วันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2554

ที่นี่..ไม่มีเด็กนักเรียน

เมื่อสองวันที่ผ่านมา ผมได้สังสรรค์กับคุณครู ที่เคยทำงานร่วมกันหลายคน ขณะที่เล่นกีต้าร้องเพลงเพื่อชีวิตกันอยู่นั้น พวกเราได้ร้องเพลงๆ หนึ่งของวงแฮมเมอร์ขึ้นมาชื่อเพลง "ที่นี่..ไม่มีครู" ขณะที่กำลังร้องอยู่นั้นเอง  มีใครบ้างคนเอ่ยปากขึ้นมาบอกว่า  เดี๋ยวนี้ ต้องร้องใหม่แล้ว เปลี่ยนเป็น  "ที่นี่..ไม่มีเด็ก (นักเรียน) "

นโยบายเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพของรัฐบาลใน 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ปกครองในยุคภาวะเศรษฐกิจ "น้ำมัน 3 ลิตรร้อย" ในขณะนี้ ได้ผลอย่างดียิ่งในนโยบายประชานิยม...แต่หากลองมองผลกระทบอีกแง่มุมหนึ่งของด้านการจัดการศึกษาแล้ว ก็เป็นมุมมองที่ไม่ควรละเลยปัญหาเช่นกัน

ยุทธการล่าหัวเด็ก
จากนโยบายเรียนฟรี 15 ปีนี้ ทำให้เกิดความจริงเรื่องหนึ่งในการบริหาร คือ "เงินต่างๆ จะมาตามตัวเด็กนักเรียน" มีความหมายว่า จำนวนเด็กนักเรียนยิ่งมากก็ยิ่งมีเงินมากตามไปด้วย ดังนั้นโรงเรียนต่างๆ โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีต้นทุนทางด้านชื่อเสียงสูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว (หรือที่เรียกว่า โรงเรียนยอดนิยม) ต่างเร่งเปิดห้องเรียนเพิ่ม และเติมจำนวนเด็กในแต่ละห้อง ให้ได้มากที่สุด เท่าที่อาคารสถานที่ของโรงเรียนจะสามารถรองรับได้ ส่วนเรื่องครูที่อาจจะมีไม่เพียงพอ ค่อยทำเรื่องขอปรับย้าย เกลี่ยครู จากโรงเรียนที่กำลังจะถูกยุบมาเพิ่มเติมในภายหลัง ตอนนี้เอาเด็กไว้ก่อน

ส่วนโรงเรียนที่อยู่ตามหมู่บ้าน ตามวัดวาอาราม ที่ห่างไกลต่างๆ  ก็อยากจะมีเด็กนักเรียนเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่ก็ไม่สามารถสู้ชื่อเสียงของโรงเรียนยอดนิยมได้ เปิดเทอมนี้เด็กๆ คงจะน้อยลงมากเพราะผู้ปกครองพาเด็กๆ ไปเรียนในโรงเรียนยอดนิยมไกลบ้านกันหมด.... ถึงแม้จะต้องตื่นเช้ามากขึ้น เสียเวลาเดินทางมากขึ้น แต่การเดินทางสมัยนี้ ก็สะดวกและรวดเร็ว ยอมเสียค่ารถรับ-ส่งนักเรียนเพิ่มขึ้นเดือนละ 1,000-2,000 บาทก็ไม่เป็นไร...

ยังมีปรากฏการณ์ใหม่เกิดขึ้นซ้ำอีก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ  เช่น เทศบาล, อบต. จำนวนหลายแห่ง เปิดโรงเรียนแห่งใหม่เพิ่มขึ้น โรงเรียนเก่าที่มีอยู่แล้วก็รีบเร่งขยายชั้นเรียน ปรับปรุงห้องเรียน ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ  เพราะเห็นแน่ๆ ว่า "เงินจะมาตามตัวเด็ก"  เปิดยุทธการแย่งชิงเด็กนักเรียน กับโรงเรียนของ สพฐ.และโรงเรียนเอกชน เนื่องจากตนเองได้เปรียบเพราะมีผู้ปกครองในพื้นที่เป็นฐานเสียงอยู่แล้ว และยังสามารถจัดสรรงบประมาณประจำปี มาช่วยเหลือโรงเรียนของตนอีกทางหนึ่งด้วย

วันนี้ โรงเรียนเล็กๆ ของ สพฐ.ตามชนบทที่อยู่กับวัดวาอารามต่างๆ  แทบไม่มีเด็กให้คุณครูสอนเลย...เพลงที่เคยร้องว่า "ที่นี่..ไม่มีครู" คงต้องร้องใหม่จริงๆ วันนี้มีครู แต่ไม่มีเด็กนักเรียนให้ครูสอน....

"ที่นี่..ไม่เด็กนักเรียน"

ภาพจำลองประกอบบทความ
ที่มาของภาพ http://www.panoramio.com/photo/51627104


****************************************

จุฑาคเชน : 30 เม.ย.2554 

ตีพิมพ์ใน น.ส.พ.สู่ชนบท ปีที่ 22 ฉบับที่ 384 ประจำเดือนพฤษภาคม พุทธศักราช 2554 หน้า 3


วันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2554

ห้องน้ำที่ชำรุด กับรั้วลวดหนามที่สร้างใหม่


วันนี้เผอิญผมมีโอกาสไปเห็นภาพๆ หนึ่ง รู้สึกเป็นภาพที่ชวนให้คิดพอสมควร..เลยถ่ายภาพมาให้ดู  ภาพนี้เป็นภาพอาคารเรียน 3 ชั้นของโรงเรียนแห่งหนึ่ง สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อยู่ในเขตเทศบาลเมืองราชบุรี นี้เอง เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 ถึง ม.3 มีเด็กนักเรียนประมาณ 1,000 คน 

ผมจำได้ว่าสภาพห้องน้ำที่ชำรุดนี้ ผมเห็นมากว่า 1 ปีแล้ว ส่วนรั้วลวดหนามสี่เส้นบนรั้วเดิม เพิ่งเกิดขึ้นไม่ถึงเดือนที่ผ่านมานี่เอง....????

คำถามจึงมีอยู่ว่า ทำไมไม่ซ่อมห้องน้ำให้นักเรียนก่อน...แต่กลับมาสร้างรั้วลวดหนามก่อน

โรงเรียนแห่งนี้มีรั้วสูงเป็นขอบเขตชัดเจนอยู่แล้ว แต่รั้วลวดหนามสี่เส้นที่สร้างเสริมขึ้นมานั้น  คงพอเดาได้ว่า ผู้บริหารคงมีความจำเป็น และวัตถุประสงค์ ก็คือ ป้องกันคนในปีนออกนอกโรงเรียน กับป้องกันคนนอกปีนเข้าในโรงเรียน

ป้องกันคนในปีนออกนอกโรงเรียน
สอบถามผู้คนบริเวณโดยรอบโรงเรียนแห่งนี้ ก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า คนในที่ว่านี้ ก็คือ เด็กนักเรียนที่ชอบปีนข้ามรั้วหนีโรงเรียน และบางส่วนก็ปีนรั้วออกมาซื้อขนมข้างนอก ...จึงพออนุมานได้ว่า... โรงเรียนแห่งนี้ คงหมดปัญญาและความสามารถ ที่จะอบรมบ่มนิสัย หรือหามาตรการต่างๆ มาป้องกันพฤติกรรมของเด็กนักเรียนเหล่านี้ได้แล้ว...จึงต้องสร้างรั้วลวดหนามสี่เส้นเหล่านี้...เพื่อเสริมรั้วให้สูงขึ้น....

บรรยากาศของการเรียนรู้   จึงถูกเปลี่ยนเป็นบรรยากาศของการคุมขัง
...โรงเรียนจึงกลายเป็นเรือนจำ...



ป้องกันคนนอกปีนเข้าในโรงเรียน
สอบถามต่อไปก็ทราบว่า  มีพวกโจร/หัวขโมย/พวกติดยา เข้าไปงัดแงะ ขโมยทรัพย์สินของโรงเรียนอยู่เป็นประจำ  เวรยามไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง จึงจำเป็นต้องเสริมรั้วลวดหนามสี่เส้น ให้รั้วสูงขึ้น เพื่อป้องกันเหตุการณ์ดังกล่าว......

หากเป็นเหตุนี้ ก็แสดงให้เห็นว่า เขตเทศบาลเมืองราชบุรี เรานี้ ...ช่างขาดความความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินจริงๆ  คงไม่สามารถหวังพึ่งพิงผู้รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านของเมืองได้... ผู้บริหารฯ โรงเรียน ท่านนี้...จึงตัดสินใจสร้างรั้วลวดหนามเป็นการเร่งด่วนเพื่อป้องกันไว้ดีกว่า.....ส่วนห้องน้ำที่ชำรุดก็เก็บเอาไว้ก่อน....

เหตุผลต่างๆ ที่กล่าวมานี้ ล้วนเป็นเหตุผลที่ฟังได้ทั้งสิ้น

หากท่านเป็นผู้บริหารโรงเรียนนี้....ในขณะที่งบประมาณมีจำนวนจำกัด..ท่านจะตัดสินใจทำอะไรก่อน

ซ่อมห้องน้ำก่อน หรือ สร้างรั้วลวดหนามก่อน.....???????

****************************************
ชาติชาย คเชนชล : 2 เม.ย.2554


ตีพิมพ์ใน น.ส.พ.เวสเทิร์นนิวส์ โฟกัสราชบุรี ฉบับเดือนมิถุนายน 2554