สองวันมานี้ ผมรู้สึกมีอาการเศร้าหดหู่ เบื่อหน่ายสิ่งรอบ ๆ ตัว เบื่อกับงานที่กองสุมรอให้ทำ คิดสงสัยว่าจะเป็นอาการเริ่มแรกของ "โรคซึมเศร้า" หรือปล่าว เลยลองค้นหาอาการดูจาก Google ค้นไปค้นมา กลับพบว่าอาจเป็นอาการเริ่มแรกของ "ภาวะหมดไฟในการทำงาน" หรือ "Burnout syndrome" ก็ได้ จึงพยายามค้นหาเรื่องราวมาปะติดปะต่อกัน พอสรุปได้ ดังนี้
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล (2562 : ออนไลน์) กล่าวว่า ภาวะหมดไฟในการทำงาน คือ ภาวะการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจที่เกิดจากความเครียดเรื้อรังในการทำงาน โดยมีอาการหลัก 3 อาการ ได้แก่
- มีความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ รู้สึกสูญเสียพลังงานทางจิตใจ
- มองความสามารถในการทำงานของตนเองในเชิงลบ ขาดความรู้สึกประสบความสำเร็จ
- มองความสัมพันธ์ในที่ทำงานไปในทางลบ รู้สึกเหินห่างจากคนอื่นไม่ว่าจะเป็นผู้ร่วมงาน หรือลูกค้า
- ภาระงานหนัก และปริมาณงานมาก รวมถึงงานมีความซับซ้อน ต้องทำในเวลาเร่งรีบ
- ขาดอำนาจในการตัดสินใจ และมีปัญหาการเรียงลำดับความสำคัญของงาน
- ไม่ได้รับการตอบแทน หรือรางวัลที่เพียงพอต่อสิ่งที่ทุ่มเทไป
- รู้สึกไร้ตัวตนในที่ทำงาน หรือไม่เป็นส่วนหนึ่งของทีม
- ไม่ได้รับความยุติธรรม ขาดความเชื่อใจ และการเปิดใจยอมรับกัน
- ระบบบริหารในที่ทำงานที่ขัดต่อคุณค่า และจุดมุ่งหมายในชีวิตของตนเอง
หมดไฟเต็มที่ (Full scale of Burnout)
ระยะต่าง ๆ ในการทำงานซึ่งนำมาสู่ภาวะหมดไฟ (Miller & Smith, 1993) แบ่งได้ดังนี้- ระยะฮันนีมูน (The honeymoon) เป็นช่วงเริ่มงาน คนทำงานมีความตั้งใจ เสียสละเพื่องานเต็มที่ พยายามปรับตัวกับเพื่อนร่วมงาน และองค์กร
- ระยะรู้สึกตัว (The awakening) เมื่อเวลาผ่านไป คนทำงานเริ่มรู้สึกว่าความคาดหวังของตนอาจไม่ตรงกับความเป็นจริง เริ่มรู้สึกว่างานไม่ตอบสนองกับความต้องการของตนทั้งในแง่การตอบแทน และการเป็นที่ยอมรับ คนทำงานอาจรู้สึกว่าชีวิตดำเนินอย่างผิดพลาด และไม่สามารถจัดการได้ ทำให้เกิดความขับข้องใจ และเหนื่อยล้า
- ระยะไฟตก (brownout) คนที่งานรู้สึกเหนื่อยล้าเรื้อรัง และหงุดหงิดง่ายขึ้นอย่างชัดเจน อาจมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อหนีความขับข้องใจ เช่น ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ดื่มสุรา ส่งผลให้ความสามารถในการทำงานเริ่มลดลง อาจเริ่มมีการแยกตัวจากเพื่อนร่วมงาน มีการวิพากษ์วิจารณ์องค์กรของตนเอง
- ระยะหมดไฟเต็มที่ (Full scale of burnout) หากช่วงไฟตกไม่ได้รับการแก้ไข คนทำงานจะเริ่มรู้สึกสิ้นหวัง มีความรู้สึกว่าตนเองล้มเหลว สูญเสียความมั่นใจในตนเองไป มีอาการของภาวะหมดไฟเต็มที่
- ระยะฟื้นตัว (The phoenix phenomenon) หากคนทำงานได้มีโอกาสผ่อนคลาย และพักผ่อนอย่างเต็มที่ จะสามารถกลับมาปรับตนเอง และความคาดหวังต่องานให้ตรงกับความเป็นจริงมากขึ้น รวมถึงสามารถปรับแรงบันดาลใจ และเป้าหมายในการทำงานด้วย
หากเกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน จะส่งผลกระทบในด้านต่าง ๆ ดังนี้
- ผลด้านร่างกาย อาจพบอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ
- ผลด้านจิตใจ บางรายอาจสูญเสียแรงจูงใจ หมดหวัง รู้สึกหมดหนทางที่จะช่วยให้ดีขึ้น ส่งผลให้มีอาการของภาวะซึมเศร้า และอาการนอนไม่หลับได้ อาจพบมีการใช้สารเสพติดเพื่อจัดการกับอารมณ์
- ผลต่อการทำงาน อาจขาดงานบ่อย ประสิทธิภาพการทำงานลดลง อาจคิดเรื่องลาออกในที่สุด
สัญญาณเตือนว่าเริ่มเกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน
- อาการทางอารมณ์ หดหู่ เศร้า อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย หงุดหงิด ไม่พอใจในงานที่ทำ
- อาการทางความคิด เริ่มมองงานหรือคนอื่นในแง่ร้าย ระแวงง่ายขึ้น โทษคนอื่น สงสัยความสามารถของตนเอง และอยากเลี่ยงปัญหา
- อาการทางพฤติกรรม หุนหันพลันแล่น ผัดวันประกันพรุ่ง ทำกิจกรรมสร้างความสุขลดลง เริ่มมาทำงานสายบ่อยขึ้น บริหารจัดการเวลาแย่ลง
- พัฒนาทักษะในการจัดการปัญหา และความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ต่าง ๆ รวมถึงทักษะการสื่อสาร เจรจาต่อรอง การยืนหยัดเพื่อรักษาสิทธิ์อันชอบธรรมของตนเอง
- ยอมรับความแตกต่างของคน และเปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่อาจไม่ตรงกัน ไม่ด่วนตัดสินคนอื่น
- แสวงหาความช่วยเหลือ และอาจหาที่ปรึกษา (coach and mentor)
- ร่วมกิจกรรมทางสังคม และกิจกรรมเพื่อสุขภาพ
- ค้นหาเหตุผลให้เจอ แล้วหาวิธีแก้
- สนุกไปกับเป้าหมายใหม่ๆ แม้จะทำงานเดิม ๆ
- นอนหลับให้เพียงพอ ชาร์ตพลังให้เต็มที่ แล้วมาสู้งานต่อไปในวันต่อไป
- หาเวลาเบรกระหว่างวัน ผละออกจากงาน ไปคุยเล่น ๆ กับเพื่อนร่วมงานบ้าง
- เปลี่ยนไปทำอะไรใหม่ ๆ หาประสบการณ์ใหม่ หารสชาดใหม่ ๆ ให้ชีวิต
ทางด้าน วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ได้ทำการวิจัยด้านการตลาดในหัวข้อเรื่อง “BURNOUT IN THE CITY” โดยทำการสำรวจของคนวัยทำงานที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,280 คน แบ่งเป็นผู้ชาย 34% และผู้หญิง 66% ทำการศึกษาคนที่อยู่ในทุก Generation ตั้งแต่ Baby Boomer, Gen X, Gen Y และ Gen Z จากผลวิจัยดังกล่าว พบว่า คนกรุงเทพ 12% อยู่ในภาวะหมดไฟในการทำงาน 57% อยู่ในภาวะที่มีความเสี่ยงสูงที่จะหมดไฟในการทำงาน และ 31% ไม่อยู่ในภาวะหมดไฟ สาเหตุของการเกิดภาวะหมดไฟมาจากสาเหตุหลัก 4 อย่าง ได้แก่ (Pang. 2563 : ออนไลน์)
- ปริมาณงานไม่สัมพันธ์กับจำนวนคนทำงาน
- การทำงานในยุคปัจจุบัน คนหนึ่งคนอาจจะต้องแบกภาระงานมากถึง 4 – 5 อย่างในตำแหน่งเดียว ทำให้เกิดภาวะหมดไฟได้
- ขาดอุปกรณ์และสภาพแวดล้อมไม่เป็นใจ การขาดอุปกรณ์ที่ช่วยให้งานสำเร็จได้ง่ายขึ้นหรือช่วยลดกระบวนการในการทำงาน ทำให้คนทำงานในยุคนี้ต้องใช้เวลาทำงานนานจนท้อ และรวมถึงเพื่อนร่วมงาน งานวิจัยพบว่า ถ้าคนทำงานยุคนี้มีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับเพื่อนร่วมงานก็ส่งผลให้เกิดภาวะหมดไฟได้
- โครงสร้างองค์กรที่ยุ่งเหยิง และหัวหน้าที่ไม่ดีอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลโดยตรงต่อการหมดไฟในที่ทำงานคือ หากองค์กรขาดความยืดหยุ่นในเชิงโครงสร้างการจัดการ รวมถึงหัวหน้าที่ขาดความรับผิดชอบ มากกว่านั้นหากมีการเลือกที่รักมักที่ชัง ก็จะส่งผลให้คนที่ทำงานเกิดปัญหาหมดพลังหรือหมดไฟในการทำงานได้ง่ายๆ
ที่มาของภาพ https://brandinside.asia/burnout-in-the-city/ |
ผลการวิจัยยังพบวิธีการคลายเครียดที่คนทำงานในกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาเลือกใช้มีดังนี้ เล่น Social media พูดคุยกับครอบครัว พูดคุยกับเพื่อน ฟังเพลง ออกกำลังกาย เล่นเกม ทานอาหาร สวดมนต์ ดูภาพยนตร์
FRESH strategy
งานวิจัยเรื่อง BURNOUT IN THE CITY ได้เสนอแนะกลยุทธ์ในการทำธุรกิจที่จะตอบโจทย์คนหมดไฟในการทำงานโดยเรียกชื่อกลยุทธ์ว่า “FRESH strategy” ซึ่งหมายถึงกลยุทธ์ที่มีความสดใหม่และเข้ามาเติมเต็มช่องว่างปัญหาของคนหมดไฟ โดยแบ่งได้ดังนี้
งานวิจัยเรื่อง BURNOUT IN THE CITY ได้เสนอแนะกลยุทธ์ในการทำธุรกิจที่จะตอบโจทย์คนหมดไฟในการทำงานโดยเรียกชื่อกลยุทธ์ว่า “FRESH strategy” ซึ่งหมายถึงกลยุทธ์ที่มีความสดใหม่และเข้ามาเติมเต็มช่องว่างปัญหาของคนหมดไฟ โดยแบ่งได้ดังนี้
- F = Fulfil Friend and Family การทำธุรกิจจะต้องเข้าถึงกลุ่มเพื่อน และครอบครัว ตัวอย่างธุรกิจในกลุ่มนี้เช่น คอร์สสอนทำอาหารเป็นกลุ่ม เพื่อเรียนกันเป็นครอบครัว หรือเรียนกับกลุ่มเพื่อน
- R = Recharge your energy ธุรกิจที่พร้อมเยียวยาคนหมดไฟอย่างเร่งด่วน เช่น คาเฟ่สุนัข เพื่อช่วยในการบำบัดความเครียด
- E = Entertainment แน่นอนว่าคนที่เครียดก็ต้องการสิ่งบันเทิงในการบรรเทาความเครียด ธุรกิจอย่างภาพยนตร์ สตรีมมิ่ง หรือแอปพลิชันใช้ฟังเพลงจึงเป็นธุรกิจที่เติบโตในยุคนี้
- S = start something new เพราะการทำงานแบบเดิมๆ ก่อให้เกิดความเบื่อหน่าย หรือก่อให้เกิดภาวะหมดไฟ ธุรกิจที่พาไปเปิดโลกใหม่จึงเป็นเทรนด์ธุรกิจที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ การท่องเที่ยวเชิงสมบุกสมบันออกแนวผจญภัย หรือการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
- H= heal your health แน่นอนว่าภาวะหมดไฟ นำไปสู่ภาวะซึมเศร้า ปัญหาเรื่องสุขภาพต่างๆ ดังนั้นเทรนด์ธุรกิจสุขภาพที่จะช่วยบำบัดจิตใจจึงน่าสนใจ อย่างในต่างประเทศมีบริการ chatbot ที่จะช่วยให้คนหมดไฟมาระบายปัญหา ความเครียด เพราะถึงที่สุดแล้ว หนทางหนึ่งในการแก้ปัญหาภาวะหมดไฟ คือการได้ระบายความในใจออกไป ไม่ว่าจะได้พูดคุยกับเพื่อน ครอบครัว หรือเทคโนโลยีที่เข้าใจอาการเหล่านี้ก็ตาม
ICD-11
องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ได้บรรจุ ภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ เบิร์นเอาต์ (burnout) ลงในบัญชีโรค และอาการผิดปกติต่างๆ ในคู่มือวินิจฉัยและจัดประเภทของโรคระหว่างประเทศ ฉบับ 11 (International Classification of Diseases : ICD-11) มีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ.2565 โดยให้คำจำกัดความของ ภาวะหมดไฟในการทำงานว่า เป็นอาการที่เกิดจากความเครียดในการทำงานเรื้อรัง และไม่ได้รับการดูแล แบ่งลักษณะอาการได้สามกลุ่ม ได้แก่ (Patta.pond. 2562 : ออนไลน์)
- รู้สึกเหนื่อยล้า ไม่มีพลัง
- มีทัศนคติที่ไม่ดีต่องาน มีอาการต่อต้านการทำงาน
- ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง
***************************************
ที่มาข้อมูล- ภาควิชาจิตเวชศาสตร์. (2562). ภาวะหมดไฟในการทำงาน (burnout syndrome).คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. [Online]. Available: https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1385. [2564 มีนาคม 2]
- Pang. (2563). รู้หรือไม่ คนกรุงเทพ 7 ใน 10 มีภาวะหมดไฟ ผลวิจัยเผย ธุรกิจอะไรที่จะตอบโจทย์คนเหล่านี้.Brandinside. [Online]. Available: https://brandinside.asia/burnout-in-the-city/.[2564 มีนาคม 2]
- Patta.pond. (2562). องค์การอนามัยโลก ประกาศให้ "ภาวะหมดไฟในการทำงาน" เป็นภาวะทางการแพทย์. MangoZero. [Online]. Available: https://www.mangozero.com/burntout-as-a-disease/. [2564 มีนาคม 2]