วันจันทร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2552

การศึกษาที่ผ่านมา เราวัดคุณภาพนักเรียนจากอะไร?


ในข้อเสนอ การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.2552-2561) (สำนักงานเลขาธิการสภากาศึกษา.2552 : 5-9) ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เมื่อคราวประชุมวันที่ 18 ส.ค.2552 ได้สรุปผลการปฏิรูปการศึกษาใน 9 ปีที่ผ่านมาในด้านการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน/สถานศึกษา พบว่า
1.สถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ประเมินของ สมศ. รอบแรก ถึงร้อยละ 65 (จากสถานศึกษาสามหมื่นแห่งทั่วประเทศ) และต่อมาในการประเมินรอบสองก็ยังมีสถานศึกษาที่ต้องได้รับการพัฒนาอีก ร้อยละ 20.3
2. สัมฤทธิผลการเรียนของนักเรียนในวิชาหลัก มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าร้อยละ 50
3. ผู้สำเร็จอาชีวศึกษาและอุดมศึกษามีความสามารถและสมรรถนะไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ และขาดทักษะความรู้พื้นฐานที่จำเป็น

จากข้อค้นพบที่ว่า สัมฤทธิผลของนักเรียนในวิชาหลัก มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าร้อยละ 50 หมายความถึงนักเรียนไม่มีคุณภาพ นั้น ผมมีความคิดเห็นส่วนตัวว่า หากเราใช้ทฤษฎีระบบง่ายง่าย คือ Input -> Process -> Output ก็คงจะพอมองเห็นได้ว่า ไม่ว่า Process จะดีมีมาตรฐานขนาดไหน หาก Input มีความแตกต่างกัน Output ก็ย่อมแตกต่างกันไปด้วย

ยกเว้นว่า หากเราไม่สนใจว่า Input จะแตกต่างกันอย่างไร แต่เราสนใจเพียงต้องการให้ คุณภาพของ Output ได้มาตรฐานและคุณภาพใกล้เคียงกัน ดังนั้น เราจึงต้องหา Process ที่มีความเป็นอัจฉริยะสามารถจัดการ Input ได้หลากหลายรูปแบบ ถึงจะทำให้ Output เป็นไปตามที่เราต้องการ
Input ก็คือ นักเรียน นักเรียน ก็คือมนุษย์ ดังนั้น มนุษย์จึงมีความแตกต่างกัน เมื่อ Input มีความแตกต่างกัน -> Process (กระบวนการจัดการเรียนการสอน) ก็ต้องย่อมแตกต่างกันไปด้วย -> ถึงจะได้ Output ตามที่ต้องการ นี่คือตรรกะง่ายๆ ที่ไม่ต้องคิดมาก

คำถามมีอยู่ว่า เราจะใช้เครื่องมืออะไรวัดว่า Output (ผู้เรียน) มีคุณภาพ หรือสถานศึกษามีคุณภาพ?

ลองทบทวนเครื่องมือที่ใช้วัดในปัจจุบัน น่าเชื่อถือหรือไม่ มีความเที่ยงตรงแค่ไหน และผลที่วัดได้มีความเชื่อมั่นระดับใด....หากเราใช้เครื่องมือวัดผิด ทุกอย่างก็ผิดหมด
เช่น บอกว่าวัดจากผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ ระดับเขตพื้นที่การศึกษา ระดับท้องถิ่น และผลการประเมินจาก สมศ. เป็นต้น เมื่อผลออกมาต่ำกว่าเกณฑ์ แล้วสรุปว่าผู้เรียนและสถานศึกษาไม่มีคุณภาพ อย่างนี้ ผมคิดว่าไม่น่าถูกต้อง
ทำไมเราไม่เลือกวัดจากคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนที่กำหนดไว้ในมาตรฐาน มากกว่าคะแนนสอบ ยกตัวอย่าง
เช่น ในอนาคต เราจะวัดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ของผู้เรียน ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 8 คุณลักษณะ คือ 1.ความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ 2.ความซื่อสัตย์สุจริต 3.ความมีวินัย 4.ความใฝ่เรียนรู้ 5.ความเป็นอยู่อย่างพอเพียง 6.ความมุ่งมั่นในการทำงาน 7.รักความเป็นไทย 8.ความมีจิตสาธารณะ ทั้ง 8 ข้อนี้ จะวัดได้อย่างไร
นักวิชาการด้านการวัดและประเมินผล ต้องคิดหนักว่า จะใช้เครื่องมืออะไร ที่จะวัดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน ทั้ง 8 ข้อ ให้ได้ผลอย่างเที่ยงตรง เชื่อถือได้ มากกว่าที่จะวัดความสำเร็จจากคะแนนสอบ O-NET หรือ LT แล้วที่สำคัญจะวัดตอนไหน เพราะการจัดการเรียนการสอนของเราเป็นลักษณะของสายพาน ที่ครูทุกระดับชั้นมีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตนักเรียนทั้งสิ้น ตั้งแต่
อนุบาล -> ประถมต้น -> ประถมปลาย -> มัธยมต้น -> มัธยมปลาย -> อุดมศึกษาหรืออาชีวศึกษา -> จบออกมาทำงานตามความต้องการของสังคม (หรือของผู้เรียนเอง)
มีเสียงบ่นมากมาย ที่พวกเราได้ยินเสมอในแวดวงการศึกษาปัจจุบัน เช่น เด็กเดี๋ยวนี้ ขึ้นชั้น ม.1 แล้วยังอ่านหนังสือไม่ออกเลย เด็กเดี๋ยวนี้มันขี้เกียจเรียน เอาแต่เล่นเกม ขี่มอเตอร์ไซด์ ซิ่งไปวันๆ เด็กเดี๋ยวนี้ จบปริญญาตรีมันยังทำอะไรไม่เป็นเลย ถามว่า แล้วพวกเราจะโทษใคร? ดี ที่เด็กๆ เป็นอย่างนี้
เราจะโทษครูอนุบาลดีไหม? ที่ไม่เตรียมความพร้อมของเด็กให้ดี
เราจะโทษครูประถมดีไหม? ที่ไม่ยอมสอนให้เด็กอ่านหนังสือได้
เราจะโทษครูมัธยมดีไหม? ที่ไม่สามารถสอนเด็ก ให้เก่งกว่าเดิมได้
เราควรจะโทษอาจารย์ในมหาวิทยาลัยหรือในอาชีวศึกษาดีกว่า ที่ไม่สามารถสอนให้เด็กมีความสามารถและพฤติกรรมตามที่สังคมต้องการได้
หรือเราจะโทษพ่อแม่ผู้ปกครองดี? ที่ไม่เอาใจใส่ดูแลลูกตัวเอง

ผมคิดว่า เราไม่ควรจะโทษใครเลย...เพียงแต่เราต้องเข้าใจอยู่เสมอว่า เรากำลังทำอะไรอยู่ หากเปรียบการศึกษาเหมือนกับการสร้างบ้าน เราควรจะคิดใหม่ อย่างนี้
ครูอนุบาล กำลังขุดหลุม ตอกเสาเข็ม
ครูประถม กำลังตั้งเสา เทพื้น
ครูมัธยม กำลังก่อผนัง ตั้งโครงหลังคา
ครูอาชีวศึกษาหรืออุดมศึกษา กำลังมุงหลังคาและตกแต่ง

หากคิดได้อย่างนี้แล้ว พวกเราจะไม่เห็นว่า ใครต้องดีกว่าใคร และใครต้องเก่งกว่าใคร เพราะทุกคนมีส่วนร่วมในสายพานการผลิตทั้งหมด

ในการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองนี้ ข้อเสนอในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน/สถานศึกษา พวกเราจึงควรนิยามปัญหาให้ชัดเจน และยืนยันว่านั้นคือปัญหาจริงๆ นำข้อมูลที่มีอยู่ทั้งหมด มาทำการวิเคราะห์ค้นหาสาเหตุที่แท้จริง แล้วคิดหาทางเลือกที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหา ต่อจากนั้นควบคุมการแก้ปัญหาให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด โดยต้องมีวิธีวัดที่เหมาะสมในปัญหานั้นๆ ด้วย
ยกตัวอย่างเช่น เราบอกว่า “ผลการสอบ O-NET ของนักเรียน ป.6 ม.3 และ ม.6 ในวิชาหลัก ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศต่ำกว่าร้อยละ 50” หมายถึง นักเรียนไม่มีคุณภาพ อย่างนี้ ผมคิดว่าอาจไม่ถูกต้องนัก เพราะเหตุปัจจัยหนึ่งที่นักเรียนสอบคะแนน O-NET ได้ต่ำ อาจเป็นเพราะ
1. การสอบ O-NET ไม่มีผลใดๆ กับตัวเองในการจบการศึกษา ดังนั้น นักเรียนจึงขาดความตั้งใจในการสอบ คะแนนสอบ O-NET เป็นเพียงเครื่องมือชนิดหนึ่งที่ผู้บริหารการศึกษาทุกระดับ ใช้วัดผลงานในการจัดการเรียนการสอนและการบริหารการศึกษาของตนเองเท่านั้น บางโรงเรียน ถึงขั้นไม่สอนตามปกติ เอาข้อสอบ O-NET มาติวเข้มกันเลย เพราะหากนักเรียนสอบได้คะแนน O-NET สูงๆ ก็จะทำให้โรงเรียนตัวเอง ดี เด่น ดัง มีผู้ปกครองไว้วางใจส่งเด็กเข้ามาเรียนมากขึ้น ลาภยศสรรเสริญก็จะตามมา
2. ข้อสอบที่นำมาใช้ เป็นข้อสอบที่มีความเที่ยงตรง น่าเชื่อถือได้หรือไม่ มีความยากง่ายแค่ไหน แน่นอน! หากเราถามนักวิชาการที่จัดสร้างขึ้น ก็ต้องบอกว่า “เป็นข้อสอบที่มีคุณภาพ ผ่านกระบวนการสร้างอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ” แต่สิ่งสำคัญที่ผมคิดว่าควรตั้งเป็นสมมติฐาน คือ ภายใต้ Input ที่แตกต่าง Process ที่หลากหลาย Output คือ ผลคะแนนสอบที่ออกมา ควรระบุไว้ก่อนว่า นักเรียนไทยควรได้คะแนนสอบอยู่ในระดับใด มีเกณฑ์ที่เชื่อถือได้โดยมาจากขั้นตอนและกระบวนการที่มีเหตุมีผล เมื่อผ่านเกณฑ์นั้นจึงจะเรียกว่า ได้คุณภาพ เช่น หากบอกว่า ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศนักเรียนไทยต้องสอบ O-NET ได้ไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 50 ทุกวิชา หาดคิดอย่างนี้แล้ว นักเรียนไทยปัจจุบันก็ไม่มีคุณภาพ แต่หากบอกว่า ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศนักเรียนไทยต้องสอบ O-NET ได้ไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 30 ทุกวิชา หากคิดอย่างนี้แล้ว ก็ถือว่า ปัจจุบันนักเรียนไทยมีคุณภาพ แล้ว
3. ค่าเฉลี่ยที่แตกต่าง เพราะ Input ที่ไม่เหมือนกัน วัตถุดิบที่มีคุณภาพได้รับการคัดสรรแล้ว กับ วัตถุดิบที่ยังไม่ได้รับการคัดสรร เมื่อเข้าสู่กระบวนการเดียวกัน Output ย่อมไม่เหมือนกัน หากเราแบ่ง Input คือ นักเรียนในระดับ IQ ที่แตกต่างกัน เป็น เกรด A,B,C และ D แน่นอน โรงเรียนที่มีนักเรียน เกรด A ย่อมได้คะแนนเฉลี่ย O-NET สูง ตรงกันข้าม โรงเรียนที่มีนักเรียน เกรด D ย่อมมีคะแนนเฉลี่ย O-NET ที่ต่ำแล้วอย่างนี้ ค่าคะแนนเฉลี่ย O-NET จะใช้วัดสิ่งใดในตัวคุณภาพของนักเรียน และมันสามารถวัดผลงานของครูผู้สอนหรือผู้บริหาร ได้จริงหรือไม่
4. ค่าเฉลี่ยในการสอบ O-NET แต่ละปีไม่ใช่กลุ่มตัวอย่างเดียวกัน หากเราพูดว่าค่าคะแนนเฉลี่ย O-NET ของนักเรียน ป.6 ปีนี้ เฉลี่ยแล้วต่ำลง แต่ในเรื่องความเป็นจริงแล้ว นักเรียน ป.6 ที่สอบปีที่แล้ว กับนักเรียน ป.6 ที่สอบปีนี้ เป็นคนละคนกัน ดังนั้นการแปลความหมายค่าเฉลี่ยดังกล่าว จึงไม่ได้มุ่งไปที่ตัวผู้เรียนจริงๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องการวัดคุณภาพ แต่กลับมุ่งไปที่ผลของการสอบจากข้อสอบในแต่ละปี

สรุปได้ว่า การวัดคุณภาพของผู้เรียน เราต้องหาเครื่องมือวัดที่เหมาะสม และต้องตอบให้ได้ว่า เราจะวัดเรื่องอะไร ถึงจะเรียกว่า ผู้เรียนมีคุณภาพ เพราะผู้เรียนเป็นมนุษย์ที่มีความแตกต่างกัน ผู้เรียนไม่ใช่สินค้าที่ได้จากกระบวนการผลิตแบบโรงงาน ที่เมื่อผลิตแล้วต้องมีคุณสมบัติ ขนาด น้ำหนัก รูปร่างเหมือนกับที่ออกแบบไว้


ชาติชาย คเขนชล : 28 ก.ย.2552

อ้างอิง :
สำนักเลขาธิการสภาการศึกษา.(2552). ข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษามนทศวรรษที่สอง
(พ.ศ.2552-2561). กรุงเทพฯ : สกศ.

วันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2552

เราย่ำเท้า ขณะที่คนอื่นเขาก้าวเดิน การปฏิรูปการศึกษารอบ 2 จะสำเร็จหรือไม่


“เราย่ำเท้า ขณะที่คนอื่นเขาก้าวเดิน” เป็นคำบรรยายตอนหนึ่งของ ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2552 ในการประชุมวิชาการ "ยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพการศึกษา" ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ หลักสี่ กรุงเทพฯ ซึ่งทำให้ผมรู้สึกสะท้อนถึงการปฏิรูปการศึกษาของไทยเมื่อปี พ.ศ.2542 ที่ผ่านมา ถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลา 9 ปี แล้ว ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่า ไม่ประสบความสำเร็จ พวกเราเหมือนย่ำอยู่กับที่ ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เขาเดินแซงหน้าไปหมดแล้ว ท่าน อ.วิจิตรฯ กล่าวว่า บทสรุปของการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมา ก็คือ “พวกเราไม่สามารถจัดการให้โรงเรียนในประเทศไทยมีคุณภาพใกล้เคียงกันได้” (ท่านใช้คำว่า ใกล้เคียง ไม่ใช่ เท่ากัน ซึ่งท่านบอกว่าคำว่า เท่ากัน นั้นเป็นไปไม่ได้) ผู้ปกครองและนักเรียนยังมีค่านิยม “โรงเรียนดี โรงเรียนเด่น โรงเรียนดัง” อยู่ การเรียนฟรีในโรงเรียนที่ดี กับการเรียนฟรีในโรงเรียนที่ไม่ได้เรื่อง มีผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน


ในข้อเสนอ การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.2552-2561) (สำนักงานเลขาธิการสภากาศึกษา.2552 : 5-9) ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เมื่อคราวประชุมวันที่ 18 ส.ค.2552 ได้สรุปผลการปฏิรูปการศึกษาใน 9 ปีที่ผ่านมาไว้น่าสนใจ โดยแยกปัญหาไว้ 9 ด้าน ซึ่งพอที่สรุปประเด็นสำคัญให้อ่านได้ง่ายๆ ดังนี้


1. ด้านการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน/สถานศึกษา พบว่า
1.1. สถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ประเมินของ สมศ. รอบแรก ถึงร้อยละ 65 (จากสถานศึกษาสามหมื่นแห่งทั่วประเทศ) และต่อมามีการประเมินรอบสองอีก ก็ยังมีสถานศึกษาที่ต้องได้รับการพัฒนาอีก ถึงร้อยละ 20.3
1.2. สัมฤทธิผลการเรียนของนักเรียนในวิชาหลัก มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าร้อยละ 50
1.3. ผู้สำเร็จอาชีวศึกษาและอุดมศึกษามีความสามารถและสมรรถนะไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ และขาดทักษะความรู้พื้นฐานที่จำเป็น
2. ด้านการผลิตและพัฒนาครูอาจารย์ พบว่า
2.1. นโยบายจำกัดอัตราคนภาครัฐ และมาตรการจูงใจให้ครูออกก่อนเกษียณ (ปี 2543-2549) มีผลให้วงการการศึกษาต้องสูญเสียอัตราครูไปถึง 53,948 อัตรา
2.2. บัณฑิตครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ บางส่วนจบแล้วไม่เป็นครู อาจารย์
2.3. ครูสอนไม่ตรงวุฒิ
2.4. ขาดแคลนครูในบางพื้นที่
2.5. ในอนาคตอีกประมาณ 5-10 ปี จะมีครูประจำการเกษียณมากกว่าร้อยละ 50 จำเป็นต้องมีการเตรียมวางแผนผลิตครูรองรับ
2.6.การคัดเลือกบุคคลมาเป็นครู พบว่าผู้เข้าเรียนคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ แม้จะมีจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่มักจะเลือกเรียนไว้เป็นอันดับท้ายๆ เป็นความจำเป็นต้องเรียน ดังนั้น จึงไม่ได้คนเก่ง และมีใจรักมาเป็นครู
2.7. ด้านการพัฒนาครู ขาดระบบการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพต่อเนื่อง ขาดการดูแลเอาใจใส่
3. ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารและจัดการศึกษา และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมรวมทั้งการกระจายอำนาจ พบว่า
3.1. แม้จะมีกฎกระทรวง และหลักเกณฑ์และวิธีการการกระจายอำนาจ แต่หน่วยปฏิบัติยังไม่มีอิสระและความคล่องตัวในการบริหารงานและจัดการศึกษาเท่าที่ควร
3.2. การจัดการศึกษาของเอกชนยังไม่การขยายตัวเท่าที่ควร
3.3. สถานประกอบการและสถาบันต่างๆ มีส่วนร่วมจัดการศึกษาเพิ่มขึ้น แต่ยังมีสัดส่วนน้อยมาก
4. การเพิ่มโอกาสทางการศึกษา พบว่า
4.1. ท้องถิ่นไม่มีความพร้อมในการจัดการศึกษาปฐมวัย
4.2. เด็กที่เข้าเรียนการศึกษาภาคบังคับออกกลางคันมาก
4.3. เด็กไม่นิยมเรียนอาชีวศึกษา
4.4. การให้บริการการศึกษาแก่ผู้ด้อยโอกาสยังไม่ทั่วถึง
4.5. การจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ยังไม่มีกลไกที่ชัดเจน ขาดองค์ความรู้เครื่องมือในการจัดการ
5. การผลิตและพัฒนากำลังคน พบว่า
5.1. ผู้สำเร็จอาชีวศึกษากว่าร้อยละ 70 ศึกษาต่อปริญญาตรี ทำให้ขาดแคลนกำลังคนระดับกลางอย่างต่อเนื่อง
5.2. ผู้สำเร็จขาดความรู้และทักษะที่จำเป็น
5.3. การผลิตคนด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์เกินความต้องการ ทำให้บัณฑิตจบใหม่ตกงาน
6. ด้านการเงินเพื่อการศึกษา พบว่า
6.1. ความด้อยประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและการใช้ทรัพยากรเพื่อการศึกษา
6.2. กลไกของรัฐไม่เอื้อให้ทุกภาคส่วนของสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการศึกษาและระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
6.3. การจัดสรรงบประมาณตามความต้องการปัจจัยการผลิตไม่สัมพันธ์กับผลผลิต
6.4. การบริหารภายใต้กฎระเบียบทางราชการที่มีความตึงตัวสูง ทำให้สถานศึกษาขาดแรงจูงใจในการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการเพื่อการแข่งขัน
7. ด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา พบว่า
7.1. มีปัญหาการดำเนินการเนื่องมาจากขาดการพัฒนาเนื้อหาผ่านสื่อที่มีคุณภาพ
7.2. ขาดการพัฒนาการเรียนการสอนและการพัฒนาผู้สอน
7.3. ครูและนักเรียนนำความรู้ด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาไปใช้ในกระบวนการเรียนการสอนและการเรียนรู้ด้วยตนเองน้อย
7.4. สถานศึกษามีจำนวนคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ไม่เพียงพอ
8. ด้านกฎหมายการศึกษา พบว่า
8.1. กฎหมายการศึกษาอยู่ระหว่างดำเนินการหลายฉบับ
8.2. กฎหมายการศึกษาที่มีผลใช้บังคับแล้ว ยังไม่สามารถใช้บังคับได้อย่างมีประสิทธิภาพ
8.3. การบริหารจัดการศึกษาบางเรื่องยังขาดกฎหมายรองรับ
8.4. หน่วยงานส่วนกลางบังคับใช้กฎหมายการศึกษา โดยเน้นโครงสร้างองค์กรมากกว่าการปฏิรูปคุณภาพการเรียนการสอน
9. ด้านการศึกษาตลอดชีวิต พบว่า
9.1. การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ยังขาดเนื้อหาและวิธีการที่เหมาะสม
9.2. ขาดการปรับปรุงกฎระเบียบที่จะเอื้ออำนวยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง
9.3. การศึกษาตลอดชีวิตยังไม่เป็นวิถีชีวิตของคนในชาติ

ปัญหาที่พบจากศึกษา การปฏิรูปการศึกษาใน 9 ปีที่ผ่านมา ทั้ง 9 ด้าน จำเป็นต้องนำมาเขียนเอาไว้เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจเป็นพื้นฐานไว้ก่อน ศัพท์ทางวิชาการบางคำ อาจจะเข้าใจยากไปบ้าง แต่จำเป็นต้องเขียนเพื่อป้องกันความผิดเพี้ยนจากเจ้าของบทความ
ปัญหาการจัดการศึกษาที่พบดังกล่าว ส่งผลให้เกิด การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.2552-2561) โดยมี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นเจ้าภาพหลัก รวมกับหน่วยงานทางการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ได้สรุปเป็นข้อเสนอต่างๆ มีสาระสำคัญ พอสรุปได้ ดังนี้
1. วิสัยทัศน์ สำหรับการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ : คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ
2. เป้าหมาย เน้นประเด็นหลักสามประการ
2.1. พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและเรียนรู้ของคนไทย
2.2. โอกาสทางการศึกษาและเรียนรู้
2.3. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคมในการบริหารจัดการศึกษา
3. คนไทยยุคใหม่ จากเป้าหมายการเน้นประเด็นหลักสามประการ จะส่งผลให้คนไทยยุคใหม่มีลักษณะดังนี้
3.1. สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง รักการอ่าน และมีนิสัยใฝ่เรียนรู้ตลอดชีวิต
3.2. มีความสามารถในการสื่อสาร สามารถคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา คิดริเริ่มสร้างสรรค์
3.3. มีจิตสาธารณะ มีระเบียบวินัย เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม สามารถทำงานเป็นกลุ่ม
3.4. มีศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม จิตสำนึกและความภูมิใจในความเป็นไทย ยึดมั่นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รังเกียจการทุจริต และต่อต้านการซื้อสิทธิ์ขายเสียง และสามารถก้าวทันโลก
4. ประเด็นสำคัญ ของระบบการศึกษาและเรียนรู้ที่ต้องปฏิรูปอย่างเร่งด่วน สี่ประการหลัก (สี่ใหม่) คือ
4.1. พัฒนาคุณภาพคนไทยยุคใหม่
4.2. พัฒนาคุณภาพครูยุคใหม่4.3. พัฒนาคุณภาพสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่4.4. พัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการใหม่ จากข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองฯ ที่กล่าวมาจะเห็นว่า ช่างเลิศหรู อลังการ ประดิษฐ์ถ้อยคำที่สุดแสนจะไพเราะสวยงาม คราวนี้ จึงมีคำถามว่า จะทำอย่างไร (Know how) ผมได้มีโอกาสฟัง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เล่าเรื่องนี้ให้ฟังถึง 2 ครั้ง ครั้งแรก ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง นโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2552 ในการประชุมทางวิชาการ การวิจัยทางการศึกษาระดับชาติ ครั้งที่ 13 ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพฯ และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 18 ก.ย.2552 ในการมอบนโยบายการศึกษาให้กับหัวหน้าหน่วยงานและผู้บริหารสถานศึกษา จ.ราชบุรี ณ โรงแรมโกลเด้นซิตี้ พอที่จะสรุปและจับประเด็นได้ว่า กระทรวงศึกษาธิการจะทำอย่างไรบ้าง ซึ่งผมจะได้เขียนเป็นเรื่องๆ ตอนๆ ตามความคิดเห็นส่วนตัว และความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ในวงสนทนาโอกาสต่างๆ เป็นลำดับต่อไป


ชาติชาย คเขนชล : 19 ก.ย.2552

อ้างอิง :
สำนักเลขาธิการสภาการศึกษา.(2552). ข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษามนทศวรรษที่สอง (พ.ศ.2552-2561). กรุงเทพฯ : สกศ.
วิจิตร ศรีสอ้าน.(2552). บรรยายพิเศษในการประชุมวิชาการ "ยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพการศึกษา"
ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ หลักสี่ กรุงเทพฯ (18 มิ.ย.2552)

วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2552

งานวิจัย กับ การพัฒนาครู คณาจารย์เพื่อคุณภาพการศึกษา


เมื่อวันที่ 10-11 กันยายน 2552 ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมทางวิชาการ การวิจัยทางการศึกษาระดับชาติ ครั้งที่ 13 ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพฯ ซึ่งจัดโดย สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ ประเด็นหลักคือ “ปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการศึกษา”
ในวันเปิดการประชุมช่วงเช้า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มาเป็นประธานเปิดการประชุม และปาฐกถาพิเศษ เรื่อง นโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ต่อจากนั้น รศ.ดร.วราภรณ์ สามโกเศศ ได้บรรยายพิเศษ เรื่อง “การวิจัยกับการพัฒนาครู คณาจารย์ เพื่อคุณภาพการศึกษา” ซึ่งเป็นการบรรยายที่น่าสนใจมาก ผมจึงนำเอาสาระตามที่จำได้ และบางส่วนที่จดบันทึกไว้มาเขียนตามความเข้าใจของผม เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ซึ่งสาระบางส่วนอาจขาดหายเพราะจดไม่ทัน จำไม่ได้ ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย

ความหมายของการวิจัยการวิจัย ซึ่งภาษาอังกฤษ เขียนว่า “research” นั้น อ.วราภรณ์ฯ ได้แยกคำออกจากกัน โดยคำว่า re เมื่อไปเติมนำหน้าคำใด จะหมายถึง นำกลับมาใหม่ ทำซ้ำอีกครั้ง ทบทวน หรือย้อนกลับ ส่วน search หมายถึงการค้นหา ดังนั้น research จึงน่าจะหมายความถึง การค้นหาใหม่ การค้นหาความจริง จนพบความจริง (Truth) แต่นักวิจัยต้องพึงระลึกเสมอว่า ความจริง(Truth) กับข้อเท็จจริง (Fact) นั้น มีความหมายแตกต่างกัน ดังนั้น นักวิจัยต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้ชัดเจน
การวิจัย คือการนำข้อมูล (Data) ที่มีอยู่มาจัดทำเป็นสารสนเทศ (Information) เพื่อให้ได้ความรู้ (Knowledge) หลังจากได้ความรู้แล้วก็จะก่อให้เกิด ปัญญา (Wisdom) แก่ผู้วิจัย นอกจากนั้น การวิจัย อาจหมายถึง การค้นหาข้อมูลจำนวนมากที่มีอยู่ในโลกใบนี้ มาตอบคำถามในสิ่งที่นักวิจัยกำลังค้นหา อาจเทียบได้กับการทำเหมืองข้อมูล (Data mining) นั่นเอง

งานวิจัยเกี่ยวพันกับอะไรบ้างงานวิจัยเกี่ยวพันกับกระบวนการค้นหาความจริง (Truth) เป็นการกระทำให้ความจริงปรากฏแจ่มชัดขึ้น หรืออาจเป็นการคาดการหรือพยากรณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้น หรืออาจจะเกี่ยวพันกับเรื่องราวรอบตัวเรา งานวิจัยมีทั้งเชิงคุณภาพ (Qualitative) และเชิงปริมาณ (Quantitative) งานวิจัยเป็นการเพิ่มองค์ความรู้ พัฒนาคุณภาพชีวิต ทำให้เกิดประโยชน์แก่การพัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์
มีงานวิจัยที่ดีมากมายเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาของไทย แต่มักไม่มีการนำข้อมูลไปใช้ในการร่างนโยบาย แผน หรือยุทธศาสตร์ รวมถึงนำสู่การปฏิบัติ การปฏิรูปการศึกษาของไทยที่ผ่านมา เริ่มต้นค่อนข้างจะดูดี แต่พอทำไปเรื่อยๆ กลับลงเอยเหมือนเดิม ดังคำพังเพยที่กล่าวว่า “ขึ้นต้นเป็นลำไม่ไผ่ พอเหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา”

คนกลัวงานวิจัยเพราะมีมายาคติที่ผิดพอกล่าวถึงงานวิจัย คนทั่วไปส่วนใหญ่มักมีมายาคติ เช่น
1. งานวิจัยต้องยาก ซับซ้อน และใหญ่โต
2. งานวิจัยต้องใช้ตัวเลขและมีโมเดล
3. เฉพาะ “คนที่เหาะได้” เท่านั้น จึงจะทำงานวิจัยได้
4. งานวิจัยต้องใช้ทรัพยากรมาก
5. งานวิจัยต้องตอบคำถามสำคัญเท่านั้น
เหล่านี้เป็นมายาคติที่ผิดเพี้ยนทั้งสิ้น จึงทำให้คนไม่ชอบการวิจัย โดยเฉพาะคุณครูของพวกเรา จริงจริงแล้ว งานวิจัยไม่จำเป็นต้องยุ่งยาก ซับซ้อน งานวิจัยบางเรื่องแค่ชื่อเรื่องก็อ่านไม่เข้าใจแล้ว อย่างนี้ไม่ใช่ งานวิจัยต้องเขียนให้คนทั่วไปอ่านและเข้าใจได้ อาจไม่จำเป็นต้องมีตัวเลขหรือมีโมเดลที่ซับซ้อน เพียงแต่ให้เป็นกระบวนการค้นหาความจริงตามหลักวิทยาศาสตร์ มีเหตุมีผลมีขั้นตอน และมีตรรกะรองรับ ใครๆ ก็ทำงานวิจัยได้ เพราะเป็นการค้นหาความจริงเพื่อตอบคำถามที่อยากรู้ คำถามไม่จำเป็นต้องเป็นคำถามที่สำคัญ แต่ขอให้เป็นคำถามที่มีประโยชน์เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาหรือพัฒนางานของตนเอง เช่น (ผมยกตัวอย่างเอง) คุณครูอนุบาลท่านหนึ่งอยากจะทราบว่า ทำไม? เด็กนักเรียนในห้องถึงไม่ชอบรับประทานผักคะน้า เมื่อทำการวิจัยหาคำตอบได้แล้วก็สามารถนำไปแก้ไขหรือหาวิธีให้เด็กนักเรียนรับประทานผักคะน้าได้ ประโยชน์ที่ได้รับก็คือ นักเรียนจะได้รับประทานอาหารครบหมู่ งานวิจัยของคุณครูอนุบาลชิ้นนี้ ไม่ได้ยุ่งยาก ซับซ้อน หรือใช้ทฤษฎีอะไรมากมายเลย เงินทองหรือทรัพยากรก็แทบไม่ได้ใช้
บางครั้ง คนเราพอตั้งท่าจะทำงานอะไรสักที ก็มักบอกว่าต้องมีเงิน แต่ อ.วราภรณ์ฯ บอกว่า อย่ามาอ้างเรื่อง ไม่มีเงิน ต้องบอกว่า ไม่มีสติปัญญามากกว่า เพราะหากมีสติปัญญาก็สามารถหาเงินและทรัพยากรได้
ผมคิดว่าจริงอย่างอาจารย์ว่า ผู้อ่านคงรู้จัก “ง งู” แต่อย่าสะกด “ง=เงิน” ก่อน แล้วจึง “ง=งาน” ควรสะกด “ง=งาน” ก่อน แล้วค่อย “ง=เงิน” หมายความถึง “จงคิดถึงงานก่อน แล้วเงินจะตามมาเอง”
ทำไม ครู อาจารย์ ควรทำวิจัยการทำวิจัยมีประโยชน์ต่อคุณครู อาจารย์ ดังนี้
1. คุณครูจะได้ความจริง (Truth) ที่ต้องการเพื่อตอบคำถามของตนเอง ยกเว้น ว่าคุณครูจะไม่เคยตั้งคำถามอะไรเลย คำถามที่ดี ควรจะถามว่า ทำไม (Why) อย่างไร (How) มากกว่า อะไร (What) หากตั้งคำถามที่มีประโยชน์ ก็จะได้รับคำตอบที่มีประโยชน์เช่นกัน นักเรียนก็เช่นเดียวกัน คุณครูควรสอนให้เขารู้จักตั้งคำถามที่ดี เช่น (ผมยกตัวอย่างเอง) การพาไปทัศศึกษาที่อนุสาวรีย์แห่งหนึ่งแล้วให้เด็กจดบันทึกมาส่งครู ครูควรสั่งให้เด็กนักเรียน ตั้งคำถามว่า ทำไมถึงต้องมีอนุสาวรีย์? และทำไมต้องมาอยู่ ณ ที่ตรงนี้? แล้วทำการค้นหา เป็นต้น หากคุณครูยังใส่แว่นตาอันเดิม แล้วมองอย่างเดิม ก็เป็นอย่างเดิม คนที่ประสบความล้มเหลว มักจะตั้งคำถามว่า “จะโทษใครดี” คนที่ประสบความสำเร็จ มักจะตั้งคำถามว่า “จะแก้ไขอย่างไรดี”
2. ผลการวิจัยเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ทำวิจัย เช่น หากเป็นครูอาจารย์ ก็สามารถใช้ในการปรับปรุงการเรียนการสอน ผู้สอนมีความมั่นใจในเนื้อหาการสอนมากขึ้น ส่งผลต่อความเชื่อถือของผู้เรียน ผู้สอนและผู้เรียนสนุกมากขึ้น เข้าใจเนื้อหาของวิชาลึกซึ้งขึ้น ผู้สอนมีตัวอย่างของจริง และมีความคิดที่ใกล้โลกความเป็นจริงมากขึ้น
3. มีผลทางบวกต่อความเชื่อมั่นในความสำคัญของตนเอง (Self-Esteem) ของตัวผู้วิจัย มีกระบวนการคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้นและคิดได้ชัดเจนมากขึ้น
4.การทำวิจัยจะเป็นการเพิ่มองค์ความรู้ในศาสตร์หรืออนุศาสตร์นั้นๆ ผลการวิจัยก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม การศึกษา เศรษฐกิจ และธุรกิจ สามารถแปรเปลี่ยนความจริงที่พบเป็นนโยบายและการปฏิบัติต่อไป

การวิจัยก่อให้เกิดการพัฒนาครูและคุณภาพการศึกษาการวิจัยทำให้
1. ผู้สอน “องอาจ” ยิ่งขึ้น
2. ผู้สอนมีเนื้อหาการสอนแน่น และครบถ้วนยิ่งขึ้น
3. ผู้สอนได้มีโอกาสเป็นนักเรียน
4. ผู้สอนสนุกมากยิ่งขึ้นกับกระบวนการเรียนการสอน
5. ผู้สอนเข้าใจกระบวนการเรียนรู้ยิ่งขึ้น
6. ผู้สอนเข้าไปอยู่ในกระบวนการจัดการความรู้ (Knowledge Management)

รศ.ดร.วราภรณ์ สามโกเศศ ได้สรุปไว้ตอนท้ายการบรรยายว่า การวิจัย คือ “การเขย่าไว้ ไม่ให้นอนก้น” การคิดอะไรเหมือนเดิมเดิม จะไม่ก่อให้เกิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสิ่งใดเลย ดังนั้น ต้องเขย่าไว้เรื่อยเรื่อย อย่าให้วิชาความรู้ที่มีอยู่เดิมตกตะกอนนอนก้นลงไปข้างล่าง หมั่นเติมองค์ความรู้ใหม่และเขย่าองค์ความรู้เดิมอยู่เสมอ ผสมคละเคล้าให้เข้ากันจนได้ที่ เพื่อจะได้เกิดนวัตกรรมใหม่ใหม่ นำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนแก่ลูกศิษย์ของพวกเราต่อไป


จุฑาคเชน : 13 ก.ย.2552

วันอาทิตย์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2552

จ.ราชบุรี จะสร้างกีฬานักเรียนอย่างไร? ให้เหมือนพัทลุง


เมื่อวันที่ 4-5 ส.ค.2552 ที่ผ่านมา ผมได้ร่วมเดินทางไป จ.พัทลุง ในนามสมาคมสื่อมวลชนราชบุรี ตามโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมเพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยว และเพื่อเข้าร่วมสังเกตการณ์การจัดการแข่งขันกีฬา-กรีฑา นักเรียน นักศึกษา ประชาชน ประจำปี 2552 ของจังหวัดพัทลุง ซึ่งประเด็นหลัง เรื่องกีฬาฯ นี้ เป็นภารกิจที่สำคัญ เนื่องจาก จ.ราชบุรี มีนโยบายที่จะจัดการแข่งขันกีฬานักเรียน นักศึกษา ของ จ.ราชบุรี ให้เหมือน จ.พัทลุง
ก่อนอื่น ต้องขออธิบาย การจัดการแข่งขันกีฬา-กรีฑา นักเรียน นักศึกษา ประชาชน ของ จ.พัทลุง ให้ทราบพอสังเขปก่อน ดังนี้
การแข่งขันกีฬา-กรีฑา นักเรียน นักศึกษาประชาชน ของจังหวัดพัทลุง เริ่มการแข่งขัน ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2493 ซึ่งเริ่มจากการแข่งขันที่สนามเล็กๆ ในโรงเรียนพัทลุง การแข่งขันดำเนินการมาโดยต่อเนื่อง จนกระทั่งในปี พ.ศ.2538 กรมพลศึกษาได้จัดสรรงบประมาณให้เพื่อสร้างสนามกีฬาแห่งใหม่ให้ได้มาตรฐาน และในปี พ.ศ.2552 นี้ จะเป็นการจัดการแข่งขันปีที่ 60 การจัดมหกรรมกรีฑา ในครั้งนี้ จึงใช้ชื่อเกมว่า “60 ปี กรีฑาพัทลุง”
การจัดการแข่งขันกีฬา-กรีฑา นักเรียน นักศึกษาประชาชน ของจังหวัดพัทลุง จะจัดขึ้นในวันที่ 5-7 สิงหาคม ของทุกปี ซึ่งชาวพัทลุงทุกคนจะจำได้ว่า ในวันที่ 5 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันพิธีเปิด พี่น้องชาวพัทลุงไม่ว่าจะอยู่แห่งหน ตำบลใดก็ตาม จะต้องมาพบกันให้ได้ เพราะวันนี้เป็นวันชุมนุมใหญ่ในการแข่งขันกีฬา-กรีฑา ของบุตรหลานชาวพัทลุง ภาพของผู้คนจำนวนมากที่ยืนเบียดเสียดกัน ริมสองข้างถนน ตั้งแต่หน้าโรงเรียนพัทลุง จนถึงสนามกีฬากลาง เพื่อคอยเป็นกำลังใจและคอยชมขบวนพาเหรดของบุตรหลานตนเองนั้น เป็นภาพที่เชื่อว่าทุกคนเห็นแล้วจะรู้สึกปิติยินดี ในความร่วมมือร่วมใจของพี่น้องชาวพัทลุงทุกคน ขบวนพาเหรดของแต่ละโรงเรียน ถูกออกแบบตกแต่งอย่างสวยงามวิจิตร นำหน้าขบวนด้วยวงโยธวาทิตที่สง่างาม ขบวนพาเหรดทั้งหมดมีความยาวกว่า 5 กิโลเมตร ต้องใช้เวลาเดินเข้าสู่สนามกีฬากลาง ตั้งแต่ประมาณ 14.00 นาฬิกา จนกระทั่งถึง 18.00 นาฬิกาใช้เวลาเกือบ 4 ชั่วโมง และในปีนี้ทางจังหวัดพัทลุง ยังได้จัดให้มีงานคู่ขนานกับงานมหกรรมกีฬา-กรีฑา นักเรียนฯ ในครั้งนี้ด้วย คือ งานเปิดโลกการศึกษา สร้างปัญญาเด็กพัทลุง ณ ศูนย์ประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนชาวพัทลุง ได้แสดงออกถึงความสามารถในด้านต่างๆ อีกด้วย
จากการที่ได้ฟังการบรรยายสรุปจากคณะกรรมการจัดการแข่งขัน จากการสังเกต สัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยตนเอง และผู้ที่ร่วมคณะเดินทางฯ พบว่า การจัดการแข่งขันกีฬา-กรีฑา นักเรียน นักศึกษาประชาชน ของจังหวัดพัทลุง ที่กลายมาเป็นประเพณีของชาวพัทลุง สืบเนื่องมาจนกระทั่งปัจจุบัน มีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

1.ใช้ระยะเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ พยายามผลักดันให้มีการจัดการแข่งขันอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี กระบวนการถ่ายทอดเจตนารมณ์จากคนรุ่นเก่าไปสู่คนรุ่นใหม่ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
2. พยายามกำหนดวันในการจัดการแข่งขัน อย่างชัดเจน คือ วันที่ 5-7 สิงหาคม ของทุกปี เพื่อให้ชาวพัทลุงทุกคนและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจดจำได้
3. นโยบายของผู้ปกครอง ผู้บริหารแต่ละยุคสมัย ล้วนสนองตอบต่อการจัดการแข่งขัน อาจจะมีบ้างในบ้างสมัย (ที่ผู้ปกครองหรือผู้บริหาร ไม่ใช่ชาวพัทลุง) อาจจะก่อให้เกิดปัญหาและอุปสรรคอยู่บ้าง แต่คณะผู้จัดการแข่งขัน (ซึ่งเป็นชาวพัทลุง) ก็พยายามใช้ความอดทน และแก้ไขปัญหา
4. ใช้ความเป็นเลิศของนักกีฬา-กรีฑาชาวพัทลุงที่ประสบผลสำเร็จในระดับชาติ เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างแรงจูงใจ
5. ทุกภาคส่วนในจังหวัดพัทลุง ล้วนให้การสนับสนุน ทั้งในด้านงบประมาณและทรัพยากรอื่นๆ ที่มี
6. เป็นกิจกรรมที่ใครก็ตามที่เป็นนักเรียน นักศึกษา ใน จ.พัทลุง ต้องมีโอกาสได้เข้าร่วมอย่างน้อย 1 ครั้ง ถึงจะเรียกว่าเป็นชาว จ.พัทลุง โดยสมบูรณ์
7. เป็นกิจกรรมที่ชาวพัทลุงทุกคน รู้สึกมีความภาคภูมิใจร่วมกัน
หากจังหวัดราชบุรี จะพยายามสร้างกีฬา นักเรียน นักศึกษา ของจังหวัดให้ประสบผลสำเร็จอย่าง จ.พัทลุง แล้ว คงจะต้องคำนึงถึงประเด็นน่าสนใจทั้งหมดที่กล่าวมา ว่าเราจะสามารถกระทำได้หรือไม่
ไม่ใช่ว่า ที่พัทลุงไม่มีปัญหา จริงๆ แล้วก็มีเหมือนกัน ก็คือ 1. งบประมาณ 2.ความขัดแย้งของผู้บริหาร 3 .ความไม่ร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง(โดยเฉพาะด้านตัวบุคคล) แต่ปัญหาทั้งหมด คณะกรรมการจัดการแข่งขัน ก็พยายามที่จะใช้ทฤษฎีการบริหารความขัดแย้งแบบ win – win โดยมุ่งให้ทุกคน ทุกฝ่าย คำนึงถึงประโยชน์ของเด็กนักเรียนนักศึกษาเป็นสำคัญ มากกว่าความขัดแย้งหรือผลประโยชน์ของผู้บริหาร กลยุทธ์โดยสังเขปของจังหวัดพัทลุง ที่พอจะคาดเดาหรือเรียบเรียงได้ มีดังนี้
1. กลยุทธ์จับเข่าคุยกัน โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาประชุมหารือกันล่วงหน้า เพื่อหาข้อสรุปรวมเป็นนโยบายการจัดการแข่งขันกีฬานักเรียนนักศึกษา ในแต่ละปีให้เกิดความชัดเจนจนเป็นมติที่ประชุมเพื่อเป็นแนวทางในการยึดถือปฏิบัติ และเป็นแนวทางเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ เตรียมจัดสรรงบประมาณประจำปีไว้ล่วงหน้า โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน
2. กลยุทธ์ Put the right man on the light job. พยายามแต่งตั้งคณะทำงานต่างๆ ให้ตรงตามอำนาจและบทบาทหน้าที่ที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้สามารถอำนวยการให้การจัดการแข่งขันเป็นไปโดยราบรื่น ไม่ก้าวก่ายกัน ไม่สับสน ทุกคนมีเอกภาพในการทำงาน ผู้มีอำนาจมอบอำนาจให้ผู้ขับเคลื่อนและผู้ปฏิบัติอย่างชัดเจน
3. กลยุทธ์โครงสร้างหน่วยกิจกรรม คณะกรรมการจัดการแข่งขันได้จัดโครงสร้างหน่วยกิจกรรมเป็น 3 หน่วยหลัก คือ หน่วยกีฬา หน่วยเชียร์ และหน่วยขบวนพาเหรด โดยแต่ละสถานศึกษาหรือหน่วยงานจะได้รับการจัดสรรงบประมาณตามจำนวนหน่วยกิจกรรมที่จัดตั้ง ในสัดส่วนที่เหมาะสมชัดเจน ตัวอย่าง เช่น
3.1. ในโรงเรียนขนาดใหญ่ อาจจัดตั้งหน่วยกิจกรรมได้ครบทั้ง 3 หน่วย คือ หน่วยกีฬา หน่วยเชียร์ และหน่วยขบวนพาเหรด ก็จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณทั้ง 3 หน่วยกิจกรรม
3.2. ในโรงเรียนขนาดกลาง อาจจะจัดตั้งหน่วยกิจกรรมได้เพียง 2 หน่วย คือ หน่วยกีฬา และหน่วยขบวนพาเหรด ก็จะได้รับงบประมาณสนับสนุนเพียง 2 หน่วยกิจกรรม
3.3. ในโรงเรียนขนาดเล็ก หากไม่สามารถจัดตั้งหน่วยกิจกรรมได้ ให้ไปรวมกันจัดหน่วยกิจกรรมในระดับ เทศบาล หรือ อบต. ของตนเอง
3.4. สำหรับประชาชนทั่วไป ก็สามารถรวมกลุ่มกันจัดตั้งหน่วยกิจกรรมทั้ง 3 หน่วยได้ในนามชุมชน หรือ อบต. หรือ เทศบาล เป็นต้น
4. กลยุทธ์การจัดสรรงบประมาณและความรับผิดชอบผ่านไปทางอำเภอ ทุกโรงเรียน ชุมชน อบต. หรือเทศบาล เมื่อจัดตั้งหน่วยกิจกรรมเสร็จแล้ว ให้ส่งไปยังอำเภอของตนเอง เพื่อรวบรวมเป็นหน่วยกิจกรรมของอำเภอ หลังจากนั้น จังหวัดก็จะจัดสรรงบประมาณ (ตามที่ประชุมกันไว้ ) ตามหน่วยกิจกรรมที่จัดตั้งมายังอำเภอ อำเภอก็จะรับงบประมาณเป็นก้อนใหญ่ แล้วนำมาแจกจ่ายให้แก่หน่วยกิจกรรมต่างๆ ภายในอำเภอของตนเอง ตรงนี้แหละที่เป็นกลยุทธ์ เป็นที่แน่นอนได้เลยว่างบประมาณที่ได้จากจังหวัดย่อมไม่เพียงพอที่จะสามารถจัดหน่วยกิจกรรมต่างๆ ของอำเภอตัวเองให้สวยงาม และยิ่งใหญ่อลังการได้ (อย่างที่พวกเราเห็นกัน) ดังนั้น ภาวะผู้นำของนายอำเภอ จึงต้องเร่งระดมทรัพยากรในอำเภอของตนเอง ทั้งจากภาครัฐ เอกชน ผู้ปกครอง หรือแม้แต่ประชาชนทั่วไป ทุกภาคส่วน เพื่อช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ลูกหลานของเขา (เพื่อให้ไม่น้อยหน้าอำเภออื่นๆ )
จากการสอบถามทางลึกส่วนใหญ่ อำเภอจะหาเงินเพิ่มเติมเพื่อใช้ในงานแข่งขันกีฬาทุกครั้ง อย่างน้อย 4 เท่าเป็นขั้นต่ำ เช่น ได้รับงบประมาณค่าหน่วยกิจกรรมของอำเภอจากจังหวัดมาทั้งหมด 100,000 บาท แต่ทางปฏิบัติแล้วต้องใช้ถึง 400,000 บาท เป็นต้น ดังนั้น นายอำเภอ ต้องระดมทรัพยากรจากทุกภาคส่วนเพิ่มเติมให้อีกประมาณ 300,000 บาท นี่แหละเป็นเหตุผลประการหนึ่งที่ กรีฑาพัทลุงถึงยิ่งใหญ่อลังการ
ในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังการจัดการแข่งขันกีฬา-กรีฑา นักเรียน นักศึกษา ประชาชน ของ จ.พัทลุง ประจำปี เม็ดเงินถูกหมุนสะพัดหมุนอยู่ในระบบเศรษฐกิจของพัทลุงไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ ตั้งแต่ ช่างตัดเสื้อผ้า ช่างแต่งหน้าทำผม ร้านเช่าเครื่องแต่งกาย ร้านดอกไม้ ร้านวัสดุอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน ร้านขายเสื้อผ้า มอเตอร์ไซด์รับจ้าง รถรับจ้าง รถบัส รถโดยสาร ร้านขายอาหาร เครื่องดื่ม ผลไม้ ร้านขายของชำ ปั๊มน้ำมัน ฯลฯ
ผมต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่ง ที่จะเขียนในสิ่งที่ได้ไปดูงานมา ซึ่งอาจเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องมากนัก เนื่องจากไม่มีเวลาที่จะเจาะลึกในรายละเอียดย่อยๆ ได้ หากผิดพลาดประการใด ผมต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย
หากท่านใดต้องการแก้ไขหรือให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ขอให้แสดงความเห็นไว้ท้ายบทความนี้ได้ครับ เราจะได้ช่วยกันหาวิธีที่จะทำให้ จ.ราชบุรี ของเราสามารถจัดการแข่งขันกีฬานักเรียน นักศึกษา ได้ยิ่งใหญ่เหมือนอย่าง จ.พัทลุง ยิ่งทราบข่าวว่าในการจัดกีฬานักเรียน นักศึกษา ของ จ.ราชบุรี ในปีต่อไป อบจ. จัดสรรงบประมาณมาให้ ตั้ง 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาท) ผมคิดว่าไม่น่าจะทำยาก ถ้าทุกคน ทุกภาคส่วน ที่เกี่ยวข้องร่วมด้วยช่วยกัน

ชาติชาย คเชนชล : 25 ส.ค.2552