วันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2555

อย่าให้กองทัพอยู่ในมือนักการเมือง



พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ท่านใหม่ ให้สัมภาษณ์สื่อมวล เมื่อ 30 ม.ค.2555 ก่อนประชุมสภากลาโหมเป็นครั้งแรก มีอยู่หลายตอน ที่อ่านดูแล้วไม่ค่อยสบายใจ

".......ทหารต้องพึ่งการเมือง ถ้าไม่พึ่งการเมืองถามว่างบประมาณจะมาจากไหน ฉะนั้นอย่าพยายามแยกออกจากกัน ตามที่คนเก่าได้พูดมาว่า "อย่าไปยุ่งกับการเมือง" คงเฉพาะในเรื่องของโยกย้ายเท่านั้นเอง แต่ไม่ใช่การแยกกันในเรื่องการเมืองการทหาร ........ส่วนขอบเขตในความสัมพันธ์นั้น คงไม่มีขอบเขตที่ชัดเจนว่าต้องแค่นี้แค่นั้น สิ่งไหนที่ควรจะยุ่งหรือสิ่งไหนไม่ควรจะยุ่งก็ว่าไป......แต่นโยบายก็ต้องมาจากรัฐบาล หากรัฐบาลไหนที่มาอย่างถูกต้อง กองทัพต้องหนุนเพราะเป็นหน้าที่ ......ต้องเป็นลูกน้องของรัฐบาล"

ต้องพึ่งการเมืองถึงจะได้งบประมาณ
คำพูดแบบนี้ แสดงให้เห็นว่าท่านโคลนนิ่งความคิดมาจาก นช.ทักษิณ ชินวัตร เพื่อร่วมรุ่นของท่านเลย คือ เงินสามารถจ้างผีโม่แป้งได้ หากอยากได้เงินต้องเชลียร์กรู สยบกรู อยู่ข้างกรู และทำงานตามที่กรูสั่งเท่านั้น จริงอยู่กองทัพอยากได้งบประมาณเพื่อจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่ๆ ที่มีความทันสมัยและสมรรถนะสูง เพื่อกองทัพจะได้เข้มแข็ง รัฐบาลสามารถใช้เป็นพลังอำนาจในการต่อรองเจรจาความเมืองได้ อีกทั้งใช้เพื่อปกป้องอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติได้อีกเช่นกัน ท่านลองดูกองทัพของอเมริกา จีน รัสเซีย อิหร่าน เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และสิงคโปร์ เป็นตัวอย่างเอาละกันว่า ทำไมเขาต้องสร้างกองทัพของเขาให้เข้มแข็ง และตอนนี้ ผมก็ยังไม่แน่ใจว่าอำนาจกำลังรบของเรา จะยังคงเหนือกว่าประเทศกัมพูชา พม่า และเวียดนาม อยู่หรือไม่

เมื่อก่อนเขามีแค่ดาบ แต่เรามีปืนแก๊บ
แต่วันนี้เขามีปืนกลแล้ว เราก็ยังคงใช้ปืนแก๊บอยู่เช่นเดิม
หากทะเลาะกันจริงๆ คงไม่ต้องพูดว่าใครจะเป็นฝ่ายแพ้ และใครจะเป็นฝ่ายชนะ

รัฐบาลต้องมีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนให้กองทัพมีความเข้มแข็ง ไม่ใช่กองทัพจะต้องไปเชลียร์และแบมือขอเงิน หวังว่าท่านคงไม่ลืมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 77 ที่กล่าวว่า "......รัฐต้องจัดให้มีกําลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย จําเป็น และเพียงพอ เพื่อพิทักษ์รักษาเอกราช อธิปไตย ความมั่นคงของรัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์ ผลประโยชน์แห่งชาติ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อการพัฒนาประเทศ"

แต่หากรัฐบาลคิดว่ามีแค่ปืนแก๊บอย่างเดิม เพียงพออยู่แล้ว....ก็ตามใจ
เพราะทหารอาชีพเขาจะทำตามหลักการ โรงเรียนแต่ละเหล่าทัพไม่ได้สอนมาให้เชลียร์นักการเมือง

หากรัฐบาลชั่ว...กองทัพต้องทำตามด้วยหรือ
ใคร ๆ ก็รู้ว่ารัฐบาลนี้กำลังจะปล้นประเทศไทย เปลี่ยนแปลงการปกครอง ล้มล้างสถาบันกษัตริย์ อย่างนี้แล้วกองทัพจะต้องทำตามรัฐบาลด้วยหรือ กองทัพไทยนี้มีรากเหง้ามาจากพระมหากษัตริย์ กองทัพไทย คือ กองทัพของพระเจ้าแผ่นดิน อยู่คู่ชาติ คู่ราชบัลลังก์ คู่บ้าน คู่เมืองมาแสนนาน ตั้งแต่ยังไม่มีระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นด้วยซ้ำไป กองทัพไทยจึงไม่ใช่กองทัพของนักการเมือง การบอกว่า "กองทัพต้องเป็นลูกน้องของรัฐบาล" ผมว่า ท่านคิดผิดแล้ว รัฐบาลดีดี..ยังพอยอมรับได้ แต่รัฐบาลชั่วชั่ว ถึงแม้ว่าจะมาอย่างถูกต้อง..กองทัพก็คงยอมรับไม่ได้

มาตรา 10 พระมหากษัตริย์ทรงดํารงตําแหน่งจอมทัพไทย
หากจอมทัพไทยกำลังจะถูกล้มล้าง กองทัพคงต้องปกป้องและรักษาพระองค์ท่านไว้จนสุดชีวิต รมว.กลาโหม ท่านก็เคยเป็นทหาร แต่ตอนนี้ท่านกำลังคิดจะทำอะไร ได้โปรด...อย่า...แม้แต่จะคิด หรือท่านกลายพันธุ์เป็นนักการเมืองไปแล้ว หากท่านยังคงมีความพยายามจะแก้ไขหรือผลักดันเรื่อง "การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารระดับสูงของกองทัพ ต้องให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ" นั่นคือ การทำลายสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยทางอ้อม และท่านก็คือ ผู้ที่สมรู้ร่วมคิดในการทำลายครั้งนี้

เมื่อใดที่กองทัพอยู่ในมือนักการเมือง....พระองค์ท่านจะทรงอยู่ในอันตราย.....
แค่ประชาชนตาดำๆ ที่รักในหลวงอย่างพวกเรา...
คงไม่สามารถจะสู้รบปรบมือกับพวกมันได้เพียงลำพัง....


**********************
จุฑาคเชน : 31 ม.ค.2555

ตีพิมพ์ใน น.ส.พ.สู่ชนบท ปีที่ 23 ฉบับที่ 393 ประจำเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2555 หน้า 3


วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2555

น่าสงสารเด็กเด็ก

รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) กล่าวว่าที่ประชุมของ สทศ.ได้หารือถึงข้อเสนอของ ศ.ดร.สุชาติ ธาดาดำรงเวช รมว.ศธ.ที่อยากให้มีการทดสอบโอเน็ตมากกว่าปีละหนึ่งครั้ง โดยเห็นตรงกันว่า สทศ.สามารถดำเนินการได้ แต่ต้องมีการเร่งพัฒนาคลังข้อสอบให้มีคุณภาพ และข้อสอบที่มีหลายชุดจะต้องสามารถวัดผลได้ตามวัตถุประสงค์เดียวกันโดยไม่เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ

การสอบ O-net มากกว่าปีละ 1 ครั้ง รู้สึกว่าจะเป็นข่าวร้ายของเด็กนักเรียนชั้น ป.6 ม.3. และ ม.6 เลยทีเดียว ไหนจะต้องสอบวัดผลในแต่ละภาคเรียนแล้ว ยังต้องสอบ O-net อีก(ยังไม่รู้ว่าปีละกี่ครั้ง) สอบ GAT/PAT และนอกจากนั้น เด็ก ป.6 และ ม.3 บางคนยังต้องเรียนกวดวิชาเพื่อเตรียมสอบเข้าเรียนต่อชั้น ม. 1 ม.4 ในโรงเรียนยอดนิยม ส่วนเด็ก ม.6 ยิ่งหนัก ต้องเตรียมสอบแข่งขันเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยในฝันของตัวเองอีกเช่นกัน

ทำไม? ผู้ใหญ่ ช่างใจร้ายจริงๆ

เด็กอาจไม่ได้เรียนตามปกติ เพราะโรงเรียนเอาแต่ติว O-net
หากผู้หลักผู้ใหญ่่จะสอบ O-net มากกว่าปีละครั้ง แล้วเอาผลคะแนนเฉลี่ย O-net ของแต่ละโรงเรียนมาใช้ประเมินคุณภาพนักเรียน นำผลการสอบของเด็กแต่ละคนมาใช้เป็นคะแนนสอบเข้าเรียนต่อ ม.1 ม.4 และในระดับอุดมศึกษา นำผลคะแนนเฉลี่ยมาใช้จัดอันดับโรงเรียนยอดนิยม รวมทั้งนำมาพิจารณาเป็นผลงานของครู ผู้อำนวยการโรงเรียน และผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาแล้ว ผมเชื่อว่า ต่อไปเด็กนักเรียนของเราจะไม่ได้เรียนตามปกติ เพราะโรงเรียนจะเอาแต่ติวเข้มกับการสอบ O-net แค่ที่ผ่านมาสอบปีละครั้งก็เห็นชัดเจนแล้วว่าหลายโรงเรียนเอาแต่ติว O-net จนทำให้นักเรียนและคุณครูต่างเครียดกันไปหมดทั้งโรงเรียน และหากคิดจะสอบมากกว่าปีละหนึ่งครั้ง ลองคิดดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น 

ผมลองนั่งทบทวนดูเรื่องการสอบวัดผลต่างๆ ที่เด็กนักเรียนสมัยนี้ต้องสอบกันแล้ว รู้สึกว่าผู้ใหญ่อย่างพวกเรากำลังทำลายความสุข ความสดใส ความร่าเริงไร้เดียงสา ที่เด็กๆ เขาควรจะมีและได้รับตามวัยของเขา พวกเรา...กำลังทำให้เขาหมกหมุ่นและเครียดอยู่กับวิธีการวัดผล การประเมินผล และการสอบเข้าศึกษาต่อมากจนเกินไป

ที่บอกว่า "เด็กๆ ต้องมีความสุขกับการเรียน"
ผมไม่รู้ว่าคำพูดนี้มันยังเป็นจริงหรือปล่าว


















**************************
ชาติชาย คเชนชล : 29 ม.ค.2555

การโอนโรงเรียน 10,000 โรงให้ อปท. ฟังดูง่ายดี

ศ.ดร.สุชาติ ธาดาดำรงเวช รมว.ศธ.ท่านใหม่ มีนโยบายจะถ่ายโอนโรงเรียนขนาดเล็กสังกัด สพฐ.จำนวน 10,000 โรง ไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.). และบางโรงเรียนก็อาจยุบไปเลย เด็กนักเรียนในโรงเรียนที่ถูกยุบหากต้องไปเรียนโรงเรียนที่ไกลบ้านขึ้น ก็จะจัดให้มีรถรับ-ส่งนักเรียน........ฯลฯ ผมฟังแล้วดูง่ายดีกับวิธีการแก้ปัญหาของท่าน ก็คือ โยนปัญหาไปให้กระทวงมหาดไทย ทั้งๆ ที่ภารกิจการจัดการศึกษาของชาติเป็นภารกิจหลักของกระทรวงศึกษาธิการโดยตรง

โรงเรียนในสมัยก่อนมีรากฐานมาจากวัด ซึ่งเป็นศูนย์กลาง ศูนย์รวมจิตใจ สถานที่ทำกิจกรรมของชาวบ้านในหมู่บ้านและตำบลนั้นๆ โดยมีเจ้าอาวาสเป็นผู้ดูแลการศึกษาเล่าเรียนของเด็กและเยาวชนที่อยู่รอบๆวัด ต่อมาจึงค่อยพัฒนาแยกออกมาจัดตั้งโรงเรียนอย่างเป็นระบบตามที่เห็นในปัจจุบัน โรงเรียนของ สพฐ. จึงมักจะมีชื่อโรงเรียนขึ้นต้นด้วยคำว่า "วัด" อยู่เป็นจำนวนมาก

หากเรามองในมิติทางเศรษฐศาสตร์ ตามท่าน รมว.ศธ.กล่าว เราก็เห็นว่าโรงเรียนเล็กๆ ก็ควรถูกยุบไปเพราะไม่คุ้มกับงบประมาณ แล้วรวมเด็กมาให้อยู่ในโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอน เด็กๆ ก็จะมีโอกาสมากขึ้น แต่หากเรามองมิติทางสังคมแล้ว ในหลายโรงเรียนหลายพื้นที่อาจต้องคิดหนัก เพราะโรงเรียนและวัดยังคงมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านแถบนั้นอยู่อย่างแนบแน่น และหากเรามองมิติด้านการบริหารจัดการ ก็ยังมีโรงเรียนขนาดเล็กอีกหลายโรงเรียนที่สามารถบริหารจัดการได้ดีไม่น้อยหน้าไปกว่าโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่

การยุบโรงเรียนหรือการโอนโรงเรียนไปสังกัด อปท. ผมว่ามันไม่ใช่การแก้ปัญหา เพราะปัญหาก็ยังคงอยู่ แต่เปลี่ยนที่อยู่เท่านั้นเอง ผู้อำนวยการโรงเรียนจำนวน 10,000 คน ครูอีกกว่า 30,000 คน จะเอาพวกเขาไปไว้ที่ไหน หรือให้เขาย้ายไปสังกัดกระทรวงมหาดไทย ที่มีนักการเมืองท้องถิ่นผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาเป็นเจ้านาย เขาจะยอมหรือ? แล้ว อปท.จะมีปัญญาจัดการศึกษาให้เด็กมีคุณภาพมากกว่ากระทรวงศึกษาธิการเชียวหรือ?

ผมยังเชื่อว่า "การสอนคนจำนวนน้อย มีประสิทธิภาพมากกว่าการสอนคนจำนวนมาก" แต่ทำไมโรงเรียนที่มีเด็ก 20 คน กลับพัฒนาสู้เด็กในโรงเรียนที่มี 4,000 คนไม่ได้ ผมมีความเห็นว่าปัญหาประการหนึ่ง อาจเป็นเพราะวิธีจัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนตามรายหัวเด็ก น่าจะเป็นปัญหาสำคัญ โรงเรียนเล็กๆ ก็จะเล็กลงเรื่อยๆ เพราะมีเงินน้อยที่จะปรับปรุงพัฒนา ผู้ปกครองก็เลยขาดความเชื่อมั่น โรงเรียนใหญ่ๆ ก็จะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีเงินมากที่จะปรับปรุงพัฒนาจนกลายเป็นโรงเรียนยอดนิยม ผู้ปกครองต่างก็พาลูกหลานแห่กันมาแย่งกันเข้าเรียน

ห้องเรียนห้องหนึ่งเปิดไฟ 2 ดวง จะสอนนักเรียน 10 คน หรือ 30 คน ก็เปลืองค่าไฟเท่ากัน
และไม่ว่านักเรียนในห้องนั้นจะมีสักกี่คน ชอล์คก็ยังเปลืองเท่ากัน
ดังนั้นการจัดสรรงบประมาณตามรายหัวเด็กในบางเรื่องบางประการ ผมจึงคิดว่าไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรม

ผอ.และครูในโรงเรียนยอดนิยม กับ ผอ.และครูในโรงเรียนบ้านนอก ผมว่า..ความรู้ความสามารถไม่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือโอกาสที่จะพัฒนา สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้โรงเรียนบ้านนอกมีเด็กน้อยลง คือ ปัญหาการบริหารจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการนั่นเอง ที่ไม่ต่อเนื่องและไม่ค่อยคงเส้นคงวา มีแผนแต่ไม่เคยทำตามแผน ไม่เคยเอาแผนออกมาใช้ รัฐบาลมาใหม่ รัฐมนตรีมาใหม่ ก็เปลี่ยนนโยบายกันใหม่ อะไรที่ดีดีอยู่ก็ไม่สานต่อ งานใหม่ที่ก่อขึ้นก็ไม่ได้เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาที่แล้วมาก็บอกว่าไม่สำเร็จ ตอนนี้ก็กำลังปฏิรูปรอบใหม่กันอีกแล้ว ผมว่าการศึกษาของไทยเรา คงจะต้องปฏิรูปกันเรื่อยไปตลอดกาลนาน

หากเราคิดอะไรแบบซ้ำๆ เดิมๆ
แล้วหวังว่าจะได้อะไรใหม่ๆ นั่นเป็นความคิดที่วิกลจริต


****************************
ชาติชาย คเชนชล : 29 ม.ค.2555

วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2555

โรงเรียนสาธิตในประเทศไทย

ผมอ่านนิตยสารผู้จัดการ 360 องศา ฉบับเดือนมกราคม 2555 ซึ่งฉบับนี้ได้นำเรื่องเกี่ยวกับการศึกษาไทยขึ้นมาเป็นประเด็นหลัก โดยพาดหัวหน้าปกว่า " คิด วิเคราะห์ แยกแยะ การศึกษาไทย"  เนื้อหาในเล่มตอนหนึ่งได้เขียนเรื่อง "สาธิตฟีเวอร์" และมีรายชื่อโรงเรียนสาธิตทั่วประเทศพิมพ์เอาไว้ด้วย  ผมจึงนำรายชื่อโรงเรียนสาธิตดังกล่าวมาลงไว้ในบล็อกนี้ เพื่อบันทึกเป็นความรู้ต่อไป


โรงเรียนสาธิตแห่งแรกในประเทศไทย คือ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน โดยเริ่มตั้งเมื่อปี พ.ศ.2496 ตามดำริของ ศ.ม.ล.ปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษธิการในสมัยนั้น เพื่อวางโครงการจัดการเรียนการสอนเป็นหน่วยสาธิตในแผนกฝึกหัดครูมัธยมของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา  ในสมัยนั้นโรงเรียนสาธิตเปรียบเสมือนกับสถาบันฝึกหัดครูของชาตินั่นเอง ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีโรงเรียนที่ใช้ชื่อว่า "สาธิต" จำนวน 41 แห่ง ดังนี้


สังกัดมหาวิทยาลัยของรัฐ

  1. โรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  2. โรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน
  3. โรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยขอนแก่น 
  4. โรงเรียนสาธิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  5. โรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  6. โรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยทักษิณ
  7. โรงเรียนสาธิตพิบูลบำเพ็ญ ของมหาวิทยาลัยบูรพา
  8. โรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยนเรศวร
  9. โรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  10. โรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยรามคำแหง
  11. โรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยศิลปากร
  12. โรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน
  13. โรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร
  14. โรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ องครักษ์
  15. โรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  16. โรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยพะเยา

สังกัดมหาวิทยาราชภัฎ
  1. โรงเรียนสาธิตวัดพระศรีมหาธาตุ ของ มรภ.พระนคร
  2. โรงเรียนสาธิตของ มรภ.สวนสุนันทา
  3. โรงเรียนสาธิตของ มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา
  4. โรงเรียนสาธิตของ มรภ.พระนครศรีอยุธยา
  5. โรงเรียนสาธิตของ มรภ.เทพสตรี
  6. โรงเรียนสาธิตของ มรภ.เพชรบุรี
  7. โรงเรียนสาธิตของ มรภ.นครปฐม
  8. โรงเรียนสาธิตของ มรภ.นครสวรรค์
  9. โรงเรียนสาธิตของ มรภ.มหาสารคาม
  10. โรงเรียนสาธิตของ มรภ.อุตรดิตถ์
  11. โรงเรียนสาธิตของ มรภ.สุรินทร์
  12. โรงเรียนสาธิตของ มรภ.นครราชสีมา
  13. โรงเรียนสาธิตของ มรภ.เชียงราย
  14. โรงเรียนสาธิตของ มรภ.เชียงใหม่
  15. โรงเรียนสาธิตของ มรภ.พิบูลสงคราม
  16. โรงเรียนสาธิตของ มรภ.วไลยอลงกรณ์
  17. โรงเรียนสาธิตของ มรภ.สงขลา
  18. โรงเรียนสาธิตของ มรภ.รำไพพรรณี
  19. โรงเรียนสาธิตของ มรภ.อุบลราชธานี
  20. โรงเรียนสาธิตอนุบาล ของ มรภ.จันทรเกษม
  21. โรงเรียนสาธิตลอออุทิศ ของ มรภ.สวนดุสิต
  22. โรงเรียนอนุบาลสาธิต ของ มรภ.ยะลา
  23. โรงเรียนสาธิตของ มรภ.นครศีธรรมราช

สังกัดมหาวิทยาลัยเอกชน โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต
สังกัดเทศบาล โรงเรียนสาธิตเทศบาลวัดเพชรจริก ของเทศบาลนครนครศรีธรรมราช


********************************

วันอังคารที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555

ราชบุรีไชน่าทาวน์ วาระของจังหวัด

งานราชบุรีไชน่าทาวน์ปี 2012 นี้ ผมรู้สึกว่ามันกร่อยลงกว่า 5 ปีที่ผ่านมามากนัก ในแต่ละปีก็จะกร่อยลงเรื่อยๆ แต่ก็ยังดีใจที่คณะผู้บริหารของเทศบาลเมืองราชบุรี ยังคงอุตส่าห์เดินหน้าจัดงานนี้อยู่

กิจกรรมและบรรยากาศหลายอย่างที่เป็นแรงดึงดูดนักท่องเที่ยวระดับชาติถูกลดทอนลง จะด้วยสาเหตุใดไม่อาจทราบได้ ส่งผลให้งานราชบุรีไชน่าทาวน์ซึ่งเป็นงานในระดับจังหวัดที่เคยดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ลดระดับลงกลายเป็นแค่งานในระดับท้องถิ่นและชุมชน ที่จัดกันเอง เที่ยวกันเอง

งานราชบุรีไชน่าทาวน์จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2007 โดยความริเริ่มของนายพิชัย นันทชัยพร นายกเทศมนตรีเมืองราชบุรี ครั้งนั้นหลายคนก็ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย เพราะเสียดายเงินจำนวนมาก แต่หลายคนก็เห็นด้วยและร่วมลงขันกันจัดงาน กิจกรรมและบรรยากาศหลากหลายถูกออกแบบขึ้นเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนจังหวัดราชบุรี งานราชบุรีไชน่าทาวน์ในปีแรกประสบผลสำเร็จด้วยดี เป็นที่ยอมรับของสังคมและนักท่องเที่ยวโดยทั่วไป และ ททท.ได้บรรจุไว้เป็นปฎิทินการท่องเที่ยวในแต่ละปี ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

งานราชบุรีไชน่าทาวน์ ถูกจัดมาอย่างต่อเนื่องในช่วงตรุษจีนของทุกปี จนติดตลาดกลายเป็นงานเทศกาลประเพณีที่สำคัญของ จ. ราชบุรี แต่วันนี้ งานราชบุรีไชน่าทาวน์กำลังถดถอยลงกลายเป็นงานระดับท้องถิ่น อาจมีสาเหตุมาจากการขาดงบประมาณ ขาดผู้ให้การสนับสนุน และที่สำคัญขาดวิสัยทัศน์ร่วมกันของหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ใน จ.ราชบุรี

งานราชบุรีไชน่าทาวน์ ควรเป็นวาระของจังหวัดราชบุรี ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี จัดสรรงบประมาณไว้จัดงานนี้โดยตรงเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด มีท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด วัฒนธรรมจังหวัด และเทศบาลเมืองราชบุรี เป็นตัวขับเคลื่อน มี ททท. สภาอุตสาหกรรม หอการค้า สมาคมชาวจีน สโมสร องค์กร ชมรมและมูลนิธิต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชาวจีน เป็นฐานให้การสนับสนุน เชิญชาวจีนในอำเภอต่างๆ เข้าร่วมกิจกรรมในงาน เช่น ชาวจีนใน อ.โพธาราม อ.บ้านโป่ง อ.ดำเนินสะดวก เป็นต้น ลำพังแต่เทศบาลเมืองราชบุรี คงไม่สามารถจัดงานนี้ให้ยิ่งใหญ่เป็นงานในระดับจังหวัดได้

ดังนั้น ทุกภาคส่วนใน จ.ราชบุรี จึงควรหันมาร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมมือกันจัดงาน เพราะชื่องานก็บอกอยู่แล้วว่า "ราชบุรีไชน่าทาวน์" ไม่ใช่เป็นงานของชาวจีนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นงานของชาวจีนทั่วทั้งจังหวัดราชบุรี ที่จะช่วยกันเผยแพร่ประวัติศาสตร์ ประเพณี ศิลปะ วัฒนธรรม วิถีชีวิต และอาหารการกินของตนเอง หากทุกภาคส่วนยังแยกย่อยต่างคนต่างจัด ต่างคนต่างทำ มันก็มีแต่จะกร่อยลง แย่ลง อย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้..นั่นเอง

วันนี้ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และหัวหน้าหน่วยงานสำคัญจำนวนหลายท่าน ล้วนเป็นชาวจังหวัดราชบุรี ถึงเวลาแล้วที่จังหวัดราชบุรีของเราจะได้รับการพัฒนาและสร้างสรรค์อย่างจริงจังเสียที

****************************
จุฑาคเชน : 24 ม.ค.2555

ตีพิมพ์ใน น.ส.พ.เวสเทิร์นนิวส์ โฟกัสราชบุรี ปีที่ 3 ฉบับที่ 14 ประจำเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2555  หน้า 20

วันจันทร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2555

การอ่านคนจากน้ำเสียงและการพูดจา

การอ่านคนจากน้ำเสียงและลักษณะการพูดจานี้ ผมค้นหามาจากเว็บไซต์ http://www.pattanakit.net  ซึ่งเขียนเกี่ยวกับเรื่อง วิธีการอ่านและวิเคราะห์จิตใจคน   เหตุที่ผมค้นหาเรื่องนี้ เพราะผมสังเกตว่า การพูดจา การตอบคำถาม การให้สัมภาษณ์ต่างๆ ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ดูแล้วแปลกๆ ทั้งสีหน้า ท่าทาง แววตา การมอง น้ำเสียง การจีบปากจีบคอ การดัดเสียง บางครั้งก็มีอาการโกรธ เกี้ยวกราด หรือประหวั่นพรั่นพรึง ไม่ค่อยนิ่ง ซึ่งมีความแตกต่างจากผู้นำท่านอื่นๆ ทั่วไป  จึงเป็นแรงจูงใจทำให้ผมลองค้นคว้าเรื่องนี้ดู  บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาจะจับผิดต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ฯ แต่ที่เลือกนำท่านมาเป็นตัวอย่างเพราะท่านเป็นบุคคลสาธารณะ จึงเลือกที่จะศึกษาท่าน  เพื่อเป็นความรู้ต่อไป      


โปรดดูคลิบวีดิโอตัวอย่างก่อนอ่านบทความต่อไป






การอ่านคนจากน้ำเสียง
ระดับความดังของเสียง
  • คนเสียงดังผิดปกติ แต่มีรูปร่างเล็ก จะเป็นคนชอบใช้อิทธิพล หรืออำนาจไปควบคุมผู้อื่น  ขาดความอดทน หรือ เป็นผู้ที่มีความมั่นใจสูง
  • เสียงเบาและมีโทนเสียงต่ำ จะเป็นผู้ที่มีความสงบภายใน และมั่นใจในตัวเอง
  • ข้อสังเกตุ : จุดที่เกิดการเปลี่ยนแปลง
    • จากปกติพูดเสียงเบา ---> เปลี่ยนเป็นพูดเสียงดังผิดปกติ  มีแนวโน้มว่าช่วงนั้นอาจเกิดการตื่นเต้น
    • จากปกติพูดเสียงดัง ---> เปลี่ยนเป็นพูดเสียงเบาผิดปกติ มีแนวโน้มว่าอาจมีปัญหาในชีวิต มีความทุกข์ทางกายหรือทางใจ
จังหวะของเสียง
  • พูดเร็วมากๆ แบ่งได้ออกเป็น 2 ขั้ว
    • เป็นคนใจร้อน  มุ่งมั่น หรือ
    • Self-esteem ต่ำ จะพูดเร็วแต่ไม่ค่อยชัดถ้อยชัดคำ หรือพูดติดอ่าง  เพราะตั้งใจให้คนฟังไม่ทัน
  • พูดช้ามากๆ แบ่งตามรูปร่าง
    • ถ้าเป็นผู้ที่มีรูปร่างเล็ก อาจป่วย หรือเป็นคนที่ Negative มากจนเกิดอาการอ่อนเพลีย
    • ถ้าเป็นผู้ที่มีรูปร่างสูงใหญ่ จะเป็นคนชอบดูถูกผู้อื่น คิดว่าตัวเองเก่งกว่า และมักมีสายตาเหยียดผู้ฟัง
  • ข้อสังเกต : จุดที่เกิดการเปลี่ยนแปลง
    • จากปกติพูดช้า ---> เปลี่ยนเป็นพูดเร็ว แสดงว่ากำลังโกรธ หรือกำลังโกหก
    • จากปกติพูดเร็ว ---> เปลี่ยนเป็นพูดช้า แสดงว่ากำลังคิดหาคำพูดที่จะสื่อความหมายให้ผู้ฟังเข้าใจยิ่งขึ้น
พูดจาติดๆ ขัดๆ
  • แนวโน้มนิสัย  แบ่งได้ 2 ขั้ว คือ
    • ไม่จริงใจ พยายามหาเหตุผลต่างๆ เพื่อเข้าข้างตัวเอง
    • จริงใจ คือพยายามสรรหาคำพูดเพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจ
  • ข้อสังเกต : ให้สังเกตจากร่างกาย
    • ท่าทางไม่นิ่ง ขาแกว่งไปมา ไม่สงบตัวสั่น แสดงว่า ไม่จริงใจ
    • ท่าทางสงบ สายตานิ่งสงบ แสดงว่า จริงใจ
น้ำเสียงที่มีการดัด หรือไม่เป็นธรรมชาติ
  • แนวโน้มลักษณะนิสัย ต้องการแสดงให้ผู้อื่นเห็นว่าตัวเองเป็นคนสำคัญ มีปัญญาความสามารถสูงกว่าคนอื่นๆ ซึ่งความจริงไม่ใช่

การอ่านคนจากลักษณะการพูดจา
วิธีการตอบคำถาม
  • นิ่ง แสดงว่า ผู้ที่ถูกกล่าวหาแล้วนิ่งให้สงสัยไว้ก่อนว่า มีส่วนในความผิดนั้นจริง
  • พูดยืดยาว แสดงว่า  จริงๆ แล้วเขาไม่รู้เรื่องนั้น
พูดจาหยาบคาย หรือชอบสาบานตลอดเวลา
  • เป็นคนที่ควบคุมตัวเองไม่ได้ หรือตื่นเต้นตกใจง่าย
  • จิตใจโหดร้าย ขอบข่มขู่ผู้อื่น
การเปลี่ยนเรื่องพูด อาจมีสาเหตุดังนี้
  • เบื่อเรื่องที่กำลังสนทนาอยู่
  • ปกปิดความจริงเกี่ยวกับเรื่องนั้น จึงไม่อยากพูด
  • ข้อสังเกต : ความเกี่ยวโยงของเรื่องที่เปลี่ยนนั้น หากไม่มีความเกี่ยวโยงกับเรื่องเดิม แสดงว่ากำลังปกปิดความจริง
คนที่เปิดเผยตัวมาก
  • แสดงว่าเขาสนใจในตัวเราจึงยอมเปิดเผยข้อมูลเยอะ หรือ
  • อาจต้องการสรางภาพ
คนที่ชอบพูดจาว่า "ลุย"
  • เป็นคนค่อนข้างก้าวร้าว

หากท่านดูคลิบวีดิโอตัวอย่างที่นำมาให้ชมข้างต้น แล้วนำมาวิเคราะห์ประกอบกับหลักการการอ่านคนจากน้ำเสียงและลักษณะการพูดจาที่เขียนมา ท่านอาจจะพอมองเห็นได้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย เป็นคนเช่นไร? นอกจากนี้ ท่านยังสามารถใช้หลักการนี้อ่านนักการเมืองท่านอื่นๆ ได้อีกหลายท่าน เช่น ร.ต.อ.เฉลิม  อยู่บำรุง เป็นต้น 


***************************************
จุฑาคเชน : 23 ม.ค.2555  

ความคิดของเด็ก ม.3

ขบวนการล้มเจ้ารุกคืบหนัก สร้างกระแสปล่อยข่าว เข้าสู่เด็กและเยาวชนในสถานศึกษาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดและเกลียดชังต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ ไม่เว้นแม้กระทั่งครูบาอาจารย์(บางคน) ที่คอยชี้นำไปในทางที่ผิด ในขณะเดียวกันสถานศึกษาก็พยายามจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างสำนึกให้เด็กและเยาวชนมีความรักต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างต่อเนื่อง แต่ดูเหมือนว่า "ฝ่ายธรรมมะกำลังจะแพ้ฝ่ายอธรรม"

ที่มาของภาพ
http://korkai1.exteen.com/20091114/entry
ภรรยาผมสอนเด็กนักเรียนชั้น ม.3 ของโรงเรียนชื่อดังแห่งหนึ่งใน จ.ราชบุรี ได้เล่าให้ฟังถึงความคิดด้านลบของเด็กนักเรียนหลายคนเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ ผมฟังแล้วรู้สึกว่าน่าเป็นห่วง หากเราไม่ช่วยกันแก้ไขหรือทำอะไรสักอย่าง อาจทำให้เด็กเหล่านี้คล้อยตามได้ ข้อมูลด้านลบแพร่กระจายมาจากหลายช่องทาง เช่น จากเว็บไซต์และเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่หมิ่นสถาบัน จากเว็บบอร์ด จากSMS จากข่าวลือที่ปล่อยข่าวเล่าต่อกันมา แม้กระทั่งจากพ่อแม่ของพวกเขาเองที่เป็นพวกคนเสื้อแดง ฯลฯ

แต่ "ข่าวลือ" ดูเหมือนจะเป็นแหล่งข้อมูลที่เข้าถึงเด็กและเยาวชนได้เร็วที่สุด เรื่องไม่ดีมักจะกระจายไปได้เร็วกว่าเรื่องดีี เรื่องนินทาว่าร้ายก็มักกระจายได้เร็วกว่าเรื่องสรรเสริญยกย่อง สถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ ถูกทำลายด้วยข่าวลือด้านลบ ที่ถูกปล่อยออกมาจากกลุ่มคนที่ไม่หวังดี เล่ากันจากปากต่อปากแต่งเติมเสริมเรื่องกันไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเกิดความเสียหาย

สถานศึกษาเป็นแหล่งที่รวมเด็กและเยาวชนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ดังนั้นเราจึงควรหาโอกาสที่จะบอกกล่าวเล่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นให้แก่พวกเขาได้ฟัง เล่าถึงพฤติกรรมของพวกขบวนการล้มเจ้าล้มกษัตริย์ ขบวนการเปลี่ยนแปลงการปกครองและปล้นประเทศไทย ของ นช. ทักษิณ ชินวัตร และบรรดาเหล่าสาวกคนเสื้อแดง ให้เขาได้รับทราบด้วย

แต่ปัจจุบันสถานศึกษาส่วนใหญ่มักกลัวที่จะเล่าเรื่องเหล่านี้ กลัวที่จะพูดเรื่องการเมือง กลัวที่จะพูดเรื่องขบวนการล้มเจ้า กลัวที่จะพูดเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง กลัวที่จะเปิดโปงความชั่วร้ายของนักการเมือง กลัวที่จะเปิดโปงการทุจริตคอรัปชั่น เด็กและเยาวชนของเราจึงไม่ได้รับรู้เรื่องราวอะไรเกี่ยวกับเหตุบ้านการเมืองเลย รู้ดีแต่เรื่องละคร ดารา เกมโชว์ เพลง แฟชั่นฯ ครูบาอาจารย์หลายท่าน ไม่เคยแม้กระทั่งสนใจและใส่ใจ ใครเล่าเรื่องอะไรให้ฟังก็ไม่รู้ไม่ทราบ วิชาสังคมประวัติศาสตร์ยังสอนกันอยู่แต่เรื่องไทยรบพม่ากับการปกครองสมัยในอดีตที่ผ่านมา การเมืองการปกครองและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไม่มีใครหยิบเอามาสอน ทั้งๆที่รู้ว่ามันเป็นเรื่องสำคัญที่เด็กและเยาวชนควรมีความรู้เพราะมันเกี่ยวกับอนาคตของประเทศไทยและอนาคตของเขาที่เขาต้องเผชิญต่อไป

สถานศึกษาควรช่วยกันหันมาหาวิธีที่จะทำให้เด็กและเยาวชนของพวกเรา ได้รับรู้เรื่องราวข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุบ้านการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ มันไม่ใช่แค่เรื่องการเมืองที่ห้ามพูด แต่มันเป็นเรื่องเดิมพันกับอนาคตของประเทศไทย คนที่เหมาะจะเล่าเรื่องราวเหล่านี้ให้เด็กและเยาวชนของเราฟังได้ดีที่สุดก็คือ "ครู อาจารย์" นั่นเอง

แต่ก่อนที่ "ครูอาจารย์" จะพูด ท่านต้องมีความรู้แจ้งในเรื่องนั้นๆ ก่อน
อย่าปล่อยให้ประเทศไทยเป็นไปตามยถากรรม เพราะความไม่รู้ของท่านเอง
เพราะท่านคือ "เสาหลักสำคัญของแผ่นดิน"

****************************
ชาติชาย คเชนชล : 23 ม.ค.2555

วันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555

นักรบหน้าคีย์บอร์ด...ถึงเวลาแปลงร่างแล้ว

ที่มาของภาพ
http://ramtaksin317.blogspot.com/
2010/07/blog-post_21.html
วันนี้ ผมได้อ่านบทความ "ปฏิบัติ "ปล้นชาติ" สายฟ้าแลบ" ของท่านเปลว สีเงิน ในเว็บไซต์ไทยโพสต์ รวมทั้งบทความของบรรดาครูบาอาจารย์ นักวิชาการและคอลัมนิสต์ หลายท่านหลายสำนัก ที่เขียนสอดคล้องกันเกี่ยวกับพฤติกรรมเลวร้ายของรัฐบาลเรื่อง "ซุกหนี้เดิม กู้เงินใหม่ แปลงร่าง ปตท.-การบินไทย"  ซึ่งอ่านแล้วรู้สึกได้ถึงอันตรายที่กำลังมาสู่ประเทศไทย ตามแผนอันชั่วร้ายสกปรกโสมมของ น.ส.ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร และพรรคพวกที่เรียกตัวเองว่าเป็น "รัฐบาล"  ทำให้ย้อนนึกถึงประโยคคลาสสิคประโยคหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง "ขุนรองปลัดชู"  ที่กล่าวว่า


กูอยากจะบอกต่อพวกมึงว่า
"แผ่นดินมันกำลังอ่อนแอ....อ่อนแออย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เหมือนเรือนใกล้จะพัง คานใกล้จะขาด เสาผุกร่อน เพราะปลวกมอดมันเจาะกินใน ถ้าพวกเราไม่ช่วยกัน วันนึง...ถ้ามันต้องเผชิญกับพายุร้าย แม้นแรงเพียงนิด มันก็ไม่แคล้วต้องพังทลายลง

กูมาถึงที่นี่ด้วยหัวใจที่รักแผ่นดิน  แผ่นดิน..ที่เราถือกำเนิด แผ่นดิน..ที่โอบอุ้มเถ้ากระดูกของปู่ ย่า ตา ทวด แผ่นดิน..ที่บรรพบุรุษของเรา เอาชีวิตและเลือดเนื้อปกป้องมา

วันนี้กูมองเห็นแต่ความเสื่อมสลาย
ความโทรมทรุดอันเกิดจากการเห็นแก่อำนาจและผลประโยชน์ส่วนตัว
มากกว่าความรักบ้านเมืองอย่างจริงใจ"

วันนี้...คนไทยรบกันเอง
เราคงไม่ต้องรบกับใครเหมือนในอดีต วันนี้..เรารบกันเอง แล้วเมื่อเราอ่อนแรงลง จะมีผู้ที่แข็งแรงกว่าเข้ามา "Take over"  กลุ่มอำนาจทุนกำลังทยอยกำลังเข้ายึดขุมทรัพย์ของประเทศ หนี้เดิมที่มีอยู่กำลังถูกซุกให้กลายเป็นหนี้ของประชาชน และรัฐบาลกำลังจะกู้เงินก้อนใหม่อีกจำนวนมหาศาล จักรวรรดิ์การล่าอาญานิคมรูปแบบใหม่กำลังเกิดขึ้น  ประเทศไทยกำลังจะเป็นเหยื่อรายต่อไป 

วันนี้...ถึงเวลาแปลงร่างแล้ว
ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่เรียกได้ว่าเป็น "นักรบหน้าคีย์บอร์ด" แต่วันนี้ผมคิดว่ามันไม่เพียงพอ พลังในโลกไซเบอร์และเครือข่ายสังคมออนไลน์ยังไม่สามารถจะทำอะไรกับพวกเหิมเกริมหลงอำนาจเหล่านี้ได้  เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศยังเข้าไม่ถึงโลกไซเบอร์  ถึงเวลาแล้วที่นักรบหน้าคีย์บอร์ด  จะต้องแปลงร่างเป็นอะไรสักอย่าง ที่จะช่วยเพิ่มกิจกรรมเชิงประจักษ์ในการเปิดโปงแผนการชั่วร้ายของ นช.ทักษิณฯ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและเหล่าสาวกคนเสื้อแดง เหล่านี้ให้แพร่หลายในวงกว้างมากยิ่งขึ้น

ลองช่วยกันคิดนะครับ ว่านักรบหน้าคีย์บอร์ดอย่างเรา จะทำอะไรได้มากกว่าเดิมบ้าง
ถึงเวลาที่ต้องแปลงร่างกันแล้ว..ออกมาจากโลกไซเบอร์สู่โลกแห่งความเป็นจริง
เพื่อกำจัดมารร้ายของประเทศไทย ก่อนที่จะสายไป




****************************************
จุฑาคเชน : 20 มกราคม พ.ศ.2555

วันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2555

ทำไม? ต้องเชื่อมติคณะรัฐมนตรี

ผมค้นหาความรู้เกี่ยวกับ "มติคณะรัฐมนตรี"  ในโลกออนไลน์  ได้พบกับคำถามหนึ่งในเว็บไซต์ www.meechaithailand.com   มีผู้ถาม อาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ ว่า "ถ้ามติคณะรัฐมนตรีไม่ใช่กฎหมาย แล้วเป็นอะไร มีผลบังคับใช้หรือเปล่า ถ้าไม่กระทำตามมติคณะรัฐมนตรีแล้วจะมีความผิดไหม และมีการยกเลิกได้หรือไม่ โดยอะไร"

อ.มีชัย ฤชุพันธ์ ตอบโดยใช้ภาษาง่ายๆ ว่า "มติคณะรัฐมนตรีเป็นเหมือนกับมติของคณะกรรมการบริษัทฯ  อันมีผลใช้บังคับกับบรรดาแวดวงของราชการและข้าราชการเท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย การที่ข้าราชการไม่ทำตามมติคณะรัฐมนตรีย่อมมีความผิดทางวินัยอาจถูกลงโทษได้ การยกเลิกก็สามารถทำได้โดยออกเป็นมติของคณะรัฐมนตรี"

ทำไม? ต้องเชื่อมติคณะรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีปัจจุบันเป็นผลพวงมาจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 นี้ ทำให้บรรดารัฐมนตรีเป็นเพียงตัวแทนของพรรคการเมือง (ตัวแทนของกลุ่มทุนที่หนุนหลังพรรคการเมืองนั้นๆ อยู่)  พวกเขาคัดเลือกรัฐมนตรีกันขึ้นมาเอง โดยมาเรียงลำดับไว้ใน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ไม่ได้เกิดจากการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรง ดังนั้น เราทำไมจึงต้องเชื่อมติคนเพียงไม่กีคนเหล่านี้   เสียทุกเรื่องไป

หากคณะรัฐมนตรีแต่ละท่าน เป็นคนดี มีความรู้ เป็นคนที่น่าเคารพนับถือ เป็นที่ยกย่องยอมรับของสังคม  มีผลงานและการปฏิบัติตัวปรากฏชัดว่าท่านเห็นแก่ผลประโยชน์ของชาติบ้านเมืองเป็นหลัก ผมว่าก็พอยอมรับและปฏิบัติตามได้ ตามที่ท่านประชุมและลงมติกัน 

จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า "มติ ครม."  ปัจจุบันจึงเหมือนกับมติของคณะกรรมการบริษัท ประเทศไทย จำกัด (ตามที่อาจารย์มีชัยฯ อุปมาไว้) โดยคณะกรรมการบริษัท ประเทศไทยฯ (ที่เป็นรัฐมนตรี) เหล่านี้ มักจะมีมติเอื้อประโยชน์ไปยัง บริษัทต้นสังกัดของตนเอง คือ พรรคการเมืองและพรรคพวกในกลุ่มการเมืองของตน นั่นเอง

ผมเชื่อว่า
"คนที่อยู่ในหมู่โจร ก็จะคิดอย่างโจร
และโจรจะเลือกโจรที่เก่งที่สุดเป็นหัวหน้า
ถึงแม้โจรคนนั้นจะได้รับเกียรติและยกย่องให้เป็นหัวหน้า
ยังไงๆ เขาก็ยังเป็นโจรอยู่ดี"

มติของท่านคณะรัฐมนตรีทั้งหลายในปัจจุบันนี้ ผมยังไม่เห็นมีอะไรบ่งบอกเลยว่า จะนำพาประเทศไทยของเราไปทางไหนในอนาคต อะไรคือ "วิสัยทัศน์ของประเทศไทย" พวกท่านยังสาละวนอยู่ในเรื่องหักเล่ชิงเหลี่ยมกันในทางการเมือง อำนาจ และผลประโยชน์ ไม่ว่าข้าวจะยากหมากจะแพง น้ำมันจะขึ้น ภัยพิบัติจะซ้ำเติม คนไทยจะเป็นหนี้กันถ้วนทั่ว กองทุนต่างชาติจะเข้าหุบเศรษฐกิจ รัฐบาลนี้ ไม่สน...คณะรัฐมนตรีมีมติแต่จะกู้เงิน จะเอาเงินเก่าออกมาใช้ ไม่เคยคิดหนทางที่จะหาเงินมาใหม่ มีแต่แจกเงิน แจกงบประมาณ แจกค่าเยียวยา  แก้รัฐธรรมนูญ แก้ ม.112 ฯลฯ  ผมไม่เคยเห็นท่านมีมติอะไรที่จะทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น (แบบยั่งยืน) เลย.... 

ผมไม่ค่อยเชื่อมั่นศรัทธาบรรดาคณะรัฐมนตรีทั้งหลายของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สักเท่าใดนัก ไม่ว่าจะปรับสักกี่หนกี่รอบก็ตาม เพราะผมคิดว่า "ท่านรัฐมนตรีทั้งหลายของเธอ ไม่ใช่ผู้ที่เห็นแก่ประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง" 

"แม้จะมีปลาเน่าเพียงตัวเดียว ก็สามารถทำให้ปลาเหม็นทั้งข้องได้"


*************************************
จุฑาคเชน :  17 ม.ค.2554

วันเสาร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2555

สืบสานผ้าไทย..เทิดไท้องค์ราชินี

"..ทุกครั้งที่เมืองไทยเกิดน้ำท่วมหรือเกิดภัยพิบัติอย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนำของพระราชทานไปช่วยเหลือราษฎร มักจะเป็นเครื่องอุปโภคบริโภค แล้วก็รับสั่งกับข้าพเจ้าว่า การช่วยเหลือแบบนี้เป็นการช่วยเหลือเฉพาะหน้า ซึ่งช่วยเขาไม่ได้จริงๆ ไม่เพียงพอ ทรงคิดว่า ทำอย่างไร จึงจะช่วยเหลือชาวบ้านเป็นระยะยาว คือทำให้เขามีหวังที่จะอยู่ดีกินดีขึ้น ลูกหลานได้เข้าโรงเรียนได้เรียนหนังสือ.....

ด้วยเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงเริ่มคิดหาอาชีพเสริมให้แก่ครอบครัวชาวนาชาวไร่ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงหาแหล่งน้ำให้การทำไร่ทำนาของเขาเป็นผลต่อประเทศชาติต่อบ้านเมือง ทรงพระดำเนินไปดูตามไร่ของเขาต่างๆ ทรงคิดว่านี่เป็นการให้กำลังใจ และที่ทรงให้ข้าพเจ้าดูแลพวกครอบครัว ก็เลยเป็นที่เกิดของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ...."

พระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2534

รูปภาพผ้าชนิดต่างๆ รวมทั้งคำอธิบายในบทความนี้ ผมนำมาจากปฏิทินตั้งโต๊ะ พ.ศ.2555 ซึ่งจัดทำโดย "การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย"  ซึ่งจัดทำขึ้นในหัวข้อ "สืบสานผ้าไทย..เทิดไท้องค์ราชินี" เพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมายุ 80 พรรษา ในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2555 ที่จะถึงนี้  ข้อมูลและภาพต่างๆ เหล่านี้น่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน รวมทั้งนักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจทั่วไป ผมจึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ไว้ในบทความนี้อีกช่องทางหนึ่ง ขอขอบคุณการไฟ้ฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ไว้ ณ ที่นี้ด้วย....




















ผ้าชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง (ฝ้าย)
ผ้าทอกะเหรี่ยงได้รับการพัฒนาคุณภาพและรูปแบบให้สวยงาม  แต่ยังคงเอกลักษณ์อันโดดเด่นของชาวกะเหรี่ยงไว้ได้ จึงเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น สามารถสร้างงาน สร้างรายได้แก่ชาวกะเหรี่ยงควบคู่ไปกับการสืบสานภูมิปัญญาชาวกะเหรี่ยงได้อย่างยั่งยืน




















ผ้าชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง (ไหม)
ชาวกะเหรี่ยงนิยมใส่เสื้อผ้าทอมือมาแต่สมัยโบราณ ซึ่งแต่เดิมชาวกะเหรี่ยงจะปลูกฝ้ายเองแล้วนำฝ้ายมาปั่นเป็นเส้นด้าย  ย้อมด้วยสีธรรมชาติ สร้างลวดลายด้วยการทอ และการปักด้วยเส้นไหม ชาวกะเหรี่ยงสร้างสรรค์ลวดลายและสีสันของผ้าทอจากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว




















ผ้าชาวเขาเผ่าม้ง
ผ้าปักม้งจะมีลวดลายแตกต่างกัน โดยม้งจะคิดค้นออกแบบลวดลายเองและปักอย่างประณีต  เมื่อปักแล้วจะนำมาตัดเป็นเสื้อผ้าเพื่อสวมใส่ในเทศกาลหรือวันสำคัญต่างๆ รวมทั้งนำไปประดิษฐ์เป็นเครื่องใช้ เช่น ถุงย่าม กระเป๋าสะพาย กระเป๋าสตางค์ เป็นต้น




















ผ้าชาวเขาเผ่าเย้า
เดิมเย้านิยมใช้สีปักลายผ้าเพียง 5 สีเท่านั้น คือ แดง  เหลือง น้ำเงิน เขียว และขาว แต่ปัจจุบันเริ่มใช้สีต่างๆ เพิ่มขึ้น การปักลายผ้าของเย้าจะแตกต่างจากชนเผ่าอื่นๆ โดยเย้าจะปักผ้าจากด้านหลังของผ้าขึ้นมาด้านหน้า จึงต้องจับผ้าให้หน้าคว่ำลง  การปักลายมีสี่แบบ คือ ปักลายเส้น ปักลายขัด ปักลายกากบาท และการปักไขว้




















ผ้ามัดหมี่
เป็นผ้าที่สร้างลวดลายจากการย้อมสีเส้นดายหรือไหมที่นำไปเป็นเส้นพุ่ง  โดยวางแผนออกแบบลายแล้วจึงมัดและย้อมเส้นไหมหรือฝ้าย แล้วจึงนำไปทอ ด้วยวิธีการ "มัด" เส้นไหมที่เรียกกันว่า "หมี่" แล้วนำไปย้อมก่อนนำมาทอเป็นผืนผ้านี้เอง จึงเรียกวิธีการนี้ว่า "มัดหมี่" และผ้าที่ทอขึ้นจึงเรียกว่า "ผ้ามัดหมี่"




















ผ้าขิด
เป็นการทอผ้าไหมที่มีวิธีการซับซ้อนหลายขั้นตอน จึงต้องอาศัยความชำนาญและฝีมือสูงกว่าการทอผ้าชนิดอื่น  มีลักษณะการทอแบบ "เก็บขิด" หรือ "เก็บดอก"  ลวดลายของขิดแต่ละลายจะมีรูปแบบที่สวยงาม มีความมัน วาว นูน และมีเหลือบต่างๆ กันไป  ได้แก่ ไหมลายขิดพื้นสีเดียว ไหมลายขิดมีเชิง และไหมขิด-หมี่ คือการทอผ้าไหมลายขิดสลับกับผ้าไหมมัดหมี่เป็นช่วงๆ






















ผ้าแพรวา
เป็นผ้าสไปไหม ทอขึ้นด้วยการผสมผสานการทอลายขัดธรรมดาเป็นพื้นสีแดงจัด เข้ากับการขัดและจกเป็นลวดลายต่างๆ ด้วยไหมสีเขียว เหลืองทอง น้ำเงิน ขาว ตัดกันอย่างสวยงาม ผ้าแพรวาเป็นผ้าหน้าแคบประมาณ 2 ศอก และยาวประมาณ 2 วา ผ้าแพรวาจัดเป็นเอกลักษณ์การแต่งกายของชาวผู้ไททั้งหญิงที่ใช้ห่มเป็นสไบ และชายที่ใช้คาดเอว 





















ผ้าไหมสุรินทร์
เป็นผ้าไหมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ตั้งแต่การกำหนดลวดลายที่ได้รับอิทธิพลจากเขมร การเลือกใช้ไหมเส้นเล็กที่เรียกว่าไหมน้อย  ผ้าทอจึงเรียบนิ่ม เนื้อแน่น  เงางาม และนิยมใช้สีธรรมชาติในการย้อม  ผ้าไหมสุรินทร์จึงมัดมีสีออกโทนสีขรึมไม่ฉูดฉาด  จ.สุรินทร์ จะมีการทอผ้าเกือบทุกหมู่บ้าน โดยชาวบ้านมักจะทอผ้าในช่วงเวลาที่สิ้นสุดฤดูการทำนาแล้ว





















ผ้ายกทอง
เป็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูการทอผ้ายกทองชั้นสูงแบบราชสำนักไทยโบราณ  ผสมผสานกับเทคนิคการทอผ้าแบบพื้นบ้าน  ด้วยการออกแบบลวดลายที่สลับซับซ้อนงดงามและทอยกลายด้วยดิ้นทองและเส้นทอง






















ผ้าหางกระรอก
ผ้าหางกระรอกเป็นผ้าพื้นที่มีลักษณะพิเศษ ซึ่งน่าจะเรียกชื่อตามผิวสัมผัส เพราะลายที่ปรากฏบนเนื้อผ้าเป็นเส้นฝอยฟูมองดูเหมือนขนอ่อนๆ เหลือบระยับคล้ายกับขนของหางกระรอก แลดูสวยงามแปลกตา วัสดุที่ใช้สำหรับทอผ้าหางกระรอก ได้แก่ เส้นใยไหมหรือเส้นฝ้าย ผ้าหางกระรอกที่ทอด้วยไหม เนื้อผ้ามีลักษณะละเอียดเป็นเงามีสีเหลือบ  ถ้าใช้เส้นใยฝ้ายเนื้อผ้าจะแลดูไม่ละเอียดอ่อนเท่าลายผ้าที่ทอด้วยไหม





















ผ้าจก
เป็นผ้าที่ทอขึ้นโดยใช้วิธีสอดแทรกเส้นพุ่งพิเศษเข้าไปเพื่อสร้างลวดลายบนผ้าสีพื้น  สีที่ตัดกันของเส้นด้ายบนลายต่างๆ เป็นเอกลักษณ์ที่บ่งชี้กลุ่มผู้ทอ โดยสื่อถึงความคิด ความเชื่อ และวิถีชีวิตของคนเหล่านั้น





















ผ้ายกนคร
ผ้ายกเมืองนครทอได้หลายชนิด  แต่ละชนิดมีลายดอกงดงาม  ได้แก่ ผ้าราชวัตร  ผ้าตาสมุก  ผ้าเก็บดอก  ส่วนผ้ายกดอกก็มีหลายชนิด เช่น ผ้าลายดอกพิกุล ผ้าลายก้านแหย่ง และผ้าลายดอกมะลิร่วง เป็นต้น  เครื่องมือที่ใช้ทอผ้ายก เรียกว่า "เครื่องทอหูก" หรือ "เก" ซึ่งมี 2 ชนิด คือ เกเยก (เคลื่อนที่ได้) และเกฝ้ง (ติดอยู่กับพื้น) ชาวบ้านมักสร้างเกไว้ใต้ถุนบ้าน  ฝีมือการทอผ้าของชาวเมืองนครศรีธรรมราชในอดีตมีชื่อเสียงมาก เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ดังปรากฏในเพลงกล่อมเด็กบทหนึ่งที่ว่า "ไปเมืองคอนเหอไปซื้อผ้าลายทองสลับ..."


************************

ที่มาข้อมูลและภาพ : ปฏิทินตั้งโต๊ะ พุทธศักราช 2555 จัดทำโดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

วันศุกร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2555

พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน









คณะรัฐมนตรีในสมัยนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2553  เห็นชอบการถวายพระราชสมัญญา "พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน"  เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา  7 รอบ 5 ธันวาคม พ.ศ.2554 และเพื่อความเป็นสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลแก่พสกนิกรชาวไทยสืบไปตลอดกาลนาน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  มีพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมแก่ปวงชนชาวไทย  ทรงปฎิบัติพระราชการณียกิจด้วยพระวิริยะอุตสาหะ  นำความเจริญมาสู่ประเทศชาติและประชาชนอย่างไพศาล  โดยเฉพาะพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทยซึ่งพระองค์สนพระราชหฤทัยเป็นพิเศษ ส่งผลให้การพัฒนาการศึกษาของชาติ มีความก้าวหน้าแผ่ขยายครอบคลุมทั้งในเมืองและชนบทอย่างทั่วถึง

ในรัชสมัยของพระองค์ การศึกษาของไทยพัฒนาก้าวหน้าครอบคลุมทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย  ซึ่งเป็นคุณประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย และการศึกษาไทย ที่สำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์การพัฒนาของประเทศไทย

การศึกษาในระบบ
พระราชกรณียกิจในส่วนเกี่ยวกับการศึกษาในระบบ  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนจิตรลดาขึ้นสำหรับพระราชโอรส พระราชธิดา บุตรข้าราชบริพารในพระราชวัง ตลอดจนเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปได้เข้าศึกษาด้วย  ต่อมาเมื่อเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรบริเวณชายแดนทุรกันดาร  ทำให้ทรงทราบถึงปัญหาการขาดแคลนสถานศึกษาของเด็กและเยาวชน จึงมีพระราชดำริให้จัดสร้างโรงเรียนให้แก่เด็กและเยาวชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา  นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชประสงค์ พระราชดำริ และที่ทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์  โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ช่วยเหลือ ทรงอุปถัมภ์ หรือทรงให้คำแนะนำ อาทิ โรงเรียนจิตรลดา  โรงเรียนราชวินิต  โรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจนในพระบรมราชานุเคราะห์  กลุ่มโรงเรียนร่มเกล้า  โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปภัมถ์ โรงเรียนไกลกังวล โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์  รวมทั้งกลุ่มโรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ

การศึกษานอกระบบ
มีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการพระดาบสขึ้น  ด้วยความห่วงใยต่อพสกนิกรที่ต้องการแสวงหาความรู้แต่ขาดโอกาสในการศึกษาเรียนรู้ ให้ได้ศึกษาวิชาชีพแขนงต่างๆ  เพื่อให้ผู้ผ่านหลักสูตร สามารถออกไปประกอบอาชีพได้ตามแนวพระราชดำริ

การศึกษาตามอัธยาศัย
ได้พระราชทานความรู้แก่ประชาชนผ่านศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ทรงจัดตั้งขึ้น  เพื่อเป็นแหล่งรวมสรรพวิชา วิชาการ การค้นคว้าทดลอง และการสาธิตด้านเกษตรกรรมเพื่อเผยแพร่ความรู้สำหรับการนำไปสู่การปฏิบัติจริงของเกษตรกร

การส่งเสริมการศึกษาด้านต่างๆ
นอกจากนี้ ได้ทรงริเริ่มโครงการที่ส่งเสริมการศึกษาและการจัดตั้งทุนการศึกษา  โดยทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดตั้งกองทุนต่างๆ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาของชาติ อาทิ  ทุนมูลนิธิ "อานันทมหิดล"  ทุนเล่าเรียนหลวง  ทุนพระราชทานแก่นักเรียนชาวเขา ทุนปริญญาเอกกาญจนาภิเษก  โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน และในปีฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ได้มีการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาด้วยระบบทางไกลผ่านดาวเทียม  เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับนักเรียนในส่วนภูมิภาคหรือชนบทห่างไกลได้มีโอกาสรับประสบการณ์  การเรียนรู้ที่มีคุณภาพไม่ด้อยกว่าโรงเรียนที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน  ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเเกล้าล้นกระหม่อมอย่างหาที่สุดมิได้

ที่สำคัญทรงเป็นแบบอย่างแห่งความเป็นครูที่แท้  ทรงประพฤติพระองค์เป็นแนวทางอันผู้เป็นครูทั้งหลายควรได้ยึดถือและดำเนินรอยตามเบื้องพระยุคลบาท  เหนือสิ่งอื่นใด ได้พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์พร้อมขวัญและกำลังใจนานัปประการแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาเสมอมา

พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน
ผลแห่งพระบรมปรีชาญาณและพระมหากรุณาธิคุณเป็นที่ประจักษ์แจ้งและยกย่องกันอยู่ทั่วไป  กระทรวงศึกษาธิการจึงเห็นสมควรถวายพระราชสมัญญา "พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน"  แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2554 


***********************************************








ที่มาข้อมูล
  • ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๒๘ ตอนพิเศษ ๑  ง  วันที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๔ หน้า ๒ และ ๓

วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2555

วันเด็กแห่งชาติ 2555 - โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร

คำขวัญวันเด็กแห่งชาติ ประจำปีพุทธศักราช 2555
"สามัคคี มีความรู้ คู่ปัญญา คงรักษาความเป็นไทย ใส่ใจเทคโนโลยี"
โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

*********************************

โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร?
What dream do you want to be? When you grown up.

 


ไกลสุดสายตา...สุดปลายรุ้ง     ดวงตาน้อยๆ มุ่งมองไปไกลแสนไกล
Look, Look over the rainbow Far. Far away in your eyes

เด็กน้อยเอย..เจ้าฝันเจ้าใฝ่  ฝันถึงสิ่งใด บ้างหนา
Little boys and girls.....you dream. Your dream in your future

หนูเอย หนูน้อย........ขอถามหนูหน่อยได้ไหม
Boys and Girls. Can I ask you?

หนูใฝ่ หนูฝันอยากเป็นอะไร เมื่อหนูโตใหญ่
What dream do you want to be?  When you grown up.


สิ่งไหนที่อยากเป็น
What will you want to be?

หนูอยากเป็น...........???????????? 

ไม่ว่าใครจะเป็นอะไร อยากเป็นสิ่งใด
Who you want be,What you want be.

ขอให้สมดังใจ ได้เป็นดั่งฝัน
I  hope you can became person as your dream.

แต่มีอีกอย่างที่สำคัญ  เหนือสิ่งใดนั้น
But...there more important thing that

 คือเป็นคนดี  - You will be a good person.

...................

และทำดีเสมอ ตลอดไป - Do good Always all the time.


**************************

"มีจิตวิญญาณไทย ใจเป็นสากล เปี่ยมล้นเทคโนโลยี ชีวีพอเพียง"
เด็กในวันนี้ คือผู้ใหญ่ในวันหน้า พวกเขาจะต้องเติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ
เพื่อทำหน้าที่ปกป้องรักษาชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ สืบแทนจากพวกเรา
การสอนเด็กที่ดีที่สุดในวันนี้ คือ
ท่านที่เป็นผู้ใหญ่ทั้งหลายในแผ่นดิน...จงพึงทำดีให้เด็กดู

วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

ค่ายอบรมเด็กและเยาวชนด้วยวิถี "เด็กวัด"

ในอดีต "วัด" เป็นศูนย์กลางของสังคม นอกเหนือจากจะเป็นที่พำนักของพระภิกษุสงฆ์และทำกิจกรรมทางศาสนาแล้ว ยังเป็นสถานที่ทำกิจกรรมทางสังคมในรูปแบบต่างๆ อีกมากมาย เช่น เป็นศูนย์กลางทางด้านการศึกษา เป็นที่พึ่งทางใจ เป็นที่ประชุมของชาวบ้าน เป็นสถานที่จัดงานบันเทิง เป็นที่สอนวิชาชีพ เป็นที่พักคนเดินทาง และฌาปนสถาน เป็นต้น 

ที่มาของภาพ
http://www.pixpros.net/forums/showthread.php?t=48844
ในสมัยที่ประเทศไทยยังไม่มีโรงเรียน เด็กผู้ชายมักถูกส่งเข้าไปอยู่ที่วัด เพราะวัดเป็นสถานที่แห่งเดียวที่จะให้การศึกษาเล่าเรียนศิลปะวิทยาการแขนงต่างๆ โดยมีพระสงฆ์เป็นผู้ประสิทธิประสาทวิชาความรู้ให้ทั้งทางโลกและทางธรรม รวมถึงการอบรมจรรยามารยาท  สมัยก่อนบุคคลไม่ว่าจะมีฐานะเช่นไร มักจะส่งบุตรหลานไปศึกษาเล่าเรียนที่วัด ฝากให้เป็นลูกศิษย์วัด และคอยปรนนิบัติรับใช้พระภิกษุสงฆ์ซึ่งถือว่าเป็นทั้งครู และผู้ปกครอง  ดังนั้น "เด็กวัด" หรือ "ศิษย์วัด" ในสมัยก่อน จึงมักจะเป็นลูกหลานที่พ่อแม่ ผู้ปกครองส่งมาศึกษาหาความรู้กับพระภิกษุสงฆ์

แต่ในสมัยนี้ เด็กวัดมีหลากหลายประเภท เช่น เด็กเร่ร่อน ถูกทอดทิ้ง ไม่มีบิดามารดา เด็กที่ผู้ปกครองฐานะยากจน เด็กที่พ่อแม่มีลูกหลายคนและเลี้ยงไม่ไหว เด็กที่พ่อแม่เสียชีวิตไปแล้ว หรือไปทำงานต่างถิ่น เด็กที่มาจากครอบครัวแตกแยก รวมถึงชาวเขาเผ่าต่างๆจากชายแดนที่ฐานะยากจน เป็นต้น

เมื่อเด็กเข้ามาอยู่ในวัด เจ้าอาวาสก็จะมอบหมายให้อยู่ในความดูแลของพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งในวัด และพระภิกษุรูปนั้นจะเป็นผู้ดูแลความเป็นอยู่ ตลอดจนให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตนของลูกศิษย์ ทั้งในด้านระเบียบ วินัย ความประพฤติ กิริยามารยาท และการศึกษาเล่าเรียน กิจกรรมของศิษย์วัด ส่วนใหญ่จะประกอบด้วย การติดตามพระภิกษุไปบิณฑบาต การจัดสำรับถวายพระ การดูแลความสะอาดในบริเวณกุฏิและภายในวัด การอำนวยความสะดวกแก่พระภิกษุ รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ เช่น การสวดมนต์ไหว้พระและเข้าร่วมประชุมศิษย์วัด การช่วยเหลือเมื่อวัดมีงานสำคัญ การฝึกตอบกระทู้ธรรม การติดตามพระภิกษุไปในกิจนิมนต์ในงานพิธีการต่างๆ เป็นต้น


จากการที่วัดเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม ที่มีความสงบร่มเย็น ทำให้ศิษย์วัดมีสมาธิในศึกษาทบทวนบทเรียนเพิ่มขึ้น อีกทั้งวัดยังมีพระภิกษุซึ่งเป็นผู้นำทางจิตใจและสติปัญญาช่วยกล่อมเกลาจิตใจ อบรมศีลธรรมจรรยา และช่วยชี้นำความประพฤติ ทำให้ศิษย์วัดมีความรับผิดชอบต่อตนเอง มีระเบียบวินัย ตรงต่อเวลา และมีมานะพยายาม การที่ศิษย์วัดได้พบปะผู้คนมากมายที่มีพื้นฐานแตกต่างกันที่มาวัด ทำให้ได้เรียนรู้การปรับตัวเข้าหาผู้อื่น มีความอดทน รู้จักการมนุษยสัมพันธ์ที่ดี และเป็นปัจจัยสำคัญในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคม

ศิษย์วัดในอดีต มีหลายคนที่ประสบความสำเร็จในการศึกษา มีอาชีพมั่นคง บางคนรับราชการในตำแหน่งสำคัญๆ เป็นนักการเมือง นักธุรกิจ ที่มีชื่อเสียง ก็ล้วนเป็นผลมาจากการที่บุคคลเหล่านี้เข้ามาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ได้พบและสัมผัสแต่สิ่งดีๆ ทำให้เกิดความรู้สึกอยากปฏิบัติแต่สิ่งที่ดีงามตามแบบอย่างที่ได้พบเห็น อันนำมาซึ่งการประสบความสำเร็จในชีวิตดังกล่าว

ค่ายอบรมเด็กและเยาวชนด้วยวิถี "เด็กวัด"
ปัจจุบันในหน่วยงาน สถานศึกษา สถาบัน และองค์กรหลายแห่งมีโครงการอบรมเด็กและเยาวชนฯ จำนวนหลากหลายรูปแบบ หากมีใครลองนำร่องคิดโครงการ "ค่ายอบรมเด็กและเยาวชนด้วยวิถีเด็กวัด" ขึ้นโดยอาจใช้เวลาสัก 3-7 วัน ออกแบบกิจกรรมให้ครอบคลุม  ผมคิดว่าโครงการนี้อาจจะเป็นโครงการหนึ่งที่จะสามารถช่วยให้เด็กและเยาวชนของเรา ได้สัมผัสและใกล้ชิดพระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น ใช้วิถีแห่งธรรมช่วยกล่อมเกลาจิตใจ ปลูกฝังศีลธรรม จริยธรรม และคุณธรรมให้แก่เด็กและเยาวชนของเรา เพื่อเติบโตขึ้นเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาตินในอนาคตต่อไป


หากเราทำอะไรซ้ำๆ แบบเดิมๆ แล้วหวังว่าจะได้ผลลัพธ์แบบใหม่ คงเป็นไปไม่ได้
ดังนั้น เราจึงต้องลองคิด ลองหาวิธีการใหม่ๆ ดู เราอาจจะได้ผลลัพธ์แบบใหม่ๆ ตามที่ต้องการ


****************************
ชาติชาย คเชนชล : 11 ม.ค.2555

ที่มาข้อมูล
  • งานวิจัยเรื่อง “ วัดกับเยาวชน : บทบาทของวัดในการส่งเสริมให้ศิษย์วัดประสบความสำเร็จในชีวิต ” ของ ประภาพร ชุลีลัง
  • กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม.(2553). ด็กวัด. [Online]. Available :http://www.m-culture.go.th/detail_page.php?sub_id=1703. [2555 มกราคม 10 ].