วันอังคารที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ภาพวาดในหลวงของเรา

พระบรมสาทิสลักษณ์ หรือพระบรมฉายาทิสลักษณ์ คือ ภาพเหมือนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นภาพวาดไม่ใช่ภาพถ่าย ถ้าเป็นภาพถ่ายจะเรียกว่า พระบรมฉายาลักษณ์ 

ผมเห็นพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 จากเอกสาร หนังสือ นิตยสาร  ปฏิทินแขวน ปฏิทินตั้งโต๊ะ  สิ่งพิมพ์ต่างๆ ฯลฯ จำนวนมากมายหลายภาพ ที่หลายหน่วยงานหลายองค์กรได้จัดพิมพ์เอาไว้ตั้งแต่ในอดีตมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน  

ศิลปินผูู้มีชื่อเสียงหลายท่านจำนวนมาก ล้วนวาดภาพในหลวงของเราเอาไว้อย่างสวยงามวิจิตรบรรจง ในหลายพระอริยาบถถ่ายทอดความรู้สึกต่างๆ ที่มีต่อพระองค์ท่าน ออกมาได้อย่างหมดจดงดงาม หลายครั้งที่ผมเห็นภาพวาดในหลวงดังกล่าว กำลังจะถูกทิ้งเนื่องจากเก่าและชำรุดไปตามกาลเวลา ผมรู้สึกเสียดาย ผมจึงมีความตั้งใจที่อยากจะเก็บสะสมไว้ในบล็อกนี้อีกแห่งหนึ่ง ในรูปไฟล์อิเลคทรอนิกส์ เพื่อเก็บไว้ถ่ายทอดให้แก่คนรุ่นหลังต่อไป 

ภาพวาดบางภาพ ผมไม่สามารถหาชื่อศิลปินผู้วาด และเทคนิคที่ใช้ได้ จึงขออภัยไว้ ณ ที่นี่ด้วย และภาพบางภาพก็ค้นมาจากอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีจำนวนมากมายมหาศาล ยากที่จะรวบรวมได้ในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้น ภาพวาดในหลวงที่ปรากฏอยู่ ณ ที่นี้ เป็นเพียงเศษเสี้ยวบางส่วนเท่านั้น...ซึ่งผมจะพยายามค้นหาสะสมเพิ่มเติมอยู่เรื่อยๆ เมื่อมีโอกาส

ผมหวังว่า "ภาพวาดในหลวง" จะมีประโยชน์และสร้างแรงบันดาลใจให้เหล่าพสกนิกรชาวไทยทุกคนได้แสดงให้เห็นถึงความจงรักภักดีที่มีต่อพระองค์ท่าน  และเป็นตัวอย่างให้แก่ศิลปินรุ่นหลังได้เรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์งานในอนาคตต่อไป  

ศิลปิน : อุตสาห์ ไวยศรีแสง
เทคนิคสีน้ำ
มันบนผ้าใบ




















      


*********************************
รวบรวมโดย : จุฑาคเชน

ผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้บริการโทรคมนาคมของประชากรไทย พ.ศ. 2555-2556

ที่มาของภาพ : โพสต์ ทูเดย์



สำนักงาน กสทช. เผยผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้บริการโทรคมนาคมของประชากรไทย พ.ศ. 2555-2556 พบว่าสังคมไทยมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้นทั้งในรูปแบบการเชื่อมต่อผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่และเอดีเอสแอล พบว่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นบริการโทรคมนาคมที่คนไทยในทุกพื้นที่นิยมใช้สูงสุดถึงร้อยละ 93.5 โดยส่วนใหญ่เป็นการใช้บริการแบบเติมเงินสูงถึงร้อยละ 79.2 ด้านการใช้งานพบว่าร้อยละ 99.9 เป็นการใช้บริการด้านเสียง การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่มีแนวโน้มการเติมโตสูงขึ้นเป็นร้อยละ 31.9 จากร้อยละ 18.4 ในปีที่ผ่านมา 


โดยพื้นที่ที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่สูงสุด คือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ร้อยละ 53.2 รองลงมาเป็นภาคใต้ ร้อยละ 32.6 ตามด้วยภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ร้อยละ 29.5, 24.3 และ 18.9 ตามลำดับ และบริการที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงสุด 3 ลำดับแรก คือ
  1. บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ อาทิ Facebook, Twitter ร้อยละ 33.1 
  2. การสื่อสารผ่านข้อความ อาทิ Line, What App ร้อยละ 29.4 และ
  3. การค้นหาข้อมูล ร้อยละ 28.9 
ขณะที่การใช้บริการโทรศัพท์พื้นฐานลดลง แต่ยังคงมีอัตราสูงในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล โดยมีภาพรวมแนวโน้มพฤติกรรมใช้โทรศัพท์พื้นฐานเพื่อเป็นช่องทางเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากขึ้น กว่าการใช้เพื่อติดต่อสื่อสารทางเสียง 

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ร่วมกับ ศูนย์ศึกษาความร่วมมือระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สำรวจพฤติกรรมการใช้บริการโทรคมนาคมของประชากรไทย ระหว่าง พ.ศ. 2555 -2556 โดยมีข้อกำหนดระเบียบวิธีวิจัย การสำรวจภาคสนามจากตัวอย่างประชากรทั่วประเทศที่มีอายุตั้งแต่ 15-70 ปี จำนวน 4,020 ตัวอย่าง ครอบคลุมพื้นที่การสำรวจ 5 เขต ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 

ผลการวิจัย พบว่า บริการโทรคมนาคมที่คนไทยใช้บริการมากที่สุดในปัจจุบันคือ บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยมีสัดส่วนการใช้บริการสูงถึงร้อยละ 93.5 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด ในขณะที่สัดส่วนผู้ใช้บริการโทรศัพท์ประจำที่ หรือโทรศัพท์พื้นฐาน คิดเป็นร้อยละ 27.9 ผู้ใช้บริการโทรศัพท์สาธารณะเพียงร้อยละ 23.9 โดยทุกพื้นที่สำรวจพบว่า มีการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สูงกว่าร้อยละ 90 ส่วนใหญ่เลือกใช้บริการแบบเติมเงิน (พรีเพด) ในอัตราร้อยละ 79.2 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดที่ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีเพียงในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะใช้ที่มีผู้ใช้บริการระบบพรีเพดในอัตราที่ต่ำกว่าคือเพียงร้อยละ 55.8 โดยเมื่อพิจารณาถึงลักษณะการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ส่วนใหญ่เป็นการใช้บริการประเภทเสียง คิดเป็นร้อยละ 99.9 ส่วนการใช้บริการเพื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตพบว่าได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยมีแนวโน้มการเติมโตสูงขึ้นเป็นร้อยละ 31.9 จากร้อยละ 18.4 ในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ พบว่า บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (AIS) เป็นบริษัทที่มีสัดส่วนการใช้บริการมากที่สุดร้อยละ 51.8 รองลงมาคือบริษัท โทรเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (DTAC) ร้อยละ 37.2 และบริษัท ทรูมูฟ จำกัด (True Move) ร้อยละ 11.0 ตามลำดับ ซึ่งปัจจัยหลักที่ตัดสินใจเลือกผู้ให้บริการ คือ
  1. เครือข่ายครอบคลุม 
  2. สัญญาณเสียงคมชัดติดต่อได้สะดวก และ
  3. อัตราค่าบริการต่ำ 
นายฐากร กล่าวว่า สำหรับบริการโทรศัพท์ประจำที่ หรือ โทรศัพท์พื้นฐาน มีสัดส่วนผู้ใช้บริการ 27.9 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด นั้นถือว่าลดลงเมื่อเทียบกับปี 2554 ที่อยู่ร้อยละ 35.2 โดยลักษณะการใช้งานบริการโทรศัพท์ประจำที่ในปัจจุบันเน้นที่การรับสายถึงร้อยละ 90.5 ของจำนวนตัวอย่างที่ใช้บริการ รองลงมาเป็นการโทรออกร้อยละ 77.0 และใช้ในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตร้อยละ 46.8 โดยพบว่าบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ให้บริการที่กลุ่มตัวอย่างใช้บริการมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 69.9 รองลงมาได้แก่บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร้อยละ 13.3 และบริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน) มีสัดส่วนผู้ใช้บริการคิดเป็นร้อยละ 11.3 

ในส่วนของพฤติกรรมการใช้บริการโทรศัพท์สาธารณะพบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์สาธารณะเพียงร้อยละ 23.9 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด โดยสาเหตุหลักในการใช้บริการโทรศัพท์สาธารณะ คือ โทรศัพท์เคลื่อนที่ใช้การไม่ได้ (เช่น โทรศัพท์เสีย แบตเตอรี่หมด ฯลฯ) รองลงมาคือในที่พักอาศัยไม่มีโทรศัพท์ประจำที่ สำหรับสถานที่ที่ใช้บริการโทรศัพท์สาธารณะมากที่สุด คือ โทรศัพท์ที่อยู่ใกล้ที่พัก รองลงมาคือตามท้องถนนทั่วไป 

สำหรับบริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศ มีผู้ใช้บริการเพียงร้อยละ 5.5 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด และพบว่าผู้ใช้บริการขณะอยู่ต่างประเทศมีการโทรกลับประเทศไทยถึง 78.0 ของจำนวนตัวอย่างผู้เคยเดินทางไปต่างประเทศ และใช้วิธีการโทรกลับด้วยการซื้อซิมการ์ดใหม่ในต่างประเทศร้อยละ 49.1 รองลงมาเป็นใช้บริการโทรผ่านระบบ VoIP เช่น Skype, Viber  ร้อยละ 47.3 และใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในการใช้บริการโทรศัพท์ข้ามแดนอัตโนมัติร้อยละ 43.6 ในทางตรงกันข้าม หากพิจารณาขณะอยู่ในประเทศไทยพบว่า มีผู้ใช้บริการโทรศัพท์ทางไกลไปต่างประเทศคิดเป็นร้อยละ 74.5 ลดลงเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมาที่มีอยู่ร้อยละ 77.4 โดยส่วนใหญ่เลือกวิธีการโทรไปต่างประเทศด้วยการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ร้อยละ 59.8 ลดลงจากปี 2554 ที่มีการใช้สูงถึงร้อยละ 87.5 และโทรจากโทรศัพท์ประจำที่ร้อยละ 15.2 ลดลงจากปี 2554 ซึ่งมีการใช้ร้อยละ 19.3 

นายฐากร ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตโดยรวมของประเทศไทยพบว่า มีผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตคิดเป็นร้อยละ 46.0 ของกลุ่มตัวอย่าง เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ซึ่งมีเพียงร้อยละ 36.5 และสาเหตุหลักของการไม่ใช้บริการอินเทอร์เน็ตเนื่องจากไม่มีความจำเป็นต้องใช้ ไม่รู้จัก และใช้ไม่เป็น เมื่อพิจารณาผลการสำรวจพบว่า กรุงเทพฯและปริมณฑลมีการใช้บริการอินเทอร์เน็ตสูงที่สุดคิดเป็นร้อยละ 68.2 รองลงมาเป็นภาคใต้ร้อยละ 52.4 โดยช่วงเวลาการใช้งานอินเทอร์เน็ตมากที่สุดคือ ช่วงเวลา 16.00-22.00 น. โดยเป็นการใช้บริการในสถานที่พักอาศัยเป็นหลัก ซึ่งลักษณะการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นไปเพื่อ ใช้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น Facebook, Twitter มากที่สุด รองลงมาเป็น การสื่อสารข้อความ และการใช้ค้นหาข้อมูล 

“การสำรวจพฤติกรรมการใช้บริการโทรคมนาคมของประชากรไทย พ.ศ. 2555-2556 ของสำนักงาน กสทช. ครั้งนี้ ทำให้สำนักงานได้รับทราบถึงข้อมูลพฤติกรรมการใช้บริการโทรคมนาคม รวมถึงแนวโน้มการใช้บริการ และปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้บริการ เพื่อนำไปเป็นข้อมูลประกอบในการกำหนดและเสนอแนะกรอบนโยบายและการกำกับดูแลด้านการแข่งขันในการประกอบกิจการโทรคมนาคม การคุ้มครองผู้ใช้บริการโทรคมนาคม ตลอดจนด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง” เลขาธิการ กสทช. กล่าว


















ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : 
กลุ่มงานสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง 
กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) 
โทรศัพท์ : 0-2271-0151 ต่อ 315 - 317 โทรสาร : 0-2290-5241

**********************************
ที่มา : 
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม. (2556). ผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้บริการโทรคมนาคมของประชากรไทย พ.ศ. 2555-2556 . [Online]. Available: http://www.nbtc.go.th/wps/portal/NTC/!ut/p/c4/04_SB8K8xLLM9MSSzPy8xBz9CP0os3gTf3MX0wB3U08nxzATA09nJ2cLL1NDo2AnE_2CbEdFAOMpLEU!/?WCM_GLOBAL_CONTEXT=/wps/wcm/connect/library+ntc/internetsite/04newsactivi/0402newspaper/040201press/040201press_detail/0fbec200421ef7aba010e28b91da655b [2556.ธันวาคม 9]

วันพฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ราชดำเนิน..ถนนแห่งการต่อสู้

วันนี้ (วันพฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม 2556) เป็นวันหยุดราชการเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช แต่ผมไม่ได้กลับบ้านที่ราชบุรี เพราะเดี๋ยววันศุกร์ก็ต้องมาทำงานอีก รอกลับเย็นวันศุกร์เลยทีเดียว

ผมตั้งใจมาทำงานเพื่อสะสางงานที่คลั่งค้างอยู่ให้แล้วเสร็จ...แต่กลับไม่ได้ทำงานเลยเพราะเผอิญไปพบนิตยสาร "สารคดี" ฉบับที่ 164 ปีที่ 14 เดือนตุลาคม พ.ศ.2541  เล่มหนึ่ง หมกอยู่ใต้ชั้นหนังสือเก่าๆ ที่แทบไม่มีใครสนใจแล้ว เนื้อหาในเล่มนี้ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวของ  "ถนนราชดำเนิน"  และเขียนไว้ได้น่าสนใจมาก หยิบอ่านแล้ววางไม่ลง บทความที่ตีพิมพ์ให้แง่คิดมุมมองต่างๆ ผ่านเรื่องราวร้อยเรียงมากมายที่เกิดขึ้นบนถนนสายนี้...

ถนนราชดำเนิน เป็นถนนที่บันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประเทศไทยไว้อย่างหลากหลาย ยาวนานมาถึง 114 ปี   




ขวัญใจ เอมใจ (2541 : 80)  เขียนถึงถนนราชดำเนินไว้ว่า
"โดยตัวมันเองแล้ว ถนนราชดำเนินก็เป็นเพียงถนนธรรมดาๆ สายหนึ่งกลางเมืองหลวง ไม่ได้แตกต่างไปจากถนนดินแดงที่ฝุ่นดินปลิวคว้างยามลมผ่าน ณ หมู่บ้านเล็กๆ ในชนบทสักแห่ง...ต่างก็เป็น "หนทางที่ทำขึ้น" และทำหน้าที่ของตัวเองอย่างสัตย์ซื่อเท่าๆ กัน

แต่ถ้ามองผ่านฝุ่นควันไอเสียคละคลุ้ง น่ารังเกียจของถนนราชดำเนินในวันนี้ ให้ลึกลงไปจากความเป็นถนน ยังมี "หนทางที่ทำขึ้น" อีกสายซ้อนทับอยู่บนถนนธรรมดาๆ สายนี้ ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงเชื่อมสถานที่ในเมืองหลวง นำพา และส่งผ่านผู้คนจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง

แต่เป็นหนทางประชาธิปไตยที่ครอบคลุมชีวิตและจิตใจของคนไทยทั้งประเทศ
ราชดำเนินเป็นถนนของประชาชนในความหมายนี้โดยแท้
ทอดยาว คดเคี้ยว มีขวากหนาม แต่ก็มีผู้คนที่กล้าพอที่จะคิด ฝัน ร่วมสร้างและร่วมสู้ ครั้งแล้ว ครั้งเล่า วันแล้ว วันเล่า ชีวิตแล้ว ชีวิตเล่า

ด้วยลมหายใจอิสระและชีวิตเสรีของวันนี้นี่เอง ที่ตอกย้ำว่า "หนทางที่ทำขึ้น" บนนถนนราชดำเนินสายนี้ เป็นวิถีทางของประชาชนที่มีความหมายและงดงามเพียงใด"

กำเนิดถนนราชดำเนิน พ.ศ.2442
จากรอยทางเล็กๆ ในดงโสนและเรือกสวนของพระนคร เมื่อปี พ.ศ.2442  รัชกาลที่  5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง "ถนนราชดำเนิน" เชื่อมพระบรมมหาราชวังกับสวนดุสิต โดยแบ่งเป็นสามช่วงคือ ราชดำเนินนอก ราชดำเนินกลาง และราชดำเนินใน นับเป็นถนนหลวงกว้างขวางโออ่ากว่าถนนสายใดในพระนครเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จพระราชดำเนินกระทำพิธีเปิดถนนราชดำเนินนอก และสะพานมัฆวานรังสรรค์ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2446  

แนวความคิดในการสร้างถนนราชดำเนิน นอกจากเป็นการเชื่อมวังและขยายเมืองออกไปทางทิศเหนืออันเป็นที่ตั้งของสวนดุสิตแล้ว ยังเป็นการปรับปรุงบ้านเมืองให้งดงาม ศิวิไลซ์เหมือนดังมหานครในยุโรปที่รัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จประพาสด้วย

จากรอยทางเล็กๆ ในดงโสนและเรือกสวน มาเป็นถนนเชื่อมวัง ถนนอัน "ชักนำให้มหาชนได้กระทำการค้าขายให้เป็นการสะดวกขึ้น" สมดังพระราชปณิธาน ทั้งยังเป็น "หนทาง" ให้ประชาชนก้าวเดินทุกยุค ทุกสมัย ราชดำเนิน...เป็นถนนที่อำนวยประโยชน์สุขให้แก่ไพร่ฟ้าประชาชนโดยแท้

ราชดำเนิน...ถนนแห่งการต่อสู้
ถนนราชดำเนิน โดยชัยภูมิที่ตั้ง เป็นถนนที่เชื่อมต่อสถานที่สำคัญเอาไว้บนเส้นทางนับตั้งแต่ต้นถนนจนปลายถนน ที่หัวถนนราชดำเนินนอก มีพระที่นั่งอนันตสมาคม รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล ถัดเข้ามาก็เป็น กระทรวงทบวงกรมที่สำคัญ ราชดำเนินกลางก็มีอาคารร้านค้าขนาบทั้งสองข้าง ตรงกลางเป็นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บริเวณถนนราชดำเนินในก็มีท้องสนามหลวง กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และพระบรมมหาราชวัง ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่ถนนราชดำเนิน..จะกลายเป็นถนนแห่งการต่อสู้ของประชาชนตามวิถีทางของประชาธิปไตย  (ขวัญใจ เอมใจ. 2541 : 81) 
  • พ.ศ.2475 รุ่งอรุณแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองสยาม เช้ามืดวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรได้มารวมตัวกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้า หัวถนนราชดำเนินนอก ก่อนจะแยกย้ายกันไปจับกุมพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ที่ปกครองประเทศอยู่ในเวลานั้น มาเป็นตัวประกัน อยู่ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม แล้วประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครอง ณ ลานกว้าง หัวถนนราชดำเนินเมื่อรุ่งอรุณมาเยือน
  • พ.ศ.2500 ประท้วงเลือกตั้งสกปรก ถนนราชดำเนินรองรับวิถีทางของระบอบประชาธิปไตยเป็นครั้งแรก เมื่อนิสิต นักศึกษา และประชาชน รวมตัวกันเดินขบวนเพื่อประท้วงการเลือกตั้งสกปรกของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ในวันที่ 2 มีนาคม 2500 ขบวนมุ่งหน้าจากกระทรวงมหาดไทย ผ่านถนนราชดำเนิน ไปยังทำเนียบรัฐบาล แต่ถูกสกัดเอาไว้ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ โดยทหารและตำรวจอาวุธครบมือ ภายใต้การนำของร้อยเอกอาทิตย์ กำลังเอก การเผชิญหน้าระหว่างพลังทั้งสองฝ่ายเป็นไปอย่างร้อนแรง ทั้งเสียงตะโกนด่าทอ การขว้างปา การยื้อยุด แล้วก่อนนาทีวิกฤตจะมาถึง ร้อยเอกอาทิตย์ฯ สั่งปลดอาวุธทหารทั้งหมด ด้วยเกรงว่าจะเกิดการนองเลือดขึ้น และเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เดินทางมาถึง จึงยินยอมให้ทหารเปิดทางให้ประชาชนเดินขบวนต่อไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม ให้การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะ
จุดสำคัญที่เกิดเหตุการณ์บนถนนราชดำเนิน

  • พ.ศ.2516 วันมหาวิปโยค เป็นเหตุการณ์ที่นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนในประเทศไทย มากกว่า 5 แสนคน ได้รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลเผด็จการของจอมพลถนอม กิตติขจร นำไปสู่การใช้กำลังของรัฐบาลเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 มีผู้เสียชีวิต 77 ราย บาดเจ็บ 857 ราย และสูญหายอีกจำนวนมาก
14 ตุลาคม 2516 วันมหาวิปโยค

  • พ.ศ.2519 ปราบนักศึกษาที่ธรรมศาสตร์ เหตุการณ์จลาจลซึ่งเกิดขึ้นบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ขณะที่นักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัย ร่วมกับประชาชน กำลังชุมนุมประท้วงการเดินทางกลับประเทศไทยของจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่สนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลูกเสือชาวบ้านชุมนุมกันอยู่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เคลื่อนพลมาสมทบกับกระทิงแดงและนวพลที่ท้องสนามหลวง  โดยสถิติอย่างเป็นทางการระบุว่า มีผู้เสียชีวิต 46 คน ซึ่งมีทั้งถูกยิงด้วยอาวุธปืน ถูกทุบตี หรือถูกทำให้พิการ 
  • พ.ศ.2535 พฤษภาทมิฬ เป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลที่มีพลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี และต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ระหว่างวันที่ 17-20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นการรัฐประหารรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 นำไปสู่เหตุการณ์ปราบปรามและปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารกับประชาชนผู้ชุมนุม มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก (พลเอกสุจินดาแถลงว่ามีผู้เสียชีวิต 40 คน บาดเจ็บ 600 คน) และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
  • พ.ศ.2549  ขับไล่ทักษิณ วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549 ประชาชนออกมาชุมนุมที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ถนนราชดำเนินนอก การชุมนุมครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการชุมนุมยืดเยื้อข้ามคืน ในครั้งนี้มีการเปิดตัวกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นแกนนำในการชุมนุมครั้งต่อ ๆ ไป การชุมนุมครั้งนี้ยังเป็นครั้งแรกที่ใช้ชื่อว่า "การชุมนุมกู้ชาติ" การชุมนุมครั้งถัดมาจัดที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เมื่อวันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2549 ใช้ชื่อว่า "ปิดบัญชีทักษิณ" ในครั้งนี้รัฐบาลได้พยายามขัดขวางเนื่องจากอ้างว่ามีความไม่เหมาะสมและไม่สมควร เพราะสถานที่ที่นี้เป็นเขตพระราชฐาน จึงมีการนัดชุมนุมใหญ่ครั้งต่อไปที่สนามหลวงในวันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2549 โดยจะเป็นการชุมนุมยืดเยื้อไม่มีกำหนด จนกว่านายกรัฐมนตรีจะลาออกจากตำแหน่ง ใช้ชื่อว่า "เอาประเทศไทยคืนมา" สลับกับการเคลื่อนขบวนใหญ่เพื่อกดดันสองครั้ง ในคืนวันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ 2549 จากสนามหลวงมาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และเช้าวันอังคารที่ 14 มีนาคม 2549 จากสนามหลวงมาที่ทำเนียบรัฐบาลระหว่างมีการประชุมคณะรัฐมนตรี และย้ายการชุมนุมมาปักหลักบริเวณสี่แยกสะพานมัฆวานรังสรรค์สลับกับสี่แยกสวนมิสกวันและถนนพิษณุโลกช่วงข้างทำเนียบรัฐบาล 
  • พ.ศ.2551 ขับไล่รัฐบาลหุ่นเชิด พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ชุมนุมทางการเมืองพรรคพลังประชาชน โดยเป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย พ.ศ. 2548-2553 ซึ่งการชุมนุมยังคงมีเป้าหมายที่จะต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หลังจากรัฐบาลผสมที่มีพรรคพลังประชาชนเป็นแกนนำรัฐบาลบริหารประเทศมาระยะเวลาหนึ่ง กลุ่มพันธมิตรฯ ได้เริ่มชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 28 มีนาคม 2551 โดยการจัดสัมมนาที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และได้ประกาศชุมนุมใหญ่เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2551  โดยเป็นการรวมตัวจากหลายองค์กรทั่วประเทศ ซึ่งมีจุดประสงค์ในการขับไล่นายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐบาลทั้งสองชุดถูกมองว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในเดือนพฤศจิกายน กลุ่มพันธมิตรฯ ได้เข้าปิดล้อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อต่อรองกับนายกรัฐมนตรี สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ให้ลาออกจากตำแหน่ง ในเดือนสิงหาคม กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ปิดท่าอากาศยานภูเก็ตและท่าอากาศยานกระบี่ รวมทั้งปิดการเดินทางทางรถไฟสายใต้เพื่อกดดันให้นายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช ลาออกมาแล้ว ภายหลังจากมีคำวินิจฉัยคดียุบพรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลอีก 2 พรรค อันเนื่องมาจากกรณีทุจริตการเลือกตั้งของนายยงยุทธ ติยะไพรัช เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551 ในวันรุ่งขึ้นแกนนำพันธมิตรฯ ได้ประกาศยุติการชุมนุมทั้งที่ทำเนียบรัฐบาล ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง
  • พ.ศ.2554 ความขัดแย้งไทย-กัมพูชา พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้กลับมาชุมนุมอีกครั้งบริเวณสะพานมัฆวานและหน้าทำเนียบรัฐบาล เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2554 จากกรณีความขัดแย้งไทย-กัมพูชา โดยเรียกร้องให้รัฐบาลทำตามมติของกลุ่มพันธมิตรฯ 3 ข้อ คือ 1)ยกเลิก บันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก พ.ศ. 2543  2)ผลักดันชาวกัมพูชาที่อพยพและรุกล้ำเข้ามาอาศัยและสร้างสิ่งก่อสร้างในเขตแดนไทย 3)ให้ถอนตัวจากการเป็นสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลก แต่ทว่ารัฐบาลก็มิได้มีท่าทีสนองตอบ และได้ออกพระราชบัญญัติรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรมาใช้รักษาความปลอดภัย การชุมนุมในครั้งนี้ปรากฏว่า แนวร่วมผู้ชุมนุมลดลงไปเป็นจำนวนมากประกอบกับบุคคลที่เคยขึ้นเวทีปราศรัยหลายคนก็มิได้เข้าร่วมอีก เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ตำรวจได้อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญํติความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 เข้ายึดพื้นที่ผู้ชุมนุมบางส่วนเพื่อเปิดพื้นผิวจราจรและเมื่อรัฐบาลมีท่าทีว่าจะยุบสภาภายในต้นเดือนพฤษภาคม ปีเดียวกันนี้ และกำหนดให้มีการเลือกตั้ง ทางกลุ่มพันธมิตรฯก็ได้มีมติให้ทำการโหวตโน คือ รณรงค์ให้กาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนให้ใครในบัตรเลือกตั้ง พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประกาศยุติการชุมนุมเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 
  • พ.ศ.2556 มวลมหาประชาชนโค่นระบอบทักษิณ เดือน พ.ย. ต่อ ธ.ค.2556 มวลมหาประชาชนออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาลำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  นายกรัฐมนตรี รวมทั้ง ส.ส.312 คน และ สว.เลือกตั้งบางส่วน และต้องการล้มล้างระบอบทักษิณให้หมดสิ้นไปจากประเทศไทย ขอทวงอำนาจคืนจากรัฐบาลเพื่อตั้ง "สภาประชาชน"  ภายใต้การนำของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ  อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาและประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.)  และกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นล้อมระบอบทักษิณ (กปท.) ภายหลังรวมกันเรียกว่า คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) โดยการชุมนุมเป็นแบบยืดเยื้อ ปักหลักพักค้าง ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลาง สะพานผ่านฟ้า สี่แยกนางเลิ้ง กระทรวงการคลัง และศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ และในวันที่ 24 พ.ย.2556 เป็นวันระดมประชาชนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทยเพราะประชาชนออกมาชุมนุมมากกว่า 1 ล้านคน   

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สัญลักษณ์ของการชุมนุมทางการเมือง
ราชดำเนิน ได้รับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เมื่อ พ.ศ.2482 รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ประกาศเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างอาคารริมถนนราชดำเนินกลางทั้งสองฟาก พร้อมๆ กับการสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่สี่แยกถนนดินสอ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ.2475 

อนุสารีย์ประชาธิปไตย วางศิลาฤกษ์เมื่อ พ.ศ.2482 สร้างเสร็จและทำพิธีเปิดเมื่อ พ.ศ.2483 ในคำกล่าวเปิดของจอมพล ป.พิบูลสงคราม มีใจความตอนหนึ่งว่า
"....เพื่อเชิดชูคุณค่าของประชาธิปไตย และเพื่อมีเครื่องเตือนใจให้พยายามผดุงรักษาระบอบนี้ให้สถิตสถาพรอยู่ตลอดกาล คณะรัฐบาลจึงลงมติให้สร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขึ้น อนุสาวรีย์นี้จะเป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญก้าวหน้าทั้งมวล เป็นต้นว่า ถนนสายต่างๆ ที่จะออกจากกรุงเทพฯ ไปยังหัวเมือง ก็จะนับต้นทางจากอนุสาวรีย์แห่งนี้ ถนนราชดำเนินซึ่งเป็นแนวของอนุสาวรีย์ก็กำลังสร้างอาคารให้สง่างามเป็นที่เชิดชูเกียรติของประเทศไทย และเป็นการสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช ที่ทรงตั้งพระราชหฤทัย จะทำให้ถนนนี้เป็นที่เชิดชูยิ่ง"

วันนี้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยยังตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ที่เดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปก็คือการต่อสู้ของคนแต่ละยุคแต่ละสมัย ตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยที่เข้าใจแตกต่างกัน การต่อสู้กับจอมเผด็จการและทรราชย์ยังมีให้เห็นอยู่เสมอ ไม่เว้นแม่แต่วันนี้ "ตราบใดที่พวกเรา ยังไม่สามารถหาคนดีขึ้นไปปกครองบ้านเมืองได้" ตามที่ในหลวงฯ ทรงมีพระบรมราโชวาทสอนพวกเราไว้ เหตุการณ์ก็จะยังคงเป็นเช่นนี้ หมุนเวียนเรื่อยไป ไม่มีวันจบสิ้น   


   

สงสารแต่ราชดำเนิน
ถนนราชดำเนินถูกสร้างขึ้นเพื่อการขยายเมืองพระนคร และหวังให้เป็นศรีสง่าแก่พระนคร เฉกเช่นประเทศที่ศิวิไลซ์ ตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 5 แต่ราชดำเนินวันนี้ มีเรื่องราวน่าศึกษา ค้นคว้า เรียนรู้มากมายกว่าที่คิด

หาก "ราชดำเนิน" เป็นคน ก็อายุ 114 ปี แล้ว เขาต้องเป็นคนที่เข้มแข็งมาก เพราะเขาผ่านทั้งร้อน ผ่านทั้งหนาว ผ่านทั้งทุกข์ ผ่านทั้งสุข  มานับครั้งไม่ถ้วน เขาเคยได้ยินเสียงปลาบปลื้มปิติยินดี เสียงไชโยโห่ร้อง จนกระทั่งเสียงปืน  เสียงลูกระเบิด และเสียงร้องไห้ปริ่มจะขาดใจ อีกทั้งสรีระร่างกายของเขา คงเคยอาบน้ำมาสารพัดอย่าง ทั้งน้ำมนต์ น้ำเลือด และน้ำตา  

สงสารแต่ "ราชดำเนิน"

ร้อยสิบสี่ปี ล่วงพ้นผ่าน
หลายเหตุการณ์ ประดังมา ยังทนไหว
ทั้งปลาบปลื้ม สุขสม ปิติใจ
ทั้งนองไหล ด้วยเลือด และน้ำตา

"ราชดำเนิน" เจ้าเอ๋ย เคยเหนื่อยไหม
ที่เห็นไทย ฆ่าไทย ไห้โหยหา
เมื่อใดเล่า "สันติสุข" จักคืนมา
ซับน้ำตา ลบรอยช้ำ "ราชดำเนิน"

******************************

ที่มาข้อมูล
  • ขวัญใจ เอมใจ.  (2541).  ราชดำเนิน ทางมีเพราะคนเดิน. สารคดี ฉบับที่ 164 ปีที่ 14 เดือนตุลาคม 2541.
  • ขวัญใจ เอมใจ.  (2541).  ราชดำเนิน ถนนของประชาชน. สารคดี ฉบับที่ 164 ปีที่ 14 เดือนตุลาคม 2541. 
บทกลอนประกอบประพันธ์โดย : พัน ภูพ่าย

หนังสือสารคดี ฉบับที่ 164 ปีที่ 14
เดือนตุลาคม พ.ศ.2541