วันพฤหัสบดีที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

การใช้คำถาม 5 ข้อ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ก่อนตัดสินใจ

ตอนนี้เริ่มมีการนำ "ศาสตร์พระราชา" มาใช้ในการจัดทำโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ กันมากขึ้น มุ่งประสงค์ก็เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ผมรู้สึกชื่นชมที่หลายคนหลายองค์กรพยายามถอดความรู้เกี่ยวกับ " หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง"  ซึ่งในหลวงฯ รัชกาลที่ 9 ได้ทรงมอบไว้เป็นหลักคิดสำคัญแก่คนไทย ไม่เว้นแม้แต่คนต่างชาติในหลายประเทศก็นำไปใช้แล้วเช่นกัน


หลักการสำคัญของแนวคิดตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ก็คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล ความมีภูมิคุุ้มกันที่ดี ภายใต้เงื่อนไขของการมีความรู้และความมีคุณธรรม 

แต่ว่าการกระทำหลายอย่างที่เราได้พบเห็นอยู่ในปัจจุบัน ผมเห็นว่า พวกเราหรือแม้แต่ตัวผมเองก็ยังไม่สามารถถอดรหัสความรู้เรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้แจ่มชัดนัก เพราะยังมีความสับสนในการที่จะนำมาเป็นหลักคิดพื้นฐานของการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ

คำถาม 5 ข้อ 
ผมฟังจากอาจารย์ท่านหนึ่งบรรยายเอาไว้ในหลักสูตร e-learning โครงการ “สร้างและพัฒนาผู้ประกอบการใหม่เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม” (New Entrepreneurs Creation) ซึ่งจัดทำโดยสำนักพัฒนาผู้ประกอบการ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม   ท่านบรรยายว่า ลองใช้คำถาม 5 ข้อ แล้วตอบด้วยตัวเองดูว่า จะสอดคล้องกับหลักคิดตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงหรือไม่ ดังนี้
  1. ทำไม? เราต้องทำ : หากเราตอบได้จะสอดคล้องกับ "ความมีเหตุมีผล"
  2. แล้วเราจะทำแค่ไหน? : หากเราตอบได้จะสอดคล้องกับ "ความพอประมาณ"
  3. แล้วเรามีแผนหรือยุทธศาสตร์สู่เป้าหมายที่จะทำชัดเจนแค่ไหน? และมีแผนฉุกเฉินเตรียมไว้บ้างหรือปล่าว? : หากเราตอบได้จะสอดคล้องกับ "ความมีภูมิคุ้มกันที่ดี"
  4. เราได้ศึกษาคนที่เขาทำมาก่อนเพื่อวิเคราะห์ เปรียบเทียบ เสริมจุดแข็ง ลบจุดอ่อน หรือยัง?  : หากตอบได้จะสอดคล้องกับเงื่อนไขของ "การมีความรู้"
  5. สิ่งที่เราทำเกิดประโยชน์ หรือมีผลกระทบทางลบกับประชาชน สังคม และสิ่งแวดล้อมหรือไม่? : หากตอบได้จะสอดคล้องกับเงื่อนไขของ "ความมีคุณธรรม"
ไม่ว่าผู้อ่านกำลังจะทำอะไรสักอย่าง ลองตอบคำถาม 5 ข้อนี้ดู ท่านจะได้รู้ว่า นั่นแหละคือหลักคิดตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  หากเริ่มต้นด้วยเหตุผลไม่พอแล้ว ก็หยุดทำเสีย และหากท่านตัดสินใจทำแล้ว ท่านก็จะได้ไม่โลภมากจนเกินพอดี  มีแผนการทำงานเพื่อประกันความสำเร็จ มีความรู้ในการทำงาน และมีคุณธรรมต่อสังคม  


ก่อนคิดโครงการและแผนงาน
งบประมาณรายจ่ายประจำปีของประเทศไทย ล้วนมีต้นกำเนิดมาจากโครงการและแผนงานของกระทรวง ทบวงกรม ต่างๆ เกือบทั้งสิ้น (ตามภาพด้านบน) ดังนั้นการคิดโครงการหรือแผนงานใดๆ หากยึดหลักคำถาม 5 ข้อ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว จะเป็นวิธีที่ใช้งบประมาณแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่า อย่าลืมว่าปัจจุบัน "ประเทศไทยไม่ได้ร่ำรวย ยังต้องกู้เงินต่างประเทศมาใช้จ่ายในบ้านตัวเอง" ซึ่งมันสวนทางกับคำว่าพอเพียงหรือพอประมาณอย่างสิ้นเชิง ลองแค่ตอบคำถามข้อแรก ซึ่งหากไม่เข้าข้างตัวเอง มีความเป็นกลาง และมีเหตุผลเพียงพอแล้ว ก็ทำต่อ หากคิดว่าไม่สมเหตุสมผลก็ควรหยุดทำ เช่น
  • ทำไม? เราต้องซื้อเครื่องบิน รถถัง และเรือดำน้ำ
  • ทำไม? เราต้องรีบเร่งสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา
  • ทำไม? เราต้องใช้เงินมหาศาลเพื่อกำจัดผับชวา
  • ทำไม? เราต้องใช้ยางพาราทำถนน 
  • ทำไม? เราต้องปฏิรูปตำรวจ
  • ทำไม? เราต้องปราบปรามการทุจริต คอรัปชั่น
  • ทำไม? เราต้องเชิญชาวต่างประเทศมาลงทุนในบ้านเรา
  • ทำไม? เราต้อง.................??????? 
เหตุเพราะประเทศไทยของเรามีรายได้น้อย เป็นประเทศกำลังพัฒนา ต้องกู้หนี้ยืมสินเขามาใช้จ่าย  ดังนั้น หากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนเลือกโครงการที่มีความจำเป็นตามลำดับความเร่งด่วนที่แท้จริงแล้ว จะช่วยประหยัดงบประมาณของประเทศลงได้มาก ไม่ใช่ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ อย่างเช่นโครงการหลายโครงการในทุกวันนี้

**********************
จุฑาคเชน : 20 ก.ค.2560

ไม่มีความคิดเห็น: