิดว่าการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ควรมีหลักคิดที่ว่า "เป็นการเรียนรู้อดีต เพื่อนำมาบริหารงานในปัจจุบัน และสร้างสรรค์สิ่งดีดีในอนาคต" ซึ่งวลีนี้มีมานานแล้ว  และท่าน ว.วชิรเมธี ท่านก็ยังเคยเอามาเขียนเตือนสติอีกครั้งเมื่อปลายปีที่แล้ว

ในส่วนตัวผมแล้ว การเรียนวิชาประวัติศาสตร์ไม่จำเป็นต้องรอหนังสือหรือตำรา ครูอาจารย์สามารถนำเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนได้เลย เพียงแต่การเรียนประวัติศาสตร์ควรมีจุดมุ่งหมายที่ว่า
  • สอนให้เด็กคิด ไม่ใช่สอนให้เด็กเชื่อ  
  • สอนให้เด็กตั้งคำถามว่า "ทำไม" และให้พยายามหา "คำตอบ" ด้วยตนเอง
  • เด็กต้องสามารถถอดบทเรียนหรือข้อเท็จจริงในอดีต มาเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาในอนาคตได้
เหตุการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันนี้ คือ ประวัติศาสตร์ชาติไทยในสมัยที่เรามีชีวิตอยู่ หากครูอาจารย์ไม่นำมาสอนให้เด็กๆ ได้เรียนรู้อย่างเท่าทันสถานการณ์แล้ว เมื่อไหร่จึงจะได้สอน หรือจะต้องรอให้เป็นตำราเสียก่อน ทั้งๆ ที่หนังสือหนังหามีให้ค้นคว้าหาอ่านมากมาย ใยไม่นำมาสังเคราะห์ แล้วนำไปให้เด็กหัดคิดวิเคราะห์ต่อไป

ไม่แน่นะ?  ในวิชาประวัติศาสตร์ชาติเขมร  ครูเขมรเขาอาจจะสอนเด็กๆ ของเขาว่า "เมื่อก่อนประเทศไทย คืออาณาจักรของเขมร แต่ถูกยึดครองไป ดังปรากฏซากโบราณสถาน โบราณวัตถุและศิลปวัตถุของเขมร ปรากฏให้เห็นอยู่ปัจจุบันในประเทศไทยหลายสถานที่  เช่น พระปรางค์ ปราสาทขอม ฯลฯ ดังนั้นพวกเราชาวเขมรจำเป็นต้องช่วยกันทวงดินแดนของพวกเราคืนจากประเทศไทย"

แล้ววันนี้ ครูสอนวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย กำลังสอนอะไรอยู่???

เขียนโดย
ชาติชาย คเชนชล : 10 ก.พ.2554 

วันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ชีวิตของเด็กมัธยมปลาย

ลูกสาวผม กำลังจะจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6  และขณะนี้กำลังเครียดกับการสอบเข้าเรียนต่อในคณะยอดนิยมของมหาวิทยาลัยดังต่างๆของรัฐ...ตามที่เธอใฝ่ฝัน 

ภาพจำลองประกอบบทความ
ที่มา :
http://www.rd1677.com/backoffice/PicUpdate/62409.jpg
ผมเห็นเธอเครียดมาตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4  แล้ว กับการต้องรักษาเกรดเฉลี่ยทั้ง 3 ปี (GPA) อีกทั้งยังต้องเครียดกับการสอบความถนัดทั่วไป (GAT) และความถนัดเฉพาะทาง (PAT)   อีกไม่รู้กี่ครั้งเพื่อจะได้เอาคะแนนที่สูงสุดมาคำนวณ และยังมีคะแนนที่ทิ้งไม่ได้อีกเช่นกันคือ ONET ....ผมรู้สึกเครียดแทนเธอมาก...ไหนเขาบอกว่า เด็กๆ ควรเรียนรู้อย่างมีความสุข...

ผมเห็นเธอและเพื่อนๆ ต้องเสียเงิน..เสียเวลา..เรียนกวดวิชากับติวเตอร์ดังๆ ทั้งราชบุรีและกรุงเทพฯ ในช่วงเย็นบ้าง ช่วงเสาร์ - อาทิตย์บ้าง   ยิ่งช่วงปิดเทอมแล้วเด็กๆ เหล่านี้ ไม่ได้อยู่บ้านอยู่ช่องกันหรอกครับ หายตัวเข้าไปเรียนกวดวิชาในกรุงเทพฯ กันหมด  เหตุผลง่ายมาก เพราะหากไม่เรียน..คงสอบเข้าในคณะยอดนิยมของมหาวิทยาลัยดังต่างๆ ของรัฐ..ไม่ได้แน่...ชีวิตของเด็ก ม.4-6 สมัยนี้...มันช่างน่าสงสารจริงจริง...(ไม่ได้หมายถึงทุกคนนะครับ เพราะยังมีกลุ่มเด็ก ม.4-6 ที่ไม่เอาอะไรเลย..ก็มี) 

ลูกสาวผมมีความใฝ่ฝันที่จะเป็นหมอฟัน...ก็เลยไปสมัครสอบตรงของ กลุ่มสถาบันแพทย์ศาสตร์แห่งประเทศไทย(กสพท.) เพื่อเข้าเรียนในคณะแพทย์ศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ  อีก คราวนี้ยิ่งไปกันใหญ่ วันๆ คลุกอยู่แต่ในห้อง...หาซื้อหนังสือเกร็งข้อสอบ กสพท. มาอ่านอีกจำนวนหลายเล่ม..ทั้งๆ ที่หนังสือจากโรงเรียนกวดวิชาชื่อดัง และหนังสือติวข้อสอบ ONET, GAT, PAT ก็ยังอ่านไม่หมดเลย...ยิ่งเวลาไปสอบ กสพท.จริงๆ รู้สึกหนาว..เห็นมีแต่เด็กท่าทางเก่งๆ ทั้งนั้นมาจากทั่วประเทศ (แล้วเราจะสู้เขาได้ไหมเนี่ย..)

ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมานี้ เธอและเพื่อนๆ ต้องเที่ยวเหมารถวิ่งไปสอบตรงตามคณะยอดนิยมของมหาวิทยาลัยดังต่างๆ ที่เปิดสอบกันเป็นจ้าละหวั่น..บางคนก็ได้ตามที่ใฝ่ฝัน บางคนก็ผิดหวัง..ต้องรอยื่นแอดมิชชั่นกลาง....ซึ่งต้องกลับมาลุ้นกับการสอบ GAT/PAT อีกครั้งเผื่ออาจได้คะแนนสูงขึ้น รวมทั้งต้องทำคะแนนสอบ ONET ในแต่ละวิชาให้ดีอีกด้วยเพราะมีผลในการคำนวณเพื่อยื่นแอดมิชชั่นกลางทั้งสิ้น

ผมลองเรียบเรียงดูว่า การเรียนของลูกสาวผม ในช่วงชั้น ม.4-ม.6 นี้มีอะไรบ้าง? ที่ผมต้องจ่ายเพิ่มเติมจากการเรียนการสอนตามปกติในโรงเรียน
  • ค่าเรียนกวดวิชา ซึ่งจำไม่ได้ว่ากี่สถาบัน กี่วิชา เรียนกันทั้งในช่วงเย็น เสาร์-อาทิตย์ และช่วงปิดเทอม (ยิ่งอาจารย์ดังดัง..ก็ยิ่งแพง)
  • ค่าสมัครสอบ GAT/PAT (จำไม่ได้แล้วว่ากี่ครั้ง ???? เพื่อจะได้เอาคะแนนที่ดีที่สุด มาคำนวณ)
  • ค่าซื้อหนังสือเกร็งข้อสอบทั้งหลายทั้ง GAT,PAT,ONET,กสพท.ฯลฯ อีกจำนวนหลายเล่ม(จำไม่ได้) 
  • ค่าสมัครสอบตรง ตามมหาวิทยาลัยและสถาบันต่างๆ ซึ่งต้องเสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา ไหนจะค่าพาหนะ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ฯลฯ
  • ค่าความเครียดของตัวผมเอง รวมทั้งตัวลูกสาวด้วย (อันนี้ประเมินราคาไม่ได้เลยครับ)
ลูกสาวผมเอ่ยปากบอกผมว่า "เธออยากจะเขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า "ชีวิตของเด็กมัธยมปลาย" ซึ่งเธออยากจะบรรยายถึงความเครียด ความกลัว(ที่จะผิดหวัง) ความเบื่อหน่ายของการเรียนในโรงเรียนที่ไม่สนองตอบต่อการเรียนที่สูงขึ้น  ความเหนื่อยที่ต้องตะเกียกตะกายไปกวดวิชาเพื่อมาสอบแข่งขัน ฯลฯ"  ...ผมก็ให้กำลังใจเธอว่า...ลองเขียนดูก็ดีนะ...บางทีผู้หลักผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องเขาจะได้เข้าใจบ้าง... 

ความเครียดของเด็กจะจบ ม.6
ผมลองเรียบเรียงเรื่องราวที่ลูกสาวของผม ต้องทำต่อจากนี้ไป มาเป็นตัวอย่างว่า เธอจะต้องวางแผนทำอะไรบ้าง...และบางอย่างเธอก็ต้องตัดสินใจด้วยตัวเธอเองด้วย.. 
  1. เธอสอบตรง..ได้เรียนในคณะหนึ่ง ของมหาวิทยาลัยศิลปากร..แล้ว (มอบตัวเสียค่าธรรมเนียมต่างๆ เรียบร้อยแล้ว แต่ไม่ตัดสิทธิ์ในการยื่นแอดมิชชั่นกลาง)
  2. เธอสอบตรง..ได้เรียนในคณะหนึ่ง ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์..แล้ว (กำหนดมอบตัวและเสียค่าธรรมเนียมในวันที่ 7-11 ก.พ.2554 ที่จะถึงนี้ และที่สำคัญคือตัดสิทธิ์ในการยื่นแอดมิชชั่นกลาง)
  3. เธอต้องสอบ ONET ในวันที่ 19-20 ก.พ.2554 (ซึ่งมีผลนำไปใช้คำนวณการยื่นแอดมิชชั่นกลาง)
  4. เธอจะต้องสอบปลายภาคเรียนสุดท้ายปีการศึกษา 2553 วันที่ 21-25 ก.พ.2554 ให้ดีที่สุด เพื่อรักษาค่าเกรดเฉลี่ย (GPA) (ซึ่งมีผลนำไปใช้คำนวณการยื่นแอดมิชชั่นกลาง)
  5. เธอต้องวางแผนสอบ GAT/PAT อีกครั้งในวันที่ 5-8 มี.ค.2554 (เผื่ออาจได้คะแนนสูงขึ้นซึ่งมีผลนำไปใช้คำนวณการยื่นแอดมิชชั่นกลาง)
  6. ผลการสอบเข้าคณะแพทย์ศาสตร์ ของกลุ่มสถาบันแพทย์ศาสตร์แห่งประเทศไทย(กสพท.) ที่เธอสอบไว้ จะประกาศผลประมาณเดือนมีนาคม นี้
  7. เธอจะต้องยื่นคะแนน Admissions กลาง ประจำปีการศึกษา 2554 ในวันที่ 11-20 เม.ย.2554
  8. วันที่ 8 พ.ค.2554 ประกาศผล Admissions กลาง

ภาพจำลองประกอบบทความ
ที่มา : http://learners.in.th/blog/mink11/415532
ในห้วงเวลาตั้งแต่บัดนี้จนกระทั่งถึง 8 พ.ค.2554  ผมคิดว่าเป็นเวลาที่เด็ก ม.6 ทุกคน (ที่อยากเรียนในคณะยอดนิยมของมหาวิทยาลัยดัง) ล้วนทุกข์ทรมานกับการสอบ..อย่างแสนสาหัส และในบทสุดท้าย บางคนก็จะพบกับความสมหวัง แต่บางคนก็จะพบกับความผิดหวัง  จนบางครั้งผมแอบคิดในใจว่า "หากพวกเธอคิดเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยไหนก็ได้...ที่ไม่จำเป็นต้องยอดนิยม  ก็คงไม่ต้องเครียดกันถึงขนาดนี้"

และสิ่งที่ลูกสาวผมต้องตัดสินใจก็คือ ข้อ 2 หากตัดสินใจเรียนที่ ม.เกษตรศาสตร์ แล้ว..เขาจะตัดสิทธิ์ยื่นแอดมิชชั่นกลางทันที ..สิ่งที่ดีก็คือ ความเครียดทั้งมวลของลูกสาวก็จะหายไปในทันที....

แต่มันยังไม่ใช่สิ่งที่ลูกสาวผม "ชอบที่สุด"  มันอาจจะเรียกว่าแค่ "ชอบ"  ก็ได้....เธอยังอยากลองที่จะสู้และพิสูจน์ตัวเองอีกครั้งใน กสพท. และแอดมิชชั่นกลาง...เพื่อจะตามหาสิ่งที่เธอชอบที่สุด...ดังนั้นการตัดสิทธิ์ยื่นแอดมิชชั่นกลาง...จึงไม่ยุติธรรมต่อเธอเลย.... (แต่ผมก็ไม่รู้ว่าจะช่วยเธอได้อย่างไร) 

พฤติกรรมของลูกสาวและเพื่อนๆ ของเธอ ที่ผมเล่ามานี้ อาจจะสะท้อนอะไรได้หลายอย่างในระบบการศึกษาไทย อาทิ
  • การเรียนในโรงเรียน ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 นักเรียนไม่สามารถสอบแข่งขันเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำของรัฐ ได้ จึงต้องอาศัยการเรียนกวดวิชาเพิ่มเติม
  • คุณภาพของการศึกษาของแต่ละสถาบัน มีความแตกต่างกัน
  • ครู อาจารย์ ที่สอนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ยังขาดความสามารถในการสอนเพื่อสอบแข่งขันเข้าเรียนต่อ ส่งผลให้นักเรียนต้องหันไปกวดวิชาเพิ่มเติมเอาเอง
  • ผู้ปกครองที่มีเงิน มีโอกาสที่จะส่งลูกเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของรัฐ มากกว่าผู้ปกครองที่ไม่มีเงิน
  • ฯลฯ
สุดท้ายผมขอเป็นกำลังใจให้ลูกสาวของผม เพื่อนๆ ของเธอ และเด็ก ม.6 ทั่วประเทศทุกคน
ฝันให้ไกล ไปให้ถึง


เขียนโดย
จุฑาคเชน : 1 ก.พ.2554


************************************

ได้รับการเผยแพร่ต่อใน UniGang.com (http://www.unigang.com/Article/6809)