วันจันทร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2561

อธิษฐานรักที่ผานกเงือก

เมื่อวันที่ 27 ม.ค.2561  ผมมีโอกาสได้พาทีมผลิตรายการ "ซูเปอร์เวียร์"  ซึ่งออกอากาศทางช่อง 7 ในช่วงวันหยุดนักขัตฤกษ์ต่างๆ ไปพบกับกลุ่มคนที่น่ายกย่องกลุ่มหนึ่ง ที่เรียกตัวเองว่า "กลุ่มรักนกเงือก บ้านบางกะม่า" (ดูเพจ)   จากการที่ได้พูดคุยและสนทนากันแล้ว รู้สึกชื่นชมในความตั้งใจของคนกลุ่มนี้  ที่พยายามจะอนุรักษ์เผ่าพันธุ์ของนกเงือก  มิให้สูญหายไปจากการทำลายของน้ำมือมนุษย์อย่างพวกเรา



บ้านบางกะม่านี้เป็นกลุ่มบ้านชาวกะเหรี่ยงเล็กๆ ตั้งอยู่เรียงรายบนสันเขาตะนาวศรี เป็นส่วนหนึ่งของ บ้านโป่งกระทิงบน หมู่ 1 ต.บ้านบึง อ.บ้านคา จ.ราชบุรี   "บางกะม่า" เป็นภาษากะเหรี่ยงแปลว่า "หนองน้ำหรือสระน้ำ"  กลุ่มรักนกเงือกฯ นี้ ส่วนใหญ่เป็นคนในบ้านโป่งกระทิงบนนั่นเอง อยู่มาตั้งแต่เกิดจนเติบใหญ่ กลุ่มคนเหล่านี้ รวมตัวกันเพื่อที่จะอนุรักษ์ผืนป่าแห่งบ้านคาไว้ให้อุดมสมบูรณ์  โดยเฉพาะ "นกเงือก" ที่กำลังจะสูญพันธ์

ภาพนกเงือกที่บางกะม่า



ภาพนกเงือกที่บางกะม่า
ภาพจาก FB กลุ่มรักนกเงือก บ้านบางกะม่า 
นกเงือก ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความรักและความซื่อสัตย์  หากพบนกเงือกที่ไหน แสดงว่าที่นั่นยังคงเป็นผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์  ในประเทศไทยพบนกเงือกประมาณ 13 สายพันธ์ แหล่งที่พบเห็นได้มีไม่มากนัก และที่ "ผานกเงือก" แห่งบ้านบางกะม่า นี้ ถือเป็นอีกแหล่งหนึ่งที่สามารถพบเห็นนกเงือกได้ประมาณ 4 สายพันธ์   

ซ่อมโพรงให้นกเงือก
ภารกิจปัจจุบันของกลุ่มรักนกเงือกฯ ขณะนี้ก็คือ การซ่อมโพรงให้นกเงือก เนื่องจากนกเงือกเมื่อลูกๆ เจริญเติบโตบินได้แล้วก็จะอพยพทั้งครอบครัวไปหากินตามผืนป่าต่างๆ ที่มีความอุดมสมบูรณ์  ทิ้งโพรงไว้ให้ร้าง ปีหน้าพอถึงฤดูผสมพันธ์ก็จะกลับมาใหม่ โพรงที่เคยอยู่อาศัยเดิมอาจจะตันและตื้นเขินไป  ไม่สามารถอยู่ได้  

ตามต้นไม้ใหญ่สูงๆ แถบบ้านบางกะม่านี้ จึงมีโพรงนกเงือกร้างให้เห็นอยู่มาก กลุ่มรักนกเงือกฯ จึงได้พยายามซ่อมแซมโพรงร้างเหล่านี้ให้กว้างและลึกมาก เพียงพอให้นกเงือกกลับมาใช้ทำรังเพื่อเลี้ยงลูกในฤดูกาลต่อไป  (นกเงือกไม่มีความสามารถในการเจาะโพรงไม้ อย่างนกหัวขวาน โดยเฉพาะต้นไม้ที่มีเนื้อแข็ง)  

เนื่องจากโพรงนกเงือกที่จะอยู่บนต้นไม้ค่อนข้างสูง ผู้ที่ทำการซ่อมจึงจำเป็นต้องมีทักษะในการปีนป่ายในที่สูง ต้องใช้เชือก อุปกรณ์ และเทคนิคในการปีนหน้าผามาช่วยเหลือเพื่อความปลอดภัย

ซ่อมโพรงนกเงือก
ภาพจาก FB กลุ่มรักนกเงือก บ้านบางกะม่า 
"หากเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ มีนกเงือกกลับมาอาศัยโพรงที่พวกเขาซ่อมแซมแล้ว ก็จะถือความเป็นความสำเร็จอีกขั้นหนึ่ง ในการสร้างรังให้นกเงือก"  นี่เป็นความหวังหนึ่งของกลุ่มรักนกเงือก บ้านบางกะม่า


โพรงที่ทำการซ่อมแซม
ภาพจาก FB กลุ่มรักนกเงือก บ้านบางกะม่า 
ผมเห็นกิจกรรมมากมาย ที่ กลุ่มรักนกเงือก บ้านบางกะม่า  ทำ  เลยถามว่า มีงบประมาณจากไหนมาสนับสนุนให้บ้าง เขาตอบว่า ไม่มีหรอกครับ พวกเราช่วยกัน ทำด้วยใจรักในผืนป่าและบ้านเกิด ส่วนมากจะใช้เงินของตัวเองและทรัพยากรที่พอมีอยู่มาดัดแปลง บางครั้งบางคราวก็มีผู้มาสนับสนุนบ้าง สำหรับอุปกรณ์ปีนป่ายสำหรับซ่อมโพรงนกเงือกที่เห็นนั้น มีผู้ใหญ่ใจดีบริจาคให้พวกเรามา บางอย่างเราก็ซื้อกันเอง (ผมฟังแล้ว นึกเสียดายงบประมาณบางโครงการที่ทิ้งๆ ขวางๆ ของบรรดาส่วนข้าราชการทั้งหลาย  ทำไม? ไม่หันมาสนับสนุนกิจกรรมดีดีแบบนี้บ้างนะ)         

ทางกลุ่มฯ เล่าต่อว่า การสร้างโพรงให้นกเงือก หากไม่มีโพรงไม้เก่าก็สามารถสร้าง "รังเทียม" ให้นกเงือกได้ โดยใช้ถังไวน์เก่า ขึ้นไปแขวนแทน ซึ่งกลุ่มรักนกเงือกฯ นี้  กำลังพยายามเช่นกัน เห็นว่ากำลังจะมีคนบริจาคถังไวน์ให้  แต่ก็ยังไม่รู้เมื่อไหร่

ที่มาของภาพ โครงการพัฒนาโพรงรังเทียมนกเงือกจากถังไวน์เก่า
  
อธิษฐานรักที่ผานกเงือก
การที่จะพบเห็นนกเงือกนั้น ค่อนข้างลำบาก ที่บ้านบางกะม่านี้  พื้นที่ที่สามารถชมนกเงือกได้เขาเรียกว่า "ผานกเงือก" ซึ่งต้องเดินป่าขึ้นเขาจากสำนักสงฆ์บางกะม่า ไปอีกประมาณ 2-3 ชั่วโมง แล้วแต่เดินช้าเดินเร็ว และขึ้นไปแล้วก็ใช่ว่าจะได้เห็นเขานะครับ มันอยู่ที่จังหวะและโอกาส แต่ถึงจะไม่ได้เห็นนกเงือก เพียงแค่ได้ชมทิวทัศน์ของเทือกเขาตะนาวศรี ได้สูดกลิ่นอายของป่า สัมผัสอากาศเย็นและสายหมอกสีขาว แค่นี้ก็เติมพลังให้ชีวิตได้แล้วครับ     

เนื่องจากนกเงือก เป็นสัญญลักษณ์แห่งความรักและความซื่อสัตย์ ในวันวาเลนไทม์ ที่จะถึงนี้ หากหนุ่มสาวหรือสามีภรรยาคู่ใด ที่ต้องการให้ความรักของตนเองพบกับความสำเร็จสมหวัง ต่างมีรักเดียวใจเดียว อยู่กินด้วยกันจนถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชร ดั่งเช่นนกเงือก  ก็ลองหาโอกาสไปอธิษฐานรักที่ "ผานกเงือก" ดู ซึ่งอาจเป็นเรื่องราวดีๆ ที่จะบันทึกไว้ในชีวิตรักของแต่ละคนอีกบทหนึ่งก็ได้  

บริเวณที่ซ่อมโพรงนกเงือก ยังมีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ 

วันรักนกเงือก
วันที่ 13 ก.พ. ของทุกปี จะเป็น "วันรักนกเงือก" ท่านใดที่ประสงค์ที่ต้องการจะสัมผัสกับชีวิตรักของนกเงือกที่บ้านบางกะม่า ควรที่จะประสานและติดต่อล่วงหน้ากับทางกลุ่มรักนกเงือก บ้านบางกะม่า นี้เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง และจะได้ทราบข้อมูลที่ถูกต้อง ว่าอะไรคือสิ่งที่ควรปฏิบัติและอะไรคือสิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติ ในระหว่างการเดินป่าเยี่ยมชม      

ในวันแห่งความรัก (14 ก.พ.) ที่จะถึงในปีนี้ 
ลองไปอธิษฐานรักที่ "ผานกเงือก" กันดูนะครับ    


แกนนำกลุ่มรักนกเงือก บ้านบางกะม่า
ภาพจาก FB กลุ่มรักนกเงือก บ้านบางกะม่า 

*****************************
ชาติชยา ศึกษิต : 29 ม.ค.2561

วันพฤหัสบดีที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2561

ํYou can't develop Thailand alone but we can.

ผมไม่ทราบว่าตนเอง รู้สึกสนใจเรื่อง "การเมือง" ตั้งแต่เมื่อใด  เดิมก็คิดว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆ แล้ว ผมคิดผิด แท้จริงมันเกี่ยวพันกับตัวเรา มาตั้งแต่เกิดจนกระทั่งถึงปัจจุบัน


ตอนเด็กๆ ผู้ใหญ่และครูบาอาจารย์ เคยเล่าให้ฟังถึงคุณงามความดีของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม , จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และอีกหลายคนให้ฟัง แต่พอโตขึ้นมา ผมลองศึกษาประวัติของท่าน จากหนังสือและเอกสารต่างๆ ในหลากหลายแง่มุุม  ผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่อย่างที่ท่านเล่า 

คณะราษฎร ที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.2475 ดูเหมือนจะเป็นการ Start up ประเทศไทยใหม่เพื่อความศิวิไลซ์ในระบอบการปกครองที่เรียกว่า "ประชาธิปไตย" จนล่วงมาบัดนี้ รวม 86 ปีแล้ว ผมคิดว่ามันไม่ไปถึงไหนเลย  "อำนาจไม่เคยอยู่ในมือประชาชนอย่างแท้จริง  ส่วนอำนาจที่แท้จริงอยู่ในมือของกลุ่มคนที่ได้ขึ้นมาปกครอง"  

เหตุการณ์รัฐประหารที่ผมพอจะจำได้ เพราะเริ่มโตแล้ว
  • 14 ต.ค..2516 ตอนนั้นผมยังเรียนชั้น ม.ศ.1  เกิดเหตุการณ์ "วันมหาวิปโยค" เรียกร้องรัฐธรรมนูญ ขับไล่ จอมพลถนอม กิตติขจร  จอมพลประพาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร เหตุการณ์นี้ ผมคอยฟังข่าวอย่างตื่นเต้น แต่ไม่ได้มีส่วนร่วมใดๆ  ห้วงเวลานั้นทราบว่า เวลาทหารจะเดินทางไปไหนมาไหน ไม่กล้าแต่งเครื่องแบบ เพราะกลัวจะโดนประชาชนชนรุมด่ารุมทำร้าย  
  • 6 ต.ค.2519 ผมเริ่มเข้าโรงเรียนทหาร เกิดเหตุการณ์ต่อต้านการเดินทางกลับประเทศไทยของ จอมพลถนอม กิตติขจร และเกิดการรัฐประหาร นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจจากรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เรียกตัวเองว่า "คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน" ตอนนั้นผมก็ได้แต่คอยฟังข่าวสาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข่าวจากทางกองทัพฝ่ายเดียว ข่าวฝ่ายประชาชนไม่เคยทราบเลย และผมไม่ได้มีส่วนร่วมใดๆ ได้แต่เตรียมพร้อมอยู่ในกรมกอง 
  • 26 มี.ค.2520 เกิดเหตุการณ์กบฎพลเอกฉลาด หิรัญศิริ  ตอนนี้ ผมเริ่มตั้งคำถามในใจว่า ทำไม พลเอก ฉลาดฯ จึงพยายามจะทำการปฏฺิวัติฯ  บ้านเมือง มันเกิดอะไรขึ้น แต่เผอิญท่านทำไม่สำเร็จก็เลยถูกตราหน้าว่าเป็น "กบฏ"
  • 20 ต.ค.2520 เกิดการรัฐประหารอีกครั้ง นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เข้ายึดอำนาจรัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร 
  • 23 ก.พ.2534 การรัฐประหาร นำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ยึดอำนาจรัฐบาลจาก พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งเรียกคณะตัวเองว่า คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ" (รสช.) 
  • พ.ศ.2535 เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ นำโดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ต่อต้าน พล.อ.สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรีที่มาจากคนนอก   
เหตุการณ์ที่ผมมีส่วนร่วมโดยตรง 
การรัฐประหารที่กล่าวมา ส่วนใหญ่ ผมจะถูกสั่งให้แค่เตรียมพร้อมอยู่ในกรมกอง ส่วนเหตุการณ์ที่ผมเข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรง มีดังนี้ 
  • พ.ศ.2548 เกิดปรากฏการณ์พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กลุ่มคนเสื้อเหลือง) นำโดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล  ลุกขึ้นมาขับไล่รัฐบาลและระบอบทักษิณ งวดนี้ผมแอบไปร่วมชุมนุมด้วยครับ   
  • 19 ก.ย.2549 เกิดการปฏิวัติ นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการ จาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร  เรียกตัวเองว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) 
  • พ.ศ.2550 เกิดการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “กลุ่มคนเสื้อแดง” ใช้วาทะกรรม "ไพร่และอำมาตย์" เป็นเงื่อนไข   
  • พ.ศ.2556 เกิดปรากฏการณ์ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) นำโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ครั้งนี้ ผมก็แอบไปร่วมเป่านกหวีดด้วยเหมือนกัน 
  • 22 พ.ค.2557 เกิดการรัฐประหาร นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเรียกคณะตัวเองว่า  คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

จากวันนั้น ถึงวันนี้ ประเทศไทยได้อะไร
จากการทำรัฐประหารของบรรดาขุนพลทหารทั้งหลาย ตั้งแต่ พันเอกพระยาทรงสุรเดช (เมษายน 2476) พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (มิถุนายน 2476)  จอมพลผิน ชุณหะวัณ (2490 และ 2491) จอมพลแปลก พิบูลสงคราม (2494) จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (2500 และ 2501) จอมพลถนอม กิตติขจร · (2514)  พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ (2519 และ 2520) พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ (2534) พลเอกสนธิ บุณยรัตกลิน (2549) และคนสุดท้ายคือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (2557) รวมแล้ว  10 ขุนพล  

หากเราลองนั่งสงบจิตคิดทบทวนดูด้วยใจเป็นกลางว่า
หลังจากรัฐประหารแล้ว ประเทศไทยได้อะไรบ้าง?  

ในความเห็นส่วนตัว ผมว่าคิดว่ามันเป็นการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองในช่วงเวลานั้นๆ  แต่กลับไม่ส่งผลต่อการพัฒนาบ้านเมืองในระยะยาวและมีความยั่งยืนแต่อย่างใด ประเทศไทยจึงไม่ได้พัฒนาไปถึงไหนเสียที ผิดกับประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศที่เราเคยดูแคลนเขา กลับพัฒนานำหน้าเราไปกันเกือบหมดแล้ว 

ฤา มันเพียงเป็นแค่วงจรเดิมๆ ซ้ำไปซ้ำมา มีอำนาจแล้วก็ถูกชิงอำนาจ เป็นงูกินหางเช่นนี้ตลอดไป ประเทศเราไม่เคยหลุดพ้นจากมันเลย และสถานการณ์การเมืองขณะนี้  ก็กำลังจะเข้ารูปเดิมอีกแล้ว  ที่กระทำรัฐประหาร...แล้วเสียของ 



ที่มาของภาพ http://www.lazerface.net/justiceleaguerunbkk/

You can't Develop Thailand alone.
ผมว่า คนไทยทุกคนล้วนรักประเทศไทย แต่เราไม่เคยพยายามให้ทุกคนได้รับโอกาสและมีส่วนร่วม มาช่วยกันคิดเพื่อพัฒนาประเทศของเราอย่างจริงจัง  ผู้ที่มีอำนาจมักมองเห็นว่าความคิดของตนเองและพรรคพวกนั้นดีและถูกต้องเสมอ ไม่ค่อยยอมรับฟังข้อคิดเห็นจากคนอื่นๆ  หากใครคิดต่าง ถือว่าไม่ใช่พวก  ผู้มีอำนาจมักชอบผูกขาดว่า "วิธีของเขาเท่านั้น ที่จะพัฒนาประเทศไทยได้" รัฐธรรมนูญไม่รู้กี่ฉบับ ถูกฉีกทิ้งและเขียนขึ้นใหม่จากผู้มีอำนาจใหม่เสมอ  แล้วมันจะเป็นเช่นนี้เรื่อยไปจนถึงเมื่อใดไม่ทราบได้       
ประเทศไทยมีคนเก่งอยู่มากมาย ในทุกสาชาวิชาชีพ เราจะทำอย่างไร จะให้คนไทยเหล่านั้น ได้มีโอกาสและมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศไทยอย่างแท้จริง    ไม่ใช่เอาแต่พรรคพวกและคนใกล้ตัวมานั่งบริหารประเทศ 

คุณไม่สามารถพัฒนาประเทศไทยได้เพียงลำพังหรอก เราต้องช่วยกัน
You can't develop Thailand alone but we can.

******************************
ชาติชาย คเชนชล : 25 ม.ค.2561 

วันพุธที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2561

หา Passion ตัวเองให้เจอ

คำว่า Passion นี้ หากแปลเป็นไทย ตามความหมายของพจนานุกรมแปล อังกฤษ-ไทย ของ อ. สอ เสถบุตร แล้วแปลว่า กิเลส, ความโลภ โกรธ หลง, ตัณหา, เจ้าโมโห, ชอบ, เต็มไปด้วยความรู้สึกอย่างดูดดื่ม, หลงใหล  อ่านดูแล้วจะค่อนข้างมีความรู้สึกไปในทางลบ แต่ในยุคเศรษฐกิจดิจิตอล หรือประเทศไทย 4.0 นี้ ถือว่าเป็นหัวใจของธุรกิจเลยทีเดียว 



คุณลักษณะของผู้ประกอบการธุรกิจในยุคดิจิตอลนี้ กูรูทางธุรกิจหลายสำนักบอกว่า ต้องเริ่มต้นจาก Passion ของตนเองเสียก่อน ซึ่งอาจแปลได้ว่า  "ความหลงไหลหรือความชอบ"     

หากคุณยังหา Passion ของตัวเองไม่พบ ยากมากที่คุณจะทำธุรกิจในยุคนี้ 

หา Passion ตัวเองให้เจอ
ในปัจจุบัน มีคนหลายกลุ่มที่มี Passion ของตัวเอง เช่น หลงไหลในการวิ่ง หลงไหลในการขี่จักรยาน หลงไหลในการขับขี่มอเตอร์ไซต์คันใหญ่ๆ หลงไหลในการท่องเที่ยวไปตามสถานที่ต่างๆ หลงไหลในการใช้ชีวิตกลางแจ้ง หลงไหลในการเดินป่าดำน้ำ หลงไหลในการใช้ชีวิตแบบผจญภัย หลงไหลในการใช้เทคโนโลยี หลงไหลในการดูหนังฟังเพลง ฯลฯ  ความหลงไหลเหล่านี้เอง ก่อให้เกิดกิจกรรมมากมายในสังคม และก็ยังก่อให้เกิดธุรกิจในด้านนั้นๆ ตามไปด้วย

หากคุณขี่จักรยานไม่เป็น คุณไม่มีทางที่จะทำธุรกิจขายจักรยานได้
หากคุณไม่เคยออกไปเดิน-วิ่ง คุณไม่มีทางที่จะทำธุรกิจขายรองเท้าวิ่งได้
หากคุณไม่เคยเดินป่า คุณก็จะไม่มีทางจะทำธุรกิจขายอุปกรณ์เดินป่าได้ เช่นกัน 
ฯลฯ



ตัวผมเองอายุจวนจะใกล้  60 ปี แล้ว ผมยังคิดว่า ผมยังหา Passion ของตนเองไม่พบเช่นกัน ขณะนี้ ผมกำลังพยายามทำหลายอย่างมาก เช่น การจัดทำพิพิธภัณฑ์ การจัดตั้งวงดนตรีเล็กๆ การสอนการดำน้ำลึก การจัดตั้งสถาบันเพื่อการจัดการความรู้  การเป็นนักเขียน  นักเป็นนักถ่ายทำสารคดี การบินโดรนเพื่อถ่ายภาพทางอากาศ  ฯลฯ  และก็ยังมีอีกหลายอย่างที่อยากจะทำ คือ การเป็นไกด์นำเที่ยว การเป็น Curator แกลเลอรี่แสดงงานศิลปะ เป็นต้น  

เชื่อไหมครับ? ว่าขณะนี้ ผมยังทำมันไม่สำเร็จสักอย่างเลย แสดงว่าผมมีความหลงไหล (เทียม) มากเกินไป เลยหาความหลงไหล (จริงๆ)  ไม่ได้เสียที  มีแต่ "ความอยาก"ระคนปนเปกับ "ความฝัน" เต็มไปหมด     

Follow Your Passion
หลายคนที่มีงานทำอยู่ในขณะนี้ อาจเป็นแค่ทำงานเพื่อหาเงินเลี้ยงชีพ แต่อาจไม่ได้ทำงานที่ตัวเองรักหรือชอบจริงๆ  คนรุ่นหนุ่มสาวหลายคนเปลี่ยนงานเป็นว่าเล่น  หลายคนก็ลาออกจากงานมาประกอบอาชีพส่วนตัวที่รักและชอบ  บ้างก็สำเร็จ บ้างก็ล้มเหลว  นั่นอาจเป็นเพราะพวกเขายังหา Passion ของตนเองไม่พบ   



กล้าที่จะเดินไปตามฝันตนเอง
ผมอยากให้คนรุ่นหนุ่มสาวสมัยใหม่ กล้าที่จะเดินไปตามฝันของตัวเอง แต่เขาจะต้องหา Passion ที่แท้จริงให้พบแล้วจึงค่อยเดินไป ที่ประเทศไทยเราไม่พัฒนาก้าวไปไหนเหมือนประเทศอื่นๆ  อาจเป็นเพราะค่านิยมเก่าๆ ที่พยายามปลูกฝังไว้ คือ การได้เป็นข้าราชการ เป็นทหาร เป็นตำรวจ เป็นเจ้าคนนายคน การมีงานทำที่มั่นคง     

ปัจจุบัน ระบบนิเวศน์ทางการศึกษา สังคมเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจของประเทศไทย ไม่เอื้ออำนวยให้คนรุ่นใหม่ กล้าที่จะคิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อที่จะรังสรรค์สรรค์งานใหม่ๆ  ตาม Passion ของตนเอง หากเป็นเช่นนี้แล้ว การที่จะเป็น Start up ในยุคไทยแลนด์ 4.0 คงยากที่จะเกิดขึ้น คนไทยคงเป็นได้แค่ "ผู้ใช้ ผู้ซื้อ ผู้บริโภค" เหมือนเดิม ไม่สามารถที่จะยกตนเองให้กลายเป็น "ผู้ผลิต" ได้  

จงตามหา Passion ตัวเองให้เจอ

******************  
จุฑาคเชน : 17 ม.ค.2561    

วันพฤหัสบดีที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2561

อย่ารักเด็กแค่วันเดียวต่อปี หากรักเด็กจริงต้องสร้างครู

รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี
เป็นคำขวัญวันเด็กแห่งชาติ  ประจำปี 2561 ของ พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย คนที่ 29 ซึ่งมอบให้เด็กๆ สมัยปัจจุบัน นำไปใช้เป็นแนวทางในการประพฤติและปฏิบัติตัว 




งานวันเด็กแห่งชาติ เริ่มจัดครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2498 ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยข้อเสนอของ นาย วี เอ็ม กุลกานี ผู้แทนองค์กรสมาพันธ์เพื่อสวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศ ในขณะนั้น (อ่านรายละเอียด ซึ่งพอที่จะสรุปวัตถุประสงค์สำคัญได้ 2 ประการ คือ
  1. สำหรับผู้ใหญ่ : ให้ตะหนักถึงความสำคัญของเด็ก ที่จะต้องช่วยกันสร้างให้เขาเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นคนดี เพื่อพัฒนาบ้านเมืองแทนตนเองต่อไป 
  2. สำหรับเด็ก : ให้ตระหนักถึงความสำคัญของตนเองที่จะต้องเป็นคนดีของสังคม  เพราะเมื่อเติบโตขึ้นมา จะต้องทำหน้าที่พัฒนาบ้านเมืองแทนผู้ใหญ่ต่อไป      
หากลองนำคำขวัญวันเด็กแห่งชาติ ตั้งแต่ พ.ศ.2499 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน รวมแล้ว 19 นายกรัฐมนตรี จำนวน 54 คำขวัญ มาเรียบเรียงเจตนารมณ์ของนายกรัฐมนตรีแต่ละท่าน แต่ละยุคสมัย จะสามารถจัดกลุ่มของคำขวัญที่นายกรัฐมนตรีไทย ที่อยากจะให้เด็กไทยเป็น โดยเรียงตามลำดับความถี่ ได้ดังนี้
  1. มีความรักเรียน ขยันเรียน ใฝ่หาความรู้ (31 ครั้ง)
  2. เป็นเด็กดี ใฝ่ดี มีความประพฤติเรียบร้อย  (14  ครั้ง)
  3. เป็นเด็กที่มีระเบียบวินัย (14 ครั้ง)
  4. กล้าคิด กล้าพูด อย่างสร้างสรรค์ (14 ครั้ง)
  5. เป็นเด็กที่มีคุณธรรม (11 ครั้ง)
  6. เป็นความหวังในการพัฒนาชาติต่อไป  (9 ครั้ง)
  7. มีความรัก สามัคคี (9 ครั้ง)
  8. มีความซื่อสัตย์ สุจริต (7 ครั้ง)
  9. รู้จักการประหยัด (6 ครั้ง)
  10. มีความรักชาติ (5 ครั้ง)
  11. มีความนิยมไทย รักษาความเป็นไทย (4 ครั้ง)
  12. เป็นเด็กฉลาด (4 ครั้ง)
  13. เป็นเด็กที่มีความมานะ อดทน (3 ครั้ง)
  14. มีความรักในศาสนา (3 ครั้ง)
  15. มีความรักในสถาบันพระมหากษัตริย์ (3 ครั้ง)
  16. รู้จักหน้าที่ของตนเอง (3 ครั้ง)
  17. รักษ์และสืบสานวัฒนธรรมไทย (3 ครั้ง)
  18. หลีกเหลี่ยงอบายมุขและยาเสพติด (3 ครั้ง)
  19. บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์  มีจิตสาธารณะ  (2 ครั้ง)
  20. ยึดมั่นการปกครองระบอบประชาธิปไตย (2 ครั้ง)
  21. รักษาสิ่งแวดล้อม (2 ครั้ง)
  22. อื่นๆ เช่น รักความสะอาด มีสัมมาคารวะ แข็งแรง รักพ่อแม่ ใช้ชีวิตพอเพียง รอบคอบ กตัญญู (อย่างละ 1 ครั้ง)
จะเห็นได้ว่า ความอยากที่จะเด็กไทยรักเรียน ขยันเรียน หมั่นใฝ่หาความรู้ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่นายกรัฐมนตรีเกือบทุกยุค ทุกสมัย คาดหวัง  รองลงมาคือ การเป็นคนดี การเป็นเด็กที่มีระเบียบวินัย การเป็นเด็กที่กล้าคิด กล้าพูด  ตามลำดับ




การให้ศึกษา จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดสำหรับเด็ก
จากผลสรุปคำขวัญคำเด็กของนายกรัฐมนตรีฯ  ที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า การให้ศึกษาแก่เด็ก ถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ที่รัฐจะต้องจัดให้แก่เด็กอย่างมีประสิทธิภาพ  แต่ ทำไม? จนถึงวันนี้ การศึกษาไทยก็ยังมีปัญหาอยู่ดี การปฏิรูปการศึกษา ผ่านมากี่ยุค กี่สมัย กี่รัฐบาล ยังไม่สำเร็จเสียที  สังเกตุได้ว่า ไม่เคยมีประเทศไหนเอาตัวอย่างระบบการจัดการศึกษาของไทยไปใช้เป็นตัวอย่างเลย  มีแต่เราพยายามจะไปลอกเลียนแบบเขามา แต่ก็ไม่เห็นสำเร็จสักที ก็เป็นที่น่าสงสัยอยู่เหมือนกันว่า ผู้บริหารบ้านเมืองของเรา กำลังสาละวนทำเรื่องอะไรกันอยู่... 

ปัจจุบัน การให้การศึกษาแก่ "เด็กไทย"  ส่วนใหญ่อยู่ในมือของ "ครู"  
ดังนั้น หากรักเด็กจริง เราจึงจำเป็นต้องช่วยกันสร้าง "ครูที่ดี" ให้แก่เด็กของเรานั่นเอง          

                
เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ
คำขวัญวันเด็กที่ผมจำได้แม่นกว่าคำขวัญอื่นๆ คือ เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ เป็นคำขวัญของ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ซึ่งตอนนั้น ผมอายุเพียง 12 ปี กิจกรรมในงานวันเด็กสมัยนั้นก็ไม่แตกต่างจากปัจจุบันมากนัก  เช่น การจับสลากของขวัญ มีเกมให้เล่นล่ารางวัล มีการแสดงบนเวทีให้ดู มีอาวุธยุทโธปกรณ์แปลกๆ มาแสดงให้ดูให้สัมผัส  มีอาหาร ขนม ไอติม แจกให้รับประทานฟรี ฯลฯ  

งานวันเด็กแห่งชาติ จัดมา 63 ปี แล้ว ไม่รู้สร้างสำนึกให้เด็กในแต่ละสมัยได้จริงหรือปล่าว  ผู้ใหญ่ที่ปกครองบ้านเมืองอยู่ในวันนี้ ส่วนใหญ่ก็เคยผ่านงานวันเด็กในสมัยที่ท่านเป็นเด็กมาแล้วเกือบทั้งสิ้น แต่ประเทศไทยเรา ก็ยังไม่ก้าวเดินเป็นประเทศพัฒนาเสียที แสดงว่า การจัดงานวันเด็กแห่งชาติ ที่ผ่านมาไม่เคยสร้างความตระหนักให้แก่เด็กไทยได้เลย

อย่ารักเด็กแค่วันเดียวต่อปี

***************************
ชาติชาย ศึกษิต : 11 ม.ค.2561     

วันอังคารที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2561

หนึ่งในความเชี่ยวชาญของข้าราชการไทย คือ การจัดกิจกรรม

ปัจจุบัน หน่วยราชการแต่ละกระทรวงทบวงกรม ต้องจัดโครงการและกิจกรรมต่างๆ อย่างหลากหลายเพื่อสนองตอบต่อกิจกรรมวันสำคัญต่างๆ ทั้งในระดับโลก ระดับชาติ รวมทั้งระดับนโยบายของรัฐบาล ตามภารกิจที่เกี่ยวข้อง ส่วนบางโครงการ บางกิจกรรม ก็คิดขึ้นเองบ้าง ฟังชื่อแต่ละโครงการแล้ว ไอเดียกระฉูด "ฟังดูกิ๋บเก๋ บางครั้งก็ยืดยาวจนจำไมได้ " หลังเสร็จกิจกรรมก็ถ่ายรูปรายงาน ลงเฟส ลงไลน์ ลงโซเซียลมีเดียต่างๆ เป็นอันว่าจบกัน  แต่เอาเข้าจริง ไม่รู้ว่ามีการประเมินผลตามหลังหรือไม่ว่า มันสำเร็จตามวัตถุประสงค์หรือไม่ อย่างไร?  

ที่มาของภาพ : http://www.rsinternationalday.com/vendors.html

ประเภทโครงการและกิจกรรมที่หน่วยราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ต้องจัดให้มีขึ้น อาจสามารถแยกย่อยได้ตามวาระต่างๆ ได้ ดังนี้  

กิจกรรมตามวันสำคัญของโลก  
  • 4 กุมภาพันธ์  : วันมะเร็งโลก
  • 2 กุมภาพันธ์  : วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก
  • 3 มีนาคม : วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก
  • 8 มีนาคม : วันสตรีสากล
  • 15 มีนาคม : วันสิทธิผู้บริโภคสากล
  • 21 มีนาคม : วันกวีนิพนธ์สากล / วันป่าไม้โลก
  • 22 มีนาคม : วันอนุรักษ์น้ำโลก
  • 23 มีนาคม : วันอุตุนิยมวิทยาโลก
  • 4 เมษายน : วันทุ่นระเบิดสากล
  • 7 เมษายน : วันอนามัยโลก
  • 22 เมษายน : วันคุ้มครองโลก
  • 29 เมษายน : วันเต้นรำสากล
  • 8 พฤษภาคม : วันกาชาดสากล
  • 12 พฤษภาคม : วันพยาบาลสากล
  • 22 พฤษภาคม : วันสากลความหลากหลายทางชีวภาพ
  • 23 พฤษภาคม : วันเต่าโลก
  • 31 พฤษภาคม : วันงดสูบบุหรี่โลก
  • 1 มิถุนายน : วันดื่มนมโลก
  • 5 มิถุนายน : วันสิ่งแวดล้อมโลก
  • 8 มิถุนายน : วันมหาสมุทรโลก หรือวันทะเลโลก
  • 17 มิถุนายน : วันต่อต้านปัญหาภัยแล้งและฝนแล้งของโลก
  • 16 กันยายน : วันโอโซนโลก
  • 21 กันยายน : วันสันติภาพโลก
  • 22 กันยายน : วันแรดโลก /วันปลอดรถสากล (World Car Free Day)
  • 27 กันยายน : วันท่องเที่ยวโลก
  • 28 กันยายน : วันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก
  • 1 ตุลาคม : วันผู้สูงอายุสากล
  • 9 ตุลาคม : วันไปรษณีย์โลก
  • 15 ตุลาคม : วันล้างมือโลก
  • 16 ตุลาคม : วันอาหารโลก
  • 24 ตุลาคม : วันสหประชาชาติ 
  • 1 ธันวาคม : วันเอดส์โลก
  • 3 ธันวาคม : วันคนพิการสากล
  • 5 ธันวาคม : วันดินโลก 
  • 9 ธันวาคม : วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล
  • 10 ธันวาคม : วันสิทธิมนุษยชนสากล
  • 15 ธันวาคม : วันชาสากล
กิจกรรมตามวันสำคัญของชาติ 
  • 13 มกราคม : วันการบินแห่งชาติ
  • เสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคม : วันเด็กแห่งชาติ
  • 14 มกราคม : วันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ
  • 17 มกราคม : วันโคนมแห่งชาติ
  • 2 กุมภาพันธ์ : วันนักประดิษฐ์  / วันเกษตรแห่งชาติ 
  • 13 กุมภาพันธ์ : วันรักนกเงือก
  • 24 กุมภาพันธ์ : วันศิลปินแห่งชาติ
  • 25 กุมภาพันธ์ : วันวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติ
  • 26 กุมภาพันธ์ : วันสหกรณ์แห่งชาติ
  • 13 มีนาคม : วันช้างไทย 
  • 20 มีนาคม : วันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ
  • 1 เมษายน : วันออมสินของไทย
  • 2 เมษายน : วันอนุรักษ์มรดกไทย
  • 12 เมษายน : วันป่าชุมชนชายเลนไทย
  • 13 เมษายน : วันผู้สูงอายุแห่งชาติ (หยุดราชการ)
  • 14 เมษายน : วันครอบครัวไทย (หยุดราชการ)
  • 30 เมษายน : วันคุ้มครองผู้บริโภคไทย
  • 1 พฤษภาคม : วันแรงงานแห่งชาติ (ผู้ใช้แรงงานหยุด)
  • 24 มิถุนายน : วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง
  • 26 มิถุนายน : วันสุนทรภู่ / วันต่อต้านยาเสพติด
  • 1 กรกฎาคม : วันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ 
  • 29 กรกฎาคม : วันภาษาไทยแห่งชาติ
  • 1 สิงหาคม : วันสตรีไทย
  • 4 สิงหาคม : วันสื่อสารแห่งชาติ / วันสัตวแพทย์ไทย
  • 12 สิงหาคม : วันแม่แห่งชาติ (หยุดราชการ)
  • 16 สิงหาคม : วันสันติภาพไทย
  • 18 สิงหาคม : วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ
  • 19 กันยายน : วันพิพิธภัณฑ์ไทย
  • 20 กันยายน : วันเยาวชนแห่งชาติ / วันอนุรักษ์รักษาคูคลองแห่งชาติ
  • 21 กันยายน : วันประมงแห่งชาติ
  • 28 กันยายน : วันพระราชทานธงชาติไทย
  • 14 ตุลาคม : วันประชาธิปไตย
  • 19 ตุลาคม : วันเทคโนโลยีของไทย
  • 21 ตุลาคม :วันสังคมสงเคราะห์แห่งชาติ / วันพยาบาลแห่งชาติ / วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ / วันรักต้นไม้ประจำปีของชาติ 
  • 31 ตุลาคม : วันออมแห่งชาติ
  • 11 พฤศจิกายน : วันคนพิการแห่งชาติ
  • 14 พฤศจิกายน : วันพระบิดาแห่งฝนหลวง
  • 25 พฤศจิกายน : วันประถมศึกษาแห่งชาติ
  • 27 พฤศจิกายน : วันสาธารณสุขแห่งชาติ
  • 4 ธันวาคม : วันสิ่งแวดล้อมไทย
  • 5 ธันวาคม : วันพ่อแห่งชาติ / วันชาติ 
  • 10 ธันวาคม : วันรัฐธรรมนูญ
  • 16 ธันวาคม : วันกีฬาแห่งชาติ
  • 26 ธันวาคม : วันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ
กิจกรรมตามวันสำคัญของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์
  • 8 มกราคม : วันคล้ายวันประสูติ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์
  • 17 มกราคม : วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
  • 19 มกราคม : วันยุทธหัตถี/วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
  • 31 มีนาคม : วันพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
  • 2 เมษายน : วันพระราชสมภพ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 
  • 5 เมษายน : วันพระราชสมภพ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี
  • 6 เมษายน : วันจักรี
  • 25 เมษายน : วันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
  • 29 เมษายน : วันคล้ายวันประสูติ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ
  • 9 มิถุนายน : วันอานันทมหิดล
  • 4 กรกฎาคม : วันพระราชสมภพ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
  • 13 กรกฎาคม : วันคล้ายวันประสูติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ
  • 28 กรกฎาคม : วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
  • 13 ตุลาคม : วันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
  • 21 ตุลาคม : วันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จย่า 
  • 23 ตุลาคม : วันปิยมหาราช 
  • 25 พฤศจิกายน : วันวชิราวุธ 
  • 5 ธันวาคม : วันคล้ายวันพระราชสมภพ รัชกาลที่ 9
  • 7 ธันวาคม : วันคล้ายวันประสูติ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา
  • 28 ธันวาคม : วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
กิจกรรมตามวันสำคัญของหน่วยงาน/องค์กร และสาขาอาชีพต่างๆ 
  • 16 มกราคม : วันครู (ข้าราชการครูหยุด)
  • 18 มกราคม : วันกองทัพไทย / วันกองทัพบก 
  • 3 กุมภาพันธ์ : วันทหารผ่านศึก
  • 10 กุมภาพันธ์ : วันอาสารักษาดินแดน
  • 5 มีนาคม : วันนักข่าว
  • 27 มีนาคม : วันที่ระลึกกองทัพอากาศ
  • 1 เมษายน : วันข้าราชการพลเรือน
  • 24 เมษายน : วันเทศบาล
  • 7 สิงหาคม : วันรพี
  • 1 กันยายน : วันสืบ นาคะเสถียร
  • 15 กันยายน : วันศิลป์ พีระศรี
  • 24 กันยายน : วันมหิดล
  • 13 ตุลาคม : วันตำรวจ
  • 20 พฤศจิกายน : วันกองทัพเรือ
  • 1 ธันวาคม : วันดำรงราชานุภาพ
  • วันคล้ายวันสถาปนาหรือวันถือกำเนิดของหน่วยงานตนเอง
  • ฯลฯ
กิจกรรมทางศาสนา ประเพณี วัฒนธรรมและเทศกาล ต่างๆ
  • 1 มกราคม : วันขึ้นปีใหม่ (หยุดราชการ)
  • ห้วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ : วันตรุษจีน
  • ห้วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม : วันมาฆบูชา (หยุดราชการ)
  • 14 กุมภาพันธ์ : วันวาเลนไทน์
  • ห้วงเดือนเมษายน : วันเช็งเม้ง
  • 13 เมษายน : วันสงกรานต์  (หยุดราชการ)
  • ห้วงเดือนพฤษภาคม : วันวิสาขบูชา (หยุดราชการ)
  • ห้วงเดือนพฤษภาคม : วันพืชมงคล (หยุดราชการ)
  • ห้วงเดือนกรกฎาคม : วันอาสาฬหบูชา (หยุดราชการ)
  • ห้วงเดือนกรกฎาคม : วันเข้าพรรษา (หยุดราชการ)
  • ห้วงเดือนกันยายน : วันสารทจีน
  • ห้วงเดือนตุลาคม : วันไหว้พระจันทร์
  • ห้วงเดือนตุลาคม : วันออกพรรษา
  • ห้วงเดือนตุลาคม : เทศกาลกินเจ
  • 31 ตุลาคม : วันฮาโลวีน
  • ห้วงเดือนพฤศจิกายน : วันลอยกระทง
  • 25 ธันวาคม : วันคริสต์มาส
  • 31 ธันวาคม : วันสิ้นปี (หยุดราชการ)
กิจกรรมที่กล่าวมาส่วนใหญ่เป็นงานประจำที่มีขึ้นทุกปี ส่วนกิจกรรมอื่นๆ ที่มักเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวตามนโยบายของรัฐบาล/กระทรวงต้นสังกัด/ของจังหวัด หรือของท้องถิ่น เช่น
  • โครงการจำหน่ายสินค้าราคาถูกให้ประชาชน ในรูปแบบต่างๆ
  • โครงการส่งเสริมศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม 
  • โครงการส่งเสริมประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี
  • โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว
  • โครงการด้านสาธารณสุข เช่น การป้องกันโรค รักษาโรค
  • โครงการช่วยเหลือการกุศลต่างๆ 
  • โครงการเดิน วิ่ง จักรยาน ออกกำลังกาย ส่งเสริมสุขภาพ
  • ฯลฯ  
นักจัดกิจกรรม
ดูกิจกรรมที่ได้รวบรวมมา ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นประจำทุกปี หรือกิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวตามนโยบายของผู้บริหาร ส่วนใหญ่หน่วยราชการที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับวันสำคัญหรือกิจกรรมนั้นๆ จะเป็นผู้จัด โดยในแต่ละครั้งก็จะได้รับการจัดสรรงบประมาณไว้สำหรับจัดกิจกรรมนั้นๆ เป็นการเฉพาะ

ปัจจุบันจึงมีคำกล่าวที่ว่า ความเชี่ยวชาญของข้าราชการไทยส่วนใหญ่  คือ การจัดกิจกรรม การจัดฉากและการสร้างภาพล้วนเป็นความสามารถเฉพาะตัวที่สำคัญ การเกณฑ์กลุ่มเป้าหมายหรือเครือข่ายต่างๆ มาร่วมงานให้เยอะๆ ยิ่งถือเป็นความสำเร็จ หากปีไหน หัวหน้าหน่วยราชการนั้นๆ จัดกิจกรรมดูดีมีความริเริ่มใหม่ๆ บรรลุตามวัตถุประสงค์ ก็ถือว่าสำเร็จเป็นที่ชื่นชอบของผู้บังคับบัญชา  แต่หากพูดถึงผลสำเร็จระยะยาวและมีความยั่งยืนหรือไม่นั้น ผมไม่กล้าที่จะวิพากย์วิจารณ์ แต่ละหน่วยงานคงรู้ดีอยู่แก่ใจ
     
น่าสงสารผู้บริหาร
ผมดูวาระงานของหัวหน้าหน่วยงานแต่ละท่าน โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูงของจังหวัดแล้ว น่าสงสาร วันๆ ต้องไปเปิดกิจกรรมนั้น โครงการนี้ ทั้งเช้าสาย-บ่าย-ค่ำ  ทั้งวันเสาร์วันอาทิตย์  ทั้งงานราชการและงานการกุศล ยังไม่รวมการประชุมคณะกรรมการย่อยๆ อีกไม่รู้กี่คณะ เห็นแล้วเหนื่อยแทน ไม่รู้ว่าท่านแบ่งเวลาตอนไหนไปนั่งคิดทบทวนเพื่อพัฒนาอะไรใหม่ๆ ให้กับบ้านเมือง

หลายคนบอกว่า การที่ท่านไปร่วมกิจกรรมหรือโครงการ ก็คือการทำงานอย่างหนึ่งของท่าน  หากงานไหน ท่านไม่ไปร่วมหรือไม่ไปเปิดงานด้วยตนเอง เจ้าของงานถึงกับโกรธกันเลยก็มี

ไม่ชอบฟังเรื่องจริง
ผู้บริหารหรือหัวหน้าหน่วยงานบางแห่ง บางสำนัก มักไม่ค่อยชอบฟังเรื่องจริง ไม่ว่าจะจัดกิจกรรมใดๆ พวกอยู่รอบข้างรอบกายล้วนเอออวย...ว่าสำเร็จไปเสียทั้งหมด งบประมาณการจัดกิจกรรมล้วนถูกละลายทิ้งลงแม่น้ำไป แทบไม่ได้ผลอะไรกลับคืนมา

หากท่านลองลงไปฟังเสียงมดตัวเล็กๆ ที่คลานอยู่ตามพื้นดิน ดูบ้าง ท่านอาจจะได้รับรู้เรื่องราวที่แท้จริง ในบางแง่บางมุมที่ท่านอาจไม่เคยฟัง   



ลองทบทวนการจัดกิจกรรมวันสำคัญในระดับโลก และระดับชาติ ซึ่งจัดกันเป็นประจำทุกปีดู หากกิจกรรมนั้นเกิดผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์จริงๆ แล้ว ประเทศไทย..น่าจะเป็นประเทศที่ศิวิไลซ์ไปนานแล้ว

****************** 
จุฑาคเชน : 9 ม.ค.2561

วันจันทร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2561

"เหรียญทอง"ระดับเขตกับระดับภาค มาตรฐานเดียวกันหรือไม่? งานศิลปหัตถกรรมนักเรียน 67

ผมรู้สึกงงๆ กับการตัดสินการแข่งขันศิลปหัตกรรมนักเรียนครั้งที่ 67 โดยเฉพาะเรื่องเหรียญทอง เงิน และทองแดง 



การจัดแข่งขันศิลปหัตถกรรมนักเรียนประจำแต่ละปีการศึกษา ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ดี ที่จะได้มองเห็นถึงผลสัมฤทธิ์จากการจัดการเรียนการสอนของครูและสิ่งที่นักเรียนได้รับ ซึ่งโรงเรียนที่ส่งเข้าแข่งขันในแต่ละรายการต้องผ่านการแข่งขันตั้งแต่ระดับเขตพื้นที่การศึกษา คัดเลือกไปเป็นตัวแทนแข่งขันต่อระดับภาค และสุดท้ายจึงค่อยเป็นตัวแทนไปแข่งขันในระดับชาติต่อไป  

แต่ผมก็ยังรู้สึกสงสัยเรื่อง "เหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง" ที่แต่ละโรงเรียนได้รับ มันสามารถวัดเป็นเกณฑ์มาตรฐานและเชื่อถือได้หรือไม่ ผมขอยกกรณีตัวอย่างเฉพาะเรื่อง "การแข่งขันการประกวดแปรรูปอาหาร ระดับ ม.1-ม.3"  ซึ่งเผอิญภรรยาผมเป็นครูผู้ฝึกสอนอยู่ด้วย ลองอ่านดูนะครับ

เกณฑ์การตัดสินว่าทีมไหนจะได้เหรียญอะไร
ผมลองศึกษาเกณฑ์การตัดสินเรื่องเหรียญดู ซึ่งเกือบเหมือนกันในทุกรายการการแข่งขัน สพฐ.กำหนดเกณฑ์การตัดสิน จากการให้คะแนนของคณะกรรมการในแต่ละระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับเขตพื้นที่ ระดับภาค ดังนี้ 
  • หากได้คะแนน ร้อยละ 80-100 จะได้รับรางวัลระดับเหรียญทอง    
  • หากได้คะแนน ร้อยละ 70-79 จะได้รับรางวัลระดับเหรียญเงิน
  • หากได้คะแนน ร้อยละ 60-69 จะได้รับรางวัลระดับเหรียญทองแดง
  • หากได้คะแนนต่ำกว่าร้อยละ 60 จะได้รับเกียรติบัตร เว้นแต่กรรมการจะเห็นเป็นอื่น
และโรงเรียนที่จะเป็นตัวแทนเขตพื้นที่เข้าแข่งขันระดับภาคได้ ต้องได้เหรียญทอง ลำดับที่ 1 ซึ่งมีคะแนนร้อยละ 80 ขึ้นไป 


จากเหรียญทอง ลดเหลือ เหรียญทองแดง
รร.ดรุณาราชบุรี แข่งขันประกวดการแปรรูปอาหารระดับ ม.1-ม.3 ชนะเลิศในระดับเขตพื้นที่ฯ ได้คะแนน 86.55 อยู่ในเกณฑ์ "เหรียญทอง"  แต่พอไปแข่งขันระดับภาคกลางและภาคตะวันออก ได้ลำดับที่ 15 (จาก 47 โรงเรียน) ได้คะแนน ุ64.33 อยู่ในเกณฑ์  "เหรียญทองแดง"  หากดูจากผลคะแนนแล้ว แสดงให้เห็นว่าทีม  รร.ดรุณาราชบุรี  นี้มีมาตรฐานลดลงใช่หรือไหม? 

และใน 47 โรงเรียนที่ร่วมแข่งขันครั้งนี้ (ซึ่งแน่นอน ต้องได้เหรียญทองมาก่อนจากระดับเขตพื้นที่ทั้งสิ้น) แต่พอมาเข้าร่วมการแข่งขันในระดับภาคกลางและภาคตะวันออก เมื่อ 4-6 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา ผลการตัดสินของคณะกรรมการฯ มีดังนี้
  • ได้คะแนนระดับเหรียญทอง จำนวน   4 โรงเรียน
  • ได้คะแนนระดับเหรียญเงิน จำนวน 6 โรงเรียน
  • ได้คะแนนระดับเหรียญทองแดง จำนวน 8 โรงเรียน
  • และได้ระดับคะแนน ต่ำกว่าร้อยละ 60 จำนวน 29 โรงเรียน
ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่ลองคิดดูนะครับ โรงเรียนทั้ง 47 โรงเรียนที่จะเข้าร่วมการแข่งขันระดับภาคได้นั้น ต้องได้คะแนนในระดับเขตพื้นที่มาแล้วไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 (เหรียญทอง) แต่พอมาแข่งขันระดับภาค  กลับมีแค่ 4 โรงเรียนเท่านั้นที่ได้เหรียญทอง และอีก 29 โรงเรียน ไม่ได้เหรียญเลยด้วยซ้ำไป 

ความแตกต่างนี้แสดงให้เห็นถึง "ความไม่มาตรฐานของกรรมการผู้ตัดสิน" ใช่หรือไหม?

ผลการแข่งขันกับเกณฑ์การได้เหรียญต้องแยกออกจากกัน
การแข่งขันกีฬาทั่วไป เช่น การวิ่งแข่ง การว่ายน้ำ ฯลฯ มีสถิติที่วัดได้ชัดเจน ได้แก่ เวลาและการเรียงลำดับเข้าเส้นชัยเป็นที่ 1,2 และ 3  นักกีฬาอาจได้เหรียญทองระดับจังหวัด แต่พอไปแข่งขันระดับภาค อาจแพ้จังหวัดอื่น ได้แค่เหรียญทองแดง ซึ่งโอกาสเป็นไปได้ เพราะมีข้อเท็จจริงที่สามารถวัดได้อย่างเป็นรูปธรรม 

แต่การแข่งขันศิลปหัตถรรมหลายรายการ ไม่สามารถวัดออกมาเป็นสถิติที่ชัดเจนได้ ส่วนใหญ่เป็นนามธรรม ซึ่งขึ้นอยู่กับความเห็นของคณะกรรมการตัดสินในแต่ระดับและแต่ละรายการ  รวมถึงความมีประสบการณ์และทัศนคติของกรรรมการผู้ตัดสินรายการนั้นๆ ด้วย บางคนกดคะแนนหรือบางคนก็ปล่อยคะแนนมากเกินไป  ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ทั้งสิ้น

สพฐ. ควรแยกระบบการตัดสิน เรื่อง "ผลการแข่งขัน" กับ "เกณฑ์ได้เหรียญรางวัล"  ออกจากกันอย่านำไปผูกกัน เกณฑ์การได้เหรียญรางวัล คือ เกณฑ์ที่ผ่านมาตรฐานตามที่กำหนดไว้ อาจไม่จำเป็นต้องมีตัวเลขก็ได้ มีแค่ผ่านหรือไม่ผ่าน  แต่หากนำไปผูกกับการให้คะแนนของคณะกรรมการแต่ละท่าน แต่ละระดับ แต่ละวาระแล้ว มีโอกาสที่จะเกิดความคลาดเคลื่อนได้อย่างที่เห็น  เหมือนสินค้าชนิดหนึ่งที่อาจผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) แต่ไม่ได้จัดลำดับว่าสินค้าตัวนี้ ดีเป็นที่ 1 ที่  2 แล้วแต่ผู้ใช้จะเลือกซื้อมากกว่า  

แจ้งผลการแข่งขันแต่ละโรงเรียนเป็นการส่วนตัวได้ก็จะดี
ปัจจุบันการประกาศผลการแข่งขันแต่ละรายการจะประกาศในภาพรวมทุกโรงเรียน ได้แก่ คะแนนรวมที่ได้ ระดับเหรียญที่ได้ และลำดับผลการตัดสิน  แต่คะแนนที่กรรมการให้แต่ละหัวข้อย่อย โรงเรียนที่ส่งเข้าแข่งขัน ไม่สามารถทราบได้ว่า  หัวข้อใดที่ได้คะแนนมากหรือได้คะแนนน้อย  ซึ่ง สพฐ.น่าจะสามารถแจ้งเป็นการส่วนตัวไปยังแต่ละโรงเรียนได้ เพื่อครูจะได้พัฒนาและปรับปรุงให้ดีขึ้นในการแข่งขันครั้งต่อไป  อย่างเช่น  การแข่งขันประกวดการแปรรูปอาหาร จะมีเกณฑ์ให้คะแนน ดังนี้
  • กระบวนการแปรรูป 20 คะแนน
  • รายงานการดำเนินงาน 40 คะแนน แยกเป็น
    • การวิเคราะห์วัตถุดิบ  10 คะแนน
    • การวางแผน 10 คะแนน
    • การดำเนินงาน 10 คะแนน
    • สรุปและรายงานผล 10 คะแนน
  • ผลสำเร็จของการแปรรูป 30 คะแนน
    • รสชาติเหมาะสมกับประเภทของอาหาร  10 คะแนน
    • ภาพรวมของลักษณะภายนอก เช่น สี กลิ่น ภาชนะบรรจุ 5 คะแนน
    • ภาพรวมของคุณภาพอาหาร เช่น คุณค่าทางโภชนาการ ความสะอาด 5 คะแนน
    • นำสู่การประกอบอาชีพ  10 คะแนน
  • การนำเสนอและสาธิต 10 คะแนน
ปัจจุบัน ทีม รร.ดรุณาราชบุรี ทราบเพียงว่าได้คะแนน 64.33 แต่ไม่ทราบว่า  ในแต่ละหัวข้อย่อยได้คะแนนเท่าใด ข้อไหนสูง ข้อไหนต่ำ  แต่ถ้าหากทราบได้ ก็จะทำครูสามารถนำไปแก้ไขปรับปรุงและพัฒนาในครั้งต่อไป  (ผมไม่ทราบว่า เว็บไซต์การแข่งขันฯ เปิดโอกาสให้โรงเรียนและครูแต่ละท่าน เข้าไปค้นหาผลงานของตนเอง ได้หรือไม่)    



การแลกเปลี่ยนเรียนรู้
ผมถามภรรยาว่า ได้มีโอกาสไปดูโรงเรียนที่เข้าแข่งขันฯ อีก 46 โรงเรียนหรือไม่ ว่าเขาแปรรูปอาหารชนิดใดบ้าง ภรรยาตอบว่า อยากดูเหมือนกัน แต่ทางคณะกรรมการจัดการแข่งขันฯ ไม่ได้เปิดโอกาสให้ดู  ผมคิดในใจว่า  

"น่าเสียดาย หลังจากการแข่งขันเสร็จแล้ว คณะกรรมการฯ น่าจะเปิดโอกาสให้ครูและนักเรียนที่เข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ทั้งหมด ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งมันจะเกิดการพัฒนาในภาพรวมได้มากยิ่งขึ้น อย่างน้อย ครูและนักเรียนแต่ละโรงเรียนก็น่าจะได้ความคิดกลับมาพัฒนาอีกตั้ง  46 ความคิด แทนที่จะมีแค่ความคิดของตนเองเพียงความคิดเดียว"

ที่ผมเขียนมาข้างต้นนี้เป็นเพียงภาพเล็กๆ ที่ผมเห็น แต่อาจไม่ใช่ภาพรวมของการแข่งขันฯ เสียทั้งหมด หากมีอะไรที่ผมเข้าใจไม่ถูกต้องแล้ว ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย

*************************
ชาติชยา ศึกษิต : 8 ม.ค.2561