วันพุธที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2564

แค่เกษียณราชการ แต่อย่าเกษียณตัวเอง : Fine your passion

บทความนี้ เขียนขึ้นขณะที่ผมเหลือเวลารับราชการอีก 113 วัน ก่อนที่จะเกษียณราชการ โดยมุ่งหวังที่จะให้กำลังใจตัวผมเอง รวมทั้งผู้ที่จะเกษียณราชการ ในปี พ.ศ.2564 นี้ หรือผู้ที่เกษียณไปแล้ว และกำลังจะเกษียณในอีก 2-3 ปีข้างหน้า


สงบจิต คิดทบทวน
หากตั้งสมมติฐานว่า เราจะเสียชีวิตอายุ 80 ปี ดังนั้น หลังจากเกษียณราชการ เราก็ยังเหลือเวลาอีก 20 ปี คิดเป็นเวลา 1 ใน 4 ของชีวิต หรือ เหลือชีวิตอีก 25% เลยทีเดียว เราจึงต้องหันมาสงบจิตคิดทบทวนกันดูว่า "ชีวิตที่เหลือจะทำอะไร"

แค่เกษียณราชการ ไม่ได้หมายความว่าต้องเกษียณตัวเอง หากเราดูแผนภูมิชีวิต จะพบว่า การรับราชการเป็นเพียงห้วงเวลาหนึ่งของชีวิต คิดได้เพียงร้อยละ 47.50 ของเวลาทั้งหมด เวลาที่เราใช้ไปแล้วตั้งแต่เด็ก ๆ และตอนเรียนหนังสือ ร้อยละ 27.50  เวลาที่เหลือในชีวิตอีกร้อยละ 25 จึงควรทำให้มีคุณค่าสำหรับตัวเอง ตามที่เราชอบ ตามที่เราอยากทำ ตามที่เราฝัน อย่าเป็น คนสูงอายุหรือคนชรา (Older person) ที่เป็นภาระของผู้อื่น จงเป็นคนชราที่มีคุณค่า และพยายามบำรุงรักษาสุขภาพตัวเองให้ดีอยู่เสมอ  เพราะสุขภาพจะเริ่มเสื่อมถอยลงตามสภาพสังขารและกาลเวลา  ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถอธิบายได้ ตามภาพที่แสดงด้านล่าง


สังคมผู้สูงอายุ 
องค์การสหประชาชาติ (United Nations :UN) ได้ให้นิยาม ผู้สูงอายุ (Older person) หมายถึงประชากรทั้งเพศชายและหญิงที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป และได้แบ่งระดับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็น 3 ระดับ ได้แก่
  1. ระดับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) หมายถึง สังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีมากกว่าร้อยละ 7 ของประชากรทั้งประเทศ แสดงว่าประเทศนั้นกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
  2. ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) หมายถึงสังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศหรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปี มากกว่าร้อยละ 14 ของประชากรทั้งประเทศ แสดงว่าประเทศนั้นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์
  3. ะดับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-aged society) หมายถึงสังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า ร้อยละ20 ของประชากรทั้งประเทศ แสดงว่าประเทศนั้นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่
ทั้งนี้องค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่า ในช่วงปี 2544-2643 จะเป็นศตวรรษแห่งผู้สูงอายุ  ประเทศญี่ปุ่นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ ไปแล้วเมื่อ พ.ศ.2549 ตามด้วย อิตาลี (พ.ศ.2550) เยอรมัน สวีเดน (พ.ศ.2555)  ฝรั่งเศส (พ.ศ.2563) อังกฤษ (พ.ศ.2564) 

ส่วนประเทศไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติ สรุปว่า ไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 และคาดว่าจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ในช่วงปี พ.ศ.2567-2568

Fine your passion 
เพื่อให้คุณเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณค่า ผมขอแนะนำให้คุณ "ค้นหาความชอบของคุณ แล้วทำมัน" ที่ผ่านมาชีวิตคุณอาจคุ้นชินกับการมาทำงานตั้งแต่สองโมงเช้าเลิกสี่โมงเย็น หลังจากเกษียณราชการแล้ว คุณจะแค่รู้สึกเป็นอิสระในช่วงแรก ๆ  รู้สึกดี ไม่ต้องไปทำงาน แต่อีกไม่นานนัก คุณจะรู้สึกว่า ชีวิตตัวเองช่างไร้ค่าสิ้นดี วัน ๆ  ไม่มีอะไรจะทำ ชีวิตซ้ำซาก จำเจ  หลายคนเกิดความรู้สึกว่า ชีวิตช่างอับเฉา เงียบเหงา จนเกิดอาการซึมเศร้าไปเลยก็มี   

นอกเหนือจากกิจวัตรประจำวัน และงานอดิเรกที่คุณชอบแล้ว คุณลองหาความชอบความหลงไหลของคุณในด้านอื่น ๆ ให้พบ มันอาจจะทำให้ชีวิตคุณมีรสชาติมากขึ้น เช่น
  • ทำธุรกิจเล็ก ๆ ที่คุณชอบ โดยไม่ได้คาดหวังผลกำไรเป็นที่ตั้ง 
  • สมัครเป็นสมาชิกสมาคม องค์กร หรือชมรม  ที่คุณชอบ 
  • สมัครเป็นจิตอาสาทำงานให้ชุมชนและสังคม 
  • หารายได้จากการเล่นโซเซียลมีเดียต่าง ๆ 
  • เขียนหนังสือ บทความ เรื่องสั้น เรื่องเล่าของคุณ เพื่อถ่ายทอดให้คนรุ่นหลัง
  • รับเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจที่คุณถนัด
  • สมัครเป็นอาจารย์พิเศษ หรือวิทยากรบรรยายพิเศษในโอกาสต่าง ๆ 
  • เปิดสอนและอบรมหลักสูตรต่าง ๆ ที่คุณเชี่ยวชาญ
  • ร่วมเป็นคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน ด้านต่าง ๆ ให้สังคม
  • เป็นแกนนำจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ในหมู่เพื่อน ๆ 
  • ฯลฯ

วิธีค้นหา Passion ลองฝึกทำตามขั้นตอน ดังนี้ 
  1. อะไรคือสิ่งที่คุณรัก (What you love) ลองเขียนกิจกรรมเอาไว้สัก 10 รายการ
  2. สิ่งใดที่คุณทำได้ดี (What you're good at) ลองเลือกกิจกรรมตามข้อ 1 เรียงลำดับดูว่ากิจกรรมใดที่คุณทำได้ดี จากมากไปหาน้อย 
  3. กิจกรรมในฝันของคุณคืออะไร (Just a dream) ลองดูผลจากข้อ 2 ว่าใช่กิจกรรมในฝันของคุณจริง ๆ หรือไม่
  4. กิจกรรมใดที่ทำให้คุณมีความสุขแต่มันทำยาก (Happy but poor) กิจกรรมในฝันตามข้อ 3 หากทำยากให้ตัดทิ้งไป
  5. ถึงแม้จะทำให้รวย แต่ก็รู้สึกเบื่อหรือไม่ชอบ (Rich but bored) กิจกรรมประเภทนี้ ไม่ใช่ Passion ของคุณแน่นอน
  6. คุณจะจ่ายให้กิจกรรมไหนดี (What pays well) ตัดสินใจว่าจะเลือกลงทุนทำกิจกรรมไหนดี ตามขีดความสามารถในการจ่ายของคุณเอง
เมื่อทำตามขั้นตอนทั้ง 6 ข้อ คุณจะได้กิจกรรมตาม Passion ของคุณ ต่อจากนั้นให้เริ่มศึกษาค้นคว้าข้อมูลต่าง ๆ (Start Researching) ให้รอบคอบ แล้วลงมือทำ (Implement)


ขอให้พึงระลึกเสมอกว่า อายุ 60 ปี ก็แค่เปลี่ยนจากงานราชการ ไปเป็นงานที่ตัวเองชอบ จงทำตัวเองให้มีคุณค่าและเป็นคนชราที่มีคุณภาพอยู่เสมอ

*********************************
จุฑาคเชน : 9 มิ.ย.2564 

ที่มาข้อมูล
  • https://www.stou.ac.th/stouonline/lom/data/sec/Lom12/05-01.html