วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2550

สถิติที่สังคมควรหันมาใส่ใจ

โพล (Poll) หมายถึง การสำรวจความเห็น โดยตั้งคำถามคนจำนวนมากๆ “โพล” เป็นสิ่งที่พวกเราพบเห็นเป็นประจำจากการรายการข่าวทางสื่อต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเราไม่ว่าจะเป็น สื่อโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ หรืออินเทอร์เน็ต ผู้จัดทำโพลในปัจจุบันมีหลายสำนัก หลายสถาบัน แต่ที่ค่อนข้างเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ และเป็นที่รู้จักของบุคคลโดยทั่วไป เห็นจะเป็น โพลของ สำนักวิจัยเอแบค (เอแบคโพล) โพลของมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต (สวนดุสิตโพล) และโพลของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพล) เป็นต้น
โพล ที่เป็นข่าวปรากฏอยู่ตามสื่อต่างๆ บางคนก็ให้ความสนใจ บางคนก็สนใจบ้างแต่ไม่บ่อยนัก และก็มีบางคนแทบไม่ได้สนใจหรือให้ความสำคัญเลย นอกจากโพลแล้ว บางครั้ง เราก็อาจพบผลงานวิจัยหลายเรื่อง ที่ถูกนำเสนอในที่ประชุมสัมมนาต่างๆ ซึ่งหากได้เราลองพิจารณาและศึกษาแล้ว ผลจากโพลหรือผลจากงานวิจัยที่ค้นพบ บางเรื่องมีคุณค่ายิ่งนัก พออ่านแล้วน่าเป็นห่วงสังคมมาก แต่ก็มีโพลหรืองานวิจัยบางเรื่องไม่ค่อยน่าสนใจ บางเรื่องก็ไม่น่าเชื่อถือ และบางเรื่องก็ดูเหมือนจะไร้สาระ แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว หัวข้อเรื่องและบริบทของการทำโพล หรืองานวิจัย ที่ถูกนำเสนอตามหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อต่างๆ นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อสังคมเกือบทั้งสิ้น ไม่เช่นนั้นสื่อมวลชนคงไม่นำมาลงเป็นข่าวเพื่อตีพิมพ์หรือเผยแพร่ให้แก่สาธารณชนได้ทราบอย่างแน่นอน
จากการที่ข้าพเจ้าได้เฝ้าติดตามสังเกต สัมภาษณ์ และพูดคุย กับผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน คนรู้จัก รวมทั้งบรรดาญาติสนิทมิตรสหายของข้าพเจ้า รู้สึกว่าคนเหล่านี้มีจำนวนน้อยมาก ที่จะเห็นความสำคัญของโพล หรืองานวิจัยที่ปรากฏเป็นข่าว มักไม่ค่อยถูกนำมาพูดคุยกันในวงสนทนา หรือถูกนำมาพัฒนาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่องานของตนเอง ทั้งๆ ที่หลายเรื่อง มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรง
ข้าพเจ้าได้ลองพยายามรวบรวมโพล และงานวิจัยที่ได้อ่านพบจากสื่อต่างๆ ในห้วงระหว่าง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีหลายเรื่องพอสมควร ข้าพเจ้าจะขอนำเรื่องที่สำคัญๆ และน่าสนใจ มาเขียนพอสังเขป ดังนี้

ความพึงพอใจต่อรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์
กรุงเทพโพล ของสถาบันวิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นเรื่อง การประเมินผลงาน 3 เดือน ของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนในเขต กทม.และปริมณฑล จำนวน 1,082 คน ระหว่างวันที่ 30 ธ.ค.49 – 4 ม.ค.50 พบว่า (อนุภพ. เห็นมาอย่างไรเขียนไปอย่างนั้น. น.ส.พ.เดลินิวส์. 10 ม.ค.2550 : หน้า 8)
· ประชาชนมีความพึงพอใจในผลงานของรัฐบาลนี้ในภาพรวมเพียง 5.27 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10
· ส่วนด้านความเห็นต่อทิศทางการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทย เมื่อรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศครบ 3 เดือน พบว่า
o ร้อยละ 43.1 เห็นว่า เหมือนเดิม มองไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง
o ร้อยละ 24.9 เห็นว่า มีการเปลี่ยนแปลงที่แย่ลง
· ประชาชนชื่นชมรัฐบาลชุดนี้แค่เรื่อง ความซื่อสัตย์ โปร่งใส และการปราบปรามทุจริตคอรัปชั่น
· เรื่องที่รัฐบาลสมควรปรับปรุงแก้ไขมากที่สุด ได้แก่ ความรวดเร็วฉับไวในการทำงาน ความเด็ดขาดกล้าตัดสินใจ และการสื่อสารสร้างความเข้าใจกับประชาชน

โทรศัพท์มือถือช่วยให้คนโกหกมากขึ้น
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานผลจากการสำรวจพบว่า (น.ส.พ.เดลินิวส์. 10 ม.ค.2550 : หน้า 16) มีผู้ตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 1,487 คน ร้อยละ 67 ยอมรับว่าเคยใช้โทรศัพท์มือถือและอีเมล์โกหก และเป็นการโกหกในที่ทำงาน เหตุผลเพราะเกิดความละอายใจน้อยกว่าการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่โดยตรง
ส่วนข้ออ้างที่นำมาใช้ในการโกหกเรียง 3 อันดับแรกได้แก่
· อันดับแรก เป็นการเจ็บป่วย คิดเป็น 43%
· อันดับที่สอง เป็นเรื่องงานที่ได้รับมอบหมาย คิดเป็นร้อยละ 23%
· อันดับที่สาม เป็นเรื่องของการปกปิดความผิดไม่ให้เจ้านายระดับสูงทราบ คิดเป็น 18%

สถานการณ์ความรุนแรงในนักเรียน
พีธากร ศรีบุตรวงศ์ นักศึกษาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (น.ส.พ.คม ชัด ลึก. 11 ม.ค.2550 : หน้า 12) ได้ศึกษาสถานการณ์ความรุนแรงในนักเรียน จ.อุดรธานี จำนวน 300 คน พบว่า
· ในระดับอนุบาล พบพฤติกรรม เช่น เด็กชอบรังแกคนอื่น ทั้งขโมยขนม ตบหัว เตะ และครูจะลงโทษด้วยการตีเมื่อเด็กไม่ยอมนอน
· ในระดับประถมศึกษา พบพฤติกรรมด้านละเมิดทางเพศ ทั้งเปิดกระโปรง จับก้น จับหน้าอก ข่มขู่เอาเงิน ขนม จนถึงยกพวกตีกัน
· ในระดับมัธยมศึกษา พบว่า ร้อยละ 62 ใช้คำหยาบคาย ส่วนด้านความรุนแรงกว่าร้อยละ 54 เกิดขึ้นในห้องเรียน ซึ่งความรุนแรงเฉพาะในส่วนที่เด็กได้รับมาจากครู แยกเป็นถูกครูตี ร้อยละ 77.3 ถูกครูตะโกนใส่ ร้อยละ 68.9 ถูกครูกล่าวคำสบประมาท ร้อยละ 54.1 และเคยถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ กว่าร้อยละ 5.4
· เมื่อสำรวจพฤติกรรมเด็กพบว่าร้อยละ 49 เคยดื่มสุรา ร้อยละ 51 เคยเล่นการพนัน ซึ่งทั้งสองพฤติกรรมนี้เป็นพฤติกรรมที่เลียนแบบมาจากครอบครัว และร้อยละ 18.9 เคยใช้ยาเสพติด


เวลาของเด็กในการใช้สื่อ
ดร.อมรวิชช์ นาคทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับเวลาของเด็กนักเรียน พบว่า (น.ส.พ.คม ชัด ลึก. 9 ม.ค.2550 : หน้า 11)
· เด็กจะใช้เวลาอยู่กับสื่อวันละ 6-7 ชั่วโมง
· เด็กประถมศึกษา ใช้เวลาดูโทรทัศน์ 141 นาทีต่อวัน และใช้อินเตอร์เน็ต 89 นาทีต่อวัน
· เด็กมัธยมศึกษา ใช้เวลาดูโทรทัศน์ 156 นาทีต่อวัน และใช้อินเตอร์เน็ต 102 นาทีต่อวัน

สถานการณ์เกิดเหตุระเบิดในกรุงเทพฯ
เอแบคโพล (นงค์นาถ ห่านวิไล. คมธุรกิจ. น.ส.พ.คม ชัด ลึก. 9 ม.ค.2550 : หน้า 10) ได้ทำการสำรวจสาเหตุของการระเบิดในกรุงเทพฯ เมื่อคืนวันที่ 31 ธ.ค.2549 พบว่าเป็นฝีมือของผู้เสียประโยชน์ โดยมีผลการสำรวจที่สำคัญดังนี้
· ประชาชนร้อยละ 46.4 เชื่อว่า เป็นกลุ่มผู้เสียประโยชน์ทางการเมือง
· ประชาชนร้อยละ 48.5 ยังคงสนับสนุนให้รัฐบาลทำงานต่อไป และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ กับภาครัฐ ในการแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการก่อวินาศกรรมต่างๆ
· สถานที่ที่ประชาชนรู้สึกหวาดกลัวและหลีกเหลี่ยงไม่เดินทางเข้าไปมากที่สุดถึง 75.6% คือ ศูนย์การค้า ตลาดนัด รองลงมาคือ ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ และแหล่งชุมชนเช่น ป้ายรถเมล์ สะพานลอย ลานจอดรถ

สัญญาณของสื่ออันตรายกับวัยรุ่นวัยใสเมืองกรุง
ดร.นพดล กรรณิการ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ และ ดร.สุชามา คาสเบกา เปิดเผยผลการสำรวจภาคสนามเรื่อง สัญญาณของสื่ออันตรายกับวัยรุ่นวัยใสเมืองกรุง กรณีศึกษานิสิต / นักศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,262 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 26 ต.ค.2549 ถึง 2 ธันวาคม 2549 พบผลการสำรวจที่น่าสนใจดังนี้
· ร้อยละ 95.7 ใช้โทรศัพท์มือถือ เฉลี่ย 3 ชั่วโมงต่อวัน
· ร้อยละ 94.6 ใช้สื่อโทรทัศน์ เฉลี่ย 4 ชั่วโมงต่อวัน
· ร้อยละ 88.3 ใช้คอมพิวเตอร์เฉลี่ย 3 ชั่วโมงต่อวัน
· ร้อยละ 79.9 ใช้อินเตอร์เน็ต เฉลี่ย 3 ชั่วโมงต่อวัน
· ร้อยละ 74.4 ใช้สื่อวิทยุ เฉลี่ย 3 ชั่วโมงต่อวัน
· ด้านพฤติกรรมการอ่านหนังสือพิมพ์ พบว่าโดยเฉลี่ยแล้วใช้เวลาอ่านหนังสือพิมพ์ 16 นาทีต่อวัน โดยร้อยละ 78.1 อ่านข่าวหน้าหนึ่ง รองลงมาร้อยละ 75.8 อ่านข่าวบันเทิง ร้อยละ 36.1 อ่านข่าวกีฬา
· ด้านประเภทรายการโทรทัศน์ ที่ชอบดู พบว่า ร้อยละ 74.9 ดูละคร รองลงมา ร้อยละ 66.2 ดูรายการเพลง ร้อยละ 65.7 ดูรายการข่าว/วิเคราะห์ข่าว และร้อยละ 57.3 ดูเกมส์โชว์
· ด้านการใช้เทคโนโลยี ร้อยละ 48.7 สนทนาผ่านทางอินเตอร์เน๊ต หรือ แชท (Chat) เฉลี่ย 2 ชั่วโมงต่อวัน ร้อยละ 45.4 ส่งข้อความ รูปภาพผ่านมือถือ เฉลี่ย 2 ครั้งต่อวัน และร้อยละ 9.4 ใช้เว็บแคมป์ นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ร้อยละ 86.7 ทราบค่าใช้จ่ายมือถือแต่ละเดือนเฉลี่ย 423.50 บาท และร้อยละ 13.3 ไม่ทราบค่าใช้จ่ายมือถือ เพราะไม่ได้เป็นผู้จ่ายเอง

อัตราการใช้เทคโนโลยีในปี ค.ศ.2010
ผลการสำรวจเมื่อไม่นานมานี้ พบว่าภายในปี ค.ศ.2010 โลกเราจะมีอัตราการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ดังนี้ (experience provider. นิตยสารผู้จัดการ. ปีที่ 24 ฉบับที่ 280.,มกราคม 2550 : หน้า 43)
· อัตราการใช้งานโน๊ตบุ๊ค จะพุ่งสูงถึง 697 ล้านเครื่อง
· อัตราการใช้โทรศัพท์มือถือเครือข่าย 3G ที่ใช้งานจริง 1,363 เครื่อง
· คนจะพกพาเครื่องเล่นเกม 251 ล้านเครื่อง
· คนจะใช้ พีดีเอ และพ็อกเก็ตพีซีมากถึง 85 ล้านเครื่อง
· คนจะใช้เครื่องเล่นเอ็มพีสามถึง 427 ล้านเครื่อง
· เครื่องเล่นเพลงแบบพกพาจะขายได้กว่า 22 ล้านเครื่อง
· กล้องดิจิตอลจะมีมากถึง 465 ล้านตัว

พฤติกรรมเพศสัมพันธ์กลุ่มเยาวชนในสถานศึกษา
ผศ.ดร.ฤาเดช เกิดวิชัย สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ได้ทำการวิจัยเรื่อง พฤติกรรมเพศสัมพันธ์กลุ่มเยาวชนในสถานศึกษา เมื่อปี พ.ศ.2549 โดยได้ศึกษากลุ่มเยาวชน ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และกรุงเทพมหานครฯ เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามที่ได้รับกลับมาโยสมบูรณ์ จำนวน 3,274 ชุด และจากการสัมภาษณ์เชิงลึก ผลการวิจัย พบหลายเรื่องที่น่าสนใจ เช่น
· ค่าเฉลี่ยการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก 16.09 ปี อายุน้อยที่สุด 9 ปี
· การมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก
o โดยสมัครใจ ผู้ชายร้อยละ 78.6 ผู้หญิงร้อยละ 70.49 รวมร้อยละ 74.9
o โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ผู้ชายร้อยละ 3.2 ผู้หญิงร้อยละ 13.8 รวมร้อยละ 7.7
o ถูกบังคับ ผู้ชายร้อยละ 4.1 ผู้หญิงร้อยละ 9.7 รวมร้อยละ 6.5
o เมาไม่รู้สึกตัว ผู้ชายร้อยละ 9.6 ผู้หญิงร้อยละ 1.6 รวมร้อยละ 6.2
· บุคคลที่มีเพศสัมพันธ์ด้วยครั้งแรก ส่วนใหญ่เป็นคู่รักและแฟน ร้อยละ 78.7 รองลงมาเป็นบุคคลซึ่งรู้จักกันชั่วคราว ร้อยละ 10.9 เพื่อนเพศเดียวกัน ร้อยละ 5.2 ชาย/หญิงขายบริการ ร้อยละ 2.6 และอื่นๆ ร้อยละ 2.7

โพล หรืองานวิจัย ที่ข้าพเจ้าได้รวมรวมมาเป็นตัวอย่างข้างต้น เห็นได้ว่า หัวข้อเรื่องที่ทำการสำรวจหรือทำการวิจัยมีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผลจากโพล หรือผลจากการวิจัยที่ค้นพบในแต่ละเรื่อง ล้วนเป็นเรื่องที่หน่วยงานทางภาครัฐ เอกชน สมาคม องค์กร มูลนิธิ ชมรม หรือผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ ควรให้ความสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในระดับผู้บริหารที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องนั้นๆ ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะผลจากการค้นพบจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ นอกจากนั้นยังสามารถนำไปใช้เป็นกรอบแนวคิดพื้นฐานในการจัดทำโครงการหรือหามาตรการใหม่ๆ เพื่อส่งเสริม สนับสนุน ป้องกันหรือแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติเป็นส่วนรวมได้อย่างมาก
ข้าพเจ้าอยากให้ทุกคนได้หันมาให้ความสนใจ ต่อผลของโพล หรือผลของงานวิจัยต่างๆ ที่ค้นพบ ซึ่งหาได้ไม่ยาก เพราะมันเป็นสิ่งที่พวกเราพบเห็นหรือสืบค้นได้จากสื่อต่างๆที่อยู่รอบตัวเรา ไม่อยากให้ทุกคนเห็นมันเป็นเพียงแค่ข่าวที่อ่านแล้ว ก็ผ่านไป หรือมองเห็นว่ามันเป็นเรื่องของพวกนักวิชาการเท่านั้น เพราะผลที่ค้นพบจากโพล หรืองานวิจัย เป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่มีเหตุและผล มีขั้นมีตอน มีการวิเคราะห์ และประมวลผลด้วยวิชาสถิติ ที่สำคัญ มันสามารถอธิบายได้
ขั้นตอนที่สำคัญของโพล หรืองานวิจัย ขั้นตอนหนึ่ง คือ การวิเคราะห์และการประมวลผลข้อมูลด้วยวิชาความรู้ทางสถิติ ดังนั้น จึงถือได้ว่า โพล ก็คือ สถิติที่สังคมควรหันมาให้ความใส่ใจ

ไม่มีความคิดเห็น: